26 ธ.ค. 2567 17:09:44 530
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (26 ธันวาคม 2567 )-------อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยสู่อนาคต โดยอุตสาหกรรมนี้เป็นอุตสาหกรรมย่อยภายใต้อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical hub) ซึ่งประกอบด้วยหลายอุตสาหกรรมย่อยทั้งในฝั่งของผู้ผลิต เช่น ยาและสมุนไพร อาหารทางการแพทย์ และฝั่งของผู้ให้บริการทางการแพทย์และเวลเนสอย่างโรงพยาบาล และสปา ทั้งนี้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์จะครอบคลุมเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่ใช้ในกระบวนการทางการแพทย์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตรวจโรค การวินิจฉัย การรักษา และการดูแลป้องกัน ซึ่งสามารถแบ่งเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่1. วัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ (Disposable medical devices) เป็นวัสดุที่ส่วนใหญ่ถูกออกแบบมาสำหรับการใช้ครั้งเดียวหรือใช้แล้วทิ้งเพื่อความสะอาดและลดการติดเชื้อ เช่น เข็มฉีดยา, สายสวน, ถุงมือยาง2. ครุภัณฑ์ทางการแพทย์ (Durable medical equipment) เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่มีความคงทน ใช้ซ้ำได้ เช่น เตียงคนไข้, รถเข็น, เครื่องมือผ่าตัด, และเครื่องวัดความดันโลหิต3. น้ำยาและชุดวินิจฉัยโรค (Diagnostic reagents and test kits) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคและติดตามโรค เช่น ชุดทดสอบ ATK, ชุดวัดระดับน้ำตาลในเลือด ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ในระดับโลกอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ทั่วโลกมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง อีกทั้ง ยังมีโอกาสขยายการลงทุนมากขึ้น จากข้อมูลของ Fortune Business Insight พบว่า ในปี 2024 อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ารวมกว่า 5.42 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตเฉลี่ยต่อปีราว 6%CAGR จนถึงปี 2032 โดยภูมิภาคอเมริกาเหนือยังคงเป็นตลาดเครื่องมือแพทย์ที่ใหญ่ที่สุด ขณะที่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคาดว่าจะขยายตัวมากที่สุด ซึ่งปัจจัยที่จะสนับสนุนให้อุตสาหกรรมนี้เติบโตและมีแนวโน้มขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ได้แก่1. นโยบายกระจายความเสี่ยงและนโยบายพึ่งพาตนเอง (Self-sufficiency) จากปัญหาโควิด-19 ที่กระตุ้นให้หลายประเทศมุ่งเน้นสร้างความมั่นคงด้าน Supply chain ทางการแพทย์ด้วยการเพิ่มความยืดหยุ่นและพึ่งพาตนเองมากขึ้น ผ่านการกระจายฐานการผลิตหรือเปลี่ยนมาผลิตในประเทศแทน จึงทำให้เกิดการลงทุนในการผลิตเครื่องมือแพทย์เพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น กลยุทธ์ China Plus One ซึ่งเป็นการลดความเสี่ยงจากการลงทุนในจีนเพียงประเทศเดียวที่อาจได้รับผลกระทบจากการเผชิญปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ โรคระบาดหรือวิกฤตอื่น ๆ ในระยะข้างหน้า ส่งผลให้ต้องกระจายการลงทุนในประเทศอื่นเพิ่มขึ้น โดยอาเซียนถือเป็นหนึ่งในภูมิภาคหลักที่จะดึงดูดการลงทุนจากทั้งนักลงทุนต่างชาติทั่วโลกและนักลงทุนจีนได้ โดยปัจจุบันมีหลายบริษัทจากยุโรปและจีนย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียนแล้ว 2. ความใส่ใจในสุขภาพของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้บริโภคส่วนใหญ่ให้ความสำคัญต่อการดูแลและป้องกันสุขภาพมากขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจผู้บริโภคของ SCB EIC พบว่า ภายหลังวิกฤตโควิด-19 ผู้บริโภคไทยกว่า 77% ใส่ใจสุขภาพมากยิ่งขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในการตรวจเช็กและป้องกันสุขภาพเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 3. การก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super aged society) ของหลายประเทศทั่วโลกภายในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ สเปน แคนาดา และไทย จากการมีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเกิน 20% ของประชากรทั้งหมด อีกทั้ง แนวโน้มการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) ของประชากรทั่วโลกที่เพิ่มสูงขึ้น เช่น โรคมะเร็ง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจ จึงทำให้ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อใช้ในการรักษาและดูแลป้องกันเพิ่มสูงขึ้นตาม 4. การพัฒนาของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ โดยเทคโนโลยีสมัยใหม่จะช่วยให้อุปกรณ์ทางการแพทย์มีความทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น Smartwatch สำหรับติดตามผลสุขภาพแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด ซึ่งจะเพิ่มความแม่นยำและลดระยะเวลาการพักฟื้นของผู้ป่วยลง รวมถึงการใช้ AI มาช่วยวิเคราะห์วินิจฉัยโรคจากฟิล์ม X-ray หรือใช้ AI ในการพยากรณ์และประเมินความเสี่ยงการเกิดโรคผ่านการวิเคราะห์ข้อมูลสุขภาพและพันธุกรรมเพื่อหาแนวทางการดูแลสุขภาพเชิงป้องกัน โดยเมกะเทรนด์เหล่านี้จะช่วยให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของโลกมีศักยภาพในการเติบโตสูง พร้อมทั้งดึงดูดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทิศทางอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทยกำลังขยายตัวทั้งในด้านการค้าและการลงทุน โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในช่วงปี 2019 – 2021 ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 29%CAGR จากความต้องการเครื่องมือแพทย์ในช่วงโควิด-19 ที่มากขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มถุงมือยางทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย ส่วนในปี 2024 มูลค่าการส่งออกเครื่องมือแพทย์กลับเข้าสู่ภาวะปกติและคาดว่าจะเติบโตราว 6%YOY มาอยู่ที่ 1.3 แสนล้านบาท โดยสินค้าส่งออกหลักคือ ถุงมือยางทางการแพทย์ เลนส์แว่นตา และวัสดุสิ้นเปลืองอื่น ๆ สำหรับด้านการลงทุน จากข้อมูลของสำนักคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่า ตั้งแต่ต้นปี 2019 จนถึงครึ่งปีแรกของปี 2024 มูลค่าลงทุนในอุตสาหกรรมการแพทย์ที่ได้รับการอนุมัติอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มถุงมือยางทางการแพทย์และหน้ากากอนามัย
อย่างไรก็ดี การส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์เป็นหลัก อีกทั้ง การทำวิจัยและพัฒนา และการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ยังจะต้องพัฒนาอีกค่อนข้างมาก โดยการส่งออกเครื่องมือแพทย์ของไทยในปี 2023 กว่า 90% ยังคงอยู่ในกลุ่มวัสดุสิ้นเปลืองทางการแพทย์ ขณะที่การส่งออกครุภัณฑ์ทางการแพทย์มีสัดส่วนน้อยกว่า 10% อีกทั้ง ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าครุภัณฑ์ทางการแพทย์กับน้ำยาและชุดวินิจฉัยโรคเป็นมูลค่าสูงถึง 3.15 หมื่นล้านบาท และ 1.9 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ (35% และ 20% ของการนำเข้าทั้งหมด) ซึ่งมูลค่าการนำเข้าที่สูงยังสะท้อนถึงการผลิตและการวิจัยและพัฒนา (R&D) โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าครุภัณฑ์ในประเทศที่ยังไม่เข้มแข็งนัก นอกจากนี้ มูลค่าการลงทุนด้านการแพทย์ในไทยเมื่อเปรียบเทียบกับภาพรวมทั้งประเทศยังค่อนข้างต่ำ โดยคิดเป็นเพียง 5% ของยอดอนุมัติทั้งหมดในช่วงเวลาระหว่างปี 2019 ถึงครึ่งปีแรก 2024 โอกาสและความท้าทายของไทยในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์SCB EIC ประเมินว่าไทยมีโอกาสคว้าโอกาสจากเมกะเทรนด์ระดับโลกในการสร้างการเติบโตในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ จากปัจจัยสนับสนุนดังต่อไปนี้ 1. การเป็นพื้นที่เซฟโซนด้านการลงทุน ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงด้าน Supply chain โดยเฉพาะในสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไทยกลายเป็นจุดหมายการย้ายฐานการผลิตและกระจายการลงทุนที่ได้รับความสนใจในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ไทยยังเป็นประตูสำคัญสู่ภูมิภาคอาเซียนและมีโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์ที่ทันสมัย เชื่อมต่อกับเส้นทางการค้าระหว่างประเทศได้อย่างสะดวก รวดเร็ว 2. การเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (Medical tourism hub) โดยไทยอยู่ใน 5 อันดับแรกของประเทศที่มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์สูงสุด และมีทั้งโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับระดับโลก ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์จำนวนมาก อีกทั้ง ยังมีโอกาสต่อยอดการพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นจากการใช้งานกับผู้ป่วยจากหลากหลายชาติ และ 3. การสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทั้งทางภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยเฉพาะกิจการที่มีการทำ R&D ร่วมด้วย นอกจากนี้ ภาครัฐยังส่งเสริมธุรกิจสตาร์ตอัปด้านสุขภาพในประเทศให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย ซึ่งปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยให้ไทยมีความพร้อมที่จะก้าวสู่การเป็น Medical hub ระดับโลกได้ทั้งนี้ 3 แนวทางหลักที่ควรเร่งพัฒนาในการสร้างการเติบโตระยะยาวแก่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ไทย ได้แก่ แนวทางแรก การร่วมมือกับพันธมิตรต่างชาติ โดยเฉพาะกับผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเครื่องมือแพทย์ระดับโลก ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีทางการแพทย์ขั้นสูงที่มีความซับซ้อนได้ อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ประกอบการไทยอาจเข้าถึงพันธมิตรต่างชาติได้ค่อนข้างยาก จึงจำเป็นต้องอาศัยบทบาทภาครัฐในการสร้างความสัมพันธ์ระดับรัฐและอำนวยความสะดวกในด้านกฎระเบียบต่าง ๆ ก่อน เพื่อสร้างโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าถึงพันธมิตรต่างชาติได้ง่ายขึ้น แนวทางถัดมาคือการพัฒนาบุคลากรด้านเครื่องมือแพทย์ โดยเฉพาะนักวิจัยหรือวิศวกรด้านเครื่องมือแพทย์ผ่านการเพิ่มจัดการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัยให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างบุคลากรเพื่อมารองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า อีกทั้ง ยังเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริม R&D ในประเทศเพื่อพัฒนาสู่เทคโนโลยีขั้นสูง โดยควรจะต้องจัดตั้งห้องแล็บเฉพาะสำหรับการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ควบคู่ไปด้วย แนวทางสุดท้ายคือการสร้างแบรนด์เครื่องมือแพทย์ไทยสู่เวทีระดับโลก ซึ่งอาจเริ่มจากการพัฒนาเครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สามารถอาศัยจุดแข็งของทรัพยากรภายในประเทศที่นำมาทำผลิตภัณฑ์ ดังเช่น การผลิตถุงมือยาง ซึ่งไทยเป็นแหล่งปลูกยางพาราระดับโลก ทำให้นักลงทุนจากหลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทยสนใจเข้ามาตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางแบบ Full value chain ในไทย (มี R&D ในประเทศ) อีกทั้ง อาจจะต้องสนับสนุนให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยยอมรับและใช้สินค้าแบรนด์ไทยเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งจะยิ่งช่วยให้เกิดการใช้งานเครื่องมือแพทย์ไทยกันอย่างแพร่หลาย นอกจากนี้ การที่ไทยเป็นหนึ่งในศูนย์กลางนักท่องเที่ยวเชิงการแพทย์โลกยังช่วยให้สามารถวิจัยและพัฒนาเครื่องมือแพทย์ให้เหมาะกับผู้ป่วยจากหลากหลายชาติ พร้อมทั้งมีตลาดขนาดใหญ่รองรับจากเมกะเทรนด์โลกที่ส่งผลให้เกิดความต้องการในการใช้เครื่องมือแพทย์ และการลงทุนเพิ่มขึ้น ประกอบกับศักยภาพของไทยในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมการแพทย์ จึงทำให้อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์กลายเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแนวหน้าที่ไทยควรเร่งผลักดัน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว
: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์
SALEE มุ่งรักษาผลงานปี68 เติบโต5-10% #งานmaiforum2025
Hooninside
สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้
ชื่อหรือรหัสของคุณไม่ถูกต้อง
Please, check your email format before submit.
Please, Enter you password.
Please, Enter minimum 3 character.
Please, Enter minimum 6 character.
กรุณากรอกอีเมล์ที่คุณใช้สมัครสมาชิกแล้วกดส่งเมล์