ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook
แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
ภาษีนำเข้า VS นโยบายการเงิน: ความท้าทายของเฟดในปี 2025
Key Takeaways:
แม้ผลกระทบของสงครามการค้าในปัจจุบันยังจำกัด แต่หากความขัดแย้งยืดเยื้อ อาจกระทบความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ตลาดการเงิน และห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งจะฉุดการเติบโตทางเศรษฐกิจโชกปี 2025 ให้ต่ำกว่าคาด
การขึ้นภาษีนำเข้าระหว่างสหรัฐฯ-จีนในปี 2018-19 ส่งผลกระทบต่อหลายกลุ่ม โดยภาระภาษีตกอยู่กับผู้นำเข้าสหรัฐฯ และบางส่วนถูกผลักไปยังผู้บริโภค นอกจากนี้ยังเกิดการเบี่ยงเบนเส้นทางการค้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยการนำเข้าจากจีนที่ลดลงถูกทดแทนด้วยการนำเข้าจากประเทศอื่น เช่น การนำเข้าจากเม็กซิโกที่เพิ่มขึ้น และกรณีถั่วเหลืองที่จีนหันไปนำเข้าจากบราซิลแทนสหรัฐฯ
แม้ว่าภาษีนำเข้าจะมีผลกระทบต่อราคาและต้นทุนของธุรกิจ แต่เฟดคงยังไม่เร่งตอบสนองต่อผลกระทบของภาษีนำเข้า หากเป็นเพียงการปรับราคาครั้งเดียว (one-time price shock) เว้นแต่ว่าภาษีสร้างแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ (inflation persistence) ผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นและค่าจ้าง เฟดก็อาจต้องปรับนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุปเช่นนั้น เราจึงยังคงมุมมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ ตามแนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มากกว่าคาด
รายละเอียด:
ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และประเทศต่างๆจะส่งผลกระทบในเชิงลบต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตจำนวนมากในหลายๆประเทศ ถึงแม้ว่าผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในขณะนี้จะอยู่ในระดับที่ค่อนข้างจำกัด แต่ความตึงเครียดที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในอนาคตอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อมั่นทางธุรกิจและตลาดการเงิน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก และเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ตลาดคาดการณ์ไว้ในปี 2025
“พฤติกรรมตลาดในช่วงสงครามการค้าปี 2018-19”
สหรัฐฯ ขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจีนกว่า 10,000 รายการ ในอัตรา 10%-25% โดยทยอยเก็บเป็น 3 ครั้ง รวมมูลค่าสินค้ากว่า 250,000 ล้านดอลลาร์
ผลกระทบคือ ก่อนบังคับใช้มีการกักตุนสินค้า ทำให้ยอดนำเข้าพุ่งสูง แต่หลังบังคับใช้ยอดนำเข้าลดลงอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อทั้งสองประเทศและคู่ค้าอื่นๆ
“ผลกระทบจากสงครามการค้าในอดีต“
”ผลกระทบต่อผู้บริโภค“
งานวิจัยโดย Cavallo, Gopinath, Neiman และ Tang ชี้ว่าในช่วงสงครามการค้า 2018-2019 ภาระภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ตกอยู่กับผู้นำเข้าสหรัฐฯ โดยบางส่วนถูกผลักไปยังผู้บริโภค เช่น กรณีเครื่องซักผ้า ขณะที่บางบริษัทรับภาระผ่านการลดอัตรากำไร ส่งผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาด
การศึกษาของ NBER พบว่ากำแพงภาษีทำให้รายได้จริงของชาวอเมริกันลดลง 1.4 พันล้านดอลลาร์ต่อเดือน และเพิ่มภาระภาครัฐ สะท้อนจากเงินอุดหนุนที่พุ่งขึ้นเป็น 78.5 พันล้านดอลลาร์ใน Q4/2018 สูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีที่ 58 พันล้านดอลลาร์
“ผลกระทบต่อผู้ผลิต”
ผลกระทบต่อผู้ผลิตมีทั้งได้และเสีย ผู้ผลิตในสหรัฐฯ และจีนที่แข่งขันกับสินค้านำเข้า หรือผู้ส่งออกจากประเทศที่สาม อาจได้รับประโยชน์ ขณะที่ผู้ผลิตสินค้าถูกเก็บภาษีและผู้ใช้วัตถุดิบเหล่านั้นได้รับผลกระทบ
การเบี่ยงเบนเส้นทางการค้าชดเชยการลดนำเข้าจากจีน เช่น สหรัฐฯ นำเข้าจากเม็กซิโกเพิ่มขึ้นในสินค้าบางรายการหลังขึ้นภาษี ส่วนกรณีถั่วเหลือง การส่งออกของสหรัฐฯ ไปจีนลดลงเกือบเป็นศูนย์ ขณะที่บราซิลส่งออกเพิ่มขึ้น แม้ราคาถั่วเหลืองจะกลับมาสมดุล แต่เกษตรกรสหรัฐฯ เสียประโยชน์ ขณะที่บราซิลได้ประโยชน์จากตลาดที่เปลี่ยนไป
“ผลกระทบของภาษีนำเข้าต่อทิศทางนโยบายดอกเบี้ยของเฟด”
การขึ้นภาษีนำเข้าอาจกดดันเงินเฟ้อระยะสั้น แต่หากเฟดมองว่าเป็น “one-time price shock” มากกว่าปัจจัยเงินเฟ้อเชิงโครงสร้าง ก็จะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยทันที เช่น ในปี 2019 แม้จะยังมีปัญหาสงครามการค้าอยู่ แต่เงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวมากนัก เนื่องจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวช่วยลดผลกระทบ จึงทำให้เฟดลดดอกเบี้ยในปีดังกล่าวได้
อย่างไรก็ตาม หากอนาคตเกิดกรณีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นถูกส่งผ่านไปยังผู้บริโภคและทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง จนนำไปสู่สถานการณ์ Wage-Price Spiral เฟดก็อาจจำเป็นต้องใช้นโยบายทางการเงินที่เข้มงวดขึ้น
กล่าวโดยสรุป แม้ว่าภาษีนำเข้าจะมีผลกระทบต่อราคาและต้นทุนของธุรกิจ แต่เฟดอาจไม่ตอบสนองโดยทันที หากผลกระทบของภาษีจำกัดอยู่แค่การปรับราคาสินค้าแบบครั้งเดียว เฟดมีแนวโน้มจะปล่อยให้ตลาดปรับตัวเอง แต่หากภาษีศุลกากรนำไปสู่แรงกดดันเงินเฟ้อที่ยืดเยื้อ โดยเฉพาะผ่านกลไกค่าจ้าง หรือทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อจะสูงขึ้นในระยะยาว เฟดอาจต้องปรับนโยบายเพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น การวิเคราะห์ผลกระทบของภาษีนำเข้าไม่สามารถมองเพียงมิติของ “ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ” ในช่วงนั้นทันที แต่ต้องพิจารณาผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมหลายๆมิติควบคู่กันไป ซึ่งขณะนี้ยังเร็วไปที่จะปรับเปลี่ยนคาดการณ์ เราจึงยังคงมุมมองว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ จากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจที่มากกว่าที่ตลาดคาด
สรุปภาพตลาดวานนี้
หุ้นไทยแก๊สหมดกลางทาง ช่วงสายๆบวกได้ดีจากแรงซื้อหุ้นกระจายกลุ่ม แต่สุดท้ายเหลือหุ้นรอดชีวิตปิดเขียวได้เพียง ADVANC GULF DELTA BCP MINT ส่วนหุ้นที่มีปัจจัยลบเฉพาะตัว เช่น PTTGC TOP ติดลบตามคาด แต่หุ้นที่ลบหนักกว่ากลับกลายเป็นหุ้นกลาง เล็ก เช่น GLOBAL DOHOME STECON CK OKJ
แนวโน้มตลาดวันนี้
หุ้นไทยใครๆก็ไม่รัก (รับวันวาเลนไทน์)
แม้ปัจจัยลบที่ถาโถมหุ้นไทย ตามเหตุผลที่เราลิสต์มา จะเริ่มคลี่คลาย แต่กลายเป็นหุ้นไทยยังคงรั้งท้าย ตลาดหุ้นเพื่อนบ้านอย่าง อินโดนีเซีย ฟิลิปินส์ ฯลฯ ซึ่งหากมองเหตุผลว่าหุ้น เพื่อนบ้าน รวมทั้งเอเชีย ควรจะตกเพราะปัจจัยมหภาค เช่น กลัวเงินเฟ้อ อเมริกา สงครามการค้า ฯลฯ แต่ปรากฎว่า มีเพียงหุ้นไทยที่ทำผลตอบแทนย่ำแย่ โดนเทแบบ ไม่มีใครรักต้อนรับ พรี-วาเลนไทน์ สวนทางชาวบ้าน เหมือนเช่นที่ผ่านมา
ด้านงบการเงินหุ้นไทย กลาง เล็ก หลายตัว ออกมาดีแบบไม่แย่ เช่น JMT ITC TIDLOR ฯลฯ ที่เห็นงบแล้วแต่ ไม่มีใครกล้าเล่นเหมือนเมื่อก่อน และที่กลัวผิดหวังงบการเงิน จากผลกระทบที่อาจเกิดจากสงครามการค้า เช่น การทะลักของสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น เหล็ก กระทบราคาหุ้นวัสดุก่อสร้างอย่างรุนแรง และหุ้นที่เราเตือนงบแย่ เช่น กลุ่มรับเหมาฯ เป็นต้น แต่เรายังคงคาดว่า หลังสัปดาห์นี้ไปพอ งบหุ้นใหญ่ทยอยออกมากขึ้น พอเห็นงบแล้วคาดผลกระทบต่อตลาดจะเริ่มลดลง
ดังนั้นเราเห็นว่า เมื่อผ่านพ้นช่วงหัวโค้งรับแรงขายทั้งก่อนและหลังงบการเงินจบเราคงคาดว่าจะเริ่มเห็นจังหวะในการสะสมหุ้นใหญ่รอบใหม่ ดั่งเช่น ADVANC GULF INTUCH กลุ่มธนาคาร ที่เป็นตัวแทนหุ้นใหญ่พอเห็นงบจบแล้ว จะมีแรงซื้อกลับเข้ามารอบใหม่
กลยุทธ์การลงทุน
เลือกสะสมหุ้นรายตัว (Hold ระยะยาวหน่อย) จากเกณฑ์ 1) ราคาหุ้นทรงตัวได้ดี Outperform ในเชิงเทคนิคคอล ไม่ Overbought 2) ความถูกของราคาหุ้นเมื่อเทียบมูลค่าทางบัญชี (PBV) และเทียบกับ Bands 3) แนวโน้มผลการดำเนินงานระยะสั้น ดูแล้วไม่น่าจะสร้างความผิดหวัง 4) โอกาสที่กำไรระยะสั้นจะดีกว่าที่คิด เพราะมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เช่น มาตรการช้อปช่วยชาติ แจกเงินหมื่น ในช่วงไตรมาสแรก หนุนกำไรโตต่อเนื่อง 4Q24-1Q25 5) มีปันผลระหว่างกาล
วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET week เริ่มสู้เป็นสัปดาห์ที่ 2 หากปิดบริเวณนี้ได้ อาจเรียกว่ารูปแบบ “DOJI” บ่งชี้แรงซื้อกลับมาสูสีฝั่งขาย จับตาโครงสร้างในอดีตปี 2024 ดัชนีสร้างฐานก่อนปรับตัวขึ้น ภายหลังผ่านการปรับลง drawdown ร่วงจาก peak ทั้งสิ้น -20% ขณะที่ RSI week ร่วงลงสู่ กรอบล่าง คล้ายภาพปัจจุบัน…อย่างไรก็ตามหากตลาดอยู่ในช่วงเฟสแรกของการฟื้นตัว อาจยังขึ้นไม่ไกล จับตาเงื่อนไข จุดเปลี่ยนหากทะลุ 1,300 จุด (ค่าเฉลี่ยในรอบ 1 สัปดาห์) หรือเกิดสัญญาณกลับตัวเขียวแท่งใหญ่ Engulfing อาจเป็นจุดเปลี่ยนโครงสร้างขาขึ้น....รอบนี้ขอลุ้นครับ…
Note: สรุป SET ลุ้นปิด week สวยๆ เบียด 1,300 จุด เพื่อไปต่อ
What to watch
รมว.คลัง เปิดเผยว่า ในช่วงปลายเดือนก.พ. นี้ หรืออย่างช้าในช่วงต้นเดือนมี.ค.นี้ จะนัดประชุมคณะกรรมการนโยบายโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อพิจารณาโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 สำหรับบุคคลทั่วไปที่ได้ลงทะเบียนแล้ว
MSCI Rebalance: หุ้นออกจาก Standard index: PTTGC TOP หุ้นเข้า MSCI Small Cap: GPSC SCGP PTTGC TOP และหุ้นออกจาก Small Cap: BSRC DCC ERW GFPT KAMART PSG PSH SAPPE STECON THG TIPH
"ทรัมป์" วางแผนที่จะประกาศใช้ภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ในสัปดาห์นี้ ซึ่งจะเป็นการยกระดับการทำสงครามการค้ากับพันธมิตรทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ภาษีตอบโต้อาจจะมาแทนแผนภาษีนำเข้าพื้นฐานในอัตรา 10-20% ซึ่งเขาใช้ในการหาเสียง โดยทรัมป์กล่าวว่าเขามีแนวโน้มที่จะใช้ภาษีตอบโต้เป็นหลักมากกว่าอัตราภาษีศุลกากรพื้นฐานทั่วไป
ทรัมป์กล่าวว่าเขากำลังพิจารณาการเก็บภาษีสินค้านำเข้าที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์เป็นพิเศษ
รอดูมาตรการกระตุ้นตลาดหุ้นไทย ระยะสั้นจากหน่วยงานไทยที่เกี่ยวข้อง
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวขึ้น 3.5% ในเดือนม.ค. หลังจากที่เพิ่มขึ้น 3.5% ในเดือนธ.ค.เช่นกัน ส่วนดัชนี PPI พื้นฐาน (Core PPI) ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน และหนึ่งในเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จับตาอย่างใกล้ชิด ปรับตัวขึ้น 3.6% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งชะลอตัวลงจากระดับ 3.7% ในเดือนธ.ค.
ทรัมป์ ได้ลงนามในบันทึกของประธานาธิบดี (presidential memorandum) ในวันพฤหัสบดี เพื่อประกาศแผนการใช้มาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้กับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ในทันที โดยเจ้าหน้าที่อาวุโสของทำเนียบขาวเปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า มาตรการดังกล่าวอาจจะมีการบังคับใช้ในอีกไม่กี่สัปดาห์หรือไม่กี่เดือนข้างหน้า
(Reciprocal Tariffs) จะเก็บกับทุกประเทศที่เก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ แต่มาตรการดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้จนกว่าจะถึงวันที่ 1 เม.ย. โดยปธน.ทรัมป์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายเศรษฐกิจและการค้าศึกษาในประเด็นต่าง ๆ เพิ่มเติม
จับตาการเจรจายุติสงครามในยูเครน หลังจากปธน.ทรัมป์กล่าวว่า ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้นำรัสเซีย และประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน ต่างก็แสดงความประสงค์ที่จะบรรลุข้อตกลงสันติภาพ และปธน.ทรัมป์ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่สหรัฐเริ่มกระบวนการเจรจาเพื่อยุติสงครามในยูเครน
ทางด้านปธน.เซเลนสกีกล่าวว่า ยูเครนจะไม่ยอมรับการเจรจาทวิภาคีใดๆ หากยูเครนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย และยังกล่าวด้วยว่า การจัดการประชุมในยูเครนตามรูปแบบของสหรัฐฯ ควรจะเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการเจรจาสันติภาพเพื่อยุติความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และตามมาด้วยการเจรจากับรัสเซีย
หุ้นแนะนำวันนี้
AOT จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเกินเป้าหมาย ดูรายงานที่ BLS Research เพิ่งออกรายงานอัพเดท(S 54 R 56 SL 53)
รายงานพื้นฐานวันนี้
Residential Property
ยอดเปิดตัวใหม่ต่ำ
AREA รายงานการเปิดตัวต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยเรามองว่าบริษัทอสังหายังคงเน้นการขาย inventory ในเดือนมกราคม 2025 มีการเปิดตัวโครงการใหม่เพียง 1,633 ยูนิต ลดลง 40% MoM บ้านเดี่ยวเปิดตัวทั้งหมด 164 ยูนิต ลดลง 78% MoM โดยเดือนที่ผ่านมามีการเปิดตัวเพียงบ้านระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป สอดคล้องกับกำลังซื้อของระดับกลางและล่างที่ยังคงอ่อนแอ คอนโดใหม่เปิดตัวทั้งหมด 982 ยูนิต ลดลง 49% MoM ยังคงกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มคอนโดมิเนียมระดับล่าง และ ทาวน์เฮาส์เปิดตัวทั้งหมด 487 ยูนิต เพิ่มขึ้น 894% MoM จากฐานต่ำ ส่วนยอดจองของโครงการใหม่ (Take-up rate) ต่ำสุดในรอบ 10 ปีเช่นกัน โดยยอดจองซื้อลดลงจาก 19% ในเดือนธันวาคม เหลือ 14% ในเดือนมกราคม ลดลงทุกหมวดหมู่ โดยแนวราบยอดจองซื้อเปิดใหม่เหลือเพียง 4%
สำหรับภาพปี 2025 เรายังคงมองว่าปีนี้จะเป็นปีที่โฟกัสกับการเคลียร์สต๊อกเป็นหลัก เราเห็นแผนการเปิดตัวโครงการใหม่ลดลงอย่างน้อย 10% YoY ทุกบริษัท ยกเว้น SIRI ทำให้เรามองว่าปีนี้ จะเห็น Gross Margin ของกลุ่มอสังหา ปรับตัวลงไปอีกราว 2-3 % YoY ยังคงแนะนำ UNDERWEIGHT
KCE
เคซีอี อีเลคโทรนิคส์
God's Eye หนุนตลาด PCB
ในงานสัมนาเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า BYD ได้เปิดตัวรถยนต์ที่ขายดีที่สุด 21 รุ่น ที่ตอนนี้ได้รับการอัปเกรดเป็น Smart Driving Edition มาพร้อมระบบอัจฉริยะ God Eye ใหม่ทั้งหมดด้วยราคาเท่าเดิมในทุกระดับราคา เช่น Seagull, Dolphin และ Seal EV โดยจะแบ่งเป็น 3 ระดับคือ God’s Eye A-C ซึ่งจะมีการเพิ่มกล้อง, Radar และ LiDAR เข้ามา ซึ่งการขยับครั้งนี้เรามองว่าเป็นการขยับเข้าสู่ ADAS Level 3 และ 4 ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนตลาด PCB ที่เป็นส่วนประกอบในอุปกรณ์เหล่านี้ โดยเราประเมิน God’s Eye C จะมีการใช้จำนวน PCB เพิ่มขึ้น 163%, B 188% และ A 238% ไม่นับรวมมูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการใช้ PCB ที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น HDI สำหรับ LiDAR การเติบโตของตลาด ADAS คาดจะหนุนตลาด PCB และ KCE ในอนาคต
เราแนะนำ ซื้อเก็งกำไร KCE เชิงกลยุทธ์ ราคาเป้าหมาย เบื้องต้นที่ 22.90 บาท
CPN
เซ็นทรัลพัฒนา
ยังโตอยู่แต่ชะลอลง
เราประเมินกำไรสุทธิ 4Q24 ที่ 3.7 พันล้านบาท ลดลง 6% YoY และ 10% QoQ ต่ำกว่าที่เราและตลาดคาดก่อนหน้าที่ 4.1-4.3 พันล้านบาท จากค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าคาดและรายการพิเศษ โดยคาดกำไรหลักที่ 4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% YoY เรามีการปรับประมาณการกำไรหลักปี 2025 ลง 3% และ 2026 ลง 2% จากธุรกิจการขายอสังหาฯ และค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น เราคาดค่าใช้จ่าย pre-opening ของ Dusit Central Park จำเข้ามากดดันในช่วงครึ่งหลัง
เรายังคงคำแนะนำ ถือ ปรับราคาเป้าหมายลงมาที่ 58 บาท
รายงานผลประกอบการวันนี้
AOT รายงานกำไรหลัก 1Q25 ที่ 5.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% YoY และ 23% QoQ ต่ำกว่าที่เราคาด 9% และต่ำกว่าตลาดคาด 6% เราประเมินกำไร 2Q25 เติบโต YoY และ QoQ จากจำนวนนักท่องเที่ยวและเที่ยวบินต่างชาติที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งปกติ 2Q25 จะเป็นไตรมาสที่ดีที่สุดของปี เรายังชอบ AOT แนะนำ ซื้อ ราคาเป้าหมาย 72 บาท
ITC รายงานกำไรสุทธิ 4Q24 ที่ 790 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3% YoY แต่ลดลง 19% QoQ หากตัดขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนและรายการพิเศษอื่น ๆ กำไรปกติอยู่ที่ 801 ล้านบาท ลดลง 1% YoY และ 22% QoQ เป็นไปตามที่เราและตลาดคาด
เราคาดว่ากำไรปกติ 1Q25 จะลดลง YoY (จากค่าใช้จ่าย SG&A ที่เพิ่มขึ้น) และลดลง QoQ (จากปัจจัยฤดูกาล) อย่างไรก็ตาม เรายังคงคำแนะนำ ซื้อ
สรุปประเด็นจาก Quick take
THCOM
ไทยคม
ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์
คาดรายได้ปี 2025 เติบโต 400-500 ล้านบาท จากการรับรู้รายได้เพิ่มใน อินเดีย และโครงการ USO Phase 2-3
View from fundamental: THCOM มีโอกาส กำไรเติบโตหลายเท่า หลังรับรู้รายได้จาก Thaicom-10 ในปี 2028 อย่างไรก็ตาม ในช่วง 2025-27 ซึ่งเป็นช่วงรอบต่อเนื่องของธุรกิจ อาจยัง ไม่เห็นการเติบโตโดดเด่น ในผลประกอบการ เราจึง ยังคงคำแนะนำ "ถือ"
JMT
เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์
JMT ตั้งเป้ากำไรสุทธิปี 2025 ขึ้นทำ new high หรือมากกว่า 2 พันล้านบาท เติบโต 24% YoY ซึ่งเรามองว่าเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและสูงกว่าที่เราคาดว่ากำไรปีนี้จะเติบโต 15% YoY
View from fundamental: เราคาดกำไรสุทธิปี 2025 จะเติบโต 15% YoY หนุนจากแนวโน้มรายได้รวมและ gross margin จะฟื้นตัวดีขึ้น แนะนำ ซื้อ
PLANB
แพลน บี มีเดีย
ประกาศ 2 ดีล
Transaction #1 บอร์ด PLANB มีมติลงทุนใน Hello LED 100% มูลค่า 4 พันล้านบาท จาก ROCTEC (50%) และ Wind Harvest (49.99%) จ่ายเงินสด 1000 ล้านบาท และออกหุ้นใหม่ 1000 ล้านบาท ให้ Wind Harvest
View from fundamental: เราประเมินดีลนี้คิดเป็น EPS ส่วนเพิ่มปี 2025 ราว 2% (ผลกระทบครึ่งปี) และ 2026 ราว 4% โดยยังไม่รวม Synergy ที่เกิดขึ้นอีกทั้งยังไม่รวมการเติบโตของ Hello LED
Transaction #2 อนุมัติการเข้าทำสัญญาจ้างบริหารการขายโฆษณาทั้งหมดของ VGI ในประเทศไทย 5 ปีบริษัท จะได้รับค่าตอบแทนจาก VGI เป็นค่าจ้างแบบขั้นบันได ขั้นต่ำ 3% จากรายได้สุทธิ และค่าตอบแทนพิเศษ สูงสุด 35% ของ Gross Operating Profit ที่เกินกว่าที่กำหนดไว้ร่วมกัน
View from fundamental: อิงจากตัวเลขรายได้ 300-500 ล้านบาท เราประเมินดีลนี้คิดเป็น EPS ส่วนเพิ่มปี 2025 ราว 2-3% (ผลกระทบครึ่งปี) และ 2026 ราว 3-5% และคาดจะมีอัพไซด์จากทั้งรายได้ และส่วนเกินจากกำไร เราจะอัพเดทตัวเลขอีกครั้งหลังจากการประชุมช่วงบ่ายวันพรุ่งนี้ ยังคงคำแนะนำ ซื้อ PLANB
วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน