สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(25 กุมภาพันธ์ 2568)----------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท เอฟเอ็นเอส โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (บริษัทฯ หรือ FNS) ที่ CCC-(tha) และคงอันดับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ที่ C(tha)
การประกาศคงอันดับเครดิตสะท้อนถึงสภาพคล่องของบริษัทฯที่ยังคงตึงตัว เนื่องจากการชำระคืนหนี้สินที่ใกล้ครบกำหนดชำระของบริษัทฯ จะต้องพึ่งพาการรับชำระคืนเงินกู้จากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน ซึ่งได้แก่ บริษัท เอ็มเค เรียลเอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MK) ซึ่งก็มีความยืดหยุ่นทางการเงินที่อ่อนแอในการชำระคืนหุ้นกู้ที่ใกล้ครบกำหนดชำระเช่นกัน นอกจากนี้ อันดับเครดิตของบริษัทฯยังสะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่า FNS จะดำเนินการโดยมีกระแสเงินสดสุทธิ (Free Cash Flow) ที่ติดลบอย่างต่อเนื่องในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้า ซึ่งจะเพิ่มแรงกดดันต่อสภาพคล่องของบริษัทฯ
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
สภาพคล่องตึงตัว: ฟิทช์ประเมินว่าสภาพคล่องของ FNS ยังคงถูกจำกัดโดยภาระผูกพันในการชำระคืนเงินกู้ระยะสั้นและหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดใน 12 เดือนข้างหน้า โดยความสามารถในการชำระคืนหนี้ตามกำหนดจะต้องพึ่งพาการรับชำระคืนเงินกู้จาก MK ซึ่ง MK ยังมีความต้องการจัดหาเงินกู้ใหม่เพื่อใช้ชำระคืนหนี้เดิม (Refinance) และมีความต้องการสภาพคล่องสูง โดยมีหุ้นกู้จำนวน 1,189 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนมีนาคม 2568 และ 700 ล้านบาทในเดือนมิถุนายน 2568
ฟิทช์มองว่า แผนของ MK ในการจำหน่ายอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุนที่ถือครองโดยบริษัทย่อย ให้กับ ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ พรอสเพค โลจิสติกส์และอินดัสเทรียล (Prospect REIT) เพื่อชำระคืนหนี้สิน ยังมีความเสี่ยงในการดำเนินการ ถึงแม้ว่าการขายสินทรัพย์ดังกล่าวจะมีความคืบหน้าบ้างก็ตาม
กระแสเงินสดสุทธิติดลบ: ฟิทช์เชื่อว่าสภาพคล่องของ FNS จะตึงตัวมากขึ้น จากกระแสเงินสดสุทธิที่ติดลบอย่างน้อยในช่วง 18-24 เดือนข้างหน้าจากธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพ ซึ่งยังอยู่ช่วงเริ่มต้นดำเนินธุรกิจและการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ยังมีจำกัด FNS จะต้องพึ่งพาการขายสินทรัพย์ วงเงินสินเชื่อที่มีอยู่เดิมกับธนาคาร และเงินสดที่จำกัด เพื่อรองรับกระแสเงินสดสุทธิที่ติดลบ FNS มีแผนที่จะรองรับกระแสเงินสดสุทธิที่ติดลบในระยะสั้นด้วยการขายสินทรัพย์ที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักและการรับชำระคืนเงินกู้จากบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน
ขนาดธุรกิจที่เล็ก: สถานะทางเครดิตของ FNS ถูกจำกัดด้วยขนาดของธุรกิจที่เล็ก โดยบริษัทฯมุ่งเน้นไปที่โครงการให้บริการด้านสุขภาพเพียงสองโครงการ ได้แก่ RAKxa Integrative Wellness และ RXV Wellness Village RAKxa ซึ่งเปิดตัวในปี 2563 เป็นโครงการที่พักที่เน้นการให้บริการด้านสุขภาพแบบองค์รวมซึ่งมีราคาสูง โดยเน้นกลุ่มผู้เข้ารับบริการชาวต่างชาติที่มี
รายได้สูง ในขณะที่ RXV ซึ่งเริ่มดำเนินการในปี 2566 เสนอการให้บริการด้านสุขภาพที่มีราคาต่ำกว่า เพื่อตอบสนองผู้เข้ารับบริการชาวไทย ทั้งรายบุคคลและกลุ่มองค์กร รวมถึงผู้เข้ารับบริการชาวต่างชาติด้วย
ทั้งสองโครงการกำลังดำเนินการในอัตราการเข้าพักที่ต่ำกว่าจุดคุ้มทุน อย่างไรก็ตาม FNS คาดว่าการดำเนินงานจะถึงจุดคุ้มทุนและเริ่มมีโดยกระแสเงินสดเป็นบวกภายใน 18 เดือนข้างหน้า FNS มีแผนที่จะเพิ่มอัตราการเข้าพักโดยการสร้างฐานผู้เข้ารับบริการที่ใหญ่ขึ้น และเพิ่มอัตราการกลับเข้าพักซ้ำของผู้เข้ารับบริการ
กระแสเงินสดจากการลงทุนมีความอ่อนแอ: ฟิทช์คาดว่าเงินปันผลรับของ FNS จากการลงทุนอื่นนอกเหนือจาก MK ไม่น่าจะยั่งยืนในช่วง2-3 ปีข้างหน้า นอกจาก MK FNSมีเงินปันผลรับจากการลงทุนอื่นในปี 2566-2567 ได้แก่ เงินลงทุนใน NEO ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าอุปโภคในครัวเรือนและสินค้าดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลชั้นนำของประเทศไทย และ Prospect REIT ในปี 2567 FNS ได้แลกเปลี่ยนเงินลงทุนใน Prospect REIT กับธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพของ MK FNS มองว่าเงินลงทุนใน NEO และเงินลงทุนขนาดเล็กอื่นๆ ไม่ใช่เงินลงทุนหลักของบริษัทฯ โดย FNS อาจจะจำหน่ายเงินลงทุนดังกล่าวเพิ่มสภาพคล่อง
ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่ต่ำ: ฟิทช์คาดว่าความต้องการในการใช้จ่ายด้านการลงทุนและการลงทุนของ FNS จะยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยฟิทช์เชื่อว่า FNS จะมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงผลการดำเนินงานของโครงการให้บริการด้านสุขภาพสองโครงการที่มีอยู่เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่เป็นบวกอย่างยั่งยืนก่อนที่จะเริ่มขยายธุรกิจหรือการลงทุนใหม่ ๆ ดังนั้น FNS จะมีเพียงค่าใช้จ่ายด้านการบำรุงรักษาเล็กน้อยในช่วง2-3ปีข้างหน้า
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
อันดับเครดิตของ FNS อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิตในประเทศไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงสภาพคล่องที่ตึงตัวและขนาดการดำเนินงานที่จำกัด
สมมติฐานที่สำคัญ
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- FNS เลิกการรวมงบการเงินกับ MK ตั้งแต่ พฤศจิกายน 2567 และมุ่งเน้นในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพ
- กระแสเงินสดสุทธิติดลบในปี 2568-2569
- ไม่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่เป็นสาระสำคัญในปี 2568-2569
- ไม่มีการจ่ายเงินปันผลในปี 2568-2569
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยลบ:
- บริษัทฯไม่สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ที่ใกล้ครบกำหนดชำระได้
- มีความเป็นไปได้ที่บริษัทฯ จะผิดนัดชำระหนี้ หรืออยู่ในสถานะที่ใกล้เคียง
ปัจจัยบวก:
- บริษัทฯ สามารถชำระหนี้หุ้นกู้ได้ตามกำหนด
- บริษัทฯ สามารถขายสินทรัพย์ได้ ซึ่งทำให้สภาพคล่องของบริษัทฯ ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สภาพคล่องและโครงสร้างหนี้
FNS มีสภาพคล่องที่ยังคงตึงตัว โดยมีหนี้จำนวน 626 ล้านบาทที่จะครบกำหนดใน 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2568 หนี้ดังกล่าวเป็นเงินกู้ระยะสั้นซึ่งFNSคาดว่าจะชำระคืนโดยใช้แหล่งเงินจากการรับชำระคืนเงินกู้จาก MK จำนวน 967 ล้านบาท รวมถึง 350 ล้านบาทจากบริษัท บีเอฟทีแซด วังน้อย จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวข้องกันกับ FNS และดำเนินธุรกิจคลังสินค้าให้เช่า ฟิทช์เชื่อว่า FNS จะเก็บสำรองเงินทุนที่เหลือไว้เพื่อรองรับกระแสเงินสดที่ติดลบในช่วง 12 เดือนข้างหน้า ซึ่งฟิทช์ประเมินไว้ที่ประมาณ 350 ล้านบาท
นอกจากนี้ FNS ยังมีหุ้นกู้จำนวน 367 ล้านบาทที่จะครบกำหนดในเดือนตุลาคม 2568 ซึ่งฟิทช์คาดว่า FNS จะชำระคืนด้วยการขายหุ้น NEO ที่เหลืออยู่ ซึ่งมีมูลค่าตลาดปัจจุบันที่ประมาณ 380 ล้านบาท
ลักษณะธุรกิจ
FNS เป็นบริษัทที่ถือหุ้นในบริษัทอื่นเพื่อการลงทุน (Investment Holding Company) การลงทุนหลักของบริษัทฯอยู่ในธุรกิจให้บริการด้านสุขภาพ โดยถือหุ้น 100% ใน บริษัท อาร์เอ็กซ์ เวลเนส จำกัดและในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยถือหุ้น ร้อยละ36.6 ใน MK นอกจากนี้เงินลงทุนอื่นๆของ FNS ได้แก่เงินลงทุนในธุรกิจสินค้าอุปโภคในครัวเรือนและสินค้าเพื่อดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคล ธุรกิจเครือข่ายร้านเบเกอรี่ และธุรกิจขนาดเล็กอื่นๆ ที่เป็นช่วงเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