สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(20 กรกฎาคม 2567)---------นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 เปิดเผยว่า “ครึ่งปีแรกของปี 2567 (มกราคม-มิถุนายน) มีการอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 จำนวน 385 ราย โดยเป็นการลงทุนผ่านช่องทางการขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จำนวน 106 ราย และการขอหนังสือรับรองการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว (ผ่านช่องทางการลงทุนตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน หรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และการใช้สิทธิตามสนธิสัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศ) จำนวน 279 ราย เงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 81,487 ล้านบาท จ้างงานคนไทย 1,852 คน โดยชาวต่างชาติที่เข้ามาลงทุน 5 อันดับแรก ได้แก่
อันดับที่ 1 ญี่ปุ่น 103 ราย คิดเป็น 27% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 44,018 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
- ธุรกิจโฆษณา
- ธุรกิจบริการออกแบบและติดตั้งกระจก
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น ระบบการจัดการเนื้อหาของเว็บไซต์ (Content Management System : CMS) เป็นต้น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ท่อไอเสียและชิ้นส่วนท่อไอเสียสำหรับยานพาหนะ / ชิ้นส่วนโลหะขึ้นรูปสำหรับยานพาหนะ / ปั๊มน้ำ และปั๊มน้ำมันเครื่อง เป็นต้น
อันดับที่ 2 สิงคโปร์ 63 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 7,379 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาแนะนำในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและซอฟต์แวร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการติดตั้งเครื่องจักร และการแก้ไขปัญหา เพื่อลดการขัดข้องของเครื่องจักร เป็นต้น
- ธุรกิจโฆษณา โดยการให้ใช้พื้นที่บนเว็บไซต์
- ธุรกิจบริการกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่ายและ/หรือให้บริการ เช่น ระบบบริหารจัดการท่าเรือ เป็นต้น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตอุปกรณ์สำหรับยานพาหนะไฟฟ้า / อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักร / Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า)
อันดับที่ 3 สหรัฐอเมริกา 60 ราย คิดเป็น 16% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย เงินลงทุน 1,223 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องมือและอุปกรณ์ที่ใช้ในการสื่อสารและโทรคมนาคม / เครื่องมือแพทย์ / เคมีภัณฑ์และยา)
- ธุรกิจโฆษณา
- ธุรกิจบริการติดต่อประสานงาน บริหารจัดการ ให้คำปรึกษาแนะนำ และให้ข้อมูลในด้านต่างๆ เกี่ยวกับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (พวงมาลัยรถยนต์ / DRUM BRAKE ASSEMBLY)
อันดับที่ 4 จีน 42 ราย คิดเป็น 11% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติ มีเงินลงทุน 5,997 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจบริการที่ให้แก่บริษัทในเครือ หรือบริษัทในกลุ่ม (บริการให้เช่าพื้นที่อาคารโรงงาน)
- ธุรกิจการจัดหาจัดซื้อ วัตถุดิบ ชิ้นส่วนและส่วนประกอบสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่นอุตสาหกรรมเหล็ก หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เหล็กเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น เพื่อค้าส่งในประเทศ
- ธุรกิจบริการบริการพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อให้บริการดิจิทัล เช่น การรับฝาก การซื้อขาย และให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แท่งอลูมิเนียม/ โลหะหล่อขึ้นรูป/ อุปกรณ์สำหรับเครื่องจักรอุตสาหกรรม)
- ธุรกิจบริการตัดโลหะ (Coil Center)
อันดับที่ 5 ฮ่องกง 31 ราย คิดเป็น 8% ของจำนวนธุรกิจต่างชาติในไทย มีเงินลงทุน 12,062 ล้านบาท ในธุรกิจ อาทิ
- ธุรกิจค้าปลีกสินค้า (เครื่องฉีดขึ้นรูป / ฟิล์มไวแสง)
- ธุรกิจบริการให้คำปรึกษาแนะนำและบริหารจัดการรวมทั้งฝึกอบรมในด้านการจัดการร้านอาหารและคาเฟ่ภายในร้านจำหน่ายสินค้า
- ธุรกิจบริการศูนย์กระจายสินค้าด้วยระบบที่ทันสมัย
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (แม่พิมพ์/ เลนส์ เลนส์สัมผัส (Contact Lens) กรอบแว่นตา แว่นตา / ชิ้นส่วนสำหรับผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์)
- ธุรกิจจบริการพัฒนาดิจิทัลคอนเทนต์เพื่อจำหน่าย และ/หรือให้บริการ เช่น เกม เป็นต้น
การเข้ามาประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวในไทยในช่วงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมข้างต้น มีส่วนช่วยในการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นองค์ความรู้เฉพาะด้านจากประเทศผู้เข้ามาลงทุนให้แก่คนไทย เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการบำรุงรักษาระบบผลิตและจ่ายไฟฟ้ากำลัง องค์ความรู้เกี่ยวกับการติดตั้ง Internet Broadband องค์ความรู้เกี่ยวกับคุณสมบัติของเครื่องกำเนิดไอน้ำ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีอุปกรณ์จับยึดชิ้นงาน เป็นต้น
เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พบว่า การอนุญาตให้คนต่างชาติเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย ปี 2567 เพิ่มขึ้นจากปี 2566 จำนวน 59 ราย (เพิ่มขึ้น 18%) (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 อนุญาต 385 ราย / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 อนุญาต 326 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 32,560 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 67%) (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 ลงทุน 81,487 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - มิ.ย.66 ลงทุน 48,927 ล้านบาท) ขณะที่มีการจ้างงานคนไทยลดลง 1,370 ราย (ลดลง 43%) (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 จ้างงาน 1,852 คน / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 จ้างงาน 3,222 คน) โดยจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาสูงสุดยังคงเป็นนักลงทุนญี่ปุ่นเช่นเดียวกับปีก่อน
อธิบดีอรมน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ช่วงครึ่งปีแรกปี 2567 มีนักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 116 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนต่างชาติในไทย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน จำนวน 55 ราย หรือ เพิ่มขึ้น 90% (เดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 ลงทุน 116 ราย / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 ลงทุน 61 ราย) และมีมูลค่าการลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 21,034 ล้านบาท คิดเป็น 25% ของเงินลงทุนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 10,263 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 95% (เดือนเดือน ม.ค. - มิ.ย. 67 เงินลงทุน 21,034 ล้านบาท / เดือน ม.ค. - มิ.ย. 66 เงินลงทุน 10,771 ล้านบาท เป็นนักลงทุนจาก *ญี่ปุ่น 40 ราย ลงทุน 5,225 ล้านบาท *จีน 21 ราย ลงทุน 1,918 ล้านบาท *ฮ่องกง 12 ราย ลงทุน 5,008 ล้านบาท และประเทศอื่นๆ 43 ราย ลงทุน 8,883 ล้านบาท โดยธุรกิจที่ลงทุน อาทิ
- ธุรกิจบริการทางวิศวกรรม โดยเป็นการออกแบบทางวิศวกรรมสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์
- ธุรกิจบริการให้ใช้ช่วงสิทธิโปรแกรมซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับบริหารจัดการ วิเคราะห์ วางแผน รวบรวม และแสดงผลข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการเชื่อมโลหะ
- ธุรกิจบริการเคลือบผิวโลหะโดยใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
- ธุรกิจบริการรับจ้างผลิตสินค้า (ผลิตภัณฑ์ชุบเคลือบผิวด้วยพลาสติก, Motor สำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้า, โฟมสำหรับยานพาหนะ เป็นต้น)
- ธุรกิจบริการพัฒนาซอฟต์แวร์เพื่อจำหน่าย และ/หรือ ให้บริการ เช่น ระบบควบคุมการผลิตในโรงงาน และระบบจัดการคลังสินค้า เป็นต้น