Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.ทิสโก้ : Thailand Media ภาพรวมการใช้สื่อโฆษณา 7 เดือนแรก เติบโตดีกว่าตลาดคาด

924

 

Sector note
Thailand Media


ภาพรวมการใช้สื่อโฆษณา 7 เดือนแรก เติบโตดีกว่าตลาดคาด เติบโตในกลุ่มสื่อโฆษณานอกบ้านกลุ่มสื่อโฆษณาออนไลน์ดิจิทัล ในขณะที่สื่อทีวียังลดลงต่อเนื่อง จากการปรับตัวลดลงในช่วงสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่ากลุ่มสื่อโฆษณาอื่น จากเม็ดเงินโฆษณาผ่านทีวียังมีสัดส่วนมากที่สุดในอุตสาหกรรม แนวโน้มครึ่งปีหลังเราคาดจะดีกว่าครึ่งปีแรกในกลุ่มสื่อโฆษณานอกบ้านและออนไลน์ดิจิทัล เรายังคงชอบ PLANB และ ONEE จากการขายธุรกิจสื่อบันเทิงครบวงจร และกลุ่มสื่อภาพยนตร์ MAJOR เราคาดจะกลับมาเติบโตได้ในปีหน้าจากหนัง Holly Wood และหนังไทยเพิ่มขึ้น การปรับโครงสร้างธุรกิจลดต้นทุน หลังจากสถานการณ์ต่างๆ เริ่มกลับมาปกติ สำหรับ VGI มีอัตราการใช้สื่อสื่อโฆษณานอกบ้านปรับตัวดีขึ้น มีการลดค่าใช้จ่ายการตลาด แต่เรายัง “Under review” รอความชัดเจนการปรับโครงสร้างธุรกิจหลังออกหุ้นเพิ่มทุน PP

การใช้จ่ายสื่อโฆษณา 7 เดือนแรกดีกว่าคาด จากกลุ่มสื่อออนไลน์และสื่อนอกบ้านเติบโต

ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาโดยกลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ (MI GROUP) ในฐานะมีเดียเอเยนซีและที่ปรึกษาด้านการตลาดและสื่อสารการตลาด เปิดเผยเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ เติบโต 4.9%YoY ดีกว่าที่คาด จากการถ่ายทอดสด “โอลิมปิก 2024” ที่มีผู้ชมสนใจเกินคาดทำให้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้นจากที่คาดประมาณ 300 ล้านบาท เป็น 500 ล้านบาท จากเรตติ้งผู้ชมกีฬาดีกว่าคาด การขายโฆษณาได้เกิน 80% ของแพคเก็จที่ตั้งไว้ อย่างไรก็ตามหลังจบกีฬาโอลิมปิกคาดจะกลับมาสู่สถานการณ์ซบเซาอีกครั้ง จากเศรษฐกิจและกำลังซื้อตกต่ำทำให้แบรนด์จำกัดงบโฆษณาค่อนข้างมาก ปัจจัยบวกอย่างหนึ่งที่อาจจะช่วยกู้สถานการณ์ได้บ้างคือโครงการ “ดิจิทัล วอลเล็ต” ของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มให้ประชาชนใช้จ่ายจริงในเดือนธันวาคมนี้ ทำให้ 1 เดือนสุดท้ายของปีอาจจะเห็นการโฆษณาที่คึกคักขึ้นได้โดยกลุ่มออนไลน์และสื่อโฆษณานอกบ้านเติบโต แต่ทีวียังหดตัวต่อเนื่อง ขณะที่สื่อดิจิทัลมุ่งไปกับอินฟลูเอนเซอร์เพิ่มขึ้นเท่าตัว จากการเน้นการตัดสินใจเป็นยอดขายทันทีมากกว่ารับรู้แบรนด์

คาดผลประกอบ 2H24F สื่อโฆษณาออนไลน์และสื่อนอกบ้านยังเติบโต

เราคาดแนวโน้มผลประกอบการ 2H24F ของหุ้นกลุ่มมีเดียที่เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรกได้แก่ กลุ่มสื่อโฆษณานอกบ้าน PLANB จากอัตราการใช้สื่อโฆษณานอกบ้านเพิ่มขึ้นและการรับรู้รายได้กีฬาโอลิมปิกใน 3Q24F และคาดดีต่อเนื่องใน 4Q24F จากการขยายพื้นที่สื่อและการปรับราคาขาย ONEE จากรายได้สื่อโฆษณาดีขึ้นจากคอนเทนท์ที่มีเรตตั้งดี รายได้รับจ้างผลิตคอนเทนท์ งานคอนเสิร์ตและอีเว้นท์ใหญ่ในช่วง 3Q24F และ 4Q24F รวมถึงงานบริหารศิลปินที่เพิ่มขึ้น MAJOR 3Q24F คาดเพิ่มขึ้น YoY จากรายได้ภาพยนตร์ไทยที่ติดตลาดปัจจุบันได้แก่ เรื่อง “วิมานหนาม” อาจจะต้องลุ้นหนังไทยที่เหลือของปีนี้ แต่ QoQ ต้องลุ้นหนังไทยที่เหลือ และหนังใหม่หลายเรื่องเข้า 4Q24F VGI เราคาดพลิกเป็นกำไรจากสื่อโฆษณานอกบ้านดีขึ้นและการลดค่าใช้จ่าย

 

อุตสาหกรรมสื่อโฆษณาคาดปี 2024F เพิ่มขึ้น 3.3% YoY จากสื่อออนไลน์และสื่อโฆษณานอกบ้านเป็นหลัก

ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาโดยกลุ่มบริษัท มีเดีย อินเทลลิเจนซ์ (MI GROUP) ในฐานะมีเดียเอเยนซีและที่ปรึกษาด้านการตลาดและสื่อสารการตลาด คาดเม็ดเงินอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาปี 2024F จะมีมูลค่า 87,617 ล้านบาท เติบโต 3.3%YoY ซึ่งคาดว่าจะต่ำกว่าปี 2023 ที่เติบโต 4.4%YoY การเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีที่ถูกประเมิน 3.2%-4.2% โดยมีปัจจัยลบจากเงินเฟ้อและค่าครองชีพ ขณะที่ปัจจัยบวกคาดจะมาจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว เอกชนขับเคลื่อนการลงทุน ภาครัฐมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเงินดิจิทัล 10,000 บาท ที่จะเข้ามา 1 เดือนในช่วงปลายปีนี้ สำหรับกลุ่มสินค้าที่ลดงบประมาณการใช้จ่ายโฆษณาได้แก่กลุ่ม High-Involvement เช่น รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ หรือสินค้า Low-Involvement เช่น สบู่ แชมพู ต่างชะลอตัว มีเพียง 3 หมวดสินค้าที่ยังใช้งบโฆษณาสูงกว่าตลาด ได้แก่ สกินแคร์ รถยนต์ และ เครื่องดื่ม เป็นต้น

กลุ่มสื่อโฆษณาทีวีลดลงต่อเนื่อง จากความนิยมการเสพสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การลงโฆษณาในโทรทัศน์ปัจจุบันสินค้าจะไม่เลือกกระจายลงทุกช่องอีกต่อไปแล้ว แต่จะมีการเลือกมาอย่างมาก 5 ช่องที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้ชมตรงกับตัวสินค้ามากที่สุดเท่านั้น รวมถึงราคาแม้เรตการ์ดจะยังไม่ปรับลงคือ ช่วงไพรม์ไทม์ของโทรทัศน์เวลา 18:00-22:30 น. ซึ่งเป็นช่วงละคร จะยังตั้งเรตการ์ดที่นาทีละ 400,000 บาท แต่จะมีโปรโมชันเพื่อจูงใจลูกค้า เช่น ซื้อช่วงละครแถมช่วงข่าวเช้า เป็นต้น เห็นได้ว่าสื่อทีวีต้องปรับตัวสูงมากในสถานการณ์นี้เพราะเม็ดเงินโฆษณามีน้อยลง แต่จำนวนช่องมีมาก และยังต้องแข่งกับช่องทางออนไลน์อีกด้วย

กลุ่มสื่อโฆษณาดิจิทัลออนไลน์และกลุ่มสื่อโฆษณานอกบ้านเติบโต การยิงโฆษณาหรือเพิ่มโพสต์ใน Facebook, Instagram รวมถึง “YouTube” จะลดลง แต่ที่มาแรงแทนที่คือ “TikTok”” ตามเทรนด์คนไทยหันมาใช้กันมากขึ้นทั้งชมคอนเทนต์และช้อปปิ้งในตัว อีกช่องทางหนึ่งที่มาแรงมากคือ “อินฟลูเอนเซอร์” ซึ่งปีนี้เม็ดเงินที่ซื้อทำคอนเทนต์โฆษณากับอินฟลูฯ น่าจะพุ่ง ‘เท่าตัว’ เป็น 8,000 ล้านบาท ไม่รวมการทำ Affiliate Marketing หรือ ‘ติดตะกร้า’ ของอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งยังไม่สามารถเก็บสถิติได้ว่าสร้างเม็ดเงินจากค่าคอมมิชชันอีกเท่าไหร่ ตอนนี้งบสื่อโฆษณาดิจิทัลในแต่ละแคมเปญ จาก 100% ถูกแบ่งให้ช่องทางซื้ออินฟลูเอนเซอร์แล้วประมาณ 25-30% ขึ้นกับประเภทสินค้า สำหรับสื่อโฆษณานอกบ้าน (Out of Home: OOH) หลังจากหดตัวไปในช่วงโควิด-19 ปัจจุบันกลับมาเติบโตเพราะผู้บริโภคกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านกันอย่างเต็มที่

 

 


หุ้นในกลุ่มมีเดียที่มีแนวโน้มเติบโต เราแนะนำลงทุน ONEE, PLANB และ MAJOR

เราชอบหุ้นในกลุ่มมีเดียได้แก่ ONEE, PLANB และ MAJOR โดยกลุ่มสื่อบันเทิงครบวงจรคือ ONEE ที่เป็นบริษัท content creator มีโครงสร้างธุรกิจหลัก ๆ มาจากทีวีประมาณ 44% และกลุ่มอื่นๆ สัดส่วน 56% ที่มาจากการขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ การผลิตคอนเทนต์ให้ OTT platform งานอีเว้นท์ การบริหารศิลปิน และเราชอบ PLANB จากการบริหารสื่อโฆษณานอกบ้านที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง และการกระจายธุรกิจเข้าสู่การบริหารตลาดมากขึ้น (marketing engagement) จากกีฬาฟุตบอล มวย การบริหารศิลปินนักร้อง เป็นต้น สำหรับ MAJOR เรายังมองเห็นโอกาสการเติบโตจากภาพยนตร์ไทยที่ขยายตลาดต่างจังหวัดเข้าถึงกลุ่มคนดูต่างจังหวัดได้เพิ่มขึ้นและปีหน้าหนัง Holly Wood ที่เพิ่มเข้ามามากขึ้น สำหรับ VGI แนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังเริ่มดีขึ้นจากสื่อโฆษณานอกบ้านเริ่มดีขึ้น การลดค่าใช้จ่ายการตลาดลง การไม่ต้องรับรู้ขาดทุนจากบริษัทร่วมทุน KEX แต่เรา “Under Review” เนื่องจากรอความชัดเจนการปรับโครงสร้างธุรกิจหลังจากบริษัทเพิ่มทุน PP มูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อทำธุรกิจใหม่ Virtual Bank ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนจากการต้องขออนุญาตประมูลโครงการจากภาครัฐฯ และการต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีแผนขยายธุรกิจ “Entertainment complex” หากภาครัฐฯเปิดเสรี

ONEE : ผลประกอบการเริ่มดีขึ้นต่อเนื่องจากงานอีเว้นท์และคอนเสิร์ต แนวโน้ม 2H24F เติบโตมากกว่า 1H24

บริษัทเป็น content creator ที่ไม่ได้พึ่งเพียงทีวีเท่านั้น สร้างรายได้หลายช่องทางในกลุ่มมีเดียแบบครบวงจรช่วยทดแทนกับสื่อโฆษณาผ่านทีวีที่ลดลง จากปัญหาภาพรวมเศรษฐกิจโลกและไทยชะลอตัวกระทบต่อสื่อโฆษณาโดยเฉพาะทีวี

แนวโน้มครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกจากคอนเทนท์ที่มีคุณภาพมากและงานอีเว้นท์ที่มีมากขึ้น

ภาพรวม 2H24F เพิ่มขึ้นมากกว่าครึ่งปีแรกจากไลน์อัพละครคอนเทนต์ที่มีต่อเนื่องทุกไตรมาสจับกลุ่มผู้ชมหลายกลุ่ม โดยละครช่วง 1 ทุ่ม – 2 ทุ่ม มีเรตติ้งเป็นอันดับ 1 ได้แก่ เรื่อง “นักตบบ้านโคกปัง”, “ทองประกายแสด” และช่อง GMM25 ยังมีซีรีย์กลุ่มวัยรุ่น “My Love Mix-up เขียนรักด้วยยางลบ” โดยในครึ่งปีหลังยงมีอีกหลายเรื่องได้แก่ “Pluto นิทาน ดวงดาว ความรัก” เป็นซีรีย์ girl love, “แม่หยัว” นำแสดงโดย “ใหม่ ดาวิกา”, “การุณยฆาต” นำแสดงโดย “ต่อ ธนภาพ” และ “เจเจ กฤษณภูมิ” และยังมีงานอีเว้นท์และคอนเสริ์ตได้แก่ “The Golden Show Concert 2024”, “2024 Starlympic” สำหรับงานคอนเสริ์ต “Gemini Fourth RUN the World” และ “LYKN Unleashed Concert” ยอดขายบัตร SOLD Out แล้ว สำหรับงานรับจ้างผลิตคอนเทนท์ให้กับ Netflix ได้แก่ “อังคารคลุมโปง” และ “ดอกเตอร์ ไคลแมกซ์”

การใช้คอนเทนต์ที่นิยมไปเพิ่ม onground และเพิ่มการ tyin เพื่อตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น เรายังคงประมาณการเดิม คาดรายได้โฆษณาผ่านทีวีเพิ่มขึ้นปีละ 2% จากการทำคอนเทนต์ใหม่ๆ ขยายสื่อโฆษณาทีวี และการขายคอนเทนต์ไปต่างประเทศรวมถึงการขายลิขสิทธิ์ OTT platform และรายได้การบริหารศิลปินและงานอีเว้นท์ที่จะตามมามีจำนวนเพิ่มขึ้นคาดปีละ 10% เราคาดอัตรามาร์จิ้นปี 2024F ใกล้เคียงเดิม และปี 2025F เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากต้นทุนการผลิตคอนเทนต์และงานบริหาร ศิลปินที่เพิ่มขึ้น และคาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการโปรโมท application OneD ที่เพิ่มขึ้น

บริษัทมองหาโอกาสการแผนการเข้าลงทุน ร่วมทุน หรือซื้อกิจการ (M&A) โดยปัจจุบันบริษัทมีกระแสเงินสดในมือกว่า 1,400 ล้านบาท โดยวางแผนงบสำหรับการลงทุนในการผลิตคอนเทนต์ การพัฒนาศักยภาพคอนเทนต์ และการลงทุนเข้าซื้อกิจการหรือร่วมทุน โดยอาจจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจบริษัท หรือสามารถใช้ synergy กับธุรกิจของบริษัทได้ ซึ่งในปี 2024 นี้มีหลายโครงการที่กำลังศึกษาอยู่

เราแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 5.20 บาท อ้างอิงวิธี DCF (WACC 8%,T-growth 1%) ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PER24F อยู่ที่ 17.3X ต่ำกว่ากลุ่มมีเดียที่เฉลี่ย 23.4X, คาด Dividend Yield 24F อยู่ที่ 4.9% มากกว่ากลุ่มสื่อมีเดียที่คาด 2.9% ความเสี่ยง : ภาพรวมเศรษฐกิจส่งผลต่อการใช้จ่ายสื่อโฆษณา

PLANB : ผลประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณานอกบ้านที่เติบโต

ภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาคาดสื่อโฆษณานอกบ้านปี 2024F คาดเติบโต 10% โดย 7 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ก.ค.24) มีมูลค่า 7,482 ล้านบาท (+10% YoY) โดยสื่อโฆษณานอกบ้านของ PLANB มีแนวโน้มเติบโตมากกว่าอุตสาหกรรม จากรายได้ช่วง 6 เดือน เพิ่มขึ้น +14%YoY และเดือน ก.ค.24 มีอัตราการใช้สื่อโฆษณา 76% เราคาด 3Q24F อัตราการใช้สื่อโฆษณา 76% เพิ่มขึ้นเทียบกับปีที่ผ่านมา 73% โดยปี 2024F บริษัทมี media capacity รองรับรายได้ 9.5 พันล้านบาท/ปี เพิ่มขึ้นจากการปรับอัตราค่าโฆษณาเพิ่มขึ้น 5% จากจุด prime location ด้านรายได้ธุรกิจ Engagement Marketing ปี 2024F เพิ่มขึ้นตามรายได้ธุรกิจ sport marketing กีฬาฟุตบอล และ sponsorship จากกีฬาโอลิมปิก ปารีส 2024 ที่รับรู้รายได้ทั้งปีประมาณ 530 ล้านบาท และรายได้จากการจัดกีฬามวยเพิ่มขึ้นจากจำนวนกิจกรรมที่จัดเพิ่มขึ้นและจำนวนวันเพิ่มขึ้น รวมถึงรายได้บริหารศิลปิน BNK48 จากจัดกิจกรรมเริ่มกลับมา

แนวโน้มผลประกอบการ 3Q24F คาดเพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ, สื่อโฆษณานอกบ้านปีนี้เติบโต

ผลประกอบการ 1H24 คิดเป็น 44% ของกำไรทั้งปี เราคาดครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรกจากกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นและสื่อโฆษณานอกบ้านที่เติบโตตามภาพรวมอุตสาหกรรม เราคาดผลประกอบการผล 3Q24F เพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ และต่อเนื่องถึงสิ้นปี จากคาดรายได้สื่อโฆษณานอกบ้านเติบโต YoY และใกล้เคียง QoQ จากการเพิ่มสื่อใหม่และอัตราการใช้สื่อโฆษณาเพิ่มขึ้นคาดอยุ่ที่ 76% จาก 73% YoY แต่ใกล้เคียง QoQ และการปรับขึ้นราคาสื่อโฆษณาในสนามบินประมาณ 5% และรายได้กิจกรรม engagement marketing เพิ่มขึ้นทั้ง YoY และ QoQ จากการรับรู้รายได้สปอนเซอร์กีฬาโอลิมปิกประมาณ 420 ล้านบาท (คาดอัตรากำไรสุทธิส่วนกีฬาโอลิมปิก 3-5%) คาดรายได้กีฬามวยเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมที่เพิ่มขึ้น และกีฬาฟุตบอล sponsorship และ BNK คาดทรงตัว เรายังคงประมาณการเดิม คาดกำไรปี 2024F ที่ 1,024 ล้านบาท (+12%YoY) คาดรายได้ธุรกิจสื่อนอกบ้านคาดอัตราการใช้สื่ออยู่ที่ 75% จากการสื่อโฆษณานอกบ้านเริ่มกลับมา จากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ และการท่องเที่ยวฟื้นตัว ด้านรายได้ธุรกิจ Engagement Marketing เพิ่มขึ้น ตามรายได้ธุรกิจ sport marketing กีฬาฟุตบอล กีฬามวย และ sponsorship

เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” จากสื่อโฆษณานอกบ้านเติบโตโดดเด่นและธุรกิจ engagement marketing สร้างธุรกิจหลากหลายต่อยอดสื่อโฆษณานอกบ้าน ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 10.7 บาท (อ้างอิงวิธี DCF, WACC 9%) ราคาหุ้นปัจจุบันมี PER24F ที่ 36X คาด Div.Yield 24F ที่ 1.3% สถานะการเงินแข็งแกร่งเป็นเงินสดสุทธิ ความเสี่ยง : ภาพรวมเศรษฐกิจชะลอตัว


MAJOR : คาดแนวโน้มผลประกอบการครึ่งปีหลังจะดีกว่าครึ่งปีแรก จากหนังไทยและต่างประเทศหลายเรื่องเข้าฉาย คาดกำไรสุทธิ 3Q24F เพิ่มขึ้น YoY จากรายได้หนังไทยทำเงิน

เราคาด MAJOR จะมีกำไรสุทธิ 3Q24F เติบโต YoY แต่ QoQ ต้องลุ้นหนังไทยที่จะเข้าฉายในช่วงเวลาที่เหลือในไตรมาสนี้ โดยใน 3Q24 มีหนังไทยพร้อมฉาย 14 เรื่อง สำหรับรายได้ตั๋วหนัง (ก.ค.- 8 ก.ย.) ที่ทำเงิน 5 อันดับแรก รับรู้รายได้รวมเฉลี่ย 334 ล้านบาท ได้แก่ “Deadpool” 178 ล้านบาท, “วิมานหนาม” 80 ล้านบาท, “Despicable me” 34 ล้านบาท, “Alien” 26 ล้านบาท และ “เทอม 3” 18 ล้านบาท และยังมีหนังที่รอฉายอีกหลายเรื่อง “ตาคลีเจเนซิสส” เข้าฉาย 12 ก.ย.24, “ศึกค้างคาวกินกล้วย” M-Studio ร่วมกับ Workpoint เข้าฉาย 19 ก.ย.24 และ “หลวงพี่เท่ง” เข้าฉาย 26 ก.ย.24 หากเทียบกับรายได้ตั๋วหนัง 5 อันดับแรกใน 3Q23 อยู่ที่ 331 ล้านบาท (Mission Impossible, Oppenheimer, MEG และ Haunted Universities) และเทียบกับ 2Q24 ที่ทำรายได้ 549 ล้านบาท (หลานม่า, อรงค์, Godzilla, เทอม 3, Inside Out) สำหรับรายได้อาหารทานเล่น (Popcorn) ช่วง 2 เดือนรับรู้รายได้ประมาณ 270 ล้านบาท ใกล้เคียงกับปีทีผ่านมา เราคาดแนวโน้มผลประกอบการ 4Q24F จะดีขึ้น จากหนังไทยหลายเรื่องที่เข้าฉายประมาณ 20 เรื่อง และเป็นหนังไทยที่ M-Studio ร่วมกับพาร์ทเนอร์ 4 เรื่อง ได้แก่ “ธี่หยด 2” ร่วมกับช่อง 3 , “หมู่บ้านโคกะโหลก” และ วัยเป้ง ร่วมกับ MONO, “คุณชาย” ร่วมกับ Workpoint

กลยุทธ์ธุรกิจการจำหน่ายอาหารทานเล่น Popcorn (2Q24 สัดส่วนรายได้คิดเป็น 26% ของรายได้รวม) บริษัทคาดหวังสัดส่วนรายได้ธุรกิจการจำหน่ายอาหาร Popcorn เทียบกับรายได้ตั๋วหนัง เป็นสัดส่วน 60-70% จากปัจจุบัน 50% มีการปรับแผนธุรกิจ 1) การนำเครื่องจำหน่ายอาหารทานเล่นบริการตัวเอง (Self-Ordering Kiosk : SOK) ช่วยลดจำนวนพนักงานได้ประมาณ 40% จากปัจจุบันมีกว่า 800 คน ช่วยลดต้นทุนพนักงานได้ประมาณปีละ 40-50 ล้านบาท และมีพนักงานรับออเดอร์หน้าโรงช่วยเพิ่มยอดขายได้ 5-7% จากความสะดวกและรวดเร็ว ลดการใช้จ่ายผ่านเงินสด โดยในเบื้องต้นบริษัทจะเริ่มติดตั้ง 100 เครื่อง (30 สาขา) ในเดือน ส.ค.24 นี้ 2) ตั้งเป้ายอดขาย delivery 30-40 ล้านบาท/เดือน จากปัจจุบันที่ขาย 20 ล้านบาท/เดือน ทั้งนี้ขึ้นกับสาขาที่ต้องขยายพื้นที่เปิดให้บริการ 3) ร้านสะดวกซื้อ 7-11 ยอดขาย 5 แสนซอง/เดือน (หรือ 14 ล้านบาท/เดือน) บริษัทอยากเห็นยอดขาย 1 ล้านซอง/เดือน (28 ล้านบาท/เดือน) บริษัทมองเรื่องการทำผลิตเองแทนการจ้างภายนอกผลิต ช่วยเพิ่มปริมาณและลดต้นทุนได้ในอนาคต 4) การจำหน่ายผ่าน Kiosk ปัจจุบันมี 20 จุด รายได้เดือนละ 1 ล้านบาท บริษัทอยากเติบโต 40-50 จุดจำหน่าย

แนวโน้มผลประกอบการปี 2025F คาดเพิ่มขึ้นจากปี 2024F

เราคาดผลประกอบการปีหน้าจะเติบโตจากปีนี้ จากหนังใหญ่ Box buster movie หลายเรื่องที่จะเข้าตาม movie lineup เปิดตัวหนัง adventure 2 ภาค ได้แก่ Captain America, Thunderbolts และเรื่อง Avatar 3, the Fantastic 4, Jurassic World, Mission: Impossible, Fast X 2, Superman และ Snow White บริษัทคาดรายได้จากหนัง Holly wood กลับมาจำหน่ายได้ 20 ล้านใบ (ยอดจำหน่ายตั๋วหนัง holly wood ปี 2019 ที่ 28 ล้านใบ และปี 2023 ลดลงมาที่ 13 ล้านใบ) และหนังไทยคาดเพิ่มขึ้นเป็น 20 ล้านใบ (ยอดจำหน่ายตั๋วหนังไทยปี 2019 ที่ 8 ล้านใบ และปี 2023 เพิ่มขึ้นมาที่ 15 ล้านใบ) โดยจะมีหนังไทยไม่ต่ำกว่า 50 เรื่อง การร่วมกับพาร์ทเนอร์ผลิตหนังไทยของ M-Studioได้แก่ ช่อง 3, Workpoint, Mono, Planb และช่อง 7 และมีหนังไทยที่เป็นนิยมเปิดภาคต่อได้แก่ ธี่หยดภาค 3, อนงค์, สเลดเป็ด, นาคีย์ภาค 3, อีเรียมซิ่ง มีหนัง local กลุ่มภาคเหนือและภาคใต้ (เหมยภาค 2) บริษัทมีแผนขยายโรงหนังปีละ 50 โรงต่อปี โดยเน้นเปิดสาขาต่างจังหวัด BigC, Lotus ขยายตลาดหนังไทย

เรายังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายอยู่ที่ 20.50 บาท (อ้างอิงวิธี DCF, WACC 8%) ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PER24F ที่ 16.5X สถานะการเงินแข็งแกร่งเป็น net cash คาด Dividend Yield’24F ที่ 2.5% ความเสี่ยง : เศรษฐกิจซบเซา, พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป

 

VGI : แนวโน้มผลประกอบการทั้งปีค่อนข้างท้าทายจากการปรับโครงสร้างธุรกิจ

แนวโน้มผลประกอบการจากการดำเนินงาน 2Q24/25F (ก.ค.-ก.ย.) คาดผลประกอบการดีขึ้นจากรายได้สื่อโฆษณานอกบ้านเริ่มกลับมาอัตราการใช้สื่อโฆษณาคาดประมาณ 50% เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาเฉลี่ย 47% การลดค่าใช้จ่ายการตลาดและโฆษณาประมาณ 60 ล้านบาท (เทียบกับไตรมาสที่ผ่านมาลดลง 90 ล้านบาท) สำหรับธุรกิจ Digital Services คาดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากดอกเบี้ยรับที่เพิ่มขึ้นตามการปล่อยสินเชื่อ Rcash ด้านธุรกิจค้าปลีกรายได้ของ Super Turtle เพิ่มขึ้นจากการขยายสาขา ไตรมาสที่ผ่านมามีทั้งสิ้น 23 สาขา แต่จะหักกลบกับธุรกิจ Fanslink ที่เน้นพัฒนาขายสินค้าแบรนด์ตนเองเพิ่มขึ้นซึ่งอัตราทำกำไรสูงกว่า อัตรากำไรขั้นต้นคาดเพิ่มขึ้นตามรายได้สื่อโฆษณานอกบ้านเพิ่มขึ้นและธุรกิจ Retail ที่มีมาร์จิ้นเพิ่มขึ้นของกลุ่ม Franslink เป็นหลัก และคาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการทำการตลาดธุรกิจ และการทำโปรโปรโมชั่นของธุรกิจ Digital และ Retail เพิ่มขึ้น การขยายสาขา Super Turtle คาดยังมีผลขาดทุนซึ่งคาดจะถึงจุดคุ้มในอีก 3-4 ปี โดยปีนี้คาดเปิดครบเป็น 46 สาขา คาดบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมทุนหลังจากไม่มี KEX

เรา “Under Review” เนื่องจากรอความชัดเจนการปรับโครงสร้างธุรกิจหลังจากบริษัทเพิ่มทุน PP มูลค่ากว่า 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อทำธุรกิจใหม่ Virtual Bank ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนจากการต้องขออนุญาติประมูลโครงการจากภาครัฐฯ และการต่อยอดธุรกิจเดิมที่มีแผนขยายธุรกิจ “Entertainment complex” หากภาครัฐฯเปิดเสรี

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้