Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์ คงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศของบลจ.ไทยพาณิชย์ที่ ‘Excellent(tha)’ แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ

781

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(8 กรกฎาคม 2567)------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศ (National Investment Management Quality Rating) ของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBAM) ที่ ‘Excellent(tha)’ แนวโน้มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศของ SCBAM ที่ระดับ ‘Excellent(tha)’ พิจารณาจากการประเมิณปัจจัยต่างๆ ดังนี้

กระบวนการการลงทุน: ‘Strong’
บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน: ‘Excellent’
การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: ‘Excellent’
บริษัทและการบริการลูกค้า: ‘Excellent’
ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน: ‘Consistent’

อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศเป็นการจัดอันดับในเชิงคุณภาพ โดยที่ฟิทช์จะประเมินความสามารถ ของบริษัทจัดการกองทุนในด้านการบริหารจัดการการลงทุนและปฏิบัติการการลงทุน บริษัทจัดการกองทุนจะถูกจัดอันดับในระดับต่างๆ แบ่งเป็น ‘Excellent’ ‘Strong’ ‘Proficient’ ‘Adequate’ หรือ ‘Weak’ โดยเปรียบเทียบกับมาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน บริษัทจัดการกองทุนที่ได้รับการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนภายในประเทศที่ระดับ ‘Excellent(tha)’ แสดงถึงการที่บริษัทมีการจัดการด้านการปฏิบัติการและการลงทุนที่ฟิทช์ เห็นว่าโดดเด่นกว่ามาตรฐานที่นักลงทุนสถาบันภายในประเทศใช้ในการพิจารณาบริษัทจัดการกองทุน

กระบวนการการลงทุน: ‘Strong’
ฟิทช์มองว่า SCBAM มีกระบวนการลงทุนที่มีโครงสร้างและมีวินัยในการลงทุนที่ดีในการบริหารกองทุนที่หลากหลาย บริษัทมีการวิเคราะห์การลงทุนจากปัจจัยพื้นฐานในเชิงลึกและการตัดสินใจเลือกลงทุนอย่างมีระบบ คณะกรรมการการลงทุนพิจารณากลยุทธ์การลงทุนและติดตามวิเคราะห์องค์ประกอบผลตอบแทน (Performance Attribution) อย่างสม่ำเสมอ
บริษัทมีกระบวนการวิเคราะห์การลงทุนที่ดีและมีการบันทึกไว้อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้ในการทบทวนตราสารที่อยู่ในกรอบการลงทุน อีกทั้งฝ่ายวิเคราะห์การลงทุนยังมีการสื่อสารกับผู้จัดการกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนมีการใช้เครื่องมือเชิงปริมาณ (quantitative tools) ปัจจัยเชิงคุณภาพ (qualitative factors) ซึ่งรวมไปถึงการพิจารณาปัจจัยด้านการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (ESG) เพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์การลงทุนและกระบวนการการลงทุน ผู้จัดการกองทุนของบริษัทยังคงใช้เทคโนโลยี machine learning เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งครอบคลุมทั้งกองทุนตราสารทุนภายในประเทศและต่างประเทศ และยังใช้เป็นเครื่องมือสำหรับการหาสัญญาณการลงทุน สำหรับกองทุนอื่นๆ

บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน: ‘Excellent’
SCBAM มีโครงสร้างบุคลากรในการจัดการการลงทุนที่ดี โดยมีการกำหนดหน้าที่ตามการปฏิบัติงานในแต่ละแผนกอย่างชัดเจน และมีทีมงานที่มีประสบการณ์ในอุตสาหกรรมทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก ผู้จัดการกองทุนมีคุณสมบัติและมีประสบการณ์ทำงานผสมผสานกันตามความเหมาะสมในแต่ละกลุ่มสินทรัพย์ที่ลงทุน อัตราการลาออกของพนักงานปรับตัวลดลงและอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมในปี 2566 ทั้งนี้ ความเสี่ยงจากการพึ่งพาบุคลากรคนใดคนหนึ่ง มากเกินไปได้ถูกลดทอนลงได้จากแผนการสืบทอดตำแหน่ง การสรรหาพนักงานทดแทนอย่างทันเวลา และการจัดการโดยมุ่งเน้นการบริหารงานเป็นทีม

ระบบงานต่างๆ มีความเชื่อมต่อกันผ่านระบบอัตโนมัติ และมีความพร้อมในการปรับปรุงและบำรุงรักษาระบบอย่างสม่ำเสมอ นอกจากนี้แผนกการลงทุนยังสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนให้ผลการดำเนินงานของกองทุนปรับตัวดีขึ้นในระยะยาว ฟิทช์เชื่อว่า SCBAM มีทรัพยากรด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง และมีบุคลากรที่เหมาะสมสำหรับการจัดการการลงทุน

การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง: ‘Excellent’
กรอบนโยบายบริหารความเสี่ยงของ SCBAM มีความสอดคล้องกับนโยบายของบริษัทแม่ซึ่งคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) (SCB Bank; ‘AA+(tha)’/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งมีกรอบนโยบายบริหารความเสี่ยงและโครงสร้างการกำกับดูแลที่แข็งแกร่ง โดย SCB Bank ยังกำกับดูแล SCBAM อย่างใกล้ชิด และฝ่ายตรวจสอบ (audit) ยังคงรวมศูนย์ (centralised) อยู่ที่ธนาคารแม่ อย่างไรก็ตาม ได้มีการโอนย้ายฝ่ายงานกำกับและควบคุม (compliance) จากธนาคารมาที่ SCBAM เมื่อช่วงปีที่ผ่านมา ฝ่ายบริหารความเสี่ยงและฝ่ายงานกำกับและควบคุมของ SCBAM ยังคงมีความอิสระจากบุคลากรสายงานการจัดการการลงทุน และ SCBAM ยังมีแผนการจัดตั้งคณะอนุกรรมการบริหารความเสี่ยงสำหรับการจัดการดูแลสินทรัพย์ที่มีลักษณะเฉพาะ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมและติดตามได้

บริษัทและการบริการลูกค้า: ‘Excellent’
SCBAM มีตำแหน่งทางการตลาดที่แข็งแกร่ง โดยมีขนาดสินทรัพย์กองทุนภายใต้การจัดการ (AUM) ที่ใหญ่ที่สุดที่ 1.8 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 และมีส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 20.6% (จากปี 2565 ที่ระดับ 19.6%) จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ AUM ในทุกกลุ่มธุรกิจ บริษัทมีเครือข่ายทางธุรกิจที่แข็งแกร่งโดยเฉพาะในธุรกิจกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคลโดยมีส่วนแบ่งทางการตลาดอยู่ในลำดับ 2 ของอุตสาหกรรม ในขณะที่ ส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจกองทุนสำรองเลี้ยงชีพยังคงอยู่ในลำดับที่ 3 ของอุตสาหกรรม SCBAM มีการปรับปรุงคุณภาพการให้บริการลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ โดยมีการพัฒนาระบบการรายงานผ่านช่องทางต่างๆ และรายงานข้อมูลต่อผู้ถือหน่วยลงทุนของบริษัทยังสอดคล้องกับเกณฑ์และมาตรฐานของอุตสาหกรรม
ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน: ‘Consistent’
ผลการดำเนินงานของกองทุนภายใต้การบริหารของ SCBAM ซึ่งวัดจากผลการดำเนินงานของกองทุนเมื่อเทียบกับความเสี่ยงเป็นเกณฑ์ (risk-adjusted performance) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างสม่ำเสมอเมื่อเทียบกับบริษัทจัดการกองทุนอื่นในประเทศไทย ในส่วนของกองทุนตราสารหนี้ซึ่งมีสัดส่วนที่มากที่สุดของสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) มีผลการดำเนินงานอยู่ในระดับที่ค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับกองทุนตราสารหนี้ภายใต้การบริหารของบริษัทอื่น สำหรับกองทุนหุ้นและกองทุนประเภทจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ประเภทต่างๆ (asset allocation funds) มีผลการดำเนินการโดยรวมสอดคล้องกับกองทุนประเภทเดียวกันในอุตสาหกรรม

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน
SCBAM ดำเนินกิจการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2535 เป็นบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนที่มี AUM ขนาดใหญ่ที่สุด ในประเทศ และยังเป็นบริษัทลูกที่สำคัญของ SCB Bank ซึ่งเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดสินทรัพย์ใหญ่เป็นลำดับที่ 4 ณ สิ้นปี 2566

ปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในอนาคต
ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในประเทศอาจเปลี่ยนแปลงได้หากเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางลบอย่างมีนัยสำคัญกับปัจจัยหลัก (pillars) ที่ใช้ในการจัดอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน ซึ่งได้แก่ กระบวนการการลงทุน บุคลากรและระบบในการจัดการการลงทุน การบริหารจัดการและการควบคุมความเสี่ยง ผลการดำเนินงานจากการบริหารจัดการการลงทุน และบริษัทและการบริการลูกค้า

การปรับลดคะแนนสำหรับปัจจัยดังกล่าว เพียงปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน อาจส่งผลกระทบในทางลบต่ออันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (IMQR) ภายในประเทศได้

หาก SCB Bank มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทอย่างเป็นสาระสำคัญ ซึ่งส่งผลกระทบทำให้ระดับการสนับสนุนให้บริษัทลูกลดลง อาจส่งผลให้มีการทบทวนการประเมินอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนใหม่ ทั้งนี้ เนื่องมาจากบริษัทมีความเชื่อมโยงที่ใกล้ชิดกับบริษัทแม่ซึ่งได้ให้การสนับสนุนแก่บริษัททั้งในด้านการให้ความเห็นชอบในนโยบายต่าง ๆ การให้ความช่วยเหลือด้านการดำเนินงานและการเงิน ซึ่งรวมไปถึงการพึ่งพาช่องทางการจัดจำหน่ายของบริษัทแม่

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับคุณภาพการจัดการการลงทุน (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)
อันดับคุณภาพการจัดการการลงทุนในประเทศของ SCBAM นั้นอยู่ในอันดับที่สูงที่สุดแล้ว การปรับเพิ่มอันดับจึงไม่น่า จะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม หากกระบวนการลงทุนมีความสม่ำเสมออย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลให้มีการปรับเพิ่มอันดับคะแนนด้านกระบวนการลงทุนเป็น ‘Excellent’

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้