Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

418

 

ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
อัปเดตแนวโน้มตลาดหุ้นสหรัฐ เดือนมกราคม 2025
ในปี 2024 ตลาดหุ้นสหรัฐจัดอยู่ในกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนโดดเด่น โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 23.3% สูงกว่าดัชนี MSCI All-Country World Equity ที่ให้ผลตอบแทน 16.5% อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวของกำไรบริษัทจดทะเบียนเมื่อเทียบกับปี 2023 ประกอบกับการที่นักลงทุนคลายความกังวลต่อความเสี่ยงจากภาวะกำไรถดถอย (earnings recession)

อย่างไรก็ตาม ในปี 2025 เรามองว่าการออกสตาร์ตของตลาดหุ้นสหรัฐในเดือนมกราคมอาจไม่ราบรื่นเหมือนกับช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากความคาดหวังของผลบวกจากนโยบาย Deregulation และการลดภาษีนิติบุคคล (Corporate Tax Cut) ของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้สะท้อนอยู่ในราคาหุ้นไปมากแล้ว ดังจะเห็นได้จากการที่ Forward PE ของ S&P500 มี premium สูงกว่าดัชนี MSCI ACWI ex.US มากที่สุดตั้งแต่ปี 2001 อีกทั้ง equity risk premium ที่อยู่ในระดับต่ำมากจนใกล้ 0 basis points ยังบ่งชี้ว่านักลงทุนแทบไม่ได้รับผลตอบแทนส่วนเพิ่มจากการแบกรับความเสี่ยงในการลงทุนหุ้นเมื่อเทียบกับพันธบัตรรัฐบาล
ขณะเดียวกันปัจจัยเสี่ยงที่ยังไม่สะท้อนในตลาดคือ การถูกปรับลดประมาณการกำไรปี 2025 ลงและความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเผชิญกับภาวะถดถอยแบบอ่อน (mild recession) ทั้งนี้ การเติบโตของกำไรที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 15% อาจเป็นตัวเลขที่สูงเกินไป เนื่องจากดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจยังสะท้อนสัญญาณเชิงลบ โดย Conference Board Leading Economic Indicator ชะลอตัวลงในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา โดยปรับลดลง 1.6% ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงพฤศจิกายน ขณะที่ Morgan Stanley’s Non-PMI Leading Earnings Indicator ก็ยังไม่ส่งสัญญาณการเติบโตของกำไรอย่างชัดเจน สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนที่อาจกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทต่างๆ ในปีนี้

อีกหนึ่งปัจจัยที่น่าจับตามองคือ การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐที่กระจุกตัวอยู่ในหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่ม Magnificent 7 ซึ่งมีมูลค่า (valuation) ที่อยู่ในระดับสูงเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ตลาดเผชิญความเสี่ยงต่อการปรับฐาน หากผลประกอบการในปี 2025 ของบริษัทเหล่านี้ไม่สามารถเติบโตได้ตามที่คาดหวัง แม้ว่าผลสำรวจจาก CIO Survey จะสะท้อนถึงแนวโน้มการเพิ่มการลงทุนในเทคโนโลยี แต่หากเศรษฐกิจชะลอตัวเกินกว่าที่ตลาดประเมินไว้ บริษัทต่างๆ อาจต้องทบทวนแผนการลงทุน โดยเฉพาะในส่วนของ hardware และ enterprise software ซึ่งมีต้นทุนสูง ดังนั้นการเลื่อนหรือปรับลดงบประมาณด้านเทคโนโลยีเหล่านี้ อาจนำไปสู่การถูกปรับลดประมาณการกำไรในอนาคต และเป็นแรงกดดันต่อราคาหุ้นของกลุ่มผู้นำตลาดดังกล่าว

