Company Note
วีจีไอ
สรุปการประชุมนักวิเคราะห์ (5/8/24)
ผู้บริหารเปิดเผยถึงการเพิ่มทุนให้กับบุคคลในวงจำกัด (Private Placement) กองทุน 4 ราย จำนวน 8.8 พันล้านหุ้น ราคา 1.5 บาท เป็นจำนวนเงินราว 1.3 หมื่นล้านบาท เพื่อลงทุนธุรกิจ Virtual Bank ด้วยการร่วมกับ partner ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจพร้อมเปิดเผยชื่อพันธมิตรในอีก 1-2 เดือนนี้ เพื่อกระจายความเสี่ยงจากสัมปทานสื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS ที่จะหมดในอีก 5 ปี (ปี 2029) และยังมีความไม่แน่นอนในการต่อสัญญาในอนาคต และเพื่อต่อยอดธุรกิจเดิมของบริษัทโดยเฉพาะการทำสื่อโฆษณานอกบ้านซึ่งเป็นธุรกิจหลักของบริษัท และบริษัทพร้อมลงทุนทำทุกธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) ที่มีกาสิโนหากถูกกฎหมายรวมอยู่ด้วย
บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) 4 ราย ได้แก่ กองทุน CAI ,กองทุน Si Suk, กองทุน Opus และ กองทุน Asean Bounty คิดเป็นประมาณ 44% ภายหลังการเพิ่มทุน โดยผู้ลงทุนทั้ง 4 รายจะไม่ติด Silent Period ในการขายหุ้นหลังจากการเพิ่มทุน และมีสิทธิเสนอการแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการของบริษัท 2 ราย และกลุ่มกองทุนเหล่านี้จะไม่ใช่ partner ที่จะเข้ามาทำธุรกิจ Virtual Bank, โดย partner บริษัทจะมีการประกาศให้ทราบอีกครั้ง สำหรับสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ของกลุ่ม BTS จากเดิมประมาณ 61% ลดลงเหลือประมาณ 34% ภายหลังการเพิ่มทุนครั้งนี้ บริษัทมองที่มูลค่าการลงทุนไม่ได้ลดลง และจำนวนคณะกรรมการยังคงมีอยู่ 8 ราย
สำหรับธุรกิจ Virtual Bank ผู้บริหารยังเปิดเผยรายละเอียดไม่ได้ ยังต้องรอการเข้าไปประมูลและยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้เลย แต่บริษัทจะได้เงินจากการเพิ่มทุนครั้งนี้ในการปรับโครงสร้างธุรกิจ เงินที่ได้จากการเพิ่มทุนจะแบ่งเป็น 1) เพื่อทำธุรกิจ Virtual Bank จำนวน 7.5 พันล้านบาท โดยบริษัทจะถือหุ้น 25% ของเงินลงทุนเริ่มแรก 5 พันล้านบาท และจะขยายเงินลงทุนไปถึง 10,000 ล้านบาท 2) เพื่อขยายธุรกิจเดิมของบริษัทจำนวน 5 พันล้านบาท ได้แก่สื่อโฆษณาบนรถไฟฟ้า BTS, ธุรกิจ Digital และธุรกิจ Retail และที่เหลือเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท
กรณีที่โครงการไม่ได้รับใบอนุญาต Virtual Bank ทางบริษัทมีแผนจะนำเงินทุนที่เหลือมาลงทุนในโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ ธุรกิจสื่อโฆษณาและความบันเทิง (Media and Entertainment) ธุรกิจการบริการด้านดิจิทัล (Digital Services) และ ธุรกิจการจัดจำหน่าย (Distribution) นอกเหนือจากนั้น บริษัทจะนำเงินลงทุนมาพัฒนาและปรับปรุงระบบความบันเทิง (Entertainment) ในรถไฟฟ้า และหากมีการลงทุนในโครงการใหม่ซึ่งไม่เกี่ยวข้องหรือต่อยอดกับธุรกิจเดิม บริษัทจะดำเนินการขออนุมัติเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์การใช้เงินกับผู้ถือหุ้นต่อไป
จัดสรรใบสำคัญแสดงสิทธิ VGI-W4 ที่จะออกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Rights Offering) เป็นการชดเชยให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่อาจได้รับผลกระทบจากการเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) โดยการจัดสรร VGI-W4 (Rights Offering) 10 ผู้ถือหุ้นเดิม : 1 warrant จำนวนไม่เกิน 1.1 พันล้านหน่วย อายุ 9 เดือน และอัตราการใช้สิทธิ 1 warrant : 1 หุ้นสามัญ ในราคาใช้สิทธิ 1.50 บาทต่อหุ้น คิดเป็นเงินทุนที่จะได้รับจากการใช้สิทธิ 1.68 พันล้านบาท
อนุมัติการจำหน่ายหุ้นสามัญทั้งหมดที่บริษัทถือใน ROCTEC ผ่านการทำคำเสนอซื้อของ ROCTEC โดยความสมัครใจแบบมีเงื่อนไข (Conditional Voluntary Tender Offer) จำนวน 2,197 ล้านหุ้น (27% ของการถือหุ้น) ให้กับ BTS ที่ราคา 1 บาท โดย VGI จะได้เงิน 2,197 ล้านบาท วัตถุประสงค์เพื่อปรับโครงสร้างกลุ่มธุรกิจของ VGI ลดสัดส่วนธุรกิจที่ไม่มีความเกี่ยวโยงกัน
มุมมองของเรา ในเบื้องต้นเรามีมุมมองเชิงลบ และจากแผนการลงทุนสำหรับธุรกิจ Virtual Bank ในครั้งนี้เราคาดว่าต้องใช้ระยะเวลาประสบความสำเร็จ และอาจจะมีผลขาดทุนในระยะเริ่มแรกของการประกอบธุรกิจเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคอาจจะต้องใช้เวลา ในส่วนของการขยายธุรกิจเดิมของกลุ่ม Digital Services และธุรกิจค้าปลีก Fanslink ยังเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป และ Super Turtle ปัจจุบันยังต้องใช้เวลาในการสร้างกำไร สำหรับการเพิ่มทุนครั้งนี้จะส่งผลต่อผลกระทบต่อส่วนแบ่งกำไรต่อหุ้น (eps dilution) ปี 2024/25F จะไม่สามารถคำนวณได้เนื่องจากเราคาดว่าผลประกอบการยังรับรู้ขาดทุน และคาดจะมีผลกระทบในปีถัดไปจะกระทบ eps dilution ลดลง 44% (ยังไม่รวมการใช้สิทธิ VGI-W4)
คำแนะนำ “Under Review” เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนและรายละเอียดของธุรกิจใหม่ และราคาหุ้นปัจจุบันไม่มี upside จากราคาเป้าหมายของเรา รวมถึงที่ราคาเป้าหมายของเราในปัจจุบัน 1.8 บาท ยังไม่รวมผลกระทบจาก dilution effect 2) ธุรกิจใหม่ยังไม่น่าสร้างผลกำไรได้ในระยะเวลาช่วง 1-2 ปีแรก และ 3) warrant ที่จะแจกให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมในอัตรา 10:1 เราประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 0.43 บาท/หน่วย หรือคิดเป็นผลประโยชน์ชดเชยแก่ผู้ถือหุ้นเพียงประมาณ 0.04 บาท/หุ้น ไม่เพียงพอกับผลกระทบ dilution effect ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ warrant ยังมีอายุค่อนข้างน้อยและมีราคาใช้สิทธิที่ 1.5 บาท ทำให้มีโอกาสจะเกิดการใช้สิทธิสูง ก่อให้เกิดผลกระทบ dilution effect เพิ่มขึ้นอีกในอนาคต