สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 6 กันยายน 2567)---คณะกรรมการ ก.ล.ต. มีมติให้ บริษัท บิทาซซ่า จำกัด (Bitazza) แก้ไขการดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ได้แก่ ระบบเปิดบัญชีและทำความรู้จักลูกค้า ระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าประเภทเงินบาท การประกอบกิจการอื่น และมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (COI) และการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท โดยให้รายงานการแก้ไขต่อ ก.ล.ต. ภายในวันที่ 24 กันยายน 2567 เพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ลงทุน ซึ่งเป็นไปตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนดตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
จากการที่ ก.ล.ต. ได้ติดตามและตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท Bitazza พบว่า บริษัทมีข้อบกพร่องอย่างมากในระบบงานที่สำคัญในการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะระบบเปิดบัญชีและทำความรู้จักลูกค้า จนทำให้บริษัทไม่สามารถทำความรู้จักและระบุตัวตนที่แท้จริงของลูกค้าหรือผู้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งความบกพร่องนี้อาจนำไปสู่การฟอกเงินและการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย นอกจากนี้ บริษัทยังมีความบกพร่องในระบบการดูแลรักษาทรัพย์สินของลูกค้าประเภทเงินบาท การประกอบกิจการอื่น การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์และการเข้าถึงข้อมูลของบริษัท ซึ่งเป็นระบบงานที่สำคัญและหากไม่แก้ไขการดำเนินงานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ลูกค้าได้
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ในการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 อาศัยอำนาจตามมาตรา 35 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีมติให้บริษัทแก้ไขการดำเนินงาน ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 24 กันยายน 2567 โดยให้แก้ไขในเรื่องดังต่อไปนี้
(1) แก้ไขระบบเปิดบัญชีและทำความรู้จักลูกค้า การประเมินความเหมาะสมในการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลของลูกค้า การทบทวนปรับปรุงข้อมูลลูกค้าให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงแก้ไขกรณีการเปิดเผยข้อมูลให้กับลูกค้า โดยต้องดำเนินการให้ลูกค้าทราบเรื่องการสมัครใช้บริการอย่างครบถ้วนถูกต้อง
(2) แก้ไขระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินของบริษัท โดยดำเนินการให้บริษัทมีการเก็บรักษาทรัพย์สินของลูกค้าประเภทเงินบาทแยกออกจากทรัพย์สินของบริษัท และจัดให้มีระบบงานการรับฝากและถอนทรัพย์สินที่เป็นเงินที่มีประสิทธิภาพ
(3) หยุดการประกอบกิจการอื่นและแก้ไขให้เป็นไปตามที่ประกาศกำหนด โดยพบว่าบริษัทได้ประกอบกิจการอื่นที่อาจมีลักษณะก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ได้ รวมถึงเป็นกิจการที่มีความเสี่ยงต่อทรัพย์สินของลูกค้า ซึ่งบริษัทจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งปรากฏว่าบริษัทไม่ได้ดำเนินการขออนุญาต
(4) แก้ไขในเรื่องมาตรการป้องกันความขัดแย้งทางผลประโยชน์ และการควบคุมการเข้าถึงข้อมูลของบริษัทให้เป็นไปอย่างเหมาะสม
นายเอนก อยู่ยืน รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า "ตามกระบวนการทางกฎหมายที่กำหนด หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรา 35 แห่ง พ.ร.ก. สินทรัพย์ดิจิทัลฯ อาจนำไปสู่กระบวนการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาต"
ทั้งนี้ ก.ล.ต. ให้ความสำคัญในการติดตามการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ประกอบธุรกิจได้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับลูกค้า Bitazza สามารถติดต่อศูนย์บริการลูกค้าของบริษัท และสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลได้ที่ "ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและแจ้งเบาะแส" โทร. 1207 กด 8 หรืออีเมล info@sec.or.th หรือ เฟซบุ๊กเพจ "สำนักงาน กลต." หรือ SEC Live Chat ที่เว็บไซต์ ก.ล.ต. www.sec.or.th
______________________
หมายเหตุ :
ประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
- ประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่ กธ. 19/2561 เรื่อง หลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ลงวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2561
- พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561
มาตรา 35 เมื่อปรากฏว่าผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลมีฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน หรือฝ่าฝืนหรือละเลยไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และ เงื่อนไขที่กำหนด คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งให้แก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด
หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ดำเนินการตามวรรคหนึ่ง คณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลระงับการดำเนินงานทั้งหมดหรือแต่บางส่วนเป็นการชั่วคราวภายในระยะเวลาที่กำหนดเพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง ในการนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. จะกำหนดเงื่อนไขใด ๆ ให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลปฏิบัติเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขฐานะทางการเงินหรือการดำเนินงานของผู้ประกอบธุรกิจนั้นด้วยก็ได้
หากผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลยังคงฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามวรรคสอง หรือกระทำความผิดซ้ำอีก รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจพิจารณาเพิกถอนการอนุญาต ในการนี้ รัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ก.ล.ต. อาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ถูกเพิกถอนการอนุญาตนั้นต้องปฏิบัติอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของลูกค้าก่อนก็ได้