Company Note
Thai Union Group
สรุปจากงานเปิดกลยุทธ์มุ่งสู่เป้าหมายปี 2030 (11/11/24)
เปิดกลยุทธ์ transformation เพื่อมุ่งสู่ปี 2030 เป้าหมายรายได้ 2.45 แสนล้านบาท
คุณธีรพงศ์ จันศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TU ตั้งเป้าหมายรายได้ 2.45 แสนล้านบาท (US$7bn) หรือเติบโต 10% (CAGR6Y) โดยมาจากธุรกิจหลัก US$6bn +7% (CAGR6Y) และธุรกิจใหม่ US$1bn และเพิ่ม EBITDA เป็นสองเท่าภายในปี 2030 เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำระดับโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและโภชนาการเพื่อสุขภาพจากท้องทะเล ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดีและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ของไทยยูเนี่ยน
กลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2030 แบ่งออกเป็น 3 แกนหลัก โดยมุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่สำคัญเพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้ กำไรขั้นต้น และ EBITDA โดยการเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจเดิม และธุรกิจใหม่ รวมถึงการควบรวมกิจการ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว ซึ่ง 3 แกนหลักนี้ ประกอบด้วย:
สร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลัก: ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป อาหารแช่เย็น และอาหารสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างกระแสเงินสดที่จำเป็นในการขยายธุรกิจไปสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพการเติบโตใหม่ ๆ
สร้างคลื่นลูกใหม่ของการเติบโต: มุ่งเน้นกลุ่มธุรกิจที่เติบโตเร็ว เช่น อาหารสัตว์เลี้ยง อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน และอินกรีเดียนท์ ซึ่งบริษัทเชื่อว่าจะยังคงขับเคลื่อนการเติบโตของผลกำไรได้อย่างต่อเนื่อง
การเปิดน่านน้ำใหม่ มุ่งเน้นการแสวงหาไอเดียและเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และโปรตีนทางเลือก เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในอนาคต
กลยุทธ์เติบโตจะผ่านทรานส์ฟอร์เมชั่น (transformation) 2 โปรเจกต์ ที่มีแผนงานที่ชัดเจนเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2030 ประกอบด้วยสองโปรเจกต์จะดำเนินการควบคู่ และส่งเสริมการรวมแผนงานเป็นหนึ่งเดียวกันในอนาคต
โปรเจกต์โซนาร์ (Project Sonar) ซึ่งเป็นโครงการทรานส์ฟอร์เมชั่นของกลุ่มบริษัท มุ่งวางรากฐานที่แข็งแกร่งสำหรับการเติบโตในระยะยาว บริษัทตั้งเป้าที่จะลดต้นทุนตั้งแต่ปี 2026 เป็นต้นไปเฉลี่ยปีละ 2,625 ล้านบาท (US$75m) ทั้งนี้ ประมาณ 40% ของเงินส่วนนี้จะถูกนำกลับมาลงทุนเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและขยายธุรกิจต่อไป โปรเจกต์โซนาร์มีเป้าหมายที่จะสร้างรูปแบบการดำเนินงานที่แข็งแกร่งสอดคล้องกับกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2030 สร้างขีดความสามารถด้านการจัดซื้อและเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัลเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจ และเตรียมพร้อมสำหรับการเดินหน้าโครงการดิจิทัลทรานส์ฟอร์มเมชั่นอย่างเต็มรูปแบบ
โปรเจกต์เทลวินด์ (Tailwind) ซึ่งมุ่งเน้นที่การเร่งการเติบโตในกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเป็นหลักที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว จากการเติบโตธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงโลกปีละ 6% ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยบริษัทกำหนดเป้าหมายที่จะเพิ่มกำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit) สำหรับธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงตั้งแต่ปี 2027 เป็นต้นไป ประมาณปีละ 1,750 ล้านบาท (US$50m) ต่อปี ซึ่งกุญแจสู่สำเร็จ คือ ความเชี่ยวชาญทางธุรกิจและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อตลาด รู้ลึก รู้จริงถึงความต้องการของลูกค้า ควบคู่กับการสร้างขีดความสามารถใหม่ ๆ เพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อและกระบวนการผลิต ในขณะที่โปรเจกต์เทลวินด์จะมุ่งเน้นไปที่การเร่งขับเคลื่อนการเติบโตจากการเพิ่มขีดความสามารถของธุรกิจในปัจจุบันของ ITC จะมุ่งสร้างการเติบโตจากการควบรวมกิจการ โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มรายได้สามเท่าอยู่ที่ประมาณ 52,500 ล้านบาท (US$1.5 bn) ภายในปี 2030 รวมอยู่ในเป้าหมาย 2.45 แสนล้านบาท (US$7.0bn)
แนวทางการปฏิบัติสำคัญ 6 ประการ ที่จะเป็นรากฐานและเตรียมองค์กรให้พร้อมตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2030 ประกอบด้วย 1) การปรับโครงสร้างองค์กรและการพัฒนาบุคลากร 2) การมุ่งเน้นการลดต้นทุน 3) การเพิ่มประสิทธิภาพเครือข่ายการผลิตและการจัดซื้อเชิงกลยุทธ์ 4) การยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัล 5) การใช้ประโยชน์จากนวัตกรรม และ 6) การเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันจากความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน
ปัจจุบัน TU ได้เริ่มต้นดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายตามกลยุทธ์เพื่อมุ่งสู่ปี 2030 รวมถึงโครงการทรานส์ฟอร์มเมชั่นทั้งสองโครงการ เช่น การจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมแห่งใหม่ในประเทศเนเธอร์แลนด์ การเพิ่มการลงทุนด้านการส่งเสริมการตลาดเพื่อคงความเป็นผู้นำแบรนด์อาหารทะเลแปรรูปชั้นนำของโลกหลากหลายแบรนด์ของกลุ่มบริษัทอย่างต่อเนื่อง การเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานด้านการผลิต การขยายทีมและยกระดับขีดความสามารถทางดิจิทัลของกลุ่มบริษัททั่วโลก เป็นต้น
งบลงทุน บริษัทคาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เป็นคงที่และผันแปรสำหรับ 2 โครงการ ในช่วง 2-3 ปี ประมาณ US$60m หรือปีละ US$20m, คาด SG&A to sale จะเพิ่มขึ้น 0.5% จากปกติ 12.5% เป็น 13% และบริษัทวางงบลงทุน (capex) ปกติปีละ 4.5-5 พันล้านบาท และคาดปีหน้าจะประมาณ 4.5 พันล้านบาท
สรุปจากการประชุมนักวิเคราะห์ (8/11/24)
บริษัทปรับเป้าหมายรายได้ปี 2024F บริษัทมีปรับเป้าหมายรายได้เติบโต 3-4% YoY จากเดิม 4-5%YoY จากผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนที่แข็งค่าขึ้น และปรับ Gross profit margin เพิ่มขึ้นเป็น 18.5-19% จากเดิม 18-18.5%, ปรับ SG&A to sale เพิ่มขึ้นเป็น 12.5-13% จากเดิม 12-12.5%, งบลงทุน 3.5-4 พันล้านบาท จากเดิม 4-4.5 พันล้านบาท , นโยบายการจ่ายเงินปันผล ไม่ต่ำกว่า 50% ของกำไรสุทธิ
บริษัทมองแนวโน้มผลประกอบการปีหน้า 2025F จะเติบโตได้ดี หลังจากการเลือกตั้งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ “ทรัมป์” ผู้บริหารมองว่า ดอกเบี้ยจะลดลงต่อเนื่อง เงินเฟ้อจะลดลง และกำลังซื้อจะกลับมา อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ยังไม่แน่นอน ส่งผลให้บริษัทปรับกลยุทธ์ลดต้นทุนเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน สำหรับความกังวลเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ บริษัทมองว่าถ้าเกิดขึ้นจะเกิดขึ้นกับทุกฝ่าย จึงไม่มีความกังวลแต่อย่างใด
Red Lobster ออกจากกระบวนการ Chapter 11 แล้ว โดยไทยยูเนี่ยนเปลี่ยนสถานะจากผู้ถือหุ้นมาเป็นผู้จัดหาวัตถุดิบ
เมื่อวันที่ 16 ก.ย.24 Red Lobster (RL) ประสบความสำเร็จในการออกจากการคุ้มครองภายใต้กฎหมายล้มละลาย (Chapter 11) หลังจากเสร็จสิ้นการขายให้กับนักลงทุนรายใหม่ TU ได้ลงนามในสัญญาจัดหาวัตถุดิบฉบับใหม่กับ RL เพื่อรักษาความเป็นพันธมิตร์ทางธุรกิจต่อไป
ทั้งนี้ในปี 2022 Thai Union North America, Inc. (“TUNA”) ได้ทำสัญญาค้ำประกันแบบจำกัด วงเงินจำนวนเงิน 65 ล้านเหรียญสหรัฐ ที่เกี่ยวข้องกับภาระผูกพันที่เกิดขึ้น โดย RL ภายใต้สัญญาทางการเงินเมื่อวันที่ 3 ต.ค.24 Fortress Credit Corp. (“Fortress”) ได้ยื่นฟ้อง TUNA ในรัฐนิวยอร์ก โดยอ้างว่า TUNA ละเมิด การค้ำประกันแบบจำกัด โดยไม่ชำระเงินให้ Fortress ซึ่งมีฐานะเป็นตัวแทนหลักประกันตามจำนวนที่ค้ำประกัน
อย่างไรก็ตาม TUNA และฝ่ายบริหารของกลุ่มบริษัทยืนยันว่า ตามเงื่อนไขของสัญญา การค้ำประกันแบบจำกัดได้สิ้นสุดลงแล้ว และ TUNA กำลังอยู่ในกระบวนการทางกฎหมายเพื่อปกป้องผลประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนเริ่มต้นก่อนชั้นศาล
สรุปจากการประชุม เรามองเป็นปัจจัยบวกในระยะยาวจากกลยุทธ์ธุรกิจการเติบโตในปี 2030 ช่วยลดต้นทุน สร้างรายได้เติบโตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามยังมีค่าใช้จ่ายการปรับกลยุทธ์ที่ตามมาในช่วงระยะสั้น 2-3 ปี ซึ่งคาดว่าจะส่งผลดีต่อรายได้ในระยะยาวที่จะเห็นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า เรายังไม่มีการปรับระมาณการ จากเป้าหมายรายได้ปี 2024F ใหม่และค่าใช้จ่ายทีเพิ่มขึ้นของบริษัทใกล้เคียงกับประมาณการของเรา เราคาดแนวโน้ม 4Q24F จะอ่อนตัว QoQ จากการคาดธุรกิจ Pet food มีอัตราเติบโตลดลง และไม่มีการบันทึกการตั้งสำรองสินค้าคงคลังบวกกลับหมือนใน 2Q24
คงประมาณการเดิม คาดกำไรปี 2024F เติบโต โดยไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจาก Red Lobster (RL) แล้ว และคาดกำไรสุทธิปี 2025F เพิ่มขึ้น 15%YoY
เรายังคงประมาณการเดิมกำไร 9M24 คิดเป็น 78% ของทั้งปี เราคาดกำไรปี 2024F มาอยู่ที่ 4,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2023 ที่ไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจาก Red Lobster (RL) แล้ว และคาดกำไรสุทธิปี 2025F เพิ่มขึ้น 15%YoY จากแนวโน้มราคาปลาทูน่าที่ลดลงส่งผลต่ออัตรามาร์จิ้นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้นและส่งผลธุรกิจอาหารทะเลแปรรูป (Ambient seafood) มีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้น สำหรับคาดธุรกิจอาหารทะเลแช่แข็งคาดยังลดลงในปี 2024F และทรงตัวในปี 2025F จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวและการปรับลดขนาดธุรกิจในสหรัฐฯ เราคาดอัตราทำกำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่คาดจะกลับมาเติบโตมีอัตรามาร์จิ้นที่เพิ่มขึ้น สำหรับค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคาดเพิ่มขึ้นจากการทำการตลาดและค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้น (บริษัทมีการขายสินค้าเป็น FOB ส่วนใหญ่ และบางธุรกิจเป็น CIF คิดเป็น 3% ของค่าใช้จ่ายรวม) และบริษัทจะเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ปีละ 7% จากการได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI และไม่มีเครดิตภาษีเงินได้จากธุรกิจในต่างประเทศแล้ว
เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” จากคาดผลประกอบการเริ่มกลับมาปกติและการไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจากธุรกิจ Red Lobster (RL) แล้ว รวมถึงสถานการณ์ปัจจัยลบต่างๆ เริ่มคลี่คลาย มูลค่าที่เหมาะสมปี 2025F ที่ 17 บาท อ้างอิง historical PE forward ย้อนหลัง 7 ปี ที่ 14X โดยราคาหุ้นปัจจุบันมี PER25F ที่ 12X และคาด Dividend Yield 24F ที่ 4.1% สถานะการเงินแข็งแกร่งคาด Net Debt/Equity 24F อยู่ที่ 0.6X ความเสี่ยง : ภาพรวมเศรษฐกิจทั่วโลกที่ชะลอตัว, ความผันผวนของต้นทุนวัตถุดิบ, การขาดแคลนเรือนขนส่ง