นอกจากกลุ่มเทคโนโลยีแล้ว หลายเซกเตอร์ที่ตลาดคาดว่ารายได้จะเติบโตในปี 2025 ก็อาจพลาดเป้าได้เช่นกัน หากเศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย เช่น
ในกลุ่มการเงิน (Financials): แนวโน้มของธุรกรรมควบรวมกิจการ (M&A) และตลาดทุนอาจชะลอตัวลง ขณะเดียวกันคุณภาพสินเชื่อก็อาจเสื่อมถอย ทำให้สถาบันการเงินต้องเพิ่มการกันสำรองหนี้สูญ แม้ว่าผลสำรวจจาก Senior Loan Officer Survey จะส่งสัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับความพร้อมในการปล่อยสินเชื่อ แต่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ธนาคารมีความระมัดระวังมากขึ้น ซึ่งอาจจำกัดการขยายตัวของภาคเครดิตในอนาคต


ในกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยและสินค้าไม่จำเป็น (Consumer Discretionary): การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะในหมวดสินค้าราคาสูงและสินค้าฟุ่มเฟือย ประกอบกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อยอดขายและกำไรของบริษัทในกลุ่มนี้
สำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industrials): แม้ตลาดจะคาดการณ์ว่ากลุ่มดังกล่าวจะได้รับประโยชน์จากกระแสย้ายฐานการผลิตกลับประเทศ (reshoring) แต่หากเศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย การลงทุนจากภาคเอกชนจะลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โครงการใหม่ๆ อาจถูกชะลอหรือเลื่อนออกไป ส่งผลให้ยอดคำสั่งซื้อที่อยู่ในมือ (order backlog) ลดลง

ในภาควัสดุ (Materials): ความต้องการวัสดุต่างๆมีโอกาสลดลงตามทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากการลงทุนในโครงการใหม่ๆและการขยายกำลังการผลิตอาจถูกเลื่อนออกไป ขณะที่ราคาวัสดุเองก็อาจได้รับแรงกดดันจากความต้องการที่อ่อนแอ

จากภาพดังกล่าว จึงทำให้การเติบโตของกำไรในหลายๆอุตสาหกรรมอาจถูกจำกัดมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาหุ้นถูกกดดัน
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางด้านอื่นๆ เช่น ทางด้านสภาพคล่องในระบบการเงินก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตา แม้ว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อในปี 2025 แต่ real interest rate ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงกว่าช่วง pre-Covid เป็นอย่างมาก โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.81% เทียบกับปลายปี 2019 ที่ 0.51% จึงถือว่าเป็นระดับที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ (restrictive) ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของกำไรในหุ้นวัฏจักรนานกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้

ส่วนในแง่ของ sentiment นั้น จากรายงานล่าสุดของ Conference Board ชี้ว่า ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเดือนธันวาคม 2024 ได้ปรับตัวลดลง 8.1 จุด โดยผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะธุรกิจและรายได้ในอนาคตลดลง ขณะเดียวกัน ความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจก็ยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ สะท้อนจาก CEO Business Confidence Survey ที่แม้จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าปี 2023 แต่เริ่มเห็นสัญญาณของการชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องในสองไตรมาสที่ผ่านมา โดยลดลงจาก 54 จุดใน 2Q24 เหลือ 51 จุดใน 4Q24 โดยแม้ว่าตัวเลขที่สูงกว่า 50 จุด จะแสดงถึงการที่ผู้ตอบแบบสอบถามมีมุมมองเชิงบวกในสัดส่วนที่สูงกว่ามุมมองเชิงลบ แต่ความแตกต่างนี้ก็มีเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทำให้หากแนวโน้มการลดลงนี้ยังดำเนินต่อไป ก็อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจลงทุนและการจ้างงานในอนาคต

โดยสรุป เมื่อพิจารณาภาพรวมทั้งหมด ทั้งระดับ valuation ที่แพง การคาดการณ์กำไรที่อาจสูงเกินจริง รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่กล่าวมา ล้วนบ่งชี้ว่าตลาดหุ้นสหรัฐอาจต้องเผชิญกับความผันผวนและแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่เป็นไปตามที่ตลาดคาดหวังไว้

สรุปภาพตลาดวานนี้
SET ย่อเล็กน้อย แต่แรงขายหุ้นกระจายกลุ่ม แม้จะมี DELTA GULF ADVANC INTUCH คอยยันดัชนีไว้ แต่ก็เห็นแรงขายค่อนข้างกระจายไปในหลายกลุ่ม หุ้นใหญ่ที่ปิดลบ เช่น PTT AOT TRUE SCC BH BDMS CPN ITC นอกจากนี้ยังพบหุ้นกลาง-เล็กที่ถูกเก็งกำไรขึ้นมาก่อนหน้า โดนทุบลง เช่น VGI LTS SKY MGI OKJ เป็นต้น


แนวโน้มตลาดวันนี้
ฟันธง เฟด ไม่ลดดอกเบี้ยในเดือน มค.
รายงานประชุม เฟด ส่งสัญญาณ ให้ตลาดเชื่อว่าน่าจะไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุม 28-29 ม.ค.นี้ ด้านผลสำรวจเริ่มขยับคาดการณ์เฟดอาจเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปเป็นเดือน มิ.ย. แทนเดือน มี.ค.2025
วันนี้ คาดว่าหุ้นไทยจะเล่นตามปัจจัยเฉพาะกลุ่ม-เฉพาะตัว เช่น ITC ที่แรงเทขายลงแรงวานนี้ หลังแนวโน้มกำไรต่ำกว่าคาด และมีปัจจัยเสี่ยงกระทบเพิ่ม, CBG ที่มีข่าวเชิง Sentiment ลบ หรือกลุ่ม Data Center อาจจะเห็นการรีบาวน์หลัง AWS ประกาศ Thailand Region
อย่างไรก็ตาม ตามมุมมองรายสัปดาห์ เราคงคาดว่าจะเห็นการรีบาวด์ของตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์นี้ และเราแนะนำ “รอโหลดหุ้น” เพื่อเล่นรีบาวด์สำหรับรอบนี้ โดยที่เราประเมินว่า เมื่อประเด็นลบเริ่มซา เช่น ความกังวลแรงขาย LTF, ข่าวลดค่าไฟลงเยอะๆ ขณะที่ค่าก๊าซยังสูง BLS Research มองว่าเป็นไปได้ยาก, การเมืองในประเทศ ยังไม่มีประเด็นลบใหม่ๆช่วงนี้
รวมไปถึงกระแสข่าวต่างประเทศ ที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็น กำแพงภาษี การเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งจะมีข่าวลักษณะนี้เข้ามาเป็นระยะ ส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกผันผวน แต่คาดยังส่งผลต่อหุ้นไทยจำกัด
เราคงคาดว่า ตลาดหุ้นไทยจะมีรีบาวด์ภายในสัปดาห์นี้ และจะเกิดการสร้างกราฟทางเทคนิคให้เกิดสัญญาณซื้อเล่นรีบาวด์รอบใหม่ คาดกลุ่มแรกที่จะนำตลาดยังคงเป็นกลุ่มธนาคาร
อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์มองภาพการเล่นระยะกลางหลบจากความผันผวนระยะสั้น เราจึงได้แนะนำให้เริ่มโหลดหุ้นที่ราคาลงไปอยู่ข้างล่าง เพื่อรอรอบการรีบาวน์ครั้งใหม่หลังสร้างฐานสำเร็จ

กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกสะสมหุ้นกลุ่มเด่นที่เราคาดว่าจะมี Flows หมุนเข้ามาเล่น และหุ้นรายตัวที่มีประเด็นสนับสนุน

วิเคราะห์ทางเทคนิค
SET ย่อนิดๆ แต่ยังคงสู้ไม่ยอมหลุดตำแหน่ง Fibonacci retracement 61.8% หรือ previous low 1,361 จุด…ที่เคยทำไว้เมื่อเดือนธ.ค.ปีที่แล้ว จับตา RSI recovery ฟื้นตัวขึ้นได้บ้าง ส่วนจุดต้านสำคัญเส้น EMA 200 วัน 1,410 จุด ทะลุได้จะส่งสัญญาณกลับตัวเปลี่ยนเป็นขึ้น แต่!อาจต้องรอไปอีกสักระยะนึง….เนื่องจากวอลุ่มตลาดยังเบาบาง ส่วน Theme play…สแกนหุ้นหนุนจากมาตรการ Easy E Receipt ….เสียภาษีในระบบเยอะๆ มีหุ้นอะไรบ้าง! ขณะที่หุ้นแนะนำประจำเดือนม.ค. KTB โดดเด่น....ขาขึ้นยังไม่จบง่ายๆ

 

 


What to watch
AWS ประกาศเปิดตัว Thailand Region ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้าน Cloud ของไทย โดยมีแผนลงทุนระยะยาวราว 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ
CNN รายงานว่าโดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ มีแผนที่จะประกาศภาวะฉุกเฉินทางเศรษฐกิจแห่งชาติ เพื่อให้เขามีอำนาจในการใช้นโยบายตั้งกำแพงภาษีนำเข้า (ที่มา: อินโฟเควสท์) ทั้งนี้ ยังไม่ได้มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่าจะใช้วิธีการใด โดยทรัมป์จะสาบานตนฯ วันที่ 20 ม.ค. นี้
รายงานประชุม เฟด ส่งสัญญาณ ให้ตลาดเชื่อว่าน่าจะไม่ลดดอกเบี้ยในการประชุม 28-29 ม.ค.นี้ ด้านผลสำรวจเริ่มขยับคาดการณ์เฟดอาจเลื่อนการลดดอกเบี้ยออกไปเป็นเดือน มิ.ย. แทนเดือน มี.ค.2025
เงินเฟ้อไทย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ขยับขึ้นต่อเนื่อง (กดไม่ลง) มีแนวโน้มที่ดอกเบี้ยอาจทรงตัว ตามเฟด
เคาะงบปี 69 เพิ่มขึ้น 0.7% เป็น 3.78 ล้านล้านบาท โดยคาดการณ์รายได้ 2.92 ล้านล้านบาท ส่วนที่ขาด (ดุลงบประมาณ) จะมาจากเงินกู้ 8.6 แสนล้านบาท เพื่อเป็นรายจ่ายลงทุน
การเมืองในประเทศ: นายก สยบข่าวลือปรับ ครม. กระเทือนพรรคร่วมฯ:สะท้อนเสถียรภาพรัฐบาลยังเหนียวแน่น

หุ้นแนะนำวันนี้
BDMS แนะสะสมต่อ มองราคาหุ้นลงแรงสะท้อนข่าวความกังวลประกันสุขภาพ Co-Payment ไปมาก และเป็นกลุ่มที่มีโอกาสถูกช้อนซื้อจากข้างล่าง
(S 24 R 25 SL 23.5)

Tactical port ถอด CBG

 


รายงานพื้นฐานวันนี้

Telecom Sector
ได้ประโยชน์ หากลดค่าไฟ
หากมีการลดค่าไฟจาก 4.15 บาท/หน่วย เหลือ 3.70 บาท/หน่วย จะช่วยลดต้นทุน OPEX เครือข่ายของกลุ่ม Telcos ซึ่งค่าไฟคิดเป็น 30-40% ของ OPEX ทั้งหมด เราคาดว่าประเด็นนี้จะเป็นปัจจัยหนุนราคาหุ้น ADVANC และ TRUE
แต่หากในระยะสั้น ลดลงมา 3.95 บาท/หน่วย (เลื่อนการจ่ายหนี้ กฟผ.) จะเพิ่มกำไรระยะยาว 0.5-1% สำหรับ ADVANC และ 2.5-3% สำหรับ TRUE แต่ในกรณีดีที่สุดที่ค่าไฟลดลงเหลือ 3.70 บาท/หน่วย กำไรระยะยาวจะเพิ่มขึ้น 1.5-2% สำหรับ ADVANC และ 5-6% สำหรับ TRUE
นอกจากนี้ การประมูลคลื่นความถี่ในช่วง 1H25 น่าจะเป็นอีกปัจจัยหนุนราคาหุ้น โดย ADVANC อาจไม่เช่าคลื่น 2100MHz จาก NT แต่ซื้อใบอนุญาตจาก กสทช. ขณะที่ TRUE อาจหยุดเช่าคลื่น 850MHz และ 2300MHz และเข้าประมูลเฉพาะคลื่น 2300MHz ซึ่งช่วยเพิ่มกำไรระยะยาวของ ADVANC 6-7% และ TRUE 41-42%
Fundamental view: เราแนะนำซื้อเก็งกำไร TRUE (มี Upside มากกว่า) และคงคำแนะนำซื้อ ในเชิงพื้นฐาน ADVANC จากการเติบโตระยะยาว

 

ITC
ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น
เปิดความเสี่ยงใหม่ หล่นจากตำแหน่งหุ้นเด่น
เราคาดการณ์กำไร 4Q24 จะต่ำกว่าที่เคยประเมินไว้ โดยกำไรหลักใหม่อยู่ที่ 781 ล้านบาท ลดลง 4% YoY และ 24% QoQ แรงกดดันหลักมาจากต้นทุนที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการปรับโครงสร้างองค์กร นอกจากนี้ คาดยอดขายโตเพียง 3% YoY และ 10% QoQ เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ทั่วโลก
สำหรับปี 2025 มองความเสี่ยงเพิ่มขึ้น จึงได้ปรับสมมติฐานใหม่ คือ 1) ลดประมาณการ GM ปี 2025 ลงเหลือ 25.4% (จาก 26.4%) และ 2) ปรับสมมติฐานอัตราภาษีปี 2025 เป็น 10% (จาก 4%) เพื่อสะท้อนผลกระทบจากกรณี GMT ซึ่งหากอัตราภาษีเพิ่มขึ้น 1% จะกระทบกำไรลดลงราว 1%
อย่างไรก็ตาม เรายังคงมองเชิงบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงในระยะยาว โดยคาด ITC จะมีกำไรโตเฉลี่ย 8% ต่อปีใน 2026-27 แม้มีผลกระทบจาก GMT
Fundamental view: แม้ในเชิงพื้นฐานเราจะประเมินราคาเป้าหมายอยู่ที่ 25 บาท จากเดิม 29 บาท (และคงคำแนะนำซื้อ) แต่มองราคาหุ้นจะยังถูกกดดันจาก GMT ที่ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น ในการเก็งกำไรในระยะสั้น เราแนะนำ Switching ไป CPF ที่ชอบมากกว่า และยังรับประโยชน์จากความต้องการหมูและไก่ที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน

 

KTC
บัตรกรุงไทย
การเติบโตในปี 2025 ยังช้ากว่ากลุ่ม
เราประเมินว่าคุณภาพสินทรัพย์ของ KTC จะยังฟื้นตัวค่อนข้างช้า กดดันจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ไม่ทั่วถึงและปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง ซึ่งก็สอดคล้องกับตัวเลขของธนาคารพาณิชย์ไทยที่รายงาน NPLs/loans ratio ของกลุ่ม Retail ที่ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.16% ณ สิ้น 2Q24 มาที่ 3.28% ณ สิ้น 3Q24 ซึ่งเป็นจุดสูงสุดในรอบ 15 ปี ซึ่งก็เห็น NPLs ปรับเพิ่มในทุกกลุ่ม นำโดยสินเชื่อบุคคล, สินเชื่อบัตรเครดิต, สินเชื่อบ้านและเช่าซื้อรถยนต์
โดยเราคาดกำไรสุทธิ 4Q24 ของ KTC จะปรับเพิ่มขึ้น 6% YoY (รายได้ค่าธรรมเนียม บริการและหนี้สูญรับคืนปรับเพิ่มขึ้น) แต่ลดลง 3% QoQ (ค่าใช้จ่าย OPEX เพิ่มขึ้นตามฤดูกาล)

แนวโน้มกำไรสุทธิปี 2025 ของ KTC จะเติบโต 5% YoY จากสินเชื่อและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต อย่างไรก็ตาม เราประเมินว่าแนวโน้มกำไรสุทธิปี 2025 ของ KTC จะเติบโตต่ำกว่าผู้ประกอบการในกลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนที่จะเติบโตเฉลี่ยถึง 14% YoY ในปี 2025 อยู่มาก
Fundamental view: เรายังคงแนะนำเลี่ยงลงทุน ในกลุ่ม Retail Finance เราชอบ MTC มากสุด

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

รอ เฟด By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ วันนี้ กระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปิดเผย CPI เดือน เม.ย. -0.22%YoY จากตลาดคาด -0.1%....

ดันต่อ By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง วันนี้ หุ้นใหญ่ หน้าเดิม ดันSET ฝ่า 1,200 จุด ต่อ การสลับหน้าที่กันไป ห้วงระหว่างอยู่ ผลการ....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้