สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(5 สิงหาคม 2567)------SAV หุ้นวิทยุการบิน โชว์ผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 67 รายได้รวมอยู่ที่ 440 ล้านบาท กำไรอยู่ที่ 116 ล้านบาท รวมรายได้ครึ่งปีอยู่ที่ประมาณ 849 ล้านบาท กำไรมากถึง 210 ล้านบาท หรือเติบโตกว่า 84% เมื่อเทียบกับหกเดือนแรกของปีก่อน เป็นผลมาจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอาเซียนที่ฟื้นตัว และรัฐบาลกัมพูชามีนโนบายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง คาดการณ์ครึ่งปีหลังยังแรงต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4 ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น ตั้งเป้ารายได้เติบโตกว่า 20% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา
นายธีระชัย พงศ์พนางาม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สามารถ เอวิเอชั่น โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SAV เปิดเผยว่า “SAV เป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทสามารถ ดำเนินธุรกิจลงทุนในบริษัทอื่น (Holding company) โดยเน้นการลงทุนในบริษัทที่ประกอบธุรกิจการจราจรทางอากาศ หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการจราจรทางอากาศ ไตรมาส 2 ปี 2567 มีรายได้รวมอยู่ที่ประมาณ 440 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 72 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นประมาณ 31 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7% และมีกำไรอยู่ที่ 116 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 33 ล้านบาท หรือคิดเป็น 39% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 22 ล้านบาท หรือคิดเป็น 23 %
ทั้งนี้เมื่อรวมรายได้ครึ่งปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 849 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 138 ล้านบาท หรือคิดเป็น 19% และมีกำไรอยู่ที่ 210 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 96 ล้านบาท หรือคิดเป็น 84% เมื่อเทียบกับหกเดือนแรกของปีก่อน
ปัจจัยหลักที่ช่วยส่งเสริมรายได้เติบโตมาจากจากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวอาเซียนที่ฟื้นตัวและเริ่มกลับเข้าสู่ช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาด COVID-19 ประกอบกับรัฐบาลกัมพูชามีนโนบายสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวต่อเนื่อง ประกาศให้ปี 2567 เป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกัมพูชา-จีน ด้วยหวังให้เป็นกำลังส่งเสริมการท่องเที่ยวและการลงทุน ส่งผลให้จำนวนเที่ยวบินเพิ่มขึ้น โดยมีจำนวนเที่ยวบินที่ให้บริการรวมทุกประเภท 24,678 เที่ยวบิน เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 1,609 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 7% และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน 544 เที่ยวบิน หรือคิดเป็น 2% รวมครึ่งปีมีจำนวนเที่ยวบินแล้วประมาณ 49,000 เที่ยวบิน
ทั้งนี้เมื่อจำแนกรายได้ไตรมาส 2 ของ SAV จากธุรกิจ 3 ประเภทหลัก มีรายละเอียดดังนี้
1. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศ (Landing & Take-off: Domestic) จำนวน 13 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นถึง 346% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน
2. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงระหว่างประเทศ (Landing & Take-off: International) จำนวน 144 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 30% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน
3. รายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินผ่านเขตน่านฟ้ากัมพูชา (Overflight) จำนวนประมาณ 281 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 15% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน
“สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่ารายได้ค่าบริการสำหรับเที่ยวบินที่บินขึ้น-ลงในประเทศกัมพูชาจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 20 % เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา จากการสนับสนุนด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาลกัมพูชาที่ออกแคมเปญเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวหลายโครงการ โดยเฉพาะแคมเปญ “Visit Siem Reap 2024 ซึ่งคาดว่าจะสร้างความคึกคักให้กับการท่องเที่ยวกัมพูชาได้เป็นอย่างดี” นายธีระชัย กล่าว