สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ ( 23 สิงหาคม 2567 )-------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของธนาคารซูมิโตโม มิตซุย ทรัสต์ (ไทย) จำกัด (มหาชน) (SMTBT) ที่ ‘AAA(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-Term Rating) ของธนาคาร ที่ ‘F1+(tha)’
ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับเครดิตพิจารณาจากการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้น: อันดับเครดิตของ SMTBT พิจารณาจากความคาดหวังของฟิทช์ว่ามีโอกาสสูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปรกติ (extraordinary support) ในกรณีที่จำเป็น จากธนาคารแม่ ซึ่งคือ Sumitomo Mitsui Trust Bank, Limited (SMTB; A-/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) SMTB เป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 ของประเทศญี่ปุ่นและมีเครือข่ายการดำเนินงานในประเทศญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งในธุรกิจทรัสต์และธุรกิจบริการรับฝากทรัพย์สิน
อันดับเครดิตเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินในประเทศ: อันดับเครดิตภายในประเทศของ SMTBT ยังสะท้อนถึงการพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างเครดิตของธนาคารที่มีปัจจัยสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นกับธนาคารและบริษัทอื่นในประเทศไทย โดยอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารที่ 'AAA(tha)' เป็นอันดับเครดิตที่มีโอกาสการผิดนัดชำระหนี้ที่ต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ โดยพิจารณาจากทั้งความสามารถและโอกาสในการให้การสนับสนุนที่แข็งแกร่งจากธนาคารแม่
มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ต่อกลุ่ม: ฟิทช์มองว่า SMTBT เป็นธนาคารลูกที่มีความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ SMTB จากการมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดและมีความร่วมมือที่แข็งแกร่งมาอย่างต่อเนื่องกับทางกลุ่มธนาคารแม่ SMTBT มีการใช้ประโยชน์จากเครือข่ายการตลาดและความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินของธนาคารแม่ รวมไปถึงการมุ่งเน้นการให้บริการแก่ลูกค้าของกลุ่มที่เป็นบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย
SMTBT ยังมีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กในประเทศไทย โดยธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดที่ 0.5% แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารมีการเติบโตสินทรัพย์อย่างค่อยเป็นค่อยไป และรักษาความสามารถในการทำกำไรได้อย่างสม่ำเสมอ ซึ่งรวมไปถึง ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด ฟิทช์คาดว่าธนาคารลูกในประเทศไทยจะยังให้การสนับสนุนกลยุทธ์ในภูมิภาคของ SMTB อย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง
มีการเชื่อมโยงและผสานการดำเนินงานในระดับสูง: SMTB เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ใน SMTBTและมีการควบคุมบริหารงานและกำกับดูแลกิจการอย่างใกล้ชิดจากสำนักงานใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น ฟิทช์เชื่อว่ามีการผสานการดำเนินงานในระดับสูงระหว่างธนาคารลูกและธนาคารแม่ เช่น ในด้านการบริหารความเสี่ยงและด้านระบบการดำเนินงาน และเนื่องจากความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิดที่มีมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการใช้ชื่อและเครื่องหมายทางการค้าร่วมกัน ฟิทช์คาดว่าการผิดนัดชำระหนี้ของ SMTBT จะส่งผลให้เกิดความเสี่ยงด้านชื่อเสียงอย่างมากต่อกลุ่มธนาคารแม่ได้
ได้รับการสนับสนุนด้านการระดมเงินทุน: โครงสร้างการระดมเงินทุน (funding profile) ของ SMTBT ได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนในการดำเนินงานตามปกติอย่างต่อเนื่องจากธนาคารแม่ ซึ่งช่วยบรรเทาความเสี่ยงจากการมี อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารที่ยังคงอยู่ในระดับที่สูงที่ 323% ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2567 ธนาคารแม่มีการให้วงเงินสินเชื่อระหว่างธนาคารภายในกลุ่ม (intra-group facilities) แก่ SMTBT ซึ่งช่วยสนับสนุนกิจกรรมการให้สินเชื่อของธนาคารลูก นอกจากนี้ฟิทช์ยังมองว่าความสัมพันธ์กับกลุ่มน่าจะช่วยเอื้อประโยชน์ต่อ SMTBT ในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ระหว่างธนาคารหรือการระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้ได้ง่ายขึ้น ในกรณีที่จำเป็น
มีผลประกอบการที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ: SMTBT มีความสามารถในการทำกำไรที่ค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยธนาคารมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยง ที่ 0.7% ณ สิ้นเดือน มีนาคม 2567 (ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า) อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ เนื่องจากลักษณะการประกอบธุรกิจของธนาคาร ที่มุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อแก่บริษัทญี่ปุ่นและบริษัทขนาดใหญ่ในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม ธนาคารก็มีค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองหนี้สูญที่ค่อนข้างต่ำ และมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ 0% มาอย่างต่อเนื่อง
ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับตัวด้อยลงของความสามารถของ SMTB ในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลูก อาจส่งผลเชิงลบต่ออันดับเครดิตของ SMTBT ตัวอย่างเช่น การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของ SMTB อาจส่งผลให้ฟิทช์ทบทวนอันดับเครดิตภายในประเทศของ SMTBT ซึ่งพิจารณาจากปัจจัยสนับสนุนจากธนาคารแม่ อย่างไรก็ตามการปรับลดอันดับเครดิตจะรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตเมื่อเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นๆที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้อันดับเครดิตของ SMTBT อาจได้รับการปรับลดอันดับ หากฟิทช์เชื่อว่าโอกาส (propensity to support) ที่ธนาคารแม่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลูกในประเทศไทยปรับตัวลดลง ตัวอย่างเช่น อาจบ่งชี้โดยการลดระดับความสัมพันธ์ระหว่าง SMTBT กับกลุ่มธนาคารแม่อย่างมีนัยสำคัญ เช่น การลดสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารลูกในประเทศไทยลงต่ำกว่า 75% ร่วมกับการลดระดับในการควบคุมการบริหารงาน การผสานการดำเนินงานและการใช้กลยุทธ์ร่วมกัน อย่างไรก็ตามฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงของโอกาสในการให้การสนับสนุนในระยะสั้นถึงระยะปานกลาง
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตภายในประเทศของ SMTBT เป็นอันดับเครดิตที่สูงที่สุดสำหรับอันดับเครดิตภายในประเทศ จึงไม่สามารถปรับเพิ่มอันดับเครดิตได้อีก
แหล่งที่มาของข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
แหล่งที่มาของข้อมูลหลักที่ใช้ในการวิเคราะห์เป็นไปตามรายละเอียดที่อธิบายไว้ในเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้อง
อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตของ SMTBT มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ SMTB