Today’s NEWS FEED

News Feed

บอร์ด EA ไฟเขียวขายทรัพย์สินในโครงการโรงไฟฟ้า อีเอ โซล่า พิษณุโลก มูลค่าไม่ต่ำกว่า 8,000 ล้านบาท หวังนำเงินชำระเงินกู้ยืมสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้ คาดธุรกรรมเสร็จสิ้น ภายในเดือนเม.ย.68 เป็นอย่างช้า

590

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(16 ธันวาคม 2567)-- นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) EA เปิดเผยว่าบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) (“บริษัทฯ”) ขอแจ้งมติที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ครั้งพิเศษที่ 14/2567 ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2567 (“ที่ประชุมฯ”) โดยมีมติที่สำคัญดังต่อไปนี้


1. ที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการเข้าทำรายการจำหน่ายทรัพย์สินในโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท อีเอ โซล่า พิษณุโลก จำกัด (“ESP”) รวมถึงอนุมัติกรอบและหลักการเกี่ยวกับการจำหน่ายสินทรัพย์ดังกล่าว ในการจำหน่ายทรัพย์สินนี้อาจอยู่ในรูปแบบการจำหน่ายหุ้นสามัญใน ESP ทั้งหมดหรือบางส่วน หรือการโอนทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดของโครงการโรงไฟฟ้า ESP หรือการโอนสิทธิหรือผลประโยชน์จากการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ ESP ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนดโดยมีมูลค่าการเสนอขาย (1) ตามมูลค่ากิจการ (Enterprise Value)1 หรือ (2) ตามมูลค่าเสนอขายโครงการ โดยมูลค่าการเสนอขายดังกล่าวต้องไม่ต่ำกว่า 8,000.00 ล้านบาท ให้กับบุคคล และ/หรือนิติบุคคล รายหนึ่งหรือหลายราย โดยกลุ่มบุคคล และ/หรือนิติบุคคลดังกล่าวต้องมีจำนวนรวมกันไม่เกินสิบราย (รวมเรียกว่า “ผู้ลงทุน”) และไม่ใช่บุคคลที่เกี่ยวโยงกันกับบริษัทฯ ตามประกาศคณะกรรมการกำกับตลาดทุนที่ ทจ. 21/2551 เรื่องหลักเกณฑ์ในการทำรายการที่เกี่ยวโยงกัน และประกาศคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เรื่องการเปิดเผยข้อมูลและการปฏิบัติการของบริษัทจดทะเบียนในรายการที่เกี่ยวโยงกัน พ.ศ. 2546 (รวมทั้งที่ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติม) (“ประกาศรายการเกี่ยวโยงกัน”) เพื่อเป็นไปตามแผนการบริหารจัดการทางการเงินและชำระหนี้สินของบริษัทฯ (รวมเรียกว่า“ธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน”) ทั้งนี้ ESP เป็นบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วนร้อยละ 99.99 ซึ่งประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ในจังหวัดพิษณุโลก และมีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 เมกะวัตต์

ณ ปัจจุบัน บริษัทฯ อยู่ระหว่างการคัดเลือกผู้ลงทุน รวมทั้งการพิจารณากำหนดรูปแบบการเข้าทำรายการโดยอาจจะเข้าทำรายการในรูปแบบ ดังต่อไปนี้


1. การจำหน่ายหุ้นสามัญทั้งหมดหรือบางส่วนใน ESP โดยบริษัทฯ จะเจรจากับผู้ลงทุนเพื่อกำหนดให้สิทธิกับผู้ขาย และ/หรือ บริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ ในการซื้อหุ้นสามัญของ ESPบางส่วนหรือทั้งหมดคืนจากผู้ลงทุน ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่ธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จสมบูรณ์(Completion Date) ในราคาที่ตกลงกันต่อไป โดยมีมูลค่าไม่เกิน1,000,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะกำหนดในสัญญาที่เกี่ยวข้องต่อไป หรือ

2. การโอนทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดของโครงการโรงไฟฟ้า ESP โดยบริษัทฯ จะเจรจากับผู้ลงทุนเพื่อกำหนดให้สิทธิกับผู้ขาย และ/หรือ บริษัทฯ และ/หรือบริษัทย่อยของบริษัทฯ ในการซื้อและรับโอนทรัพย์สินและกิจการทั้งหมดของโครงการโรงไฟฟ้า ESP คืนจากผู้ลงทุน ภายหลังจากครบกำหนดระยะเวลา 25 ปี นับจากวันที่ธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินเสร็จสมบูรณ์(Completion Date) ในราคาที่ตกลงกันต่อไป โดยมีมูลค่าไม่เกิน 1,000,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามเงื่อนไขที่จะกำหนดในสัญญาที่เกี่ยวข้องต่อไป หรือ

3. การโอนสิทธิหรือผลประโยชน์จากการประกอบกิจการผลิตและจำหน่ายกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของ ESP ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนภายในกรอบระยะเวลาที่กำหนด โดยมีระยะเวลาไม่เกิน 25 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ได้มีมติอนุมัติให้เสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อพิจารณาอนุมัติการมอบอำนาจให้คณะกรรมการบริษัทฯ มีอำนาจในการเจรจาในหลักการ เงื่อนไข และข้อตกลงต่าง ๆ เพื่อเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินให้มีความเหมาะสมและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่บริษัทฯ

ในการเข้าทำรายการธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ จะคัดเลือกและติดต่อผู้ลงทุนรายต่าง ๆ ที่เหมาะสมและมีศักยภาพ ตลอดจนความสามารถในการดำเนินธุรกิจของ ESP ต่อไปได้ในอนาคต และจะดำเนินการให้ผู้ลงทุนที่สนใจยื่นข้อเสนอขั้นต้น (Non-Binding หรือ Indicative Offer) มายังบริษัทฯ จากนั้น คณะกรรมการบริษัทฯ จะพิจารณาข้อเสนอขั้นต้นดังกล่าวทั้งในด้านราคาเสนอซื้อขายรวมถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขต่าง ๆ และคัดเลือกผู้ลงทุนเฉพาะรายที่มีความเหมาะสมที่สุดให้ดำเนินการตรวจสอบสถานะกิจการของ ESP (Due Diligence) และดำเนินการให้ผู้ลงทุนที่ได้รับคัดเลือกยื่นข้อเสนอผูกพัน (Binding Offer) ซึ่งระบุเงื่อนไขเชิงพาณิชย์ต่าง ๆ รวมทั้งรูปแบบการทำธุรกรรม หลักการและเงื่อนไข เพื่อให้บริษัทฯ พิจารณาคัดเลือกผู้ลงทุนที่บริษัทฯ จะเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน โดย


บริษัทฯ จะพิจารณาถึงข้อเสนอและเงื่อนไขตามที่ได้รับการนำเสนอจากผู้ลงทุนแต่ละรายอย่างถี่ถ้วน โดยคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดของบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญ พร้อมกันนี้เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการเข้าทำรายการธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน บริษัทฯ จะเจรจาสัญญาหลักที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมดังกล่าวควบคู่กันไปกับการตรวจสอบสถานะกิจการ โดยหากคณะกรรมการบริษัทฯ สามารถคัดเลือกผู้ลงทุนได้และได้เข้าทำสัญญาหลักที่เกี่ยวกับการขายทรัพย์สินกับผู้ลงทุนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว บริษัทฯ จะดำเนินการแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ลงทุนรายดังกล่าวให้ผู้ถือหุ้นทราบผ่านทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (“ตลาดหลักทรัพย์ฯ”) โดยเร็ว

บริษัทฯ คาดว่าภายใต้สัญญาหลักที่เกี่ยวกับการขายทรัพย์สิน ธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินจะเกิดขึ้นต่อเมื่อเงื่อนไขบังคับก่อนเสร็จสิ้น หรือได้รับยกเว้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนจากคู่สัญญาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งบริษัทฯ จะพิจารณากำหนดและตกลงกับผู้ลงทุนต่อไป เช่น ผลของการตรวจสอบสถานะกิจการ (DueDiligence) เป็นที่น่าพึงพอใจต่อผู้ลงทุน การได้รับอนุมัติจากที่ประชุมคณะกรรมการ และ/หรือที่ประชุมผู้ถือหุ้นของผู้ลงทุนเพื่ออนุมัติการเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน การได้รับความเห็นชอบหรือได้รับอนุมัติจากบุคคลภายนอก เจ้าหนี้ หน่วยงานราชการ หรือหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน รวมทั้ง ต้องไม่มีเหตุการณ์หรือการกระทำใด ๆ เกิดขึ้นอันเป็นเหตุหรืออาจเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อธุรกิจ ฐานะของ ESP หรือเป็นผลให้มูลค่าของหุ้นหรือทรัพย์สินของ ESP ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระหว่างวันที่มีการเข้าทำสัญญาหลักที่เกี่ยวข้องกับการขายทรัพย์สิน(Execution Date) จนถึงวันที่ธุรกรรมเสร็จสิ้น (Completion Date) เป็นต้น

ในเบื้องต้น บริษัทฯ คาดว่าการเจรจาเงื่อนไขข้อตกลงต่าง ๆ รวมถึงการเข้าทำสัญญาที่เกี่ยวข้องและเงื่อนไขบังคับก่อนทั้งหมดน่าจะเสร็จสิ้น ภายในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2568 ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินจะเสร็จสิ้น ภายในเดือนเมษายน 2568 เป็นอย่างช้า

 

สืบเนื่องจากปัจจุบัน บริษัทฯ มีภาระเงินกู้ยืมที่ต้องชำระโดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 27,498.20 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 31,166.00 ล้านบาท โดยในปี 2568บริษัทฯ มีภาระทางการเงินที่ต้องชำระเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้ เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 15,194.06 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7,744.06 ล้านบาท และหุ้นกู้ จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7,450.00 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ การเข้าทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สินดังกล่าวจะช่วยลดภาระเงินกู้ยืมของบริษัทฯ จำนวน 4,365.18 ล้านบาท ที่ ESP มีภาระที่ต้องชำระต่อสถาบันการเงิน (อ้างอิงจากงบการเงินสอบทานโดยผู้สอบบัญชีของ ESP สิ้นสุด ณ วันที่ 30กันยายน 2567) นอกจากนี้ เงินที่ได้รับจากการทำธุรกรรมการจำหน่ายทรัพย์สิน (หลังหักภาษีและค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) สามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่บริษัทฯ ต่อไป

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้