Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

367

 


ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
อัปเดตแนวโน้มตลาดหุ้นจีน เดือนกุมภาพันธ์
Key Takeaways:


ดัชนี SHCOMP ปรับตัวลงในเดือนมกราคม 2025 สะท้อนความไม่แน่นอนในตลาด ท่ามกลางแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่กลับมาสร้างความกังวลอีกครั้ง หลังการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์สู่ตำแหน่งประธานาธิบดี ขณะที่ตลาดกำลังจับตาการทบทวนข้อตกลงการค้าเฟสแรกของสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 เมษายน 2025


อัตราการเติบโตของ GDP ไตรมาส 4/24 ขยายตัว 5.4% YoY ซึ่งดีกว่าคาด แต่ได้รับแรงหนุนจาก front-load demand และมาตรการกระตุ้นการบริโภค อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนเหล่านี้อาจเริ่มแผ่วลง ขณะที่ความเสี่ยงจากการปรับขึ้นภาษีนำเข้าสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2025 และต่อเนื่องถึง 2026 ซึ่งอาจสร้างแรงกดดันต่อภาคการส่งออกของจีนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า


นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศที่ยังอ่อนแอ สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2024 ขยายตัวเพียง 0.1% YoY ส่งผลให้จีนอาจจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เช่น การขยายกรอบขาดดุลงบประมาณ ทั้งนี้ ตลาดกำลังรอความชัดเจนจากการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ในเดือนมีนาคม 2025 ทำให้ตลาดหุ้นอาจยังผันผวนระหว่างที่รอ

รายละเอียด:
การเริ่มต้นปี 2025 นับเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับตลาดหุ้นจีน โดยดัชนี SHCOMP ปรับตัวลงถึง 6% ในช่วงต้นเดือนมกราคม แม้ว่าจะสามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้บางส่วนจนเหลือติดลบ 3% แต่การเคลื่อนไหวที่ผันผวนนี้ก็ส่งสัญญาณเตือนถึงความไม่แน่นอนที่กำลังรออยู่เบื้องหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐอเมริกาที่มีแนวโน้มจะตึงเครียดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของโดนัลด์ ทรัมป์ ในวันที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมา

ในด้านภาพรวมเศรษฐกิจ แม้ว่าตัวเลข GDP ไตรมาส 4/24 จะเติบโตถึง 5.4% YoY ซึ่งเร่งตัวขึ้นจาก 4.6% ในไตรมาสก่อนหน้า และสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 5.0% แต่การเติบโตนี้ส่วนหนึ่งมาจากการเร่งอุปสงค์ล่วงหน้า (front-load demand) จากความกังวลว่าสหรัฐฯ จะกลับมาเพิ่มภาษีศุลกากรหลังการกลับมาของโดนัลด์ ทรัมป์ ในทำเนียบขาว ซึ่งการเติบโตในลักษณะดังกล่าวอาจไม่ยั่งยืน นอกจากนี้ GDP จีนที่ดีกว่าคาดยังได้รับแรงหนุนจากการเติบโตของภาคบริการ โดยเฉพาะในส่วนของการค้าปลีก ซึ่งได้อานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ในขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมก็ได้รับประโยชน์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากการส่งออกและการบริโภคในประเทศในช่วงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองไปข้างหน้า โมเมนตัมการเติบโตที่ดีนี้มีความเสี่ยงที่จะชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญด้วยเหตุผลสองประการหลัก คือ การที่ front-load demand จะเริ่มอ่อนตัวลงตามธรรมชาติ และความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก โดยประเด็นที่น่าจับตามองเป็นพิเศษคือ ความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงขึ้นในปี 2025 โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากไตรมาสที่ 2 เป็นต้นไป เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ได้กำหนดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนผลการดำเนินงานตามข้อตกลงการค้าเฟสแรกปี 2020 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 1 เมษายน 2025 ส่งผลให้ประเด็นนี้กลายเป็นจุดสนใจของนักลงทุน

ในมุมมองของเรา สหรัฐฯ มีแนวโน้มจะใช้วิธีการขึ้นภาษีศุลกากรแบบประกาศล่วงหน้าและเพิ่มความเข้มข้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยการขึ้นภาษีในวงกว้างไม่น่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 1/2025 แต่การปรับเพิ่มภาษีในสินค้าบางรายการอาจเริ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ รัฐบาลสหรัฐฯ กำลังศึกษาแนวทางต่างๆ ตามนโยบาย "America First Trade Policy" โดย USTR ได้รับมอบหมายให้ทบทวนการปฏิบัติตามข้อตกลงเฟส 1 และรายงานที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 301 นอกจากนี้ ยังมีการพิจารณาทบทวนการยกเว้นภาษีสำหรับธุรกรรมที่มีมูลค่าไม่เกิน 800 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งหากมีการยกเลิกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีน เนื่องจากการค้าในลักษณะนี้คิดเป็นสัดส่วน 8% ของการส่งออกทั้งหมดในปี 2024

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มการนำเข้าสินค้าหมวดอื่น ๆ อาจเผชิญข้อจำกัดจากความสามารถในการผลิตของสหรัฐฯ ที่ลดลง รวมถึงความจำเป็นของจีนในการรักษาระดับการผลิตในประเทศเพื่อคงการจ้างงาน ท่ามกลางภาวะอุปสงค์ที่ซบเซาภายในประเทศจีนเอง ทั้งนี้ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่า 56 จาก 97 เซคเตอร์การค้า จีนมีดุลการค้าเพิ่มขึ้นในปี 2024 เมื่อเทียบกับปี 2019 ด้วยความซับซ้อนของรายละเอียดและปัญหาต่างๆ การเจรจาการค้าในปี 2025 จึงมีแนวโน้มที่จะยืดเยื้อ ในระหว่างนี้ คาดว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะทยอยปรับขึ้นอัตราภาษีศุลกากรเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักจาก 10% ในปลายปี 2024 เป็น 20% ในปี 2025 และอาจถึง 30% ในปี 2026 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในช่วงหลายเดือนข้างหน้า


ทั้งนี้ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในไตรมาส 4/2024 ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเร่งตัวของการส่งออก มีแนวโน้มเป็นเพียงปัจจัยชั่วคราว เราคาดว่าโมเมนตัมดังกล่าวจะไม่สามารถยืนระยะต่อไปได้ ท่ามกลางความเสี่ยงจากสงครามการค้าที่มีแนวโน้มเข้มข้นขึ้น เหตุนี้ แม้ว่าตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจล่าสุดจะออกมาดีกว่าคาด แต่ด้วยความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า รัฐบาลจีนจำเป็นต้องพิจารณาเพิ่มมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเงินฝืดที่ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปเดือนธันวาคม 2024 ขยายตัวเพียง 0.1% YoY สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังระแวดระวังการใช้จ่าย รวมถึงแรงกดดันจากภายนอก ดังนั้นในขณะนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่จึงกำลังรอดูความชัดเจนจากการประชุมสภาประชาชนแห่งชาติ (NPC) ในเดือนมีนาคม 2025 ซึ่งคาดว่าจะเป็นตัวบ่งชี้สำคัญต่อทิศทางของตลาดหุ้นจีนในระยะถัดไป โดยนโยบายที่ตลาดการเงินคาดหวังเป็นอย่างมากคือ การประกาศเพิ่มการขาดดุลงบประมาณขึ้นมากกว่า 4% ของ GDP ซึ่งในระหว่างการรอดูท่าทีนี้ ตลาดหุ้นจีนจึงอาจผันผวนต่อไปในเดือนกุมภาพันธ์
ในแง่ของ Market Valuation สำหรับดัชนี SHCOMP แม้ระดับ Forward PER ที่ 12 เท่าจะสะท้อนมูลค่าที่ไม่สูงนัก แต่ตลาดยังเผชิญความเสี่ยงจากการถูกปรับลดคาดการณ์การเติบโตของกำไร ซึ่งเป็นผลจากปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่กล่าวถึงก่อนหน้านี้ ส่งผลให้ตัวเลข Composite Earnings Growth to Revision ล่าสุดยังคงมีแนวโน้มชะลอตัว เราจึงยังคงระมัดระวังและยังไม่ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในขณะนี้

โดยสรุป ความผันผวนของตลาดหุ้นจีนในช่วงที่ผ่านมาเป็นภาพสะท้อนความซับซ้อนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังไม่มั่นคง และความเสี่ยงทางการค้าที่มีมากขึ้น ทิศทางของตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปี 2025 จึงขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่ ความสามารถของรัฐบาลจีนในการออกแบบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ไม่เพียงแก้ปัญหาเงินฝืดแต่ต้องสร้างงานและความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคนำเงินออมออกมาใช้จ่าย รวมทั้งทักษะทางการทูตที่จะลดระดับความขัดแย้งทางการค้าให้อยู่ในกรอบที่ควบคุมได้


สรุปภาพตลาดวานนี้
SET แกว่งตัวบริเวณเดิมพร้อมปริมาณการซื้อขายเบาบาง เพราะอยู่ในช่วงวันหยุดของหลายประเทศในภูมิภาค โดยหุ้นฝั่งกดดันตลาด OSP-CBG ยังคงลงต่อ (จากกังวลการแข่งขัน) และพบว่ามีแรงขายเพิ่มบางตัว เช่น CENTEL GLOBAL BCH CCET เป็นต้น ขณะที่ด้านบวก TTB (รับโครงการซื้อหุ้นคืน) KTB BBL MINT BEM BA เป็นต้น นอกจากนี้พบ JMART KAMART บวกพร้อมปริมาณการซื้อขายเพิ่ม


แนวโน้มตลาดวันนี้
เมื่อทะเลเดือด-ตามหาผู้รอดชีวิต

ตลาดหุ้นไทยเงียบเหงา วอลุ่มหด เมื่อตลาดหุ้นที่เป็นศูยน์กลางทางการเงินหลายแห่งหยุด ตรุษจีน แม้ดัชนีตลาดไม่ขยับเขยื้อน แต่หุ้นธุรกิจเครื่องดื่มชูกำลัง OSP CBG ซดกันแดงเดือด เมื่อโอสถฯ ประกาศแนวรบ M150 ฝาเหลือง 10 บาท

ภาวะการแข่งขันด้านราคาย่อมส่งผลดีต่อผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น สงครามรถ EV,เทค AI, ยันเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศ

ย่อมเป็นโอกาสที่ดีสำหรับนักดื่มฯที่จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น และด้วยตรรกะมุมเดียวกับ เทค AI เหรียญย่อมมีสองด้าน หากแข่งกันทำต้นทุนถูกลงได้จริง ธุรกิจดั้งเดิม น่าจะชอบเพราะจะได้หันมาใช้งานในต้นทุนที่ประหยัดขึ้น

แต่ในเรื่องของสินค้าอุปโภคบริโภค อย่างเครื่องดื่มฯ การแข่งขันด้านราคาแบบนี้เราคาดว่าจะมีการเพิ่มภาระค่าการตลาด และผลักไปยังธุรกิจค้าปลีกดั่งเดิม ให้อาจต้องช่วยตุนสินค้าเพื่อเพิ่มยอดขาย และกลายเป็นกลุ่มที่ต้องการเงินหมุนเวียนระยะสั้นเพิ่มขึ้น ขณะที่ บอนด์ยิลด์สหรัฐฯ-ไทย ที่ปรับลดลง วันนี้เราคาด เข้าทางกลุ่ม สินเชื่อรายย่อย...

สุดท้ายตามคาดมีแรงขาย Sell on fact ในสินทรัพย์ที่ตอบรับข่าวดอกเบี้ย เฟด ไปมาก เช่น ผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯที่พุ่งขึ้นขานรับ รวมไปถึงค่าเงินดอลล์ที่แข็งค่า ในช่วงก่อนหน้า และคาดว่า ผลลัพธ์นี้จะส่งผลบวกต่อบรรยากาศในการเก็งกำไรตลาดหุ้นเกิดใหม่ในรอบนี้

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์คงคำแนะนำ เลือกสะสมหุ้นรายตัว รายกลุ่ม ในจังหวะที่ราคาหุ้นตก หรือพักฐาน ด้วยเรามองว่าหุ้นที่เราเลือกแนะนำ ได้พิจารณาแล้วว่าควรจะขึ้นแข็งกว่าตลาด เพราะ
1) ราคาหุ้นทรงตัวได้ดี Outperform ในเชิงเทคนิคคอล ไม่ Overbought
2) ความถูกของราคาหุ้นเมื่อเทียบมูลค่าทางบัญชี (PBV) และเทียบกับ Bands
3) แนวโน้มผลการดำเนินงานระยะสั้น ดูแล้วไม่น่าจะสร้างความผิดหวัง
4) โอกาสที่กำไรระยะสั้นจะดีกว่าที่คิด เพราะมีปัจจัยหนุนเฉพาะตัว เช่น มาตรการ ช้อปช่วยชาติ แจกเงินหมื่น ในช่วงไตรมาสแรก หนุนกำไรโตต่อเนื่อง 4Q24-1Q25
5) มีปันผลระหว่างกาล

 

 



วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET ลบบางๆ วอลุ่มต่ำกว่า 3 หมื่นล้านบาท เป็นผลจากตลาดหุ้นภูมิภาคส่วนใหญ่ปิดทำการเนื่องจากวันตรุษจีน เราคาดโครงสร้างตลาด เข้าสู่โหมดสร้างฐานออกข้าง สู้ที่ low ทรงคล้ายลักษณะ “Double bottom” นอกจากนี้ดัชนียังคงสู้ที่ฐาน Consolidate zone และ จุด lowest point ปี 2024… ได้อย่างแข็งแกร่ง RSI ยังคงส่งสัญญาณ “Bullish divergence pattern” เตือนปลายทางขาลง แต่!ทำไมตลาดไม่ขึ้น.....เงื่อนไขโมเมนตัมรอบนี้ส่วนใหญ่เกิดสัญญาณเตรียมพร้อมกลับตัว เหลือเพียงแต่วอลุ่ม Fund flow ยังไม่เข้า! หากทะลุ 1,350 จุด จะส่งผลให้โครงสร้างกลับทิศเป็นขาขึ้น

สรุป: โมเมนตัมหลายอย่างเริ่มเกิดสัญญาณกลับตัวบ้างแล้ว เหลือเพียงแปรสำคัญ “Fund flow” ให้ไหลเข้านั่นเอง…

 


What to watch
คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของเฟดมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 4.25% – 4.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ โดยแถลงการณ์ของเฟดระบุว่า อัตราว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และภาวะตลาดแรงงานยังคงแข็งแกร่ง ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง (ที่มา: อินโฟเควสท์)

การประชุม ธนาคารกลางยุโรป ECB มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุม 30 ม.ค.นี้ และ ธ.กลางอังกฤษ มีแนวโน้มลดดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 6 ก.พ.

Earnings Previews และ Earnings result ของกลุ่ม Non-Bank
กบข. ได้ลงนามในสัญญาแต่งตั้งผู้จัดการกองทุนตราสารทุนไทย จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน วรรณ จำกัด และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ทิสโก้ จำกัด เพื่อบริหารกองทุนย่อยของ กบข. แบบเฉพาะเจาะจง (Specialized Fund) ประเภทตราสารทุนไทย มีมูลค่ากองทุนที่ต้องบริหารประมาณ 7,000 ล้านบาท มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 มีอายุสัญญา 3 ปี
ประชุมโอเปก 3 ก.พ. มีแนวโน้มเพิ่มกำลังการผลิตรอบใหม่ เมย.นี้ ด้าน รมต.เศรษฐกิจซาอุฯ เผยการเพิ่มกำลังการผลิตเป็นแนวทางที่สอดคล้องกับความเห็นของ ปธน.ทรัมป์ ที่อยากเห็นราคาพลังงานปรับลดลง

หุ้นแนะนำวันนี้
MTC เมื่อบอนด์ยิลด์ทั้งในและต่างประเทศปรับลดลง จาก Sell on fact คาดส่งผลบวกต่อหุ้นที่เล่นตรงข้ามกับบอนด์ยิลด์ (S 44 R 46.5 SL 43)

 


รายงานพื้นฐานวันนี้

Beverage Sector
เครื่องดื่มชูกำลัง: ภูมิทัศน์ของตลาดกำลังเปลี่ยนไป
มุมมองภาพรวม: ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศ มีความอ่อนไหวต่อราคาอย่างมาก โดยเฉพาะร้าน โชห่วย หรือ Traditional Trade (TT) ซึ่งคิดเป็น 2 ใน 3 ของตลาด ที่เผชิญความยากลำบากจากการปรับขึ้นราคา 20% ของ OSP ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ขณะที่ CBG ได้รับประโยชน์จาก ส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มขึ้นและเครือข่ายกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งขึ้น

แต่การกลับมาเปิดตัว M-150 ที่ราคา 10 บาท ของ OSP เป็นการยืนยันแรงกดดันด้านราคา และคาดว่าจะฉุด GM และเพิ่มค่าใช้จ่าย SG&A ทั้ง OSP และ CBG อย่างไรก็ตาม เราชอบ CBG มากกว่า

OSP: เราปรับลดคำแนะนำเป็น “ขาย” (ราคาเป้าหมายใหม่ 16 บาท, ราคารอเข้าซื้อที่เหมาะสม หรือ Entry Price ที่ 15.2 บาท)
Base case: คาดว่า OSP จะเพิ่มส่วนแบ่งตลาด 3% ในปี 2025 จากทั้งการกินส่วนแบ่งตลาดภายในพอร์ตตัวเอง (เพราะมีทั้งราคา 12 และ 10 บาท) และแย่งชิงมาจาก กระทิงแดง (ที่ราคา 12 บาท, เป็นอันดับ 3 ของตลาด) โดยกระทบคาราบาว (ราคา 10 บาทอยู่แล้ว, เป็นอันดับ 2) เพียงเล็กน้อย
Worst case: หากไม่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งได้ แต่ต้องเผชิญ แรงกดดันด้าน GM และค่าใช้จ่ายส่งเสริมการขาย (SG&A) ที่สูงขึ้น กระทบต่อกำไรหนัก ราคาเหมาะสมกรณีนี้อยู่ที่ 15.2 บาท (Entry Price ของเรา)

ทั้งนี้ เราใช้ base case ปรับลดประมาณการกำไรปี 2025-26 ลง 11% และ 8% ตามลำดับ สะท้อนราคาขายเฉลี่น (ASP) ลดลง 1%, GM หดตัว 50bps และ SG&A เพิ่มขึ้น โดยที่ราคาเป้าหมาย 16 บาท คิดเป็น PER ปี 2025 ที่ 16 เท่า (-1.7SD) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 22 เท่า
CBG: เราปรับลดคำแนะนำเป็น “ถือ” (ราคาเป้าหมายใหม่ 76 บาท, ระดับราคาเข้าซื้อเหมาะสม 65 บาท)
Base case: หากส่วนแบ่งตลาดของ CBG ลดลงเหลือ 25% ในปี 2025 (จาก 26% ณ สิ้นปี 2024) ส่งผลให้การขยาย GM จำกัดขึ้น และค่าใช้จ่าย SG&A สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคาดว่ากำไรจะยังเติบโต 10% ในปี 2025 และ 6% ในปี 2026 จาก ธุรกิจกระจายสินค้าและ OEM บรรจุภัณฑ์สุรา
Worst case: สูญเสียส่วนแบ่งตลาด 3% เรามองเผชิญแรงกดดันด้าน GM และ SG&A ที่เพิ่มขึ้น ทำให้กำไรหดตัวมากขึ้น ซึ่งกรณีนี้ ราคาเหมาะสมจะอยู่ที่ 65 บาท (ระดับ Entry Price ของเรา)
ทั้งนี้ เราใช้ base case ปรับลดประมาณการกำไร 2025-26 ลง 7% และ 15% ตามลำดับ โดยราคาเป้าหมายใหม่ คิดเป็น PER ปี 2025 ที่ 24 เท่า (-0.8SD)

Bank Sector
แบงค์ไทย จะเดินสู่เป้าหมายเพิ่ม ROE ได้อย่างไรบ้าง
หลายธนาคาร (BBL, KBANK, KTB, SCB และ TTB) ตั้งเป้าหมาย ROE สูงกว่า 10% ใน 2-3 ปีข้างหน้า ทำให้เราประเมินว่าธนาคารเหล่านี้จะต้องทำกำไรให้เติบโตควบคู่ไปกับการบริหารส่วนของผู้ถือหุ้น (เพิ่มอัตราการจ่ายเงินปันผลและ/หรือทำโครงการซื้อหุ้นคืน) เพื่อหนุน ROE ให้สูงเกิน 10%
ทั้งนี้ เราประเมินว่าหากธนาคารจะเพิ่ม ROE ให้ไปที่ 10% ในปี 2026 แนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 2025-26 จะต้องเฉลี่ยอยู่ที่ 6-16% ต่อปี (CAGR) นำโดย BBL (แนวโน้มกำไรเติบโต 16% ต่อปี), KBANK (แนวโน้มกำไรเติบโต 11% ต่อปี), TTB (แนวโน้มกำไรเติบโต 10% ต่อปี), SCB (แนวโน้มกำไรเติบโต 8% ต่อปี) และ KTB (แนวโน้มกำไรเติบโต 6% ต่อปี) ซึ่งเราประเมินว่ามีความท้าทายอยู่สูง

Fundamental view: โดยเราทำการวิเคราะห์กำไรสุทธิปี 2025-26 ในกรณีดีสุด พบว่า KBANK, KTB, SCB และ TTB มีโอกาสทำ ROE สูงกว่า 10% ได้ในปี 2026

 


รายงานผลประกอบการวันนี้

SCC
ปูนซิเมนต์ไทย
(0) SCC รายงานขาดทุนสุทธิ 4Q24 ที่ 512 ล้านบาท ขาดทุนลดลง YoY แต่พลิกจากกำไรใน 3Q24 หักรายการพิเศษขาดทุนหลักที่ 1,219 ล้านบาท พลิกจากกำไรใน 4Q23 และขาดทุนหนักขึ้น QoQ อย่างไร ก็ตาม ผลประกอบการขาดทุนสุทธิน้อยกว่าคาด (ที่ตลาดคาดขาดทุน 700-1,000 ล้านบาท) จากกำไรพิเศษที่สูงกว่าคาด ทั้งนี้ SCC ประกาศจ่ายปันผล 2.50 บาท คิดเป็น Div. Yields 1.6% ขึ้น XD วันที่ 2 เม.ย. แนวโน้ม 1Q25 คาดกำไรหลักอ่อนแอ YoY (เคมีภัณฑ์ยังอ่อนแอ) แต่ดีขึ้น QoQ จากธุรกิจ ปูนซิเมนต์-แพคเกจจิ้งฟื้นตัวตามฤดูกาล เรายังคงคำแนะนำถือ ราคาเป้าหมาย 170 บาท

สรุปประเด็นจาก Quick take

OSP
โอสถสภา
ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์
บริษัทจัดประชุมให้ข้อมูลภาพ 2025 ตั้งเป้ารายได้ 6-8% YoY และกำไรยังเติบโต > 10% รายได้จากเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศ (30% ของรายได้) โต 2-3% และธุรกิจอื่นๆ โต >10% YoY
View from fundamental: การชิงส่วนแบ่งการตลาด อัตราการทำกำไร และค่าใช้จ่าย ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในปี 2025 เรามองระยะสั้นหุ้น OSP ยังถูกกดดันจากงบ 4Q24 ที่อ่อนกว่าคาด

SCGD
เอสซีจี เดคคอร์
ประเด็นสำคัญจากการประชุมนักวิเคราะห์
อุปสงค์ในไทยและตลาดอาเซียนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นใน 1Q25 และในปีนี้ และสัดส่วนยอดขายสินค้า HVA (อัตรากำไรสูง) จะเพิ่มขึ้น
View from fundamental: คาดการณ์การฟื้นตัว QoQ ของกำไร 1Q25 น่าจะเป็นปัจจัยราคาหุ้นได้ต่อไป มูลค่าหุ้นปัจจุบันอยู่ในระดับที่น่าสนใจ

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้