Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์ คงอันดับเครดิตของธนาคารกสิกรไทยที่ 'BBB' และ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

685

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(12 กรกฎาคม 2567)--------ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBank ที่ 'BBB' และคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ 'AA+(tha)' แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ นอกจากนี้ ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating หรือ VR) ที่ 'bbb' อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ที่ 'bbb' และคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F2'

ฟิทช์ประกาศคงอันดับและยกเลิกอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลของธนาคาร (LT IDR (xgs)) และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร (senior long-term notes (xgs)) เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวมิได้มีนัยสำคัญเพียงพอในการติดตามวิเคราะห์อีกต่อไป

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต
อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารและปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลหนุนอันดับเครดิต: อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ KBank อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน และอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น 'F2' เป็นตัวเลือกที่สูงกว่า เพื่อสะท้อนถึงโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนซึ่งมีความแน่นอนกว่าในระยะสั้น อันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารนอกจากจะได้รับการพิจารณามาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลแล้ว ยังรวมการพิจารณาถึงโครงสร้างเครดิตของธนาคารในเชิงเปรียบเทียบกับธนาคารหรือบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศด้วย

แนวโน้มการเติบโตค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น: แนวโน้มของธุรกิจธนาคารในประเทศไทยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตอาจจะปรับตัวดีขึ้นอีกได้ไม่มากนัก เนื่องจากฟิทช์ยังคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักที่ 2.6% ในปี 2567 ฟิทช์ให้อันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' ซึ่งเป็นในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอันดับคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งจะอยู่ในกลุ่ม 'bb' ตามเกณฑ์การพิจารณาของฟิทช์ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทย (BBB+/Stable) จะช่วยสนับสนุนเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและและระบบการเงิน

เครือข่ายธุรกิจภายในประเทศที่แข็งแกร่ง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจของ KBank ที่ 'bbb+' สะท้อนถึงเครือข่ายธุรกิจที่แข็งแกร่งและการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย ซึ่งฟิทช์คาดว่าจะสนับสนุนความสามารถในการสร้างกำไรอย่างมีเสถียรภาพตลอดวัฏจักรของธุรกิจ KBank เป็นธนาคารที่มีการดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรในประเทศไทย โดยมีฐานลูกค้าที่กว้างขวาง และมีความแข็งแกร่งโดยเฉพาะในธุรกิจการให้บริการด้านธุรกรรมธนาคาร (transactional banking)

ระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้มีผลต่อความผันผวนของคุณภาพสินทรัพย์: อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างความเสี่ยงของ KBank ที่ 'bbb-' สะท้อนถึงความผันผวนในด้านคุณภาพสินทรัพย์ในอดีตซึ่งฟิทช์เชื่อว่าเป็นสาเหตุมาจากกลุ่มลูกค้า SME ซึ่งมีความเปราะบางต่อสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจที่ท้าทาย อย่างไรก็ตาม การประเมินดังกล่าวยังพิจารณาถึงความเชี่ยวชาญในการบริหารความเสี่ยงของธนาคารและการเปลี่ยนแปลงเชิงกลยุทธ์ไปสู่แนวทางที่ระมัดระวังมากขึ้นในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ลดลง:คุณภาพสินทรัพย์ของ KBank อยู่ในระดับที่ค่อนข้างทรงตัว โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่ 3.7% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 (2566: 3.7%) อันดับคะแนนปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารที่ 'bbb-' ได้รวมการปรับเพิ่มอันดับคะแนนจากหลักประกันและระดับการตั้งสำรองของธนาคาร โดยธนาคารมีสัดส่วนมูลค่าหลักประกันในระดับที่ค่อนข้างสูงสำหรับพอร์ตสินเชื่อ SME และมีระดับสำรองหนี้สงสัยจะสูญที่ 142% ของสินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567

ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง: ความสามารถในการทำกำไรของ KBank ฟื้นตัวขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ฟิทช์คาดว่าค่าเฉลี่ย 4 ปี ของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยง จะปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงกว่า 2% (ปี 2023 ที่ 2%) ซึ่งสอดคล้องกับอันดับคะแนนปัจจุบันที่ 'bbb-'

ระดับเงินกองทุนแข็งแกร่ง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านเงินกองทุนและระดับหนี้สินของ KBank ที่ 'bbb+' ได้รับการสนับสนุนจากอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (CET1) ที่คงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ 16.5% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 (2566: 16.5%, 2565: 15.9%) ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 จะยังคงมีเสถียรภาพในระยะปานกลาง และจะเป็นเกราะป้องกันที่แข็งแรงสำหรับการรองรับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น

โครงสร้างการระดมทุนมีเสถียรภาพ: อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมทุนและสภาพคล่องของ KBank ที่ 'bbb' รวมการพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของเครือข่ายเงินฝาก ซึ่งสนับสนุนโดยความแข็งแกร่งในด้านธุรกรรมการธนาคาร เงินฝากบัญชีกระแสรายวันและบัญชีออมทรัพย์คิดเป็น 79% ของเงินฝากทั้งหมด และช่วยสนับสนุนต้นทุนการระดมทุนของธนาคาร โดยเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีต้นทุนทางการเงินที่ต่ำที่สุดในอุตสาหกรรม อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคารอยู่ที่ประมาณ 92% ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 และอัตราส่วนของปริมาณสินทรัพย์สภาพคล่องทั้งสิ้น (LCR) เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 195% ในไตรมาส 4 ปี 2566

ความสำคัญเชิงระบบหนุนอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KBank สะท้อนถึงมุมมองของฟิทช์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษนอกเหนือจากการดำเนินงานตามปกติจากรัฐบาลไทยในกรณีที่จำเป็น KBank เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดด้านเงินฝากที่ 17% ณ สิ้นปี 2566 นอกจากนี้ ธนาคารยังได้รับการกำหนดให้เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (D-SIBs) โดยธนาคารแห่งประเทศไทย

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ KBank จะเกิดขึ้นเมื่อทั้งอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินถูกปรับลดอันดับลงพร้อมกัน นอกจากนี้อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคารอาจได้รับการปรับลดเป็น 'AA(tha)' หากฟิทช์มองว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคารปรับตัวอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับธนาคารอื่นที่ได้รับการจัดอันดับในประเทศไทย

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นของธนาคารอาจถูกปรับลดอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของธนาคารถูกปรับลดลงเป็น 'BBB-'

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารอาจถูกปรับลดลงเป็น 'bbb-' หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญซึ่งบ่งชี้ถึงฐานะทางการเงินของธนาคารปรับตัวแย่ลง ซึ่งอาจสะท้อนถึงโครงสร้างทางธุรกิจและโครงสร้างความเสี่ยงที่อ่อนแอลงมากกว่าที่ฟิทช์คาดการณ์ ภาวะกดดันดังกล่าวอาจบ่งชี้โดยการมีค่าเฉลี่ย 4 ปีของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ 6% หรือสูงกว่า ร่วมกับความสามารถในการรองรับความเสี่ยงที่อ่อนแอลง เช่น อัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่ต่ำกว่า 13% อัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 120% และค่าเฉลี่ย 4 ปีของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต่ำกว่า 1.5%

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจถูกปรับลดอันดับลง หากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย (BBB+/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ถูกปรับลดอันดับ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถที่ลดลงของรัฐบาลในการสนับสนุนธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ การลดลงของโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ KBank อาจทำให้อันดับเครดิตถูกปรับไปในทางลบเช่นกัน ตัวอย่างเช่น ส่วนแบ่งการตลาดของธนาคารที่ลดลงอย่างมากหรือมีการเปลี่ยนแปลงของกฎระเบียบอย่างมีนัยสำคัญ อย่างไรก็ตามฟิทช์เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่โอกาสที่ KBank จะได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลจะปรับตัวลดลงในระยะปานกลาง

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และอันดับเครดิตภายในประเทศ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ และ อันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลหรืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ทั้งนี้อันดับเครดิตภายในประเทศของ KBank จะพิจารณาถึงโครงสร้างอันดับเครดิตของธนาคารเทียบกับธนาคารอื่นในประเทศที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+' ในอนาคต หากธนาคารดำเนินการตามกลยุทธ์ได้สำเร็จและนำไปสู่การปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของผลการดำเนินงานโดยที่โครงสร้างความเสี่ยงของธนาคารไม่ได้ปรับตัวแย่ลง เหตุการณ์ดังกล่าวน่าจะได้รับแรงหนุนจากสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนสำคัญทางการเงินมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและยั่งยืน เช่นอัตรากำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ย 4 ปีที่ระดับสูงกว่า 3% และอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมเฉลี่ย 4 ปีที่ระดับต่ำกว่า 3% ร่วมกับการดำรงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงอื่นๆ เช่น อัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่ระดับสูงกว่า 16%

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทยได้รับการปรับเพิ่มอันดับ ซึ่งจะบ่งชี้ถึงความสามารถและโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบรวมถึง KBanks อย่างไรก็ตามฟิทช์ยังต้องพิจารณาว่าโอกาสในการให้การสนับสนุนแก่ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบว่าจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปหากอันดับเครดิตของประเทศปรับตัวสูงขึ้นกว่าเดิม

อันดับเครดิตหุ้นกู้และอันดับเครดิตอื่น
หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิสกุลเงินดอลลาร์ของ KBank และอันดับเครดิตของโครงการหุ้นกู้ EMTN ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

อันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ MTN มูลค่าโครงการ 3 หมื่นล้านบาทของ KBank อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวและระยะสั้นของธนาคารเนื่องจากอันดับเครดิตของโครงการใช้กับตราสารหนี้ไม่ด้อนสิทธิไม่มีหลักประกันที่ออกภายใต้โครงการ

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ
อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ KBank ได้รับการจัดอันดับที่ระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตอ้างอิง (ซึ่งคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน) อยู่สองอันดับ เพื่อสะท้อนความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) ที่มีสูงกว่าเมื่อเทียบกับตราสารหนี้ที่ไม่ด้อยสิทธิ ทั้งนี้ไม่ได้มีการลดทอนอันดับเครดิตเพิ่มเติมเนื่องจากข้อกำหนดสิทธิของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนในระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) ซึ่งอันดับเครดิตของตราสารและจำนวนอันดับเครดิตที่ลดทอนจากอันดับเครดิตอ้างอิงสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ของฟิทช์ในการจัดอันดับเครดิตตราสารประเภทดังกล่าวและสอดคล้องกับวิธีการจัดอันดับหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ที่ออกโดยธนาคารไทยอื่น

อันดับเครดิตที่ไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล
ก่อนที่จะมีการยกเลิกอันดับเครดิต อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล (Long-Term IDR(xgs)) ของ KBank และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้สกุลเงินต่างประเทศไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล มีปัจจัยในการพิจารณาจากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร หรือ VR อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาล (Short-Term IDR(xgs)) เทียบได้กับ 'F3(xgs)' เนื่องจากคะแนนด้านความสามารถในการระดมเงินและสภาพคล่องของธนาคารไม่สอดคล้องกับตัวเลือกอันดับที่สูงกว่า ตามเกณฑ์การพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ KBank และโครงการ EMTN อาจถูกปรับลดอันดับลงหากมีการปรับลดอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งคืออันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว

อันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ MTN มูลค่าโครงการ 3 หมื่นล้านบาทของ KBank อาจถูกปรับลดอันดับลงหากมีการปรับลดอันดับเครดิตอ้างอิงซึ่งได้แก่อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหรือระยะสั้น

การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารจะส่งผลให้อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ KBank ได้รับการปรับลดอันดับเช่นกัน

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลของธนาคาร น่าจะถูกปรับลดอันดับลง หากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคารถูกปรับลดลงไปที่ 'bb+' หรือ ต่ำกว่า

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวน่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิและอันดับเครดิตของโครงการหุ้นกู้ EMTN ของธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน

อันดับเครดิตภายในประเทศของโครงการหุ้นกู้ MTN มูลค่าโครงการ 3 หมื่นล้านบาทของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของธนาคาร

อันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ของ KBank อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับหากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวและระยะสั้นที่ไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลของธนาคารอาจถูกยกเลิกได้หากอันดับความแข็งแกร่งของธนาคารได้รับการปรับเพิ่มอันดับ เนื่องจากอันดับเครดิตสากลของธนาคารจะพิจารณาจากโครงสร้างทางเครดิตของตัวธนาคารเองเท่านั้น


การปรับคะแนนของปัจจัยในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน
อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'อันดับเครดิตของประเทศ'

อันดับคะแนนที่ให้แก่ปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' อยู่สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งอยู่ในกลุ่ม 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนด้วยปัจจัยด้าน 'หลักประกันและระดับสำรองหนี้สูญ'

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น
อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลของ KBank มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตสากลของประเทศไทย

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)
ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

KBank:
รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘BBB’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F2’
- อันดับความเข็งแกร่งทางการเงิน คงอันดับที่ ‘bbb’
- อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล คงอันดับที่ 'bbb'
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว คงอันดับที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น คงอันดับที่ ‘F1+(tha)’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกัน คงอันดับที่ ‘BBB’
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ด้อยสิทธิคงอันดับที่ ‘BB+’
-อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลของธนาคาร คงอันดับที่ ‘BBB(xgs)’ และยกเลิกอันดับเครดิต
-อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นไม่รวมปัจจัยสนับสนุนจากรัฐบาลของธนาคาร คงอันดับที่ ‘F3(xgs)’
-อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิคงอันดับที่ 'BBB(xgs)' และยกเลิกอันดับเครดิต

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้