
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ ขอนำเสนอ ผลการดำเนินงานของ 3 แบงก์ใหญ่ KBANK-SCB-BBL โดยเทียบฟอร์มกำไรครึ่งปีแรกกันแบบจะๆ ดังนี้....
KBANK Q2/67 มีกำไรสุทธิ 12,653 ลบ. ลดลง 6.18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน/ ครึ่งปีแรก ปี 67 กำไร 26,139 ลบ. เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.26%
ด้านSCB กำไรสุทธิไตรมาส 2/67 จำนวน 10,014 ล้านบาท ลดลง 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ครึ่งแรกของปี 2567 มีกำไรสุทธิ 21,295 ล้านบาท ลดลง 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ระบุตั้งสำรอง 11,626 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากปีก่อน
ส่วน BBL เผย H1/67 กำไรสุทธิ 22,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.2% จากงวดเดียวกันปีก่อน รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 8.1% สินเชื่อเพิ่มขึ้น1.8% จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาส 2 ปี 2567 ยังมีสัญญาณฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง แม้จะมีแรงส่งอยู่บ้างจากการทยอยเบิกจ่ายเงินของภาครัฐ หลังจากที่ พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน 2567 และการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ การผลิตภาคอุตสาหกรรมและการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนยังเผชิญแรงกดดันจากด้านต้นทุน ภาระหนี้สิน รวมถึงรายได้ที่ยังฟื้นตัวในกรอบจำกัด
สำหรับในช่วงที่เหลือของปี 2567 นั้น แม้เศรษฐกิจไทยอาจประคองการเติบโตได้ตามการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ และการส่งออกที่จะได้อานิสงส์เมื่อเทียบกับฐานที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อน แต่คงต้องติดตามผลกระทบต่อภาคธุรกิจจากแนวโน้มต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นตามค่าใช้จ่ายด้านพลังงานและการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ รวมถึงรายละเอียดและความชัดเจนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในช่วงที่เหลือของปี 2567
ท่ามกลางความท้าทายของปัจจัยต่าง ๆ ธนาคารกสิกรไทยยังคงมุ่งเน้นการเดินหน้าตามยุทธศาสตร์ 3+1 เพื่อส่งมอบคุณค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายภายใต้บริบทของเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน
ในไตรมาส 2 ปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิจำนวน 12,653 ล้านบาท ลดลง 6.18% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หลัก ๆ จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลง ในขณะที่รายได้สุทธิจากการรับประกันภัยเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ จำนวน 21,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.67% โดยยังอยู่ภายในกรอบการบริหารจัดการของธนาคาร และได้พิจารณาตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) จำนวน 11,672 ล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาสก่อนตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สำรองฯ อยู่ในระดับที่เหมาะสม สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และรองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ โดยค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage ratio) เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนอยู่ที่ระดับ 151.87%
รายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 50,429 ล้านบาท โดยรายได้ดอกเบี้ยสุทธิลดลงจำนวน 1,060 ล้านบาท หรือ 2.75% เป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่ฟื้นตัวช้า และไม่ทั่วถึง ประกอบกับการยกระดับกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพ นอกจากนี้ ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อเพื่อช่วยเหลือลูกค้าปัจจุบันที่เป็นกลุ่มเปราะบางให้สามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินรับฝากในช่วงก่อน รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจำนวน 221 ล้านบาท หรือ 2.66% ส่วนหนึ่งจากค่าธรรมเนียมรับจากธุรกิจบัตร และค่าธรรมเนียมรับจากการรับรองตั๋ว อาวัล และค้ำประกัน แม้ว่ารายได้สุทธิจากการรับประกันภัยปรับตัวดีขึ้น ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 21,888 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากกิจกรรมทางการตลาดและการดำเนินงานตามทิศทางธุรกิจ รวมทั้งค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขยายช่องทางการให้บริการลูกค้า และส่วนหนึ่งจากเงินช่วยเหลือแทนความห่วงใยให้แก่พนักงาน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว โดยธนาคารมีการบริหารจัดการค่าใช้จ่ายพนักงานภายใต้องค์รวมของกรอบงบประมาณที่วางไว้ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 43.40%
สำหรับงวด 6 เดือน ปี 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและภาษีเงินได้มีจำนวน 57,981 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.36% จากรายได้จากการดำเนินงานสุทธิที่เติบโตสูงกว่าค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ เป็นผลจากการที่ธนาคารและบริษัทย่อยบริหารจัดการค่าใช้จ่ายให้เกิดความคุ้มค่า และเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ ต่อรายได้จากการดำเนินงานสุทธิ (Cost to income ratio) อยู่ที่ระดับ 42.35% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ การตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected credit loss : ECL) ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งยังคงเป็นการตั้งสำรองฯ ตามหลักความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง รองรับความไม่แน่นอนของปัจจัยต่าง ๆ ที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจ ทำให้กำไรสุทธิจำนวน 26,139 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.26%
รายได้จากการดำเนินงานสุทธิมีจำนวน 100,581 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.27% จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่มีจำนวน 75,996 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.18% ตามภาวะตลาด โดยอัตราผลตอบแทนสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net interest margin: NIM) อยู่ที่ระดับ 3.73% ทั้งนี้ ธนาคารได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อในไตรมาส 2 ปี 2567 เพื่อช่วยเหลือลูกค้าปัจจุบันที่เป็นกลุ่มเปราะบางให้สามารถฟื้นตัวได้ดีขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเติบโต หลัก ๆ จากค่าธรรมเนียมรับจากการจัดการกองทุน และค่าธรรมเนียมรับจากการรับรองตั๋ว อาวัล และค้ำประกัน รวมทั้งการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการลงทุน และรายได้จากการปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในขณะที่ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอื่น ๆ มีจำนวน 42,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.82% จากค่าใช้จ่ายทางการตลาดสอดคล้องกับรายได้ที่เพิ่มตามปริมาณธุรกิจ และค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการขยายช่องทางการให้บริการลูกค้า
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ธนาคารและบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 4,247,540 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากสิ้นปี 2566 จำนวน 36,016 ล้านบาท หรือ 0.84% อย่างไรก็ตาม เงินให้สินเชื่อสุทธิอยู่ในระดับทรงตัว ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้าและไม่ทั่วถึง ประกอบกับการยกระดับกระบวนการเพิ่มประสิทธิภาพการปล่อยสินเชื่อใหม่อย่างมีคุณภาพสะท้อนการบริหารความสมดุลของความเสี่ยงและผลตอบแทนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ เงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อ (%NPL gross) อยู่ที่ระดับ 3.18% ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน สำหรับอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของกลุ่มธุรกิจทางการเงินธนาคารกสิกรไทยตามหลักเกณฑ์ Basel III ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2567 ยังคงมีความแข็งแกร่งอยู่ที่ 19.42%
บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) มีกำไรสุทธิในไตรมาส 2 ของปี 2567 จำนวน 10,014 ล้านบาท ลดลง 15.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับครึ่งแรกของปี 2567 บริษัทฯ มีกำไรสุทธิจำนวน 21,295 ล้านบาท ลดลง 6.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ในไตรมาส 2 ของปี 2567 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 32,576 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการขยายตัวของส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในอัตรา 0.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มความระมัดระวังในการให้สินเชื่อและมุ่งเน้นการเติบโตของสินเชื่อที่มีคุณภาพ ภายใต้สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่มีความท้าทายรอบด้าน รายได้ค่าธรรมเนียมและ อื่น ๆ มีจำนวน 10,328 ล้านบาท ลดลง 8.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมจากการขายประกันภัย ค่าธรรมเนียมจากธุรกรรมทางการเงิน และค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการให้สินเชื่อ
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจำนวน 18,568 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ (ก่อนรายการที่ เกิดขึ้นครั้งเดียว) อยู่ที่ 41.2%
บริษัทฯ ได้ตั้งเงินสำรองจำนวน 11,626 ล้านบาท ลดลง 3.9% จากปีก่อน โดยในไตรมาสนี้รวมการตั้งสำรองพิเศษเพื่อรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่รายหนึ่ง อัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 161.7%
ธนาคารกรุงเทพและบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับงวดแรกปี 2567 จำนวน 22,330 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 จากงวดเดียวกันปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 ตามการเติบโตของเงินให้สินเชื่อและการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ สุทธิกับต้นทุนเงินรับฝากที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ร้อยละ 3.05 สำหรับรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิเพิ่มขึ้น จากบริการประกันผ่านธนาคารและบริการกองทุนรวมที่ยังคงเติบโตดี ขณะที่กำไรสุทธิจากเครื่องมือทางการเงินที่วัดมูลค่าด้วยมูลค่ายุติธรรมผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) ลดลงตามสภาวะตลาด สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานอยู่ในระดับใกล้เคียงกับงวดแรกปีก่อนจากการบริหารค่าใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ร้อยละ 45.6 ในงวดแรกปี 2567 ธนาคารตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 19,007 ล้านบาท โดยพิจารณาภายใต้หลักความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน
ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,719,989 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8จากสิ้นปีก่อน ส่วนใหญ่จากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อลูกค้ากิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 282.5 เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง
ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2567 จำนวน 3,184,856 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน และมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ร้อยละ 85.4 ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 19.5 ร้อยละ 16.1 และร้อยละ 15.3 ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามทีธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ในไตรมาสที่สองของปี 2567 เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากอุปสงค์ภายในประเทศ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ และจากการส่งออกของไทย
ที่ปรับตัวขึ้นตามการเร่งซื้อสินค้าและการย้ายฐานมาส่งออกจากไทย ทั้งนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากภาคการท่องเที่ยว การลงทุนจากต่างชาติ และการเบิกจ่ายของภาครัฐเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสำคัญที่ยังคงต้องติดตาม ได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงเนื่องจากปัญหาในภาคอสังหาริมทรัพย์ และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้ซึ่งอาจทำให้แนวนโยบายทางการค้า และปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยนแปลงจากเดิม
แม้ว่าเศรษฐกิจไทยอยู่ในทิศทางขยายตัว การดำเนินกิจการของภาคธุรกิจยังคงเผชิญความท้าทายจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลต่อบริบทโลกให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพิ่มขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายและกฎเกณฑ์ของทางการ ธนาคารกรุงเทพในฐานะ "เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน" ยังคงมุ่งเน้นให้คำแนะนำเพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินธุรกิจ โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะและองค์ความรู้ที่จำเป็นต่อการปรับตัวอย่างต่อเนื่อง สนับสนุนการสร้างพันธมิตรในระบบนิเวศทางธุรกิจ และการลงทุนใหม่ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสนับสนุนลูกค้าให้ได้ประโยชน์จากโอกาสในการขยายกิจการไปยังต่างประเทศในขณะเดียวกันธนาคารยังคงยึดมั่นแนวทางการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบและเป็นธรรม (Responsible lending) โดยให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคมและการเติบโตอย่างยั่งยืน
///จบ///