ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook
Highlights:
ราคาน้ำมันยังคงเคลื่อนไหวผันผวนในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา แม้ Brent จะปรับขึ้นช่วงต้นปีจากอากาศหนาวและมาตรการคว่ำบาตรของไบเดน แต่ราคากลับลดลง 13% หลังทรัมป์รับตำแหน่ง
แรงกดดันจากอุปทานยังสูง โดยมีแนวโน้มที่ทรัมป์จะผ่อนปรนคว่ำบาตรรัสเซีย ทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น ประกอบกับกำลังการผลิตของ Non-OPEC ในปีนี้คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของอุปสงค์ที่ 1.1 ล้านบาร์เรล/วัน
การขยายตัวของอุปสงค์น้ำมันอาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อน ขณะที่จีนยังเผชิญกับแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดและการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดที่เร่งตัวขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอ่อนแอลง
กรอบการเคลื่อนไหวของราคายังมีแนวโน้มเป็น sideways down หากอุปสงค์และอุปทานยังไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ราคาน้ำมัน Brent เพิ่งปรับตัวลงต่ำกว่าระดับจิตวิทยาที่ $70/bbl และอาจทดสอบ $62/bbl ในกรณีเลวร้าย
รายละเอียด:
ความผันผวนของราคาน้ำมันท่ามกลางปัจจัยที่ผกผัน
ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบ Brent มีความผันผวนอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความกังวลเกี่ยวกับการเติบโตของอุปทาน โดยเฉพาะจากผู้ผลิตนอกกลุ่ม OPEC ขณะเดียวกัน ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบางและความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าระหว่างประเทศยังคงเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวของอุปสงค์พลังงานโดยรวม ส่งผลให้บรรยากาศในตลาดน้ำมัน (market sentiment) มีแนวโน้มเป็นลบ
แม้ในช่วงต้นปี 2025 ราคาน้ำมัน Brent จะปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบหกเดือนที่ 81 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในช่วงกลางเดือนมกราคม จากแรงหนุนของสภาพอากาศหนาวจัดในซีกโลกเหนือที่กระตุ้นความต้องการใช้พลังงานเพื่อทำความร้อน รวมถึงมาตรการคว่ำบาตรที่เข้มงวดยิ่งขึ้นของสหรัฐฯ ต่อรัสเซียและอิหร่าน ซึ่งทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับภาวะตึงตัวของอุปทานในระยะสั้น กระตุ้นให้นักลงทุนเข้าสู่ตลาดเพื่อเก็งกำไร และดันราคาปรับขึ้นถึง 15% เมื่อเทียบกับจุดต่ำสุดในเดือนธันวาคม 2024 อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2025 ซึ่งเป็นวันที่โดนัลด์ ทรัมป์ เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดี ราคาน้ำมันดิบ Brent ได้อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยปรับตัวลดลงถึง 13% สะท้อนถึงความกังวลต่อทิศทางตลาดน้ำมันโลกในอนาคต ทั้งนี้ ผลสำรวจของ Reuters ชี้ว่าราคาน้ำมัน Brent ตลอดปี 2025 อาจเฉลี่ยอยู่ที่ 74.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งสะท้อนถึงขีดจำกัดของการปรับขึ้นของราคา
ความเสี่ยงขาลงของราคาน้ำมันดิบยังไม่หมดไป
ในระยะสั้น ตลาดน้ำมันยังคงเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ทั้งจากฝั่งอุปสงค์และอุปทาน รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำ และรูปแบบการเคลื่อนไหวของราคาที่บ่งชี้ถึงแนวโน้มเชิงลบ ราคาน้ำมัน Brent จึงอาจยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ sideways down ซึ่งดำเนินมาตลอดช่วงปีที่ผ่านมา
ข้อมูลจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าสะท้อนภาพเชิงลบ โดยอัตราส่วน long-to-short ratio ปรับตัวลดลงเหลือเพียง 1.6 เท่า จากระดับ 7.6 เท่าในช่วง 1 ปีก่อนหน้า และต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 5.6 เท่าอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขนี้บ่งชี้ถึงความเชื่อมั่นที่ลดลงของเทรดเดอร์ต่อตลาดน้ำมันในปัจจุบัน
ปัจจัยเสี่ยงด้านอุปทาน: อุปทานส่วนเกินอาจกดดันราคา
