Company
บมจ. ซาบีน่า
เติบโตเล็กน้อยใน 2Q24F จากช่องทาง NSR
เราคาด SABINA มีกำไรสุทธิ 2Q24 อยู่ที่ 121 ล้านบาท (+5% YoY, -1% QoQ) โดยการเติบโตเป็นไปอย่างจำกัดจากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อ่อนแอ โดยคาดรายได้รวมอยู่ที่ 881 ล้านบาท เติบโต 5% YoY จากช่องทาง NSR เป็นหลัก ในขณะที่ธุรกิจ OEM ยังทรงตัวในระดับต่ำเนื่องจากลูกค้าในยุโรปยังชะลอคำสั่งซื้อกอปรกับปัญหาในการขนส่ง อย่างไรก็ดีผู้บริหารยังดำเนินกลยุทธ์ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการบวนการผลิตอย่างต่อเนื่องรวมถึงควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ทำให้ภาพรวม 1H24F คาดกำไรสุทธิคิดเป็นราว 47% ของประมาณการ
แนวโน้ม 2Q24F เติบโต YoY ต่อเนื่อง
คาดรายได้อยู่ที่ 881 ล้านบาท เติบโต 5% YoY จากช่องทาง NSR ที่ทำได้ตีต่อเนื่องและ OEM ที่เป็นฐานต่ำในปีที่แล้ว ส่วนการเติบโตของช่องทางการขายใหม่อย่าง TikTok ที่เพิ่งเริ่มเมื่อช่วง 4Q23 ที่ผ่านมาเป็นไปด้วยดี โดยมียอดขายเฉลี่ยปัจจุบันที่ราว 10 ลบ./เดือน (จาก 1 ลบ.ในช่วง ต.ค.23) ในขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นคาดปรับขึ้นเล็กน้อยเป็น 50.4% จาก 49.6% จากความพยายามในการลดต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่อง ส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารคาดลดลงเป็น 33.6% ต่อยอดขายจาก 34.9% ใน 2Q23 จากสัดส่วนการขายที่ผ่านช่องทาง NSR มากขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอทำให้มีการระมัดระวังในการใช้ค่าใช้จ่ายทางการตลาดมากขึ้น โดยรวมจึงคาดบริษัทจะมี OPM อยู่ที่ 17.7% ดีขึ้นเล็กน้อยจาก 17.0% ใน 2Q23 และทรงตัว QoQ จาก 17.6% ใน 1Q24
การเติบโตท้าทายมากขึ้นท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอ
เป้าหมายการเติบโตของ SABINA ที่ 5-10% ในปี 2024F มีความท้าทายมากขึ้นในมุมมองของเรา โดยเราคาดใน 1H24F รายได้จะยังเติบโตเพียง 4.3% YoY จากการชะลอแผนการทำตลาดออกไปจากกำลังซื้อที่อ่อนแอ ส่วนกลยุทธ์หลังจากนี้ SABINA วางแผนชิงส่วนแบ่งทางการตลาดจากคู่แข่งรายเล็ก (Non-Brand) มากขึ้นซึ่งเป็นสัดส่วนราว 57% ของมูลค่าตลาดรวมที่ 2.8 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดสินค้าเฉลี่ยไม่เกิน 400 บาท/ชิ้น ที่ยังต้องรอการพิสูจน์ความสำเร็จจากการควบคุมคุณภาพและภาพลักษณ์ของแบรนด์ในระยะกลาง-ยาว ในขณะที่ช่องทางการเติบโตในประเทศฟิลิปปินส์ยังมุ่งเน้นการทำตลาดผ่านช่องทาง Online มากขึ้น
มูลค่าเหมาะสม 30.0 บาท ยังคงแนะนำ “ซื้อ”
เราประเมินมูลค่าที่เหมาะสมปี 2024F ที่ 30.0 บาท อิงจาก P/E ที่ 20.0x เรายังคงแนะนำ “ซื้อ” โดยมีเงินปันผลสูงราว 6% ต่อเนื่องด้วย Payout ratio 100% ปัจจัยเสี่ยงมาจากการฟื้นตัวของรายได้ อัตรากำไขขั้นต้นและการควบคุมค่าใช้จ่ายที่แย่กว่าคาด