สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(16 ตุลาคม 2567)-----บริษัทหลักทรัพย์เมย์แบงก์ ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า คาดการเลือกตั้งสหัรฐฯ 5 พ.ย. 2567 ที่กำลังจะมาถึง น่าจะสร้างความคาดหวังเชิงบวกต่อการเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะสามารถนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯผ่านพ้น ไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยได้ ผสานกับบรรยากาศการลงทุนที่ผ่อนคลายช่วงปลายปี จึงมีโอกาสสูงที่จะเกืด Election Rally
ประเมินภาพ SET Index มีโอกาสเร่งตัวในช่วงปลายปี สู่เป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปีที่ระดับ 1,520 จุด จากแรงหนุนการตอบรับเชิงบวกหลังเลือกตั้งสหรัฐฯไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะเป็นไปในทิศทางใด แต่ในเชิงเปรียบเทียบตลาดหุ้นไทยจะตอบรับเชิงบวกมากกว่า หากชัยชนะเป็นของ Kamal Harris ที่มีนโยบายด้านการค้าและต่างประเทศไม่แข็งกร้าวเท่า Donald Trump แต่อย่างไรก็ตาม จากสถิติในอดีตที่ผ่านมา ปัจจัยที่มีน้ำหนักในการขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยที่สำคัญที่สุดในปีเลือกตั้งสหรัฐฯ ยังจะเป็นปัจจัยที่เป็นกระแสหลักของการลงทุนในปีนั้นๆ ซึ่งในปีนี้คือ 1) วงจรดอกเบี้ยขาลง และ 2) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้น จึงประเมินกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย ท่องเที่ยว ธนาคาร วัสดุก่อสร้าง โรงไฟฟ้า และ นิคมอุตสาหกรรม เป็นต้น
หุ้น Top Picks
• AWC (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 4.20 บาท) คาดกำไรในปี 67-73 เติบโตแข็งแกร่งเฉลี่ย 21% ต่อปี ขณะที่ยังมี Upside ต่อประมาณการในระยะยาว หากลงทุนใน Entertainment Complex และการปรับลดดอกเบี้ยฯของ ธปท. แรงหนุนราคาหุ้นระยะสั้น คือ กำไรหลัก 3Q67-4Q67 คาดโตเด่น
• GPSC (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 53.00 บาท) คาดว่ากำไรปี 67 เติบโตแรงที่ 49% จากราคาก๊าซลดลงและส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี และปี 68 เติบโตอีก 51% หนุนจากโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ไต้หวัน ส่วนผลประกอบการ 3Q67E คาดจะเติบโตได้ทั้ง QoQ และ YoY
• WHA (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 6.25 บาท) เป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากกระแส Relocation จากการกีดกัดการค้าสหรัฐฯ กับจีนจะมีอยู่แน่นอน นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐฯ ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้าง New-S Curve ในธุรกิจเป้าหมาย เช่น กลุ่มเทคโนโลยี Datacenter ด้านแนวโน้มกำไรบริษัทฯอิง Bloomberg Consensus กำไรปี 67/68 ขยายตัว 11%/13% โดยแรงขับเคลื่อนกำไรมาจากยอดขายที่ดินที่เติบโต และราคาที่ดินที่ยังสามารถปรับสูงขึ้นท่ามกลางอุปสงค์ที่ดินที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปทานที่ดินของนิคมอุตสาหกรรม
เปรียบเทียบนโยบายของ Kamala Harris และ Donald Trump
1. ด้านเศรษฐกิจ
• Kamala Harris:
นโยบายของ Harris ให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือด้านค่าครองชีพ ลดค่าอาหารและค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งถือเป็นภาระที่หนักสำหรับครอบครัวชนชั้นกลางและชนชั้นแรงงาน นอกจากนี้ยังมีนโยบายที่จะเข้มงวดในการควบคุมราคาสินค้าให้มีความเหมาะสม ไม่ให้มีการเพิ่มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างไม่เป็นธรรม (price-gouging) นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะช่วยเหลือเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงการเป็นเจ้าของที่อยู่อาศัยได้ง่ายขึ้น โดยผ่านการจูงใจแก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์และผู้สร้างบ้าน เพื่อเพิ่มจำนวนที่อยู่อาศัยในตลาด ซึ่งจะช่วยลดราคาบ้านและค่าเช่า
• Donald Trump
นโยบายของ Trump เน้นยุติภาวะเงินเฟ้อที่สูง และทำให้อเมริกาเป็นประเทศที่ประชาชนสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการได้ในราคาที่เหมาะสมเป็นธรรม นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง ส่วนด้านภาคอสังหาฯ จะใช้นโยบายการเนรเทศผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร ซึ่งจะช่วยลดความต้องการ ของที่อยู่อาศัยภายในอเมริกา
2. ด้านภาษี
• Kamala Harris:
มีแนวคิดการปรับขึ้นภาษีสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่และชาวอเมริกันที่มีรายได้ 400,000 ดอลลาร์ต่อปีขึ้นไป แต่ในขณะเดียวกันก็มีมาตรการช่วยเหลือหลายด้านที่จะช่วยลดภาระภาษีให้กับครอบครัว รวมถึงการขยายเครดิตภาษีสำหรับครอบครัวที่มีบุตร
• Donald Trump
เสนอมาตรการลดภาษีหลายรายการมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงการขยายการลดภาษีปี 2560 ที่ถือเป็นเป็นประโยชน์ต่อผู้มีรายได้สูง และจะชดเชยรายได้ทางการคลังที่หายไปดังกล่าวจากภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตดีขึ้นและการเก็บภาษีสินค้านำเข้า
3. ด้านการค้าระหว่างประเทศ
• Kamala Harris:
วิจารณ์การนโยบายสงครามการค้าของ Trump ที่เก็บภาษีในวงกว้าง ว่าส่งผลกระทบต่อครอบครัวชนชั้นแรงงาน ซึ่งจะทำให้แต่ละครัวเรือนต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 4,000 ดอลลาร์ต่อปี โดยมองว่าควรจะเน้นพุ่งเป้าการเก็บภาษีสินค้านำเข้าแบบเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
• Donald Trump
มีแนวคิดการเสนอขึ้นภาษีใหม่ 10-20% สำหรับสินค้าต่างประเทศส่วนใหญ่ และในอัตราภาษีที่สูงกว่านั้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับสินค้าที่มาจากจีน
4. ด้านการต่างประเทศ
• Kamala Harris:
ให้ความสนับสนุนยูเครน แก้ปัญหาระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่มีมาอย่างยาวนาน และเรียกร้องให้ยุติสงครามในฉนวนกาซาและมุ่งเน้นที่จะรักษาความเป็นมหาอำนาจของสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21 เหนือจีน
• Donald Trump:
ใช้โยบายต่างประเทศแบบโดดเดี่ยว และต้องการให้สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก โดย Donald Trump เคยกล่าวว่า จะยุติสงครามในยูเครนทันที ผ่านการเจรจาเพื่อหาข้อตกลงกับรัสเซีย ซึ่งตรงข้ามกับมุมมองของพรรค Democrat ที่มองว่าจะทำให้รัสเซียมีความกล้าแข็งมากขึ้น นอกจากนี้ประเด็นความขัดแย้งตะวันออกกลาง Donald Trump วางตัวเองเป็นผู้สนับสนุนอิสราเอลอย่างชัดเจนและแข็งกร้าว
5. ด้านสิ่งแวดล้อม
• Kamala Harris
รัฐบาลของ Joe Biden มีส่วนช่วยผ่านกฎหมายการปรับลดอัตราเงินเฟ้อ (Inflation Reduction Act) ซึ่งได้จัดสรร งบประมาณสูงกว่าหลายแสนล้านเหรียญฯ พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนพลังงานหมุนเวียน รวมทั้งโครงการเครดิตภาษี และเงินคืนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ในขณะเดียวกันจุดยืนของ Joe Biden ยังคงสนับสนุนการขุดเจาะหินน้ำมันด้วยเทคโนโลยี fracking (ซึ่งมีกระแสต่อต้านด้วยมุมมองด้านสิ่งแวดล้อม) ภายใต้ข้อกำหนดที่เข้มงวด
• Donald Trump:
เคยยกเลิกมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม รวมถึงการจำกัดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงไฟฟ้าและยานพาหนะ อย่างไรก็ตามในการหาเสียงครั้งนี้ มีนโยบายจะขยายการขุดเจาะน้ำมันในอาร์กติกและวิจารณ์รถยนต์ไฟฟ้า
สถิติในอดีตจากการเลือกตั้งสองครั้งล่าสุด 1) 3 พ.ย. 2563: Joe Biden และ 2) 8 พ.ย. 2559: Donald Trump บ่งชี้โอกาสเกิด Election Rally ทั้งในตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ จากความคาดหวังเชิงบวกของนักลงทุนต่อรัฐบาลใหม่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่อย่างไรก็ตาม ในเชิงเปรียบเทียบผลตอบแทนระหว่างตลาดหุ้นไทยกับตลาดหุ้นต่างประเทศ กลับตอบรับไปในลักษณะที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ตลาดหุ้นที่ Outperform คือ ตลาดในประเทศที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลใหม่ของสหรัฐฯ ในทางตรงกันข้ามตลาดหุ้นในประเทศ ที่โดยผลกระทบเชิงลบจากนโยบาย พบว่า Underperform
• เกิด Election Rally หลังการเลือกตั้ง โดย SET Index ให้ผลตอบแทน ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2563 ปรับตัวขึ้น +18.67% จากวันเลือกตั้ง (3 พ.ย.) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลตอบแทนเชิงเปรียบเทียบ (Relative Return) ก็ถือว่า SET Index ให้ผลตอบแทนดีกว่าทั้ง S&P500 และ MSCI Asia ex Japan ในช่วง Election Rally โดยจุดสูงสุดของผลตอบแทนเชิงเปรียบเทียบดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ 12 ธ.ค. และ 27 ธ.ค. ตามลำดับ
• ผลการเลือกตั้งที่ Joe Biden เป็นผู้ชนะ สร้าง sentiment เชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยและเอเชีย มากกว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากนโยบายที่ไม่แข็งกร้าวด้านการค้า และการต่างประเทศ หากเทียบกับคู่แข่งในตอนนั้นอย่าง Donald Trump ในขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไม่ชอบนโยบายการปรับขึ้นภาษีผู้ที่มีรายได้สูง และภาคธุรกิจ จึงทำให้ผลตอบแทนต่ำกว่าตลาดหุ้นเอเชียในช่วง Election Rally
• เกิด Election Rally หลังการเลือกตั้ง โดย SET Index ให้ผลตอบแทน ณ วันที่ 30 ธ.ค. 2559 ปรับตัวขึ้น +2.19% นับจากวันเลือกตั้ง (8 พ.ย.) อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลตอบแทนเชิงเปรียบเทียบ (Relative Return) พบว่า SET Index ให้ผลตอบแทนดีกว่า MSCI Asia ex Japan ในช่วงหลังการเลือกตั้งไปจนถึงสิ้นปี โดยให้ผลตอบแทนทำจุดสูงสุดที่ +7.49% เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. อย่างไรก็ตาม หากเทียบกับ S&P500 พบว่า SET Index ให้ผลตอบแทนต่ำกว่า (จุดที่ผลตอบแทนใกล้เคียงที่สุดคือช่วงสองวันทำการหลังการเลือกตั้ง ที่ -1.01% ในวันที่ 10 พ.ย.)
• ผลตอบแทนตลาดหุ้นเอเชียที่ Underperform สหรัฐฯ เป็นผลมาจากชัยชนะของ Donald Trump ที่มีท่าทีแข็งกร้าวต่อจีน และส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาค (แต่ไทยยังถือว่าได้ประโยชน์จากโอกาสการย้ายฐานการผลิต และความเป็นกลางที่สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีได้ทั้งสหรัฐฯ และจีน)
ผลตอบแทนรายกลุ่มอุตสาหกรรม
การเกิด Election Rally มีผลขับเคลื่อนตลาดหุ้นไทยในภาพรวม แต่หากพิจารณารายกลุ่มอุตสาหกรรมพบว่าให้น้ำหนักกับปัจจัยหลัก ที่ขับเคลื่อนตลาดในขณะนั้นเป็นหลัก (ปัจจัยสำคัญช่วงนั้นคือ การพัฒนาวัคซีน COVID-19) โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เคลื่อนไหวโดดเด่นในช่วง 3 พ.ย. – 30 ธ.ค. 2563 ประกอบด้วย
o ETRON ซึ่งได้แรงหนุนจาก DELTA ที่ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ +171.51% ซึ่งถือเป็นปัจจัยเฉพาะตัว
o PETRO BANK PROP ENERG เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่มีความคาดหวังเชิงบวกจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังผ่านพ้นวิกฤต COVID-19 วันที่ 9 พ.ย. Pfizer และ BioNTech ประกาศความคืบหน้าการพัฒนาวัคซีนว่าประสบความสำเร็จไปแล้วกว่า 90%
o AGRI เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวที่ให้ผลตอบแทนเป็นลบ จากการปรับตัวลงแรงของหุ้นกลุ่มยางพารา STA -21.48%, NER -10.88% ได้รับผลกระทบเชิงลบจากความต้องการยางพารา และถุงมือยาง ที่จะชะลอลงลงหลังผ่านวิกฤต COVID-19
o ICT ความต้องการใช้ Data จะลดลงหลังผ่านพ้น COVID-19
o ส่วนกลุ่มอื่นๆ ที่แม้จะให้ผลตอบแทนต่ำกว่า SET Index แต่เป็นผลมาจากหุ้น DELTA ที่ทำให้ SET Index มีผลตอบแทนที่สูงมากผิดปกติ
ในช่วงหลังการเลือกตั้งปี 2559 เป็นช่วงที่ตลาดหุ้นไทยมีเสถียรภาพมากขึ้นหลังผ่านความผันผวนในช่วง 13 ต.ค. ในขณะที่ปัจจัยต่างประเทศในขณะนั้น เป็นช่วงเริ่มต้นของวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น (เดือน ธ.ค. Fed ปรับขึ้นดอกเบี้ยจาก 0.5% เป็น 0.75%) สะท้อนภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่เริ่มมีความแข็งแกร่งขึ้น และ OPEC มีมติลดปริมาณการผลิตน้ำมันเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ปี เมื่อ 30 พ.ย. โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่เคลื่อนไหวโดดเด่นในช่วง 8 พ.ย. – 30 ธ.ค. 2559 ประกอบด้วย
o AGRI ได้อานิสงค์บวกจากราคายางพาราที่ปรับตัวขึ้นแรง
o กลุ่มเชื่อมโยงเศรษฐกิจภายในประเทศ (FIN BANK MEDIA CONS COMM TOURISM) ได้แรงหนุนจากความคาดหวังการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย
o ENERG ได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกด้าน Supply
o หุ้นที่ปรับตัวลง นำโดย ICT (ความผันผวนของ JAS -18.13%, JTS -8.7% และ ADVANC -3.92% INTUCH -6.13% ผิดหวังงบฯ 3Q59)
หุ้นแนะนำ Thematic Picks: AWC GPSC WHA
AWC (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 4.20 บาท)
• คาดกำไรในปี 67-73 เติบโตแข็งแกร่งเฉลี่ย 21% ต่อปี ขณะที่ยังมี Upside ต่อประมาณการในระยะยาว หากลงทุนใน Entertainment Complex และการปรับลดดอกเบี้ยฯ ของ ธปท. ทั้งนี้ทุกๆ 10bps ที่ Effective Interest Expense ปรับลงหนุนต่อประมาณการกำไร AWC เพิ่มขึ้น 2.3%
• ขณะที่ Earnings Momentum เด่น โดยเราคาดกำไรหลัก 3Q67E ที่ 340 ล้านบาท ขยายตัว 170% YoY จาก RevPAR คาดเพิ่มขึ้น 21% YoY (สูงกว่าช่วงก่อนโควิด 24%) จากโรงแรมกลุ่ม MICE โรงแรมในกรุงเทพฯ และรีสอร์ทหรู และขยายตัว 67% QoQ จากกลุ่มสันทนาการ ด้านกำไร 4Q67E คาดเติบโตทั้ง YoY และ QoQ จากการเข้าช่วง High Season
GPSC (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 53.00 บาท)
• คาดว่ากำไรปี 67/68 เติบโตแรงที่ 49% และ 51% โดยการเติบโตปี 67 จะได้รับแรงหนุนจากราคาก๊าซลดลงและส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นซึ่งมาจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ส่วนการเติบโตของกำไรในปี 68 จะได้รับแรงหนุนจากราคาก๊าซลดลงต่อและส่วนแบ่งกำไรเพิ่มขึ้นจากโครงการ CFXD ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ไต้หวัน
• แรงขับเคลื่อนราคาหุ้นในระยะนี้มาจากผลประกอบการ 3Q67E เราคาดจะเติบโตได้ทั้ง QoQ และ YoY จาก high season ของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ขณะที่ในมุม Valuation อยู่บน PER67E 25 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปี -0.72 S.D.
WHA (เป้าหมายเชิงกลยุทธ์ 6.25 บาท)
• เป็นผู้ได้ประโยชน์หลักจากกระแส Relocation ที่ไม่ว่าผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ไม่ว่า คุณทรัมป์หรือคุณแฮริสได้รับเลือกประธานาธิบดี การกีดกัดการค้ากับจีนจะมีอยู่แน่นอน นอกจากนี้ยังได้ประโยชน์จากนโยบายภาครัฐฯ ที่ต้องการดึงดูดการลงทุนเพื่อสร้าง New-S Curve ในธุรกิจเป้าหมาย เช่น กลุ่มเทคโนโลยี Datacenter เป็นต้น
• ด้านแนวโน้มกำไรบริษัทฯอิง Bloomberg Consensus กำไรปี 67/68 ขยายตัว 11%/13% ทำ New High ต่อเนื่อง โดยแรงขับเคลื่อนกำไรมาจากยอดขายที่ดินที่เติบโต และราคาที่ดินที่ยังสามารถปรับสูงขึ้นท่ามกลางอุปสงค์ที่ดินที่เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุปทานที่ดินของนิคมอุตสาหกรรม