แนวโน้มของอุปทานน้ำมันมีโอกาสเข้าสู่ตลาดมากขึ้น โดยในช่วงที่โจ ไบเดนดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ใช้มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียอย่างเข้มงวดเพื่อลดรายได้ของมอสโกจากภาคพลังงานและจำกัดศักยภาพของรัสเซียในการทำสงคราม อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากที่ทรัมป์รับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2025 มีแนวโน้มว่านโยบายดังกล่าวอาจถูกผ่อนปรน โดยแหล่งข่าวจาก Reuters ระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ กำลังพิจารณายกเลิกบางมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย เพื่อฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตและผลักดันให้เกิดการเจรจาสันติภาพในยูเครน หากการคว่ำบาตรถูกยกเลิก อุปทานน้ำมันจากรัสเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่อันดับสามของโลก อาจกลับเข้าสู่ตลาดมากขึ้น
นอกจากนี้ อุปทานน้ำมันจากกลุ่มผู้ผลิตนอก OPEC คาดว่าจะเติบโตถึง 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 ซึ่งสูงกว่าการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลก และเป็นอีกปัจจัยที่อาจสร้างแรงกดดันต่อราคา ทั้งนี้ การผลิตน้ำมันจากลิเบีย คาซัคสถาน และอิรัก ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นเกินกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ขณะที่ OPEC ยังคงมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (spare capacity) ถึง 4.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวตั้งแต่ปี 2024 ที่ 3.05 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง มีความเป็นไปได้ที่ชาติสมาชิก OPEC บางรายอาจเลือกผลิตน้ำมันเกินโควต้าที่ได้รับการจัดสรร เพื่อชดเชยรายได้ที่ลดลง ดังที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หากเกิดการผลิตส่วนเกินในลักษณะนี้ อุปทานน้ำมันในตลาดโลกจะเพิ่มขึ้นเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ และกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลงไปอีก
แนวโน้มอุปสงค์: การบริโภคน้ำมันโลกมีโอกาสชะลอตัวมากกว่าคาด
แม้ว่า International Energy Agency (IEA) คาดการณ์ว่าอุปสงค์น้ำมันโลกจะขยายตัว 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2025 แต่การเติบโตดังกล่าวถือว่าชะลอตัวลงอย่างมากจากระดับเฉลี่ย 2.3 ล้านบาร์เรลต่อวันในช่วงปี 2022-2023 และยังมีโอกาสถูกปรับลดลงในอนาคต เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่อ่อนแอลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐฯ ซึ่งอาจเข้าสู่ภาวะถดถอยแบบอ่อนในช่วงครึ่งแรกของปี 2025 ขณะที่นโยบายภาษีนำเข้าและการตอบโต้ทางการค้าภายใต้รัฐบาลทรัมป์อาจส่งผลกระทบต่อภาคขนส่งและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นผู้ใช้พลังงานหลัก
สำหรับจีน ซึ่งเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดของโลก ความต้องการน้ำมันยังถูกกดดันจากปัญหาเงินฝืด รวมทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานทางเลือก โดยเฉพาะการใช้ LNG แทนน้ำมันดีเซลในภาคขนส่ง และยอดขายรถยนต์พลังงานใหม่ (NEV) ที่เพิ่มขึ้นถึง 40%-50% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้การเติบโตของอุปสงค์น้ำมันของจีนชะลอตัวลง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญ เนื่องจากจีนเป็นหนึ่งในประเทศหลักที่จะหนุนการเติบโตของอุปสงค์น้ำมันโลกในปีนี้
สรุป
ตลาดน้ำมันดิบ Brent
ยังคงมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ sideways down โดยมีปัจจัยลบจากอุปสงค์และอุปทานที่ยังไม่เอื้อให้ราคาปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน เนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่รัฐบาลทรัมป์จะผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งอาจทำให้อุปทานเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่ม Non-OPEC ยังมีศักยภาพการผลิตมากขึ้น ส่วนเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่อาจเผชิญ ภาวะถดถอยแบบอ่อน จะยิ่งเป็นแรงกดดันต่ออุปสงค์ ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราคาน้ำมันดิบ Brent เพิ่งปรับตัวลงต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับแนวรับทางจิตวิทยาที่สำคัญ และอาจลดลงไปทดสอบระดับ 62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นกรณี bear case ของเราสำหรับช่วงครึ่งแรกของปีนี้
(อ่านเพิ่มในรายงาน Wealth Insight)
สรุปภาพตลาดวานนี้
พลิกกลับมาต่ำกว่า 1200 อีกครั้ง หลังหลอกให้ตายใจไป 1 วัน ก็โดดกดดันอีกครั้งจากหุ้นใหญ่หลายกลุ่ม PTT PTTEP PTTGC GULF ADVANC BH BDMS KBANK CPALL AOT TRUE แม้กลุ่มบวกจะพอมีขึ้นต่อ DELTA ADVANC OSP BA TOP แต่ก็สู้ไม่ไหว
แนวโน้มตลาดวันนี้
แค่ Covered Short เพียงข้ามคืน!?
ท่ามกลางข่าวต่างประเทศที่ดูจะดี เมื่อ ปธน.ทรัมป์ เลื่อนเก็บภาษีสินค้าภายใต้ข้อตกลง USMCA กับแคนาดา และเม็กซิโก ออกไปเป็น 2 เม.ย. จากเดิม 4 มี.ค.หลังหารือแล้วมีแนวโน้มที่ดีขึ้น
แต่ก็ไม่ช่วยอะไรหุ้นไทยเมื่อวานนี้ ขณะที่หุ้นพลังงาน (ควง BH) ดิ่งแรงตามราคาน้ำมันดิบ (อย่างที่เราเตือนหุ้น Commodity ยังไว้ใจไม่ได้) และวันนี้หุ้นไทยอาจจะมีแรงซื้อคืน หนุนรีบาวด์สั้นๆ ได้บ้างแต่ “ภาพจำ” อาจกลับไปเหมือนเดิม คือ เด้งสลับปรับฐาน แต่ความเป็นไปได้ที่จะฟื้นจากโซน 1,150 จุด หรือราคาหุ้นรายตัวที่ลงมาระดับที่แนะนำ เพราะเรามองว่า น่าเข้าเล่นจาก Bargain hunting น่าจะอยู่ในโหมดสะสมได้ แต่ก็ไม่อาจวางใจได้ 100% ควรเผื่อใจผิดทางไว้บ้าง
กลยุทธ์การลงทุน เลือกสะสมหุ้นรายตัว (Hold ระยะยาวหน่อย) จากเกณฑ์
1) ราคาหุ้นทรงตัวได้ดี Outperform ในเชิงเทคนิคคอล ไม่ Overbought
2) ความถูกของราคาหุ้นเมื่อเทียบมูลค่าทางบัญชี (PBV) และเทียบกับ Bands
3) แนวโน้มผลการดำเนินงานระยะสั้น ดูแล้วไม่น่าจะสร้างความผิดหวัง
4) โอกาสที่กำไรระยะสั้นจะดีกว่าที่คิด เพราะมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เช่น มาตรการ ช้อปช่วยชาติ แจกเงินหมื่น ในช่วงไตรมาสแรก หนุนกำไรโตต่อเนื่อง 4Q24-1Q25
5) มีปันผลระหว่างกาล
วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET ขึ้นสลับย่อ แต่เริ่มทำทรงออกข้าง สร้างฐานบริเวณ 1200 จุด +/- รูปแบบ ในอดีต…ช่วงตลาดผ่านศึกปรับตัวลงลึกๆ พบว่าจุดกลับตัว reversal point จะมีเงื่อนไข เช่น ดัชนีทะลุผ่านเส้น EMA หรือเกิดสัญญาณ “Golden cross” นอกจากนี้ โมเมนตัม หนุนจุดกลับตัว เกิดภาพ RSI Oversold + Divergence+ Volume outstanding หากครบองค์ประกอบ ดัชนีจะเข้าสู่การเปลี่ยนรูปแบบเป็นขาขึ้นรอบใหม่นั่นเอง….ส่วนรอบนี้มาร์คจุดแรกทะลุเส้น EMA 10 วัน 1,210 จุด ไปให้ได้ก่อน
Note: หน้าหุ้นดูจะมีการเปลี่ยนแปลง rotation มาสู่กลุ่มที่ถูก drawdown ลงลึกๆ เช่น รับเหมาฯเริ่มมา วัสดุก่อสร้างพี่ใหญ่ SCC ทะลุขึ้นมาละครับ
What to watch
FTSE Thailand index review มีผล 21 มี.ค.นี้: Large Cap ไม่มีหุ้นเข้าออก / Mid Cap ถอดหุ้น EA IRPC / Small Cap เพิ่มหุ้น CCET EA IRPC SKY WHART ถอดหุ้น BYD LPN
"ทรัมป์" ประกาศเลื่อนเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากเม็กซิโก และ แคนาดา จนถึง 2 เม.ย. โดยการยกเว้นภาษีดังกล่าวจะบังคับใช้สำหรับสินค้าที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีสหรัฐ-เม็กซิโก-แคนาดา (USMCA)
บสย. รุกช่วยเอสเอ็มอีเต็มสูบ เปิดทางเข้าถึงสินเชื่อ และเพิ่มวงเงินสินเชื่อรถกระบะวงเงิน 1 หมื่นล้านบาท
ECB ปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 6 เหลือ 2.5%
จีนประกาศแผนลดกำลังการผลิตเหล็ก หวังปรับโครงสร้าง-ลดความตึงเครียดการค้าโลก
แม้ว่าจีนไม่ได้ระบุขนาดของการลดกำลังการผลิต แต่ราคาวัตถุดิบสำหรับการผลิตเหล็กลดลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ท่ามกลางการคาดการณ์ว่า จีนจะลดกำลังการผลิตเหล็กดิบลงประมาณ 50 ล้านตัน (กลุ่ม GLOBAL DOHOME อาจรอดจากการ Dump ราคาเหล็ก)
หุ้นแนะนำวันนี้
AAV กำไร 4Q/24 ดีกว่าคาดไปแล้ว ส่วนไตรมาสแรกปีนี้มีแววโตดีกว่าคาดอีก จากต้นทุนเชื้อเพลิงน่าจะลด นทท.ในภูมิภาค โดยเฉพาะ มาเลเซีย อินเดีย ที่เพิ่มขึ้นอย่างมากช่วง มค.-กพ.ที่ผ่านมา(แนวรับ 1.95 ต้าน 2.20 ตัดขาดทุน 1.90)
รายงานพื้นฐานวันนี้
Retail Sector
SSS แผ่วใน ก.พ. แต่กลับมาโต มี.ค.
ภาพรวมยอดขายสาขาเดิม (SSS) กลุ่มค้าปลีก เดือน ก.พ. ลดลง -2.6% YoY (แย่กว่าคาดเล็กน้อย) สะท้อนผลกระทบจากจำนวนวันในเดือนที่น้อยลง (คือ 28 วัน เทียบกับ 29 วันในปี 2024) และการที่ตรุษจีนเลื่อนไปอยู่ใน ม.ค. โดยกลุ่มซ่อมแซม-ตกแต่งบ้านลดลง -3.3% และสินค้าจำเป็นลดลง -0.8% อย่างไรก็ตาม DOHOME เป็นรายเดียวที่มี SSSG +3% จากการเบิกใช้จ่ายงบฯ รัฐในต่างจังหวัด
ขณะที่ CRC และ GLOBAL มี SSS ลดลงแรงสุดที่ -7% YoY โดย CRC ถูกกดดันจากยอดขายในเวียดนามที่อ่อนแอหลังเทศกาล Tet (25 ม.ค. – 2 ก.พ.) ส่วน GLOBAL มีปัญหาขาดสต็อกสินค้า ขณะที่ HMPRO และ ILM มี SSS ลดลง -4-5% ด้านกลุ่มสินค้าจำเป็น (Grocery Retail) ลดลงเล็กน้อยจากจำนวนวันทำการที่ลดลง แต่หากตัดปัจจัยนี้ออก SSS จะอยู่ในทิศทางเติบโต
อย่างไรก็ตาม ในเดือน มี.ค. คาดว่า SSSG จะกลับมาเป็นบวกจากปัจจัยฤดูกาลและอานิสงส์จากนักท่องเที่ยว โดยกลุ่ม Grocery Retail เป็นผู้นำการฟื้นตัว ขณะที่ Home Décor & Construction ยังอ่อนแอ โดยเฉพาะ GLOBAL และ ILM ที่เปิด Downside ประมาณการกำไรเพิ่มเติม
Fundamental view: คาดการณ์กำไร 1Q25 ของกลุ่มค้าปลีกเพิ่มขึ้น YoY แต่ลดลง QoQ ตามปัจจัยฤดูกาล โดย Grocery Retail ได้ประโยชน์สูงสุดจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว หุ้นเด่น คือ CPAXT และ CPALL
TRUE
ทรู คอร์ปอเรชั่น
ปีหน้า จะก้าวสู่การเป็นราคาแห่งปันผลได้หรือไม่?
TRUE กำลังเป็นหุ้น Turnaround ที่มีแนวโน้มกำไรชัดเจนขึ้น และอาจแซง ADVANC ในด้านเงินปันผลได้ภายในปี 2026 จากต้นทุนที่ลดลงและโครงสร้างรายได้ที่แข็งแกร่งขึ้น เราปรับมุมมองเป็น Switching จาก ADVANC มาสู่ TRUE
ปี 2025 เราคาดว่า TRUE จะรายงานกำไรสุทธิเต็มปีเป็นครั้งแรก จากปัจจัยบวกสำคัญคือ 1) การลงทุนปรับโครงข่ายเสร็จสิ้น ทำให้ไม่มีขาดทุนทางบัญชีหลัง 3Q25 และ 2) ต้นทุนดอกเบี้ยลดลงจากการรีไฟแนนซ์ 1.26 แสนล้านบาทในปี 2024 ส่วนปี 2026 TRUE จะได้รับอานิสงส์จากต้นทุนลดลงเต็มปีหลังหมดภาระค่าเช่าคลื่น และหากการประมูลคลื่นใหม่ได้ราคาสมเหตุสมผล จะช่วยเพิ่มกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญ (ยังไม่ได้รวมในประมาณการ) แม้ในกรณีแย่ที่สุดที่เกิดสงครามประมูล ต้นทุนค่าเสื่อมราคายังต่ำกว่าค่าเช่าปัจจุบัน และจะช่วยหนุนกำไรได้ 33%
นอกจากนี้ เรามอง TRUE มีศักยภาพในการจ่ายปันผลสูงขึ้น โดยหากจ่ายที่อัตราขั้นต่ำ 50% ของกำไรสุทธิ DPS ปี 2025 จะอยู่ที่ 0.19 บาท (Yield 1.8%) แต่หากเพิ่มเป็น 90% เทียบเท่า ADVANC DPS จะเพิ่มเป็น 0.34 บาท (Yield 3.1%) ในกรณีที่ TRUE ได้คลื่น 2300MHz ในราคาที่ดี DPS อาจเพิ่มเป็น 0.47 บาท (Yield 4.5%) ซึ่งสูงกว่าของ ADVANC ในปี 2026 ที่เราคาดไว้ที่ 4.2% และช่องว่างของอัตราผลตอบแทนปันผลอาจกว้างขึ้นในปี 2027 จากการลดต้นทุนเพิ่มเติม
BA
(Visit Note)
การบินกรุงเทพ
แนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 2025 และมีอัพไซด์
เราคาดว่าผลการดำเนินงาน BA จะปรับตัวดีขึ้น QoQ (ทรงตัว YoY) ใน 1Q25 หนุนโดยการเติบโตของของการท่องเที่ยวประเทศไทยและช่วงไฮซีซั่น บวกต่อจำนวนผู้โดยสารและราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย
และในปี 2025 โดยบริษัทคาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะเติบโต 9% YoY เป็น 4.7 ล้านคน และคาด load factor ที่ 82% (+200bps YoY) ในขณะที่คาดว่าราคาบัตรโดยสารเฉลี่ยจะทรงตัวอยู่ในระดับประมาณ 4,200 บาท ต่อเนื่องจากปี 2024 (ราคาบัตรโดยสารเฉลี่ย 4,190 บาท) เนื่องจากอุปทานเครื่องบินในอุตสาหกรรมยังคงตึงตัว ในด้านต้นทุน คาดว่าต้นทุนต่อหน่วย (CASK) จะทรงตัวจากปีก่อน
ในช่วงสองเดือนที่ผ่านมา Consensus มีการปรับประมาณการกำไรสุทธิของ BA ปี 2025 ขึ้น 4% จากแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่องของจำนวนผู้โดยสาร เรามองว่ามีโอกาสที่ตลาดจะปรับประมาณการกำไรปีนี้ขึ้น นอกจากนี้อาจมีอัพไซด์เพิ่มเติมหากต้นทุนน้ำมันเครื่องบินปรับตัวลดลงจากปีก่อน
Our view: จากการประเมินเบื้องต้น เรามีมุมมองเชิงบวกต่อแนวโน้มการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารแข็งแกร่งต่อเนื่องในปี 2025 และโอกาสตลาดปรับประมาณการกำไรปีนี้ขึ้น รวมทั้งการเติบโต QoQ ของกำไร 1Q25 น่าจะเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้นในระยะสั้น เราจึงมองว่า BA เป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุน
SAPPE
(Visit Note)
เซ็ปเป้
บริษัทลดเป้าการเติบโตปี 2025 รับมือปัจจัยกดดัน
หลังจากที่รายงานกำไร 4Q24 ต่ำกว่าตลาดคาด บริษัทปรับลดการเติบโตของรายได้ปี 2025 เหลือ 5% YoY จากเดิม 15% YoY เนื่องจากภาวะชะลอตัวในทุกตลาดส่งออกและในประเทศ ซึ่งเป็นข้อมูลเซอร์ไพรส์ด้านลบกับตลาดหุ้น
โดยเฉพาะกลุ่มยอดขายตลาดยุโรปที่คาดว่ายอดขายจะหดตัว 10% YoY เนื่องจากปัญหาด้านการจัดการสินค้าบนชั้นวางสินค้า การขยายเข้าโมเดิร์นเทรดไม่เป็นไปตามเป้า การแข่งขัน และสภาพเศรษฐกิจ ส่วนตลาดอื่นๆ ก็ล้วนคาดการณ์การเติบโตในปี 2025 ชะลอลงจากการเติบโตในปี 2024 ด้วย
การแก้ปัญหามองต้องใช้กลยุทธ์ที่แตกต่างกันและต้องใช้เวลา ซึ่งการขายผลิตภัณฑ์ออกได้ช้า ทำให้เกิดสต๊อคสินค้าอยู่ที่เอเจ้นท์ในแต่ละประเทศ และรอการขายสินค้าระบายออกก่อน
Our view: ราคาหุ้นน่าจะถูกกดดันต่อ จากการปรับลดประมาณการของตลาด เนื่องจากยังไม่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวใน 1Q25
สรุปประเด็นจาก Quick take
OSP
โอสถสภา
มุมมองต่อการประชุมนักวิเคราะห์
ผู้บริหารตั้งเป้ารายได้ 2025 โต 8% และมาร์จิ้นคงตัวจากปี 2024 ซึ่งสูงกว่าประมาณการของเรา บริษัทตั้งเป้า market share ขึ้นจาก 46% ปัจจุบัน ไป 50% สิ้นปี 2025 โดยมาจากพอร์ต 10 บาท ขึ้น
แต่พอร์ต 12 บาท ลงเล็กน้อย
View from fundamental: ราคาหุ้นลงมาต่ำกว่าราคาเป้าหมายของเรา บ่งชี้ downside ที่จำกัด แต่ยังขาดปัจจัยกระตุ้นแรงๆ เพราะรอดูยอดขายและมาร์จิ้นของการปรับพอร์ตเครื่องดื่ม
CK
ช.การช่าง
มุมมองต่อการประชุมนักวิเคราะห์
ความสนใจ รถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 2 มูลค่า 2.35 แสนลบ. เป็นประเด็นใหม่ที่ CK ไม่ค่อยพูดถึงก่อนหน้า และดูเหมือนภาครัฐจะผลักดันกว่างานรางอื่นๆ การลดสัดส่วนหลวงพระบาง (LPCL) ให้ TTW ครึ่งหนึ่ง จะนำเงินไปลดหนี้และหมุนเวียน เบื้องต้น คาดว่าอาจเกิดช่วง 3Q25
View from fundamental: ราคาหุ้นน่าจะขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป จนถึงช่วงใกล้ประมูลความเร็วสูง (ลุ้นกลางปี) ค่อยหวือหวา และ Downside ขาลงน้อย เพราะมีซื้อหุ้นคืนรองรับ จึงเหมาะกับการทยอย ซื้อสะสม
วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน