แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
อัปเดตแนวโน้มตลาดหุ้นโลกและทองคำ
Key Takeaways:
สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายสินทรัพย์เผชิญกับแรงขาย เช่น ตลาดหุ้นโลกและพันธบัตร ขณะที่ทองคำให้ผลตอบแทนเป็นบวก
Momentum Tracker ของดัชนี MSCI All-Country World Equity อ่อนแอลงอย่างเห็นได้ชัด และเพิ่งต่ำกว่าระดับ midpoint ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกอาจผันผวนรุนแรงขึ้น
ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม: ตัวเลข CN Industrial Production (จันทร์) ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 5.3% YoY, CN Retail Sales (จันทร์) ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 4% YoY, US Retail Sales (จันทร์) ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 0.7% MoM, JP Interest Rate (พุธ) ตลาดคาดธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงดอกเบี้ยที่ 0.5%, US Interest Rate (พุธ) ตลาดคาดเฟดจะคงดอกเบี้ยที่ 4.5%, JP Core Inflation (ศุกร์) ตลาดคาดเพิ่มขึ้น 2.9% YoY
รายละเอียด:
“ภาวะการลงทุนในสัปดาห์ก่อน”
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญแรงเทขายต่อเนื่อง กดดันให้ดัชนี MSCI All-Country World Equity ปรับตัวลดลง 1.9% ขณะเดียวกัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ขยับขึ้น 9 bps สะท้อนการปรับลดลงของราคาพันธบัตร
สำหรับตลาดหุ้นไทย ดัชนี SET ปรับตัวลง 2.4% ซึ่งเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นสัปดาห์ที่เจ็ด โดยมี 15 จาก 20 กลุ่มอุตสาหกรรมปรับตัวลดลง โดยเฉพาะกลุ่ม Electronics ที่ปรับตัวลง 12.2%
“พัฒนาการสำคัญในต่างประเทศ ได้แก่”
1 แผนสันติภาพของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ยังคงเผชิญความท้าทาย เนื่องจากรัสเซียแสดงความกังวลว่าการหยุดยิง 30 วันอาจเปิดโอกาสให้กองทัพยูเครนเสริมกำลังใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ที่รัสเซียมีความได้เปรียบอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ รัสเซียระบุว่าการหยุดยิงจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการยอมจำนนจากฝ่ายยูเครน ซึ่งสะท้อนถึงจุดยืนที่ยังคงต้องมีการเจรจาเพิ่มเติม
ประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามคือ ประธานาธิบดีทรัมป์จะสามารถผลักดันให้เกิดข้อตกลงหยุดยิงที่ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่ายได้หรือไม่ และหากข้อตกลงดังกล่าวเกิดขึ้น ขั้นตอนต่อไปคือการวางรากฐานเพื่อสร้างสันติภาพที่มั่นคงและยั่งยืน อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ปัจจุบัน เส้นทางสู่เป้าหมายดังกล่าวยังคงมีความซับซ้อนและต้องอาศัยความพยายามทางการทูตอย่างต่อเนื่อง
2 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ฟื้นตัวในวันศุกร์ที่ผ่านมา นำโดยแรงซื้อคืนในหุ้นเทคโนโลยี ซึ่งมีวอลุ่มการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ลักษณะนี้คล้ายกับช่วงที่ตลาดปรับฐานและทำจุดต่ำสุดในเดือนสิงหาคม อย่างไรก็ตาม แม้แรงซื้อคืนครั้งนี้จะมีองค์ประกอบที่คุ้นเคย เช่น ภาวะ technical oversold, การรีบาวด์หลังจากที่ดัชนี S&P500 และ Nasdaq100 ปรับตัวลงมากกว่า -10% เข้าสู่ correction zone, รวมถึง Bull-Bear Spread ซึ่งอยู่ในระดับต่ำจนเป็นสัญญาณ mean reversion สำหรับ contrarian traders แต่เรามองว่ามีปัจจัยสำคัญหลายประการที่แตกต่างจากเดือนสิงหาคม 2024 ดังนี้
2.1 Bull-Bear Spread ในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงเดือนสิงหาคม 2024 อย่างมาก และใกล้เคียงกับระดับที่เคยพบในรอบการปรับฐานใหญ่ที่นำไปสู่ bear market ในปี 2022 มากกว่า สะท้อนถึงจิตวิทยาตลาดที่อยู่ในภาวะเปราะบางอย่างหนัก ซึ่งโดยทั่วไปมักต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
2.2 แนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้าเผชิญความเสี่ยงสูง ซึ่งคล้ายกับปี 2022 มากกว่าภาวะในปี 2024
2.3 ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากสงครามการค้า ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงของการยกระดับความตึงเครียด (escalation phase)
ดังนั้น แม้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ มีโอกาสรีบาวด์ในระยะสั้น แต่แนวโน้มการฟื้นตัวอาจจำกัด และความเสี่ยงของการปรับตัวลงใหม่ในลักษณะ lower low ยังคงมีอยู่
“ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในสัปดาห์นี้ ได้แก่”
วันจันทร์: 1) CN Industrial Production ตลาดคาดการผลิตภาคอุตสาหกรรมจีนเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์จะเพิ่มขึ้น 5.3% YoY ชะลอตัวลงจาก 6.2% ในเดือนก่อนหน้า, 2) CN Retail Sales ตลาดคาดตัวเลขค้าปลีกจีนเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์จะเพิ่มขึ้น 4% YoY ชะลอตัวลงจาก 3.7% ในเดือนก่อนหน้า, และ 3) US Retail Sales ตลาดคาดตัวเลขค้าปลีกสหรัฐฯ เดือนกุมภาพันธ์จะเพิ่มขึ้น 0.7% MoM
วันพุธ: 1) JP Interest Rate ตลาดคาดธนาคารกลางญี่ปุ่นจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 0.5%, และ 2) US Interest Rate ตลาดคาดเฟดจะคงดอกเบี้ยไว้ที่ 4.5%
วันศุกร์: JP Core Inflation ตลาดคาดอัตราเงินพื้นฐานของญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้น 2.9% YoY
“แนวโน้มราคาสินทรัพย์ต่างๆ”
ในสัปดาห์นี้ เราแนะนำให้ระมัดระวังความผันผวนในตลาดหุ้นโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในดัชนี S&P500 ที่แม้จะมีโอกาสรีบาวด์ใกล้เส้นค่าเฉลี่ย EMA 50 สัปดาห์ แต่แนวโน้มการฟื้นตัวอาจไม่ยั่งยืน เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่เพิ่มสูงขึ้นยังคงกดดันให้ Momentum Tracker ปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภาวะที่เพิ่งปรับตัวลงต่ำกว่า midpoint ซึ่งเป็นระดับที่ตลาดมักเผชิญกับความผันผวนที่รุนแรงขึ้น
ราคาน้ำมัน WTI มีแรงซื้อคืนใกล้แนวรับสำคัญที่ 65 ดอลลาร์สหรัฐฯ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับการฟื้นตัวของ Long-to-Short Ratio จาก 2.5 เท่า เป็น 3.1 เท่า อย่างไรก็ตาม แรงซื้อค่อนข้างอ่อนแรง พิจารณาได้จากการที่ราคาปรับตัวขึ้นเพียง 0.06% WoW รวมทั้งอัตราส่วน Long-to-Short ยังคงต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.6 เท่า อย่างมีนัยสำคัญ เราคาดว่าราคาน้ำมันอาจยังเผชิญแรงกดดันต่อไปจากภาวะอุปสงค์ที่ยังคงเปราะบาง ท่ามกลางแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ทองคำยังคงอยู่ในภาวะ extremely overbought ซึ่งอาจกระตุ้นแรงขายทำกำไรหาก Gold Spot ปรับตัวเข้าใกล้แนวต้านที่ 3,040 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ Net Long Position ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 182,564 สัญญา สู่ 182,151 สัญญา แต่ยังคงอยู่เหนือค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 119,274 สัญญา สะท้อนว่าราคาทองคำอาจยังเผชิญกับความผันผวน และมีโอกาสย่อตัวเป็นบางจังหวะในระยะสั้น
อย่างไรก็ตาม แรงซื้อจากธนาคารกลางและนักลงทุน ท่ามกลางความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งทางการค้าโลก ยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ช่วยให้ราคาทองคำมีโอกาสรีบาวด์ได้เป็นระยะ ทำให้การปรับฐานรอบใหญ่ของทองคำอาจยังไม่เกิดขึ้น จนกว่าที่ราคาจะเข้าใกล้เป้าหมาย 3,250 ดอลลาร์สหรัฐ
ตลาดพันธบัตรสหรัฐฯ อาจยังคงเผชิญกับความผันผวน เนื่องจากนักลงทุนยังคงกังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อ สะท้อนจากผลสำรวจ Survey of Consumer Expectations ของธนาคารกลางสหรัฐฯ สาขานิวยอร์ก ซึ่งระบุว่าผู้บริโภคปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในช่วง 1 ปีข้างหน้าขึ้น 0.1% จากผลสำรวจครั้งก่อน สู่ระดับ 3.1%
สรุปภาพตลาดวานนี้
SET กลับมารีบาวน์ปลายสัปดาห์ก่อน หุ้นปิโตรเคมี-โรงกลั่น บวกนำทั้ง PTTGC SCC IVL IRPC และหนุนโมเมนตัมหุ้นใหญ่อื่นๆ PTT AOT TRUE CPALL BDMS SCGP KTB เป็นต้น ส่วนหุ้นมีแรงขายส่วนมากกลุ่ม XD เช่น TVO LANNA เป็นต้น
แนวโน้มตลาดวันนี้
Selective Buy … สะสมหุ้นลบเชิงบวกต่อ
“เบื้องต้นระดับความเสี่ยงการปรับลดกำไรดัชนีฯน่าจะอยู่ในกรอบประมาณ 6-8% และคาดว่าระดับดัชนีฯที่น่าจะเริ่มให้ผลตอบแทนจูงใจ และน่าดึงเม็ดเงินกลับเข้าหุ้นไทยน่าจะอยู่ในโซน 1,150 จุด +/-“โดยสัปดาห์ที่แล้วหุ้นไทยสร้างฐานเป็นไปตามที่เราคาด และยังอยู่ในโซนสมควรเข้าสะสมหุ้นเป็นรายตัว ตามที่เราประเมิน ซึ่งเราจะเลือกซื้อหุ้นที่เรามองไปข้างหน้าแล้วเห็นแนวโน้มผลการดำเนินงานที่พร้อมส่งมอบได้ตามที่เราศึกษากรณีความเสี่ยงด้านล่างสุดโต่ง, ราคาหุ้นปรับฐานลงแรงและเริ่มเห็นการสร้างฐานไปแล้วในระดับหนึ่ง (อาจจะมองเป็นกลุ่ม Rock Bottom) ยกตัวอย่างเช่นที่ นักวิเคราะห์ BLS ออกรายงานเรียกซื้อ AAV CBG GPSC รวมถึงการปรับเพิ่มคำแนะนำ เช่น OSP
ขณะที่ปัจจัยมหภาค เช่น ข่าวการดำเนินไปของสงครามการค้าระหว่างประเทศ เศรษฐกิจ เงินเฟ้อ อเมริกา มีผลต่อการปรับฐานตลาดหุ้นสหรัฐฯ จีนเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ 6 ล้านลบ. หุ้นจีนนบวก แต่จะเห็นว่าเริ่มไม่ได้มีอิทธิพลต่อเนื่อง กับตลาดหุ้นไทยเหมือนที่ผ่านมา
แต่ นลท.คงเห็นเช่นเดียวกันว่า ข่าวดีในประเทศหลายเรื่องก็ไม่อาจช่วยสร้างแรงซื้อหุ้นไทยแบบต่อเนื่อง เช่นมาตรการรองรับ-หยุดแรงขาย LTF และการเพิ่มแรงจูงใจทางภาษีเพื่อลงทุนหุ้นไทย ผ่านกองทุนใหม่ THAI-ESGX ข่าวกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ รวมไปถึงการลดดอกเบี้ยในช่วงที่ผ่านมา
สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มหลักตอนนี้ว่าภาพรวมตลาดหุ้นไทย อาศัยการเลือกหุ้นเป็นรายตัวมากกว่าการดูภาพรวมและดัชนีฯ แล้วที่สำคัญคือเมื่อมองไปข้างหน้า หากสิ้นสุดวงจรเศรษฐกิจปลายขาขึ้น ไปแล้ว วงจรเริ่มต้นใหม่ กลับมาเมื่อไร เราอาจจะต้องไปซื้อหุ้นในราคาที่แพงขึ้น ดังนั้นกลยุทธ์จึง เริ่มแนะนำให้ มองการเริ่มซื้อหุ้น โดยเน้นไปที่หุ้นรายตัว ตามที่เราระบุใน ย่อหน้าข้างต้น...
กลยุทธ์การลงทุน เลือกสะสมหุ้นรายตัว (Hold ระยะยาวหน่อย) จากเกณฑ์
1) ราคาหุ้นทรงตัวได้ดี Outperform ในเชิงเทคนิคคอล ไม่ Overbought
2) ความถูกของราคาหุ้นเมื่อเทียบมูลค่าทางบัญชี (PBV) และเทียบกับ Bands
3) แนวโน้มผลการดำเนินงานระยะสั้น ดูแล้วไม่น่าจะสร้างความผิดหวัง
4) โอกาสที่กำไรระยะสั้นจะดีกว่าที่คิด เพราะมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เช่น มาตรการ ช้อปช่วยชาติ แจกเงินหมื่น ในช่วงไตรมาสแรก หนุนกำไรโตต่อเนื่อง 4Q24-1Q25
5) มีปันผลระหว่างกาล
วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET weekly ร่วงทำจุดต่ำที่ 1,157 จุด แต่!ขยับขึ้นมาปิดสูงกว่า low ได้เล็กน้อย นำโดยกลุ่มปิโตรเคมี (PTTGC, IVL) วัสดุก่อสร้าง (SCC) พลังงาน (PTT) และ แพคเกจจิ้ง (SCGP) ซึ่งหุ้นทั้งหมดล้วนถูกกด drawdown ลงลึกมาก ฉุดให้โมเมนตัม RSI (day-week-month) เข้าสู่ภาวะ oversold เต็มตัว จับตาดัชนีแม้จะยังไม่สามารถทะลุเส้น EMA 10 วัน แต่พยายามสู้ที่ low เริ่มทำทรงออกข้าง sideway สำหรับกลยุทธ์ทางเทคนิค…นักลงทุนสายสะสมหุ้น (ลงทุนระยะกลาง) แนะทยอยซื้อไม้แรกที่ 1,150 จุด ส่วนที่เหลืออีก 2 ไม้ ขอเก็บกระสุนรอจังหวะช้อนซื้ออีกครั้งหรืออาจยอมซื้อของแพงขึ้น ซื้อแล้วชัวร์กว่า ไม่ต้องถือนาน!
What to watch
การประชุมเฟดวันพุธ (รู้ผล พฤ.) ตลาดคาดคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 4.5%
FTSE Thailand index review มีผล 21 มี.ค.นี้: Large Cap ไม่มีหุ้นเข้าออก / Mid Cap ถอดหุ้น EA IRPC / Small Cap เพิ่มหุ้น CCET EA IRPC SKY WHART ถอดหุ้น BYD LPN
ตลาดหุ้นอเมริกาเริ่มปรับฐานหลังเข้าสู่โซนแพงเกิน และเสี่ยงภาวะฟองสบู่ ตามที่โบรกต่างชาติเตือนการปรับฐานรอบนี้
กกพ.เปิดเฮียริ่ง 3 ทางเลือกงวด พ.ค.-ส.ค.68 ช่วง 4.15-5.16 บาท/หน่วย คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดรับฟังความคิดเห็นค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค. 68 เสนอ 3 ทางเลือกค่าไฟที่ 4.15 - 5.16 บาทต่อหน่วย ระบุหลายปัจจัยยังคงกดตันค่าไฟ ปริมาณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มต่อเนื่อง ปริมาณไฟฟ้าพลังน้ำนำเข้าลดลงตามฤดูกาล แนวโน้มต้นทุนไฟฟ้าจากถ่านหินเพิ่มสูงขึ้น
ตลท.ศึกษาโมเดล NISA หรือ Nippon Individual Saving Account ของญี่ปุ่น มาปรับเป็น Thailand ISA เป็นโครงการออมหุ้นระยะยาว เตรียมหารือกับกระทรวงการคลังต่อไป
ตลท.เล็งประกาศเงื่อนไขไทม์ไลน์ Jump+ พ.ค.นี้
KBANK ประกาศปันผลพิเศษ เพิ่มอีก 2.5 บาท
หุ้นแนะนำวันนี้
TOP (ดูรายงาน Tactical play วันนี้) เรื่องโครงการโรงกลั่น CFP สะท้อนไปในราคาหุ้นหมดแล้ว เหลือแต่การเดินหน้าโครงการและกลับมามี Upside ในอนาคต
แนวรับ 25.5 แนวต้าน 28 ตัดขาดทุน 24
Tactical port เพิ่ม PTTGC TOP BCP SCGP
รายงานพื้นฐานวันนี้
Utilities Sector
ค่าไฟ 2.50 บาท จะกดดันราคาหุ้นเหมือนตอน 3.70 บาท ได้หรือไม่?
หลังคุณทักษิณระบุเป้าหมายใหม่ให้ลดค่าไฟลงเหลือ 2.50 บาท/หน่วย (จากเดิมที่เคยเสนอ 3.70 บาท/หน่วย) ถือเป็น Sentiment ลบกับหุ้นโรงไฟฟ้า อย่างไรก็ตาม เราได้ลองศึกษาดูว่า จะเป็นไปได้อย่างไรบ้าง และมีทางเลือกอย่างไรบ้าง ดังนี้
1) ถ่านหิน: ต้นทุนต่ำ (2–3 บาท/หน่วย) แต่ไม่สามารถขยายได้เพราะข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง
2) ก๊าซธรรมชาติ: หากจัดสรรก๊าซราคาถูกจากอ่าวไทยทั้งหมดให้กับการผลิตไฟฟ้า อาจลดค่าไฟได้ 0.30–0.50 บาท/หน่วย แต่จะกระทบภาคอุตสาหกรรมและเป็นข้อถกเถียงทางเศรษฐกิจ-การเมือง
3) โซลาร์: ราคาถูกสุด (2.10–2.20 บาท/หน่วย) แต่ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะกลางวัน ขณะที่ดีมานด์สูงสุดช่วงกลางคืน หากต้องใช้โซลาร์เป็น base load ต้องติดตั้ง Battery Storage ขนาดใหญ่ (1–2TWh) และใช้พื้นที่พัฒนาโครงการจำนวนมาก ซึ่งยังไม่คุ้มต้นทุนในเวลานี้ และอาจต้องรออีกพักใหญ่
ในมุมมองของเรา แค่ไฟฟ้าราคาถูก ไม่พอจูงใจ Data Center เสมอไป เพราะปัจจัยสำคัญคือ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การเชื่อมต่อ และการส่งเสริมระบบ AI จึงจะสร้างความแตกต่างให้ไทยเป็น Digital Hub ที่แท้จริง ซึ่ง น่าจะต้องการให้ Incentive ที่ตรงจุดมากกว่าการลดค่าไฟเพียงอย่างเดียว
Fundamental view: หากตลาดไม่ตอบสนองต่อข่าวลบค่าไฟรอบนี้เท่ารอบก่อน อาจเป็นสัญญาณว่าราคาหุ้นในกลุ่มนี้เริ่มนิ่ง และ Bottom แล้ว จึงเป็นจังหวะทยอยสะสมต่ำมาก ขณะที่ปัจจัยพื้นฐานฟื้นตัวชัดเจนจากจำนวนนักท่องเที่ยวและต้นทุนน้ำมันที่ลดลง
Bank Sector
การปรับตัวในช่วงที่ดอกเบี้ยเป็นขาลง
หุ้นกลุ่มธนาคารที่เราศึกษามีการปรับโครงสร้างสินเชื่อและเงินฝากในปีผ่านมา เพื่อลดผลกระทบจากทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง นอกจากนี้ เรายังประเมินว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารมีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง สามารถลดการตั้งสำรองได้ในปีนี้ เพื่อชดเชยแนวโน้ม NIM ที่จะลดลงได้
ทั้งนี้ เราประเมินว่าการที่กนง.ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 25bps จะส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2025 ราว 3.8% (รวมผลกระทบไว้ในประมาณการกำไรปี 2025 แล้ว) ซึ่งจะส่งผลกระทบ NIM ในปี 2025 ให้ลดลง 5bps
โดยจากการศึกษาของเราพบว่าธนาคารจะต้องปรับลด Credit cost ปี 2025 ลง 8bps เพื่อหักล้างผลกระทบจาก NIM ที่ลดลง
Fundamental view: เราประเมินว่า SCB และ TTB เป็นธนาคารที่มีสัดส่วนสินเชื่อและเงินฝากที่ดี และอยู่ในสถานะที่จะบริหารการตั้งสำรองได้ดีในยามอัตราดอกเบี้ยลดลง
ITC
ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น
การเติบโตชน vs. ความผันผวนตลาด
ITC ตั้งเป้ารายได้ปี 2025 โต 13–15% YoY แม้ราคาหุ้น YTD ร่วง 26% จากความกังวลภาษีนำเข้าและต้นทุนวัตถุดิบสูง อย่างไรก็ตาม พบยอดขาย 1Q25 แข็งแกร่งเกินคาด แม้เป็น Low Season อาจเกิดจากเร่งสั่งก่อนขึ้นภาษีหรือดีมานด์จริง
นอกจากนี้ Project Tailwind ตั้งเป้าหนุนกำไรเพิ่มปีละ 1.75 พันลบ. เริ่มมี Upside ตั้งแต่ปี 2027 ขณะที่ราคาทูน่า +30% YoY กดดันต้นทุน นักลงทุนรอติดตามกลยุทธ์ Hedging, การขึ้นราคา และบริหาร Cost เพื่อรักษา Margin
Fundamental view: หาก ITC คุมต้นทุนได้และยอดขายยืนระยะ ราคาหุ้นที่ปรับลงแรงอาจสะท้อนความเสี่ยงไปแล้ว มีโอกาส Re-rate หาก Project Tailwind และกำไรเริ่มฟื้นชัดเจน ทั้งนี้ ขอเชิญนักลงทุน เข้าฟังรายละเอียดต่างๆ ในงาน Virtual Conference ที่เราเชิญ ITC มาบรรยายวันนี้
TQM
(visit Note)
ทีคิวเอ็ม อัลฟา รอการเติบโตของธุรกิจประกันชีวิต
TQM จะเน้นเติบโตในธุรกิจที่ไม่ใช่ประกันภัยรถยนต์มากขึ้น ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตสูง ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันบ้านและประกันท่องเที่ยว เป็นต้น โดยเฉพาะธุรกิจประกันชีวิต ที่ TQM ตั้งเป้าเบี้ยประกันชีวิตรับ 5 พันล้านบาทในปี 2029 เพิ่มขึ้นถึง 44% CAGR ซึ่งเราประเมินว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทาย โดยจะมาจากการ cross-selling ลูกค้าปัจจุบันของ TQM ที่มีอยู่ราว 3 ล้านคน อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1-2 ปีในการขยายธุรกิจประกันชีวิต
Our view: แม้ราคาหุ้น TQM จะทำจุดต่ำสุดในรอบ 6 ปี แต่เราเห็นความเสี่ยงในด้านประมาณการกำไรและเงินปันผลปีนี้ของตลาด จึงแนะนำ wait and see รอความชัดเจนในการขยายธุรกิจใหม่ก่อน
Tactical play
Commodity: คนติดไม่ท้อ; คนง้อกลับมาเล่น
คนติดหุ้น Commodity (PTT PTTEP PTTGC TOP BCP IVL SCC SCGP etc.) สูงไม่ควรท้อ เพราะเราคาดหุ้นบางตัวในกลุ่มนี้จะวิ่งขึ้นต่อหลังจากแรลรี่มาจากหลุมแล้วราว 20% โดยเฉลี่ย
กลยุทธ์แนะนำดังต่อไปนี้
1) คนติดหุ้น รอขายเมื่อราคาหุ้นขึ้นต่อ แล้ว ไปรอรับใหม่ในราคาต่ำกว่าที่ขายไป (หรือที่เรียกว่า Short against port)
2) ใครที่ซื้อถัวได้มาจากข้างล่างถือไป “นิ่งไว้” แล้วรอขายทำกำไร เมื่อเราให้สัญญาณ
สำหรับคนที่ยังไม่มีของ อยากหาหุ้นช้อนซื้อ หรือ ถ้าติดหุ้นรอบนี้แล้ว เราก็คิดว่า Downside risk พอรับได้ (อาจมีเหวี่ยงขึ้นลงแรงในวัน ซื้อแล้วง้อถือไว้สักหน่อย)
ไอเดียสำคัญเรามองว่ามูลค่าทางบัญชีต่ำเกิน หากสมมติ Take over แล้วแยกชิ้นขายยังมีกำไร และยังแรงซื้อคืน (Cover Shorted) ระยะสั้น
แนะนำซื้อ TOP PTTGC BCP SCGP เพื่อเล่นรอบ
TOP เรื่องโครงการโรงกลั่น CFP สะท้อนไปในราคาหุ้นหมดแล้ว เหลือแต่การเดินหน้าโครงการและกลับมามี Upside ในอนาคต
PTTGC BCP กลุ่มโรงกลั่นเตรียมเข้าสู่ช่วง High season และที่สำคัญกว่าคือเราเห็นแนวโน้มส่วนต่างผลิตภัณฑ์ในหุ้นกลุ่มนี้ลงมาต่ำสุดในรอบ 10 ปีจนผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้ง จีน เกาหลีใต้ เริ่มส่งสัญญาณลดกำลังการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งของตัวเร่งคือ สงครามการค้า ดั่งที่เราเห็นสงครามการค้าเมื่อปี 2016-18 ส่วนต่างเหล่านี้กลับเร่งตัวขึ้น (ตรงข้ามกลับความรู้สึก)
SCGP ตรรกะเดียวกัน และเราคาดว่าจะเห็น จีน เร่งออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้
สรุปประเด็นจาก Quick take
CCET
แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์(ประเทศไทย)
มุมมองต่อการประชุมนักวิเคราะห์
กำลังการผลิตเพิ่มตามแผนและจะเข้ามาเต็มในปีหน้า โดยเฉพาะ SSD ประเด็น Tariff ยังติดตาม และยังมองเป็นโอกาส เนื่องจากเวียดนามที่เป็นคู่แข่งน่าจะโดนกดดันมากกว่า ถ้าไทยโดนจริง สามารถขยับไปฐานการผลิตอื่นที่มีอยู่ทั่วโลกได้
View from fundamental: ภาพรวมเรามองว่าจะเห็นการฟื้นตัวใน 1Q25 แต่การเติบโตจริงๆ น่าจะต้องดูใน 2Q25 เป็นต้นไปว่าจะมาตามนัดไหม
STECON
สเตคอน กรุ๊ป แจ้งโครงการซื้อหุ้นคืน
ประกาศซื้อหุ้นคืน วงเงินไม่เกิน 900 ล้านบาท ไม่เกิน 150 ล้านหุ้น (9.87% ของหุ้นทั้งหมด) ในช่วง 18 มี.ค.-17 ก.ย. 2025
View from fundamental: มองบวกจากข่าวดีออกมาต่อเนื่อง ทั้งนี้ น่าจะเห็นการเก็งกำไรขึ้นไปบนราคาเฉลี่ยตามวงเงินซื้อคืน อยู่ที่ราว 6 บาท
SCC
ปูนซิเมนต์ไทย ราคาขายปูนในประเทศปรับเพิ่มขึ้น
SCC มีการปรับลด marketing discount ที่ให้กับผู้แทนจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. ที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาจำหน่ายหน้าโรงงานสูงขึ้น (เป็นการทยอยปรับ ซึ่งจะสูงสุดที่ 400 บาท/ตัน)
View from fundamental: ข่าวดังกล่าวน่าจะเป็น positive sentiment ต่อราคาหุ้น และมีโอกาสจะเห็นตลาดปรับประมาณการกำไรขึ้น
วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน