Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์ เรทติ้งส์ มองโครงสร้างเครดิตของธนาคารไทยไม่น่าจะได้รับผลกระทบมากนักจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

509

 

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 20 ธันวาคม 2567)-------ฟิทช์ เรทติ้งส์ กล่าวว่า มาตรการล่าสุดในการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบปัญหาในการชำระหนี้ (Debt Relief Scheme) ของรัฐบาลไทยไม่น่าจะส่งผลกระทบมากนักต่อสถานะทางเครดิตของภาคธนาคารไทย     ในปี 2568 เนื่องจากขอบเขตของมาตรการมีจำกัด และเป็นสาเหตุให้ฟิทช์เชื่อว่ามาตรการดังกล่าวไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อระดับหนี้สินภาคครัวเรือน อัตราการเติบโตของสินเชื่อภาคธนาคาร หรือการเติบโตทางเศรษฐกิจ

 

มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของรัฐบาลน่าจะคลอบคลุมลูกหนี้ที่มียอดหนี้รวมไม่เกิน 8.9 แสนล้านบาท (ประมาณ 2.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ) แต่อย่างไรก็ตาม ฟิทช์เชื่อว่าในทางปฏิบัติ ลูกหนี้ที่เข้าเกณฑ์ส่วนใหญ่น่าจะมีสถานะเป็นลูกหนี้ค้างชำระ (Stage 2) หรือลูกหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Stage 3) ซึ่งธนาคารน่าจะมีการตั้งค่าใช้จ่ายในการสำรองหนี้สูญไว้แล้วหรืออาจถูกตัดบัญชี (write-off) ไปแล้ว นอกจากนี้ การปรับโครงสร้างหนี้ที่เสนอภายใต้มาตรการดังกล่าว จะเป็นการลดการชำระค่างวดและยกเว้นการชำระดอกเบี้ย ซึ่งอาจไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ของธนาคารที่ใช้อยู่  ซึ่งปัจจัยดังที่ได้กล่าวมานี้อาจจะลดผลกระทบของมาตรการต่อสถานะทางเครดิตของธนาคาร

 

รัฐบาลได้ระบุว่าค่าใช้จ่ายของธนาคารภายใต้มาตรการนี้จะได้รับการชดเชยโดยการจัดสรรจำนวนเงินครึ่งหนึ่งที่ธนาคารต้องนำส่งให้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ซึ่งน่าจะมีระยะเวลา 3 ปี ทั้งนี้ในปัจจุบันธนาคารทุกแห่งนำส่งเงินเข้ากองทุนฟื้นฟูฯ ในอัตรา 0.46% ของมูลค่าเงินฝากเป็นประจำทุกปี  โดยเงินนำส่งส่วนใหญ่ถูกใช้เพื่อชำระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540

 

ทั้งนี้ยังคงมีความไม่ชัดเจนว่าการจ่ายเงินชดเชยของรัฐบาลจะถูกบันทึกในทางบัญชีอย่างไร หรือว่าเงินที่นำส่งจะเพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายทั้งหมดของธนาคารจากการดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวนี้หรือไม่ ซึ่งรัฐบาลอาจพิจารณาจัดสรรเงินทุนจากโครงการอื่นๆ หากเงินทุนนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินชดเชยให้กับธนาคาร ทั้งนี้ผลกระทบต่อธนาคารแต่ละแห่งอาจแตกต่างกันไป แต่มีความเป็นไปได้ว่าบางธนาคารอาจได้รับประโยชน์จากมาตรการดังกล่าว หากธนาคารนั้นได้รับเงินชดเชยส่วนใหญ่จากสินเชื่อที่ได้มีการตั้งสำรองหนี้สูญไว้แล้ว

 

ขอบเขตของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ในครั้งนี้ น่าจะอยู่ในระดับที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของทางการในช่วงการระบาดของโควิด-19  ฟิทช์จึงเชื่อว่าปัจจัยดังกล่าวจะจำกัดประสิทธิภาพในการจัดการกับความท้าทายทางเศรษฐกิจมหภาค เช่น ระดับหนี้สินครัวเรือนที่สูง ซึ่งอยู่ที่ 90% ของ GDP ณ เดือนมิถุนายน 2567 หรืออาจจำกัดการกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อธนาคาร ทั้งนี้เกณฑ์และมาตรการเพื่อการควบคุมการปรับตัวเพิ่มขึ้นของหนี้สินครัวเรือน เช่น เพดานอัตราดอกเบี้ยสำหรับสินเชื่อรายย่อย ยังคงมีการดำเนินการอยู่ต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตามประเทศไทยเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศในภูมิภาคที่ยังคงมีการใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ต่อจากในช่วงหลังการระบาดของโควิด-19 ซึ่งสะท้อนว่าธนาคารไทยยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายอยู่ต่อเนื่อง

ฟิทช์คาดว่าอัตราการเติบโตของภาคธนาคารไทยน่าจะอยู่ที่ระดับ 2% ในปี 2568 โดยส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการเริ่มปรับลดลงเล็กน้อยของอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้อัตราการเติบโตในปี 2568 จะอยู่ในระดับที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2567 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 0.1% แต่ก็ยังคงอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (nominal GDP) ที่ 4.6%  ด้วยอัตราการเติบโตของสินเชื่อในระดับต่ำนี้ สัดส่วนหนี้สิน (leverage) ของภาคธนาคารจึงน่าจะปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งจะเป็นการปรับลดลงต่อเนื่องกับทิศทางที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

NER สานต่อโครงการ “NER ยิ้มสวย สุขภาพฟันดีกับทันตกรรมเคลื่อนที่” ปี 2 ร่วมดูแลสุขภาพช่องปากพนักงานกว่า 1,000 คน

ในยุคที่การดูแลสุขภาพกลายเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทุกคน ทั้งการออกกำลังกายหรือการทานอาหารที่ดี แต่สิ่งที่หลายคนมองข้ามคือ

หมดแรง By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็นหลายตลาด หมดแรง อ่อนตัวลง แต่หุ้นไทย วูบไป 1.44% ในเช้าวันนี้ ด้วยใช้ข่าวดี .....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้