Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.ทิสโก้ : ITC แนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 29.5 บาท

844

 


Company
บมจ. ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น

ITC ผู้นำการส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกในไทย

เราเริ่มวิเคราะห์หุ้น ITC ด้วยคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 29.5 บาท จาก 1) ประเทศไทยส่งออกอาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับ 3 ของโลก, ITC มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 3 ส่งออกของไทย และเป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 5 ของเอเชีย และติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก 2) อาหารแมวและสุนัขแบบเปียกหรือแบบพรีเมี่ยมของโลกคาดยังเติบโต 6.5% และ 5.5% (CAGR ปี 2023-28F) ตามลำดับ 3) บริษัทมีฐานลูกค้าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 4 รายใหญ่ของโลก 4) บริษัทมีทีมงานวิจัยและพัฒนาสินค้าแข็งแกร่งร่วมพัฒนากับคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง 5) ขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นรองรับการส่งออกเติบโต เราคาดผลประกอบการ 2024-26F เติบโตเฉลี่ย 30% (CAGR 3Y)

คาดกำไรสุทธิ 2Q24F เติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น

เราคาด ITC จะมีกำไรสุทธิ 2Q24F ที่ 902 ล้านบาท (+103%YoY, +10%QoQ) จากคาดรายได้ที่เพิ่มขึ้น 30%YoY และ 5%QoQ หลักๆ มาจากกลุ่มลูกค้าทวีปอเมริกาและยุโรปที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นกลุ่มทวีปเอเชียที่ลดลง ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ารายเดิมและรายใหม่ กลุ่มลูกค้า Private Label ที่เพิ่มขึ้นตาม demand ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการสั่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบจากค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มอเมริกา อัตรากำไรขั้นต้นคาดเพิ่มขึ้น YoY และ QoQ จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ และมูลค่าของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการมีโปรเจคการใช้ consultant เข้ามาเพื่อพัฒนาการตลาด คาดไตรมาสนี้บริษัทมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนประมาณ 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 44 ล้านบาทใน 1Q24

คาดกำไรสุทธิปี 2024F เพิ่มขึ้น 65%YoY และจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% (CAGR3Y)

แนวโน้มผลประกอบการ 3Q24F เราคาดจะเพิ่มขึ้นได้ YoY และ QoQ จากการเลื่อนส่งสินค้าใน 2Q24F มา 3Q24F ประมาณ 8% ที่ยังไม่ได้ส่งมอบและบริษัทมีออเดอร์ backlog 55% แล้วจากเป้าหมาย และคาดรายได้ 4Q24F จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 3Q24F จากดีมานด์ที่คาดเพิ่มขึ้น คาดอัตราทำกำไรใน 2H24F จะต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากค่าเสื่อมราคาของโรงงานที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.24 ถึงสิ้นปีประมาณ 145 ล้านบาท (เฉลี่ยค่าเสื่อมเดือนละ 20 ล้านบาท) เราคาดกำไรสุทธิปี 2024F จะเพิ่มขึ้น +65%YoY และคาดกำไรสุทธิในปี 2024-26F จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยได้ 30% (CAGR3Y) คาดรายได้ปี 2024F เพิ่มขึ้นทุกทวีป จากการผสมผสานผลิตภัณฑ์และการปรับราคาขายเพิ่มขึ้น และยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์การขยายธุรกิจผ่านร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (Private Label), ร้านขายสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ (ออฟไลน์และออนไลน์) และตลาดใหม่ เช่น ละตินอเมริกา เป็นต้น คาดอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นจากรายได้ตามภาพรวมอุตสาหกรรมที่เติบโต กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นเกิดการประหยัดขนาด และการขายสินค้าพรีเมี่ยมเพิ่มขึ้น คาดค่าใช้จ่ายในการขายปี 2024F เพิ่มขึ้นจากการทำโปรเจ็ค consultant พัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด

เริ่มต้นวิเคราะห์ด้วยคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 29.5 บาท

เราเริ่มต้นวิเคราะห์หุ้น ITC ด้วยคำแนะนำ “ซื้อ” จากความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมและมีส่วนแบ่งการตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงส่งอกอันดับต้นในประเทศ มูลค่าที่เหมาะสมที่ 29.50 บาท อ้างอิง PER Forward +1STD ค่าเฉลี่ยที่ 23.5X เทียบเท่า PEG24F 0.78X (คาด eps growth ที่ 30% (CAGR3y) สถาณะการเงินแข็งแกร่งเป็นเงินสดสุทธิ (net cash)


ประเด็นการลงทุน

ITC เป็นหนึ่งในผู้นำในการรับจ้างผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก บริษัทประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงประเภทแมวและสุนัขทั้งผลิตภัณฑ์ระดับทั่วไป (Mainstream Products) ไปจนถึงผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม (Premium Products) โดย ณ สิ้นปี 2023 บริษัทมีรายการผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายทั้งหมด 4,858 รายการ ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์อาหารแมวและสุนัขแบบเปียก แบบกึ่งแห้งกึ่งเปียก และแบบแห้ง รวมไปถึงขนมสำหรับสัตว์เลี้ยง โดยผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นอาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียก ในปี 2023 ได้ถูกจัดอันดับให้เป็นบริษัทที่ประกอบธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอันดับที่ 5 ของเอเชีย และติดอันดับหนึ่งในสิบของโลก เมื่อพิจารณาจากรายได้ต่อปี (ที่มา : petfoodindustry.com) และบริษัทยังเป็นผู้ส่งออกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่อันดับ 3 ในประเทศไทย

ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมียมให้กับลูกค้าระดับ Global brands บริษัทมีฐานลูกค้ากลุ่ม Global brands 4 รายใหญ่ในกลุ่ม top 5 ของโลก และรายใหญ่รายที่ 5 กำลังอยู่ระหว่างเจรจา เช่น Smucker Mars และ Aixia รวมถึงลูกค้าแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยง และบริษัทค้าปลีกอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของโลก บริษัทมีรายได้จากลูกค้ารายใหญ่สามอันดับแรกคิดเป็น 43% ของรายได้รวม และมีแผนการบริหารความเสี่ยงดังกล่าวด้วยการขยายฐานลูกค้าให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยเพิ่มส่วนแบ่งการตลาดในลูกค้ากลุ่มร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (Private Label) ในกลุ่มสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป ทวีปเอเชีย

มุ่งเน้นขยายฐานลูกค้าในกลุ่ม Private Label ในปี 2023 บริษัทจัดตั้ง i-Tail Europe B.V. (ITE) ในทวีปยุโรป และ i-Tail Pet Food (Shanghai) (ITS) ในประเทศจีน เพื่อมุ่งเน้นหาลูกค้ากลุ่มร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (Private Label) ซึ่ง ITE ได้มีลูกค้าใหม่ในทวีปยุโรปเพิ่มขึ้นแล้ว นอกจากนี้ยังได้ทำสัญญารับจ้างผลิตกับเจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของโลกระดับ TOP 5 และบริษัทยังคงเน้นขยายธุรกิจแบรนด์ของ ITC เองไปต่างประเทศเพื่อขยายฐานลูกค้าให้หลากหลายมากขึ้น ได้แก่ เบลลอตต้า (Bellotta), มาร์โว่ (Marvo), เชนจ์เตอร์ (ChangeTer), Calico Bay และ Paramount

โครงสร้างรายได้ปี 2023 แบ่งตามประเภทสัตว์เลี้ยงเป็นอาหารแมวมากที่สุด 72%, อาหารสุนัข 16% ตามด้วย Pet treats ขนมอาหารสัตว์เลี้ยง 12% ของรายได้รวม โดยมีสัดส่วนสินค้าที่เป็นกลุ่มราคา Premium 43% ในปี 2023 ลดลงจากปี 2022 อยู่ที่ 49.3% เนื่องจากความต้องการสินค้ากลุ่มราคาปานกลางเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ชะลอตัว อย่างไรก็ตามบริษัทมีแผนเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่ม premium จากกลุ่มสินค้า premium และ pet treats เพิ่มขึ้น จากการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ เช่น อาหารสัตว์เลี้ยงที่ดีต่อสุขภาพตับ ผิวหนัง ขน ระบบทางเดินอาหาร เป็นต้น

 


ประเมินมูลค่า

ประเมินมูลค่า : เราแนะนำ “ซื้อ” ประเมินมูลค่าราคาเป้าหมายปี 2024 ของ ITC ที่ 29.50 บาท จากความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมี่ยมและมีส่วนแบ่งการตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงส่งออกอันดับต้นในประเทศและเอเชียและติดใน 10 อันดับของโลก มูลค่าที่เหมาะสมที่ 29.50 บาท อ้างอิง PER Forward +1STD ค่าเฉลี่ยที่ 23.5X เทียบเท่า PEG24F 0.78X (คาด eps growth ที่ 30% (CAGR3y) สถาณะการเงินแข็งแกร่งเป็นเงินสดสุทธิ (net cash) และคาด Dividend Yield 24F 2.7%จากการคาด AAI จะมีอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง หลังจากการขยายกำลังการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรองรับตลาดการส่งออกที่มีขนาดใหญ่และมีอัตราเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงการบริหารจัดการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายให้เหมาะสมกับการขยายธุรกิจในอนาคต โดยการประเมินมูลค่าของเราค่อนข้างอนุรักษ์นิยมจากค่าเฉลี่ย PEG ยังต่ำกว่าตลาดในประเทศและภูมิภาคอยู่ที่ PEG24F ที่ 1.4X

 

ภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงและโอกาสการเติบโต

ประเทศไทยส่งออกอาหารสุนัขและแมวเป็นอันดับ 3 ของโลก, ITC มีส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 3 ส่งออกของไทย

ภาพรวมอุตสาหกรรมการส่งออกของอาหารสุนัขและแมวของโลกปี 2022 มีมูลค่า 22,474 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6%YoY โดยประเทศไทยมีการส่งออกมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก ที่มูลค่า 2,436 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีส่วนแบ่งการตลาด 11% ของโลก โดยประเทศที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่เยอรมนีที่มีส่วนแบ่งการตลาด 12% ตามด้วยอันดับ 2 คือสหรัฐอเมริกาที่มีส่วนแบ่งการตลาด 11% ของโลก

ประเทศสหรัฐฯ เป็นผู้นำเข้าของอาหารสุนัขและแมวของโลก สอดคล้องกับ ITC มีการส่งออกกลุ่มนี้มากที่สุด

ภาพรวมอุตสาหกรรมการนำเข้าอาหารสุนัขและแมวของโลกปี 2022 มีมูลค่า 22,530 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 9%YoY โดยประเทศที่นำเข้ามากที่สุดคือสหรัฐอเมริกามีมูลค่า 2,161 ล้านบาท หรือมีส่วนแบ่งการตลาดเป็นอันดับ1 ที่ 10% ของโลก ตามด้วยประเทศเยอรมนีมีมูลค่า 2,017 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือมีส่วนแบ่งการตลาด 9% โดยลูกค้ารายใหญ่ของ ITC เป็นกลุ่มทวีปอเมริกาเป็นหลักที่มีสัดส่วนรายได้ 50% ของรายได้รวม ตามด้วยกลุ่มทวีปยุโรป 13% ของรายได้ปี 2023

สำหรับ ITC มีโครงสร้างรายได้ปี 2023 ในกลุ่มทวีปอเมริกามากที่สุด 50% ของรายได้รวม สอดคล้องกับการนำเข้าอาหารสุนัขและแมวของประเทศสหรัฐฯที่มีการนำเข้ามากที่สุดของโลก


ประชากรสุนัขและแมวโลกและการใช้จ่ายอาหารสัตว์เลี้ยงต่อหัวยังเติบโต

จากข้อมูล Euromonitor International มีมการคาดการณ์เติบโตของประชากรสุนัขและแมวโลกที่เฉลี่ย 2.2% (CAGR 2023-28F) จากการเติบโตในอดีตที่ผ่านเฉลี่ย 3.4% (CAGR 2018-2022) และมีการคาดการณ์ของการใช้จ่ายอาหารสัตว์เลี้ยงต่อหัวต่อปีเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 5% (CAGR 2023-28F) จากอดีตที่ผ่านเพิ่มขึ้น 4.5% (CAGR 2018-2022)

อาหารสัตว์เลี้ยงสุนัขและแมวแบบพรีเมี่ยมยังเติบโต ทั้งอาหารแบบเปียกและอาหารเสริมสัตว์เลี้ยง

จากข้อมูล Euromonitor International ได้คาดการณ์อาหารแมวและสุนัขแบบเปียกหรือแบบพรีเมี่ยมจะเติบโต 6.5% และ 5.5% (CAGR ปี 2023-28F) ตามลำดับ และตลาดขนมสัตว์เลี้ยงสำหรับแมวและสุนัขคาดว่าจะมีการเติบโต 8.2% และ 5.4% (CAGR ปี 2023-28F) ตามลำดับ เช่นกัน เนื่องจากสังคมเมือง (Urbanization) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นและการที่เจ้าของสัตว์เลี้ยงหันมาสนใจแมวและสุนัขตัวเล็กมากขึ้นมูลค่าการขายปลีกอาหารเปียกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากราคาที่สูง และแนวโน้มของกระแส Premiumization ของอาหารแบบเปียกสุนัขและแมว

กลยุทธ์การเติบโตของบริษัท

การขยายฐานลูกค้าใหม่และยังคงพัฒนาสินค้าใหม่จากฐานลูกค้าเดิม โดย 1) ขยายฐานกลุ่มลูกค้า supermarket และร้านค้าปลีกในสหรัฐฯและกลุ่มยุโรป และยังมีฐานลูกค้าระดับโลกเติบโตต่อเนื่อง 2) ขยายฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มที่ไม่ใช่ระดับโลกเพื่อสร้างความสมดุลของกลุ่มฐานลูกค้า 3) มุ่งเน้นการขายสินค้าพรีเมี่ยมในกลุ่มฐานลูกค้า private label เป้าหมายสัดส่วนรายได้ 18% ในปี 2025F จาก 15% ในปี 2022 และแบรนด์ระดับประเทศ 4) ขยายตลาดใหม่จากการเติบโตในกลุ่มยุโรปและประเทศจีนผ่านสำนักงานขายแห่งใหม่ ตั้งเป้าหมายสัดส่วนรายได้ในยุโรปและจีนเป็น 23% และ 5.8% ในปี 2025F โดยในยุโรปเน้นกลุ่มลูกค้า private label ด้วยสินค้าพรีเมี่ยม และจีนใช้กลยุทธ์ธุรกิจจากการ OEM supplier ของ global brands การเป็นพาร์เนอร์กับผู้เล่นในประเทศจีนเน้นออนไลน์และออฟไลน์เสนอสินค้าอาหารสัตว์เลี้ยงคุณภาพพรีเมี่ยม และการขยายตลาดจะมุ่งเน้นการผู้นำ e-commerce platform

บริษัทมีฐานลูกค้าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง 4 รายใหญ่ของโลก

ITC มีฐานลูกค้าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของโลกช่วยสร้างฐานการเติบโตของรายได้มั่นคงและยั่งยืน และยังมีโอกาสเติบโตตามเทรนของการคาดการณ์การเลี้ยงสัตว์เลี้ยงเพิ่มขึ้นส่งผลต่อการเติบโตตามกลุ่มลูกค้าเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มลูกค้าธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงที่เป็นรายใหญ่ของโลก 4 ราย คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 43% ของรายได้รวม ITC ในปี 2023 สำหรับรายที่ 5 อยู่ระหว่างเจรจา โดยจากข้อมูล statista.com ได้เปิดเผยข้อมูลการจัดอันดับจากรายได้ในปี 2023 ของผู้เล่นธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหญ่ของโลก 5 อันดับแรกที่มีมูลค่าของรายได้รวมเกือบ 50,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ได้แก่ อันดับ 1 Nestle Purina Petcare, อันดับ 2 Mars Petcare Inc., อันดับ 3 Hill’s Pet Nutrition, อันดับ 4 General Mills และอันดับ 5 J.M. Smucker

โครงสร้างรายได้ ITC ปี 2023 แยกตามกลุ่มธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงเท่านั้น โดยรายได้กลุ่ม Global brands มีสัดส่วนรายได้ 43% มาจากรายใหญ่ 4 รายของโลก, รายได้กลุ่ม Brand owners & importers คือ เจ้าของแบรนด์อาหารสัตว์เลี้ยงอื่นๆ และผู้นำเข้า มีสัดส่วนรายได้ 39%, รายได้กลุ่ม Private Label หมายถึงกลุ่ม Supermarkets, ร้านค้าปลีก retailers และกลุ่ม e-Commerce มีสัดส่วนรายได้ 16% และ Own brand สินค้าของบริษัทเองมีสัดส่วนรายได้ 2%


การพัฒนาผลิตภัณฑ์เน้นนวัตกรรมใหม่ จากการออกสินค้าใหม่ที่มีการวิจัยและพัฒนา (R&D) ทำการพัฒนาสินค้าร่วมกับลูกค้า เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีโภชนาการครบถ้วน โปรตีนทางเลือก และสินค้ารูปแบบที่ใกล้เคียงกับที่คนบริโภค ขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงและตลาดอาหารเสริมสำหรับสัตว์เลี้ยง (pet treats) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้า premium บริษัทมีเป้าหมายสัดส่วนรายได้ 22% ในปี 2025F จาก 15% ในปี 2022 และการขยายกลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารสุนัขแบบเปียก บริษัทได้เปิดตัวศูนย์วิจัยอาหารแมว “i-Cattery” ร่วมกับคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลเพื่อให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์การวิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์เลี้ยงให้กับลูกค้าในการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ร่วมกัน

บริษัทมีทีมงานวิจัยพัฒนาสินค้าใหม่และลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยสินค้าที่มีนวตกรรมในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาคิดเป็นสัดส่วน 21.5% ของรายได้ ใน 1Q24 โดยบริษัทอยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตร 17 รายการ บริษัทมีทีมวิจัยและพัฒนา และศูนย์วัตกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง (Global PetCare Innovation – GPCI) เพื่อคิดค้นสูตร การปรับโภชนาการ การศึกษาส่วนผสมทางเลือก และการช่วยเหลือลูกค้า ในขณะที่ฝ่ายพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรม (Business Development innovaton – Bdi) จะเน้นให้ข้อมูลและความรู้เชิงลึกของตลาดและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงได้ทันท่วงที

ปี 2023 บริษัทมีสินค้าใหม่ 1,318 รายการ และมีอาหารสัตว์เลี้ยงและขนมสัตว์เลี้ยงหลากหลายถึง 4,858 รายการ ที่นำเสนอขายให้แก่ลูกค้า และปี 2023 บริษัทได้เปิดศูนย์วิจัยอาหารแมว i-Cattery เพื่อศึกษาวิจัยด้านโภชนาการและสูตรอาหารแมว เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า และยังมีโรงงานต้นแบบ (Pilot Plant) เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการพัฒนาต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกจากนี้บริษัทยังได้ร่วมกับศูนย์วิจัยวัตกรรมไทยยูเนี่ยน (Global Innovation Center : GIC) มหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศหลายแห่ง ช่วยเสริมสร้างให้บริษัทมีกระบวนการคิดค้นวัตกรรมที่แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น


ขยายกำลังการผลิตเพิ่มประสิทธิภาพรองรับการเติบโต

บริษัทมีแผนสร้างโรงงานใหม่ที่จังหวัดสมุทรสาครช่วยเพิ่มกำลังการผลิตอาหารเปียกและขนมสัตว์เลี้ยง 18.7% จากกำลังการผลิตเดิม 172,786 ตันต่อปี รองรับการขยายธุรกิจในอีก 5 ปีข้างหน้า เริ่มการผลิตอย่างเป็นทางการในเดือนมิ.ย.24 เป็นต้นไป ค่าเสื่อมประมาณ 247ล้านบาท/ปี (8.5 ปี) (ตั้งแต่ 2Q24 เป็นต้นไป) เงินลงทุนรวม 2.1 พันล้านบาท โดยบริษัทจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI ตั้งแต่ ก.ค.24 เป็นต้นไป คลังสินค้า ASRS ใหม่ที่โรงงานสงขลา คาดดำเนินการในปี 2025 ความจุ 46,256 พาเลท เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและเพิ่มระบบอัตโนมัติในคลังสินค้า 2 โรงงานจาก 48% เป็น 70% ภายในปี 2025 งบลงทุน 1.3 พันล้านบาท (สำหรับปี 2024-25) คืนทุน 8.4 ปี เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ม.ค.24 คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในสิ้นปี 2025

สร้างความยั่งยืนเป้าหมายภายในปี 2030 ภายใต้กลยุทธ์ SeaChange มุ่งเน้นไปที่โลก ผู้คน และสัตว์เลี้ยง

การใช้บรรจุภัณฑ์รีไซเคิลเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Packaging) โดยบริษัททำงานร่วมกับลูกค้าหลักสองรายเพื่อเปิดตัวบรรจุภัณฑ์รีไซเคิลที่ยั่งยืนในปี 2025 และจะทำให้บรรลุเป้าหมาย 60% สำหรับธุรกิจ OEM ภายในปี 2030,

ตั้งเป้าหมายมลพิษเป็นศูนย์ (net-zero emissions) จากการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลในหม้อต้มไอน้ำ (Biomass fuel in boiler ) คิดเป็นสัดส่วน 70% ของการผลิต โดยบริษัทมีแผนจะเพิ่มในโรงงานสงขลาภายในปี 2025 การใช้แผงโซลาร์เซลล์ปัจจุบันมีสัดส่วน 4.8MW หรือ 10% โดยมีแผนเพิ่มสัดส่วนอีกปีละ 10% ในปี 2026-27 รวมเป็น 30% และตั้งเป้าหมายการเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 42% ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2030 จากปี 2021

กระบวนการผลิตในระดับที่ดีที่สุด(Best-in-Class Manufacturing) จากการเปิดตัวระบบ Ultrafilteration และ Reverse Osmosis (UFRO) ในโรงงานสงขลา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Zero Wastewater Discharge เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 100%, การบำบัดน้ำเสียภายในปี 2025 รวมถึงลดการใช้น้ำ จากความมุ่งมั่นของ ITC ที่จะดำเนินงานโรงงาน 2 แห่งจากทั้งหมด 5 แห่งของ TU โดยมุ่งสู่ระบบหมุนเวียนเต็มรูปแบบ (ของเสียเป็นศูนย์) ภายในปี 2030

บริษัทรับผิดชอบต่อลูกค้า พนักงาน และสิ่งแวดล้อม ด้วยการเพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า คุณภาพ การบริการ และนวัตกรรม ความรวดเร็วในการออกสู่ตลาดโดยเฉลี่ยน้อยกว่า 4 สัปดาห์นับจากวันที่ร้องขอภายในจนถึงราคาและการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ขับเคลื่อนการมีส่วนร่วมของพนักงานและการพัฒนาความสามารถภายในรวมถึงกลุ่มสตาร์ทอัพ สนับสนุนข้อผูกพัน Seachange 2030 การเปิดตัว Ultrafilteration และ Reverse Osmosis (UFRO) สำหรับบำบัดน้ำเสียในโรงงานสงขลา

 

ผลประกอบการในช่วงที่ผ่านมา

กำไรสุทธิปี 2022 เพิ่มขึ้น 64% YoY จากยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง

บริษัทมีกำไรปี 2022 อยู่ที่ 4,470 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 64% YoY จากยอดขายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยงที่เพิ่มขึ้น โดยรายได้ปี 2022 อยู่ที่ 22,528 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% YoY ในส่วนของโรงงานที่จังหวัดสมุทรสาครที่บริษัทซื้อจาก TUM ตามแผนการปรับโครงสร้างธุรกิจ จากผลิตภัณฑ์พลอยได้จากวัตถุดิบทางทะเลของบริษัทบางส่วนหักลบด้วยยอดขายอาหารทะเลแปรรูปที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการปรับแผนธุรกิจของบริษัทที่ต้องการทยอยหยุดธุรกิจอาหารทะเลแปรรูปเพื่อมุ่งเน้นในธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง อัตรากำไรขั้นต้นปี 2022 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 24% เป็นผลมาจากราคาขายที่สูงขึ้น และจากการเข้าซื้อธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงจาก TUM การจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ และสัดส่วนของผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียมที่สูงขึ้น และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น จากค่าคอมมิชชั่นที่เพิ่มขึ้นสูงขึ้น ค่าระวางเรือที่สูงขึ้น ค่าใช้จ่ายบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการโอนบุคลากรมาจาก TUM และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวเกี่ยวกับการเสนอขายหุ้น IPO และการว่าจ้างที่ปรึกษา บริษัทมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 175 ล้านบาท เทียบกับ 142 ล้านบาทในปี 2021 เนื่องจากการแข็งค่าสกุลดอลลาห์สหรัฐต่อสกุลเงินบาท และมีค่าใช้จ่ายภาษีอยู่ที่ 48 ล้านบาท เทียