Today’s NEWS FEED

News Feed

Krungthai COMPASS ผลกระทบต่อุตสาหกรรมเหล็กและอะลูมิเนียมไทย หลังสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้า 25%

448

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(14กุมภาพันธ์ 2568)----------Key Highlights

 Krungthai COMPASS ประเมินเบื้องต้น (Initial Assessment) ว่าการขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% ของสหรัฐฯ จะส่ง “ผลกระทบทางตรง”(ความเสี่ยงที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง) ทั้งต่อผลิตภัณฑ์เหล็กและอะลูมิเนียม อย่างไรก็ดี มองว่าเหล็กอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกเหล็กไปสหรัฐฯ ถึง 33.3% สูงกว่าอะลูมิเนียมที่พึ่งพาตลาดสหรัฐฯ ราว 13.8%
 นอกจากนี้ ยังต้องจับตา “ผลกระทบทางอ้อม” จากแนวโน้มการทะลักเข้ามาของเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน ไต้หวัน และเวียดนาม ที่อาจดัมพ์ราคาเพื่อระบายสินค้าในตลาด Non-US ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียส่วนแบ่ง
ตลาดทั้งในไทยรวมถึงตลาดส่งออกอื่น ๆ ของผู้ประกอบการไทยได้
 ภาวะดังกล่าวจะกดดันให้อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAP-U) ของผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็กให้อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องและเพิ่มความเสี่ยงด้าน Stock Loss จากแนวโน้มราคาเหล็กที่คาดว่าจะอยู่ในขาลงหากมีการดัมพ์ราคาเพื่อระบายสินค้าของผู้ส่งออกจากประเทศต่างๆ ซึ่งมีโอกาสจะซ้ำเติมให้ผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการไทยแย่ลงจากสถานการณ์ในปัจจุบัน


เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ ได้ลงนามคำสั่งปรับขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียม 25% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการปกป้องอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐฯ มาตรการทางภาษีดังกล่าวจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 4 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป โดยไม่มีข้อยกเว้นสำหรับประเทศใด ๆ ทั้งสิ้น
ในบทความนี้ เราอยากชวนมาวิเคราะห์เป็นการเบื้องต้น (Initial Assessment) ว่าประเทศใดมีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบจากการขึ้นภาษีนำเข้าในครั้งนี้กันบ้าง? รวมถึงไทยเองจะได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจากมาตรการนี้อย่างไร?


การส่งออกเหล็กของไทยมีแนวโน้มได้รับ “ผลกระทบทางตรง” (ความเสี่ยงที่จะส่งออกไปสหรัฐฯ ได้ลดลง) มากกว่าอะลูมิเนียม
ในรอบปี 2565-67 สหรัฐฯ มีการนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมจาก แคนาดา จีน และเม็กซิโกสูงสุดเป็น 3 อันดับแรก ซึ่งมีมูลค่ารวมปีละ 5.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 48.1% ของการนำเข้าทั้งหมด แบ่งเป็นแคนาดา 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (20.9%) จีน 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (15.9%) และเม็กซิโก 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (11.2%) ตามลำดับ


ส่วนการนำเข้าจากไทย อยู่ในอันดับที่ 11 โดยมีมูลค่าปีละ 2.3 พันดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 2% จากมูลค่านำเข้าทั้งหมด ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่อาจไม่ได้สูงนักหากเทียบกับประเทศอื่น แต่อย่างไรก็ดี เป็นข้อสังเกตว่าการส่งออกเหล็กของไทยมีการส่งออกไปยังสหรัฐฯ สูงถึง 33.3% หรือราว 1 ใน 3 สูงกว่าการในกรณีของอะลูมิเนียมที่ 13.8% อย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นจึงอาจสรุปเบื้องต้นได้ว่าการส่งออกเหล็กของไทยมีแนวโน้มได้รับผลกระทบทางตรงจากมาตรการขึ้นภาษีในครั้งนี้มากกว่ากลุ่มอะลูมิเนียม


จับตา “ผลกระทบทางอ้อม” (การทะลักเข้ามาของเหล็กและอะลูมิเนียม) จากจีน ไต้หวัน และเวียดนามที่อาจมาแย่งส่วนแบ่งตลาดของผู้ประกอบการไทย


หากการขึ้นภาษีนำเข้าส่งผลให้ประเทศผู้ส่งออกต่างๆ ต้องเร่งหาตลาดอื่นเพื่อทดแทนสหรัฐฯ (Trade Diversion) ในกรณีนี้ คาดว่าเหล็กและอะลูมิเนียมจากจีน ไต้หวัน และเวียดนามมีโอกาสจะทะลักเข้าไทยมากที่สุด เนื่องจากทั้ง 3 ประเทศอยู่ในทำเลที่ไม่ไกลจากไทย อีกทั้งยังมีประสบการณ์การทำตลาดในไทยอยู่ก่อนแล้ว สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมมายังไทยที่อยู่ในสัดส่วนราว 3.3% (เวียดนาม) 3.6% (ไต้หวัน) และ 4.1% (จีน) เราจึงมองว่าไทยมีโอกาสเป็น 1 ในตลาดส่งออกที่ทั้ง 3 ประเทศ อาจเลือกทำการดัมพ์สินค้าเข้ามาเพื่อทดแทนตลาดสหรัฐฯ ก็เป็นได้


นอกจากสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในไทยแล้ว ผู้ประกอบการยังต้องระวังการแข่งขันในตลาดส่งออกอื่นๆ ที่อาจรุนแรงขึ้นจากการดัมพ์ราคาเพื่อระบายสินค้าของประเทศผู้ส่งออกอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดส่งออกหลักของผู้ประกอบการไทยอย่างกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งไทยมีสัดส่วนการส่งออกเหล็กและอะลูมิเนียมที่อยู่ราว 10%

เปิดมุมมองผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย


อัตราการใช้กำลังการผลิต (CAP-U) โดยเฉพาะในกลุ่มเหล็ก จะถูกกดดันให้อยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง จากการผลิตเพื่อส่งออกไปสหรัฐฯ ที่มีโอกาสทำได้ยากขึ้น ประกอบกับความเสี่ยงที่อาจถูกแย่งส่วนแบ่งตลาดทั้งในไทยและตลาดส่งออกอื่นๆ จากเหล็กนำเข้าราคาถูก โดยเฉพาะจากจีนที่มีโอกาสหันมาตีตลาด Non-US เพื่อระบายสินค้ากันมากขึ้น โดย ในปัจจุบัน CAP-U ของผู้ผลิตเหล็กไทยนั้นถือว่าอยู่ในระดับต่ำที่ราว 40-45% ต่อปี ลดลงจากในอดีตที่เคยอยู่ในกรอบ 50-60% อย่างเห็นได้ชัด


ความเสี่ยงด้านการขาดทุนจากราคา หรือ Stock Loss อาจสูงขึ้น จากราคาเหล็กในปี 2568 ที่คาดว่าจะอยู่ในขาลง ตามแรงกดดันหลักจาก 1) แนวโน้มการดัมพ์ราคาเพื่อระบายสินค้าของผู้ส่งออกจากประเทศต่างๆ ที่จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกอื่นเพื่อทดแทนสหรัฐฯ ประกอบกับ 2) ปัญหาในภาคอสังหาฯ ของจีนซึ่งมีการใช้เหล็กถึง 1 ใน 3 ของทั้งประเทศยังมีแนวโน้มดำเนินต่อไป ปัจจัยเหล่านี้จะคอยกดดันราคาเหล็กตลอดปี 2568 ผู้ประกอบการไทยจึงควรมีการบริหารจัดการสต็อกเหล็กให้ดีเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้าน Stock Loss


ผลการดำเนินงานของธุรกิจเหล็กไทยทั้งด้านรายได้ ความสามารถในการทำกำไร รวมถึงสภาพคล่องอาจถูกซ้ำเติมให้แย่ลง จากใน 9M/67 ที่พบว่าเกิน 1 ใน 2 ของธุรกิจเหล็กไทยที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กำลังเผชิญหน้ากับรายได้ที่หดตัวลง การมีผลประกอบการที่ขาดทุนสุทธิ ตลอดจนการส่งสัญญาณว่าอาจมีปัญหาด้านสภาพคล่องจากการมีวงจรเงินสดที่นานขึ้น

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ความหวัง By : แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย เขียวสดใส แรงซื้อหุ้นบิ๊ก แคป หนุนนำ ท่ามกลางนักลงทุน ลุ้นผลเจรจาภาษีระหว่าง..

ATLAS โชว์ศักยภาพผู้นำตลาด LPG ร่วมเวทีเสวนาสร้างธุรกิจยั่งยืนก่อนเข้า SET

ATLAS โชว์ศักยภาพผู้นำตลาด LPG ร่วมเวทีเสวนาสร้างธุรกิจยั่งยืนก่อนเข้า SET

มัลติมีเดีย

TMILL วางกลยุทธ์ ขยายตลาดควบคู่เน้นบริหารต้นทุน ดันมาร์จิ้นสดใส

TMILL วางกลยุทธ์ ขยายตลาดควบคู่เน้นบริหารต้นทุน ดันมาร์จิ้นสดใส

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้