Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์คงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ ธ.ทหารไทยธนชาต ที่ 'BBB' และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

585

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (12 กรกฎาคม 2567 )-------ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-Term Issuer Default Rating) ของ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน)  หรือ TTB ที่ ‘BBB’ และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ โดยมีแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ พร้อมกันนี้ฟิทช์ได้คงอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล (Government Support Rating: GSR) ของธนาคารที่ 'bbb' และ อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Viability Rating: VR) ที่ 'bbb-' และอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F2' 

 

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

อันดับเครดิตสะท้อนถึงการได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล: อันดับเครดิตสากลและอันดับเครดิตภายในประเทศของ TTB  มีปัจจัยในการพิจารณามาจากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล หรือ GSR อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ 'F2' เป็นตัวเลือกที่สูงกว่า เนื่องจากโอกาสที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนนั้นมีความแน่นอนกว่าในระยะสั้น อันดับเครดิตภายในประเทศยังพิจารณาเปรียบเทียบโครงสร้างเครดิตของ TTB กับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศโดยฟิทช์

 

ความสำคัญเชิงระบบและความสัมพันธ์กับรัฐบาล: อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลสะท้อนถึงสถานะของ TTB ที่เป็นหนึ่งในหกธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ (D-SIB) ซึ่งกำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากธนาคารมีขนาดในระดับที่มีนัยสำคัญ โดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดในเงินฝากที่ 8% และมีธุรกรรมที่เชื่อมโยงกับระบบการเงิน นอกจากนี้ฟิทช์ยังพิจารณาถึงการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในธนาคารแม้จะไม่ได้เป็นปัจจัยที่มีน้ำหนักมากอย่างมีนัยสำคัญในการพิจารณาอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล

 

แนวโน้มการเติบโตค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น: แนวโน้มของธุรกิจธนาคารในประเทศไทยได้รับแรงหนุนจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโควิด แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตอาจจะปรับตัวดีขึ้นอีกได้ไม่มากนัก เนื่องจากฟิทช์ยังคาดว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) น่าจะยังคงอยู่ในระดับที่ไม่สูงนักที่  2.6% ในปี 2567 ฟิทช์ให้อันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' ซึ่งเป็นในระดับที่สูงกว่าเมื่อเทียบกับอันดับคะแนนตามเกณฑ์ซึ่งจะอยู่ในกลุ่ม 'bb' ตามเกณฑ์การพิจารณาของฟิทช์ เนื่องจากฟิทช์เชื่อว่ารัฐบาลไทย (BBB+/Stable) จะช่วยสนับสนุนเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาคและและระบบการเงิน

 

เครือข่ายธุรกิจดีและมีเสถียรภาพ: อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างธุรกิจ (business profile) ของ TTB ที่ 'bbb-'  สะท้อนถึงการที่ธนาคารมีเครื่อข่ายธุรกิจที่ค่อนข้างดี ในฐานะธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับที่ 6 ในประเทศไทย อันดับคะแนนยังรวมการพิจารณาถึงความแตกต่างที่ยังคงมีอยู่ในด้านขนาดธุรกิจและความหลากหลายของธุรกิจ ระหว่าง TTB กับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น

การเติบโตอย่างระมัดระวัง: การเติบโตของสินเชื่อของ TTB นั้นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมมาโดยตลอดนับตั้งแต่การควบรวมกิจการที่เกิดขึ้นก่อนการแพร่ระบาดของโควิด โดยธนาคารมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยติดลบเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมที่ 3.8% ในช่วงปี 2563-2566 ซึ่ง เนื่องจากกลยุทธ์การเพิ่มประสิทธิภาพของผลการดำเนินงาน (balance sheet optimization) ประกอบกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ซบเซาในช่วงเวลาดังกล่าว และฟิทช์คาดว่าแนวโน้มดังกล่าวน่าจะดำเนินต่อไปอีกในสองปีข้างหน้า อันดับคะแนนปัจจัยด้านโครงสร้างความเสี่ยง (risk profile) ของ TTB ที่ 'bbb-' ยังพิจารณาถึงการที่ธนาคารยังมีการกระจายตัวของสินเชื่อที่น้อยกว่าในด้านของผลิตภัณฑ์เทียบกับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศ

 

แนวโน้มคุณภาพสินทรัพย์มีเสถียรภาพ: อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมของ TTB อยู่ที่ 3.0% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 เปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยจาก 3.1% ณ สิ้นปี 2566 และฟิทช์คาดว่าอัตราดังกล่าวน่าจะสามารถทรงตัวอยู่ในระดับประมาณนี้ได้แม้ว่าจะมีแรงกดดันในระยะสั้นจากคุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่มลูกหนี้สินเชื่อรายย่อย อันดับคะแนนปัจจัยด้านคุณภาพสินทรัพย์ที่ 'bbb-' ยังสะท้อนถึงความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในเชิงรายได้และการสำรองหนี้สูญเทียบเคียงกับธนาคารขนาดใหญ่อื่น ในขณะที่การเติบโตของสินเชื่อที่ค่อนข้างช้าในช่วงปีที่ผ่านมานี้น่าจะช่วยลดแรงกดดันในการก่อตัวของสินเชื่อด้อยคุณภาพได้ (NPL)

 

ผลประกอบการปรับแข็งแกร่งขึ้น: แนวโน้มของอันดับคะแนนได้รับการปรับเป็น 'บวก' จาก 'มีเสถียรภาพ' สะท้อนถึงการความสามารถในการทำกำไรของ TTB ที่ปรับตัวดีขึ้น ซึ่งฟิทช์มองว่าน่าจะพอทรงตัวต่อไปได้ เนื่องจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นและการตั้งสำรองหนี้สูญที่ลดลง ธนาคารมีค่าเฉลี่ย 4 ปีของผลกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Operating Proft/Risk Weighted Assets) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.7% ในไตรมาสที่ 1 ปี 2567 (จาก 1.5% ในปี 2566 และ 2565) และฟิทช์คาดว่าค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนดังกล่าวน่าจะปรับขึ้นมาใกล้เคียงกับกับเกณฑ์สำหรับอันดับคะแนนในกลุ่ม 'bbb' ในอีกสองปีข้างหน้า แม้ว่าอาจจะเผชิญแรงกดดันบ้างในด้านของอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิ หากมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

 

ฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่ง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านเงินกองทุนและระดับหนี้สินของ TTB ที่ 'bbb' และแนวโน้มอันดับคะแนนเป็น 'บวก' สะท้อนถึงการปรับตัวแข็งแกร่งขึ้นของฐานะเงินกองทุนของธนาคารในช่วงสองปีที่ผ่านมา อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 (CET1) ของธนาคารปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 16.7% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 (ปี 2564: 14.4%) และฟิทช์อาจทำการปรับเพิ่มอันดับคะแนนเป็น 'bbb+' ได้ หากฟิทช์เชื่อว่าอัตราเงินกองทุนจะสามารถทรงตัวอยู่ได้ในระดับสูงขึ้นแม้ว่าอัตราการเติบโตของสินทรัพย์จะเพิ่มสูงขึ้น

 

ฐานเงินฝากที่มั่นคง: อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมเงินทุนและสภาพคล่องที่ 'bbb' ของ TTB อยู่ระดับเดียวกันกับธนาคารขนาดใหญ่รายอื่น สะท้อนถึงการที่โครงสร้างการระดมเงินทุนและสภาพคล่องของธนาคารที่อยู่ในเกณฑ์ดีอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งฟิทช์มองว่าโดยเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับกลุ่มธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศรายอื่น อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของ TTB  ปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2564 มาอยู่ที่ 96.4% ณ สิ้นไตรมาส 1 ปี 2567 (ปี 2565: 98.9%) และอัตราส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับกระแสเงินสดที่อาจไหลออกในภาวะวิกฤต (Liquidity Coverage Ratio) เฉลี่ยอยู่ที่ 185%) ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ

การปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน และอันดับเครดิตภายในประเทศอาจต้องมีการทบทวนการพิจารณาในกรณีที่ฟิทช์อาจมองว่าโครงสร้างเครดิตของ TTB ปรับตัวด้อยลงเมื่อเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ

 

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล

ฟิทช์อาจปรับลดอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล หากรัฐบาลมีความสามารถที่จะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารลดลง เหตุการณ์ดังกล่าวอาจเกิดได้จากการปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของประเทศไทย หรือหากฟิทช์เชื่อว่าโอกาสที่ TTB จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมีการปรับตัวด้อยลง เช่นจากการปรับตัวลดลงของระดับความสำคัญของธนาคารต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ เช่น การยกเลิกสถานะธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบในประเทศ หรือการเปลี่ยนแปลงในกฎเกณฑ์หรือกฎหมายที่มีนัยสำคัญ

 

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับลดอันดับ หากอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญของ TTB ปรับตัวแย่ลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งน่าจะเกิดจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวแย่ลงกว่ากรณีพื้นฐานของฟิทช์ (base case) หรือจากการที่ธนาคารมีโครงสร้างความเสี่ยงที่ปรับตัวสูงขึ้น

 

เหตุการณ์ดังกล่าวอาจบ่งชี้ได้จากในกรณีที่ ค่าเฉลี่ย 4 ปีของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 6% และอัตราส่วนสำรองหนี้สูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพที่ต่ำกว่า 100% (ไตรมาส 1 ปี 2567: 155%) และการปรับตัวลดลงของอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ต่ำกว่า 1.0% (ไตรมาส 1 ปี 2567: 1.7%)  นอกจากนี้การที่ธนาคารไม่สามารถรักษาระดับเงินกองทุนให้อยู่ในระดับเพียงพอกับความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ ซึ่งอาจบ่งชี้ได้จากอัตราส่วนเงินกองทุน CET1 ที่ต่ำกว่า 13.0% อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้เช่นกัน

 

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศ

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศและอันดับเครดิตภายในประเทศของธนาคารอาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการปรับเพิ่มอันดับ และการปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศจะพิจารณาเปรียบเทียบกับธนาคารและบริษัทอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

 

 

อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล

การที่รัฐบาลมีความสามารถในการให้การสนับสนุนแก่ TTB ในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งอาจสะท้อนได้จากการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของประเทศไทย อาจส่งผลให้อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลได้รับการเพิ่มอันดับ   แต่สมมติฐานของฟิทช์ในด้านโอกาสที่รัฐบาลจะให้การสนับสนุนแก่ธนาคารต้องไม่มีการปรับตัวลดลง ทั้งนี้หากอันดับเครดิตของประเทศไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลง การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำของ TTB ก็ไม่น่าที่จะเกิดขึ้น

 

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินอาจถูกปรับเพิ่มอันดับ TTB มีความสามารถในการดำเนินธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีฐานะทางการเงินโดยรวมที่แข็งแกร่งขึ้น โดยอาจบ่งชี้ได้จากการที่ธนาคารมีค่าเฉลี่ยของอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวมต่ำกว่า 2.7% ประกอบกับอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเฉลี่ยที่สูงกว่า 2.5% โดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงในระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้อย่างมีนัยสำคัญ และรักษาความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในด้านเงินกองทุนชั้นที่ 1 ให้อยู่ในเกณฑ์ดีในระดับที่ใกล้เคียกับธนาคารขนาดใหญ่ในประเทศในระยะปานกลาง

 

อันดับเครดิตหุ้นกู้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TTB ได้รับการจัดอันดับเครดิตให้อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวนับเป็นภาระผูกพันที่ไม่ด้อยสิทธิของธนาคาร

 

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ของ TTB อยู่ต่ำกว่าอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในกรณีที่เป็นอันดับเครดิตภายในประเทศ (implied National VR) และเป็นอันดับเครดิตอ้างอิงของหุ้นกู้ด้อยสิทธิอยู่ 2 อันดับ เพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงของการขาดทุนจากการชำระคืนเงินกู้ (loss severity risk) และสอดคล้องกับกรณีพื้นฐานตามเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ โดยหุ้นกู้ด้อยมีโอกาสที่จะได้รับชำระหนี้คืน (recovery rate) ในอัตราที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิไม่มีหลักประกัน หุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวไม่ได้ถูกปรับลดอันดับเพิ่มเติมเพื่อสะท้อนถึงความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นกู้จะไม่ได้รับผลตอบแทนตามที่คาดการณ์ (non-performance risk) เนื่องจากไม่มีคุณสมบัติรองรับผลขาดทุนระหว่างการดำเนินกิจการ (going-concern loss absorption) เช่น สิทธิในการยกเว้นหรือการเลื่อนจ่ายดอกเบี้ย การพิจารณาอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิดังกล่าวสอดคล้องกับแนวทางการจัดอันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 ที่ออกโดยธนาคารอื่นในประเทศไทย ทั้งนี้มีการกำหนดเหตุการณ์ที่จะทำให้เกิดผลการดำเนินงานที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ (non-viability trigger) คือเมื่อธนาคารกลางหรือทางการตัดสินใจเข้าให้การช่วยเหลือทางการเงินแก่ธนาคาร

 

อันดับเครดิตที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล (ex-government support: xgs)

อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของ TTB และอันดับเครดิตสากลที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ มีปัจจัยพิจารณาหลักมาจากโครงสร้างเครดิตของตัวธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ 'F3(xgs)' เทียบจากอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล และสอดคล้องกับเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์

 

อันดับเครดิตหุ้นกู้และอันดับเครดิตอื่น: ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิต

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับลดอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน

 

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับโครงสร้างเครดิตของ TTB ซึ่งสะท้อนได้จากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของธนาคาร ดังนั้นการปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB จะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

 

การปรับลดอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาล และอันดับเครดิตสากลที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ถูกปรับลดอันดับลงเช่นกัน

 

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

การปรับเพิ่มอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ TTB น่าจะส่งผลให้อันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิได้รับการปรับเพิ่มอันดับเช่นกัน

 

อันดับเครดิตของหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 อาจได้รับการปรับเพิ่มอันดับ หากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB ได้รับการปรับเพิ่มอันดับ แต่ทั้งนี้ฟิทช์จะต้องพิจารณาเปรียบเทียบกับสถาบันสถาบันการเงินอื่นที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตภายในประเทศด้วย

 

การปรับเพิ่มอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของ TTB จะส่งผลให้อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลและอันดับเครดิตสากลที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิถูกยกเลิก เนื่องจากอันดับเครดิตดังกล่าวจะไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต แต่อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลอาจจะไม่เปลี่ยนแปลง เว้นแต่อันดับคะแนนปัจจัยด้านการระดมเงินและสภาพคล่องของธนาคารได้รับการประเมินให้อยู่ที่ระดับ 'bbb+' หรือหากอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินได้รับการปรับเพิ่มอันดับเป็น 'bbb+'

 

การปรับอันดับคะแนนของปัจจัยที่ใช้ในการพิจารณาอันดับความแข็งแกร่งทางการเงิน

อันดับคะแนนปัจจัยด้านสภาพแวดล้อมในการดำเนินงานที่ 'bbb' สูงกว่าคะแนนตามเกณฑ์มาตรฐานที่ 'bb' เนื่องจากการปรับเพิ่มคะแนนจากปัจจัยด้านอันดับเครดิตของประเทศ

 

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG)

ระดับคะแนนที่สูงที่สุดสำหรับความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต (หากมีการเปิดเผย) แสดงว่าระดับคะแนนจะอยู่ที่ระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของธนาคาร ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของธนาคารก็ตามสำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมหาได้จาก www.fitchratings.com/esg

 

แหล่งข้อมูลที่มีนัยสำคัญต่อการพิจารณาอันดับเครดิต

แหล่งที่มาของข้อมูลหลักที่ใช้ในการประเมินอันดับเครดิตมีรายละเอียดเปิดเผยอยู่ในเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตที่เกี่ยวข้องของฟิทช์

 

อันดับเครดิตที่มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตอื่น

อันดับเครดิตสากล อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิตภายในประเทศ และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิของ TTB มีความเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของประเทศไทย

 

รายละเอียดของอันดับเครดิตทั้งหมดมีดังต่อไปนี้:

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘BBB’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นคงอันดับที่ ‘F2’

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวคงอันดับที่ ‘AA+(tha)’; แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นคงอันดับเครดิตที่ 'F1+(tha)'

- อันดับความแข็งแกร่งทารการเงินคงอันดับที่ 'bbb-'

- อันดับเครดิตสนับสนุนจากรัฐบาลคงอันดับที่ 'bbb'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลคงอันดับที่ 'BBB-(xgs)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลที่คงอันดับ 'F3(xgs)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันคงอันดับที่ ‘BBB’

- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวหุ้นกู้ด้อยสิทธิสกุลเงินบาทที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 ตามเกณฑ์บาเซล 3 คงอันดับที่ 'A(tha)'

- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวที่ไม่รวมการสนับสนุนจากรัฐบาลของหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิคงอันดับที่ 'BBB-(xgs)'

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

1200 แตก By: แม่มดน้อย

แม่ดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ และแล้ว ดัชนีตลาดหุ้นไทย ก็แตก 1,200 จุด ด้วยพ่อใหญ่อย่าง DELTA แม่ใหญ่ AOT เป็นหัวหอก....

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

FTI จัดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568 ผถห.อนุมัติไฟเขียวทุกวาระ จ่ายปันผล 0.04 บาทต่อหุ้น

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้