Today’s NEWS FEED

News Feed

BDE เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น พ.ร.บ. ดีอี ต่อยอดการใช้ประโยชน์กฎหมายดิจิทัล เน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มุ่งสร้างศักยภาพเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงเทคโนโลยี

322

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (25 กุมภาพันธ์ 2568)-------วันนี้ (25 กุมภาพันธ์ 2568) นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) เป็นประธานการประชุมรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 (พ.ร.บ.ดีอี) ภายใต้โครงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน เข้าร่วมกว่า 100 คน ณ ห้องประชุมแมจิก 3 โรงแรมมิราเคิล กรุงเทพฯ

            นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ เลขาธิการคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (BDE) กล่าวว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (พ.ร.บ.ดีอี) มุ่งส่งเสริมการพัฒนาดิจิทัลของประเทศ โดยวางโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศอย่างเป็นระบบ ลดความซ้ำซ้อน และสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน กฎหมายนี้ยังรองรับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ สนับสนุนการใช้ดิจิทัลในการบริการและทำธุรกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน

            "พ.ร.บ.ดีอี มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ส่งเสริมความรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ และพัฒนาคลังข้อมูลดิจิทัล ซึ่งมาตรา 5 และมาตรา 6 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีจัดทำนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตามข้อเสนอของคณะกรรมการดิจิทัลดิจิทัล
เพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และให้หน่วยงานรัฐทุกแห่งดำเนินการให้สอดคล้อง ประกอบกับการพัฒนาดิจิทัลเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ อีกทั้งยังจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล นวัตกรรม และธุรกิจรูปแบบใหม่ โดยมีกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กองทุนดีอี) สนับสนุนเงินทุนแก่โครงการพัฒนาดิจิทัล โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน การวิจัย และบุคลากร สำหรับหน่วยงานภาครัฐและเอกชน" นายเวทางค์ฯ กล่าว

            สำหรับ พ.ร.บ. ดีอี ขณะนี้ครบรอบระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ประเมินผลสัมฤทธิ์ คือกฎหมายมีผลบังคับใช้อย่างน้อย 5 ปี วันนี้จึงเป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตอบสนองความต้องการของภาครัฐและเอกชน และสร้างประโยชน์แก่ประชาชนในการเข้าถึงนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ทั้งนี้ ปัจจุบันยังไม่พบปัญหาสำคัญในการบังคับใช้กฎหมาย จึงถือว่า พ.ร.บ. ดีอี บรรลุวัตถุประสงค์ในระดับหนึ่ง

            ดังนั้นในยุคที่เทคโนโลยีดิจิทัลก้าวหน้าและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว พ.ร.บ. ดีอี จึงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความท้าทายทางเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การเติบโตของปัญญาประดิษฐ์ (AI) บล็อกเชน (Blockchain) เทคโนโลยีควอนตัม (Quantum technology) และอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) การปรับปรุงกฎหมายอย่างต่อเนื่องจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างเศรษฐกิจดิจิทัลที่ยั่งยืนและครอบคลุมสำหรับทุกคน

            นอกจากการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในวันนี้แล้ว BDE ยังได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลในรูปแบบของแบบสอบถามออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ระบบกลางทางกฎหมาย (www.law.go.th) และการสัมภาษณ์เชิงลึกของผู้บริหารที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณเดือนมิถุนายน ๒๕๖๘ เพื่อนำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้ไปเป็นแนวทางในการปรับปรุงและพัฒนาพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด        เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยให้บรรลุเป้าหมายด้านการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมต่อไป

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

พีที สเตชั่น จับมือ "โป๊ยเซียน" แจกยาดม 2 หมื่นหลอด เติมความสดชื่นเต็ม MAX ในแคมเปญ "เพื่อนคู่ใจทุกการเดินทาง"

พีที สเตชั่น จับมือ "โป๊ยเซียน" แจกยาดม 2 หมื่นหลอด เติมความสดชื่นเต็ม MAX ในแคมเปญ "เพื่อนคู่ใจทุกการเดินทาง"

งบหมดแล้ว By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ภาคเช้าที่ผ่านมา SET หมุนทะลุเส้น 1200 จุด อีกครั้ง ด้วยแบงก์ ,อิเล็กทรอนิกส์ และพลังงาน....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้