Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์ประกาศนำอันดับเครดิตของ SCCC เข้าสู่เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา

936

 

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(23 สิงหาคม 2567)---บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศนำอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC ที่ ‘A(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ‘F1(tha)’ เข้าสู่เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา (Rating Watch Evolving)

 

การประกาศนำอันดับเครดิตของ SCCC เข้าสู่เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา เกิดขึ้นเนื่องจาก บริษัท ซันไรส์ อีคิวตี้ จำกัด (Sunrise) เข้าซื้อหุ้น SCCC จำนวนร้อยละ 25.5 จาก Jardine Cycle & Carriage Limited ส่งผลให้ Sunrise กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่มีอํานาจควบคุมใน SCCC จากสัดส่วนการถือหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 61.8 

 

เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณา สะท้อนถึงความไม่แน่นอนของผลกระทบ จากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ SCCC ต่ออันดับเครดิตของ SCCC ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตของ SCCC ในอนาคตขึ้นอยู่กับการพิจารณาสถานะทางเครดิตของ Sunrise หรือบริษัทแม่ขั้นสูงสุด รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่กับ SCCC ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว ซึ่งในปัจจุบัน ฟิทช์ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอเพื่อใช้ในการพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับโครงสร้างเงินทุน กลยุทธ์ และนโยบายทางการเงินของ SCCC หลังจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ SCCC โดยในปัจจุบัน อันดับเครดิตของ SCCC สะท้อนถึงสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ที่ ‘a(tha)’

 

ฟิทช์คาดว่าจะนำอันดับเครดิตออกจากเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาได้ เมื่อฟิทช์มีข้อมูลเพียงพอในการพิจารณาสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่ สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ และความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่กับ SCCC

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

 

การเปลี่ยนแปลงอันดับเครดิตที่อาจเกิดขึ้น: ฟิทช์จะใช้หลักเกณฑ์การจัดอันดับของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูกในการประเมินอันดับเครดิตของ SCCC ซึ่งรวมถึงการพิจารณาความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่กับ SCCC ตามหลักเกณฑ์ดังกล่าว การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCCC อาจเกิดขึ้นหากฟิทช์มองว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่มีความแข็งแกร่งกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC และบริษัทแม่มีแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ SCCC ในระดับปานกลาง หรือสูง ในกรณีนี้การจัดอันดับเครดิตของ SCCC จะอยู่ในรูปแบบ top-down หรือ bottom-up ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCCC

 

ในทางกลับกัน หากฟิทช์ประเมินว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่อ่อนแอกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC และกลไกการป้องกันทางกฎหมาย (Legal Ring-fencing) อยู่ในระดับกึ่งเปิด (Porous) หรือเปิด (Open) อันดับเครดิตของ SCCC จะถูกจำกัดที่สถานะทางเครดิตของกลุ่มบริษัทแม่ หรืออาจสูงกว่าได้ไม่เกินสองอันดับ ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของ SCCC ฟิทช์อาจประกาศคงอันดับเครดิต หากฟิทช์พิจารณาว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่ เท่ากับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC หรือการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูกตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิต ส่งผลให้อันดับเครดิตของ SCCC เท่ากับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ

 

โครงสร้างเงินทุน และนโยบายทางการเงิน: เครดิตพินิจภายใต้การพิจารณายังสะท้อนถึงความไม่แน่นอนของการเปลี่ยนแปลงของสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC เนื่องจากฟิทช์ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกลยุทธ์ นโยบายทางการเงิน และอัตราส่วนหนี้สินของ SCCC ในอนาคต ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ฟิทช์อาจปรับลดสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC หากอัตราส่วนหนี้สินของ SCCC ภายใต้โครงสร้างเงินทุนใหม่ อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อเทียบกับระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ในทางกลับกัน สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC อาจไม่เปลี่ยนแปลง หากสถานะทางธุรกิจและอัตราส่วนหนี้สินโดยรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก เมื่อพิจารณาเทียบกับประมาณการเดิมของฟิทช์

 

ความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมอยู่ในระดับต่ำ: ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต (Rating Headroom) ของบริษัทฯ ภายใต้โครงสร้างเงินทุนปัจจุบัน จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง2-3ปีข้างหน้า ในขณะที่กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป   ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (หลังรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมและหักเงินปันผลจ่ายแก่ผู้ถือหุ้นส่วนน้อย) หรือ EBITDA net leverage ของ SCCC จะคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 2.1-2.2 เท่า ในปี 2567-2569 (ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 อยู่ที่ 1.7 เท่า) เมื่อเทียบกับระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิตที่ 2.3 เท่า ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งรวมถึงการชะลอการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต หรือการลดการจ่ายเงินปันผล ถ้าอุปสงค์ของปูนซีเมนต์ไม่ฟื้นตัวตามที่บริษัทฯคาด

 

สถานะทางการตลาดและการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์: สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC สะท้อนถึงความสามารถในรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดและมีการแข่งขันภายที่รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า   นอกจากนี้ SCCC ยังเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามตอนใต้ ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่มากขึ้น  รายได้จากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 35 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2566

 

 

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

SCCC มีสถานะทางธุรกิจอ่อนแอกว่า บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจาก SCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และทางธุรกิจที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้อันดับเครดิตของ SCC และ SCCC อยู่ในระดับเดียวกัน

 

SCCC มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกับสถานะเครดิตของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’  แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน แต่มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A+(tha)’/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย 

 

SCCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรขาลงทางเศรษฐกิจมากกว่า SCGP และ GPSC เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์   SCGP ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ความต้องการซื้อจากลูกค้ามีความสม่ำเสมอมากกว่า และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้มากกว่า SCCC ดังนั้น SCGP จึงสามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ได้ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน   GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่า SCCC มาก หลังจากการลงทุนเข้าซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCCC ที่ 1 อันดับ นอกจากนี้ แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ GPSC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่จะอยู่สูงเกินกว่าที่คาด

 

SCCC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ)  ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ในเชิงรายได้ และEBITDA  EPG มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า แต่ถูกลดทอนโดย สถานะผู้นำตลาดในธุรกิจปูนซีเมนต์ในประเทศไทย ศรีลังกา และเวียดนาม  ของ SCCC  SCCC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า EPG แต่ด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า ทำให้ SCCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า EPG อยู่หนึ่งอันดับ        

 

สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

-               รายได้ลดลงร้อยละ 5 ในปี 2567เนื่องจากความต้องการและราคาขายปูนซีเมนต์ที่อ่อนแอ; รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี ในปี 2568-2569

-               อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA  Margin) เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15-16 ต่อปี ในปี 2567-2568 (ปี 2566 ร้อยละ 14) โดยได้รับการสนับสนุนจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวลดลง และมาตรการการลดต้นทุนต่างๆ

-               ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนรวม 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2567-2569

-               อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับร้อยละ 75-80

 

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก:

-               ฟิทช์อาจปรับเพิ่มอันดับเครดิตของ SCCC หากฟิทช์ประเมินว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่มีความแข็งแกร่งกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC และบริษัทแม่มีแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ SCCC  อย่างน้อยในระดับปานกลาง

-               ฟิทช์อาจนำอันดับเครดิตออกจากเครดิตพินิจภายใต้การพิจารณาและประกาศคงอันดับเครดิต หากฟิทช์พิจารณาว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่เท่ากับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC หรือการประเมินความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับ SCCC ส่งผลให้อันดับเครดิตของ SCCC เท่ากับสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ

 

ปัจจัยลบ:

-               ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตของ SCCC หากฟิทช์ประเมินว่าสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่อ่อนแอกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCCC และกลไกการป้องกันทางกฎหมายมีไม่มากพอ

 

สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี: SCCC มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจนถึงสิ้นเดือนมิถุนายน 2568 จำนวน 2.9 พันล้านบาท  หนี้ส่วนใหญ่ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ฟิทช์เชื่อว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีระดับเงินทุนหมุนเวียนที่มั่นคง นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทฯยังจะได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (Committed credit facilities) จำนวน 9 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 และบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพื่อชำระคืนหนี้สินเดิม (Refinancing ability) ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงินของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่ง

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ปลุกหุ้นใหญ่ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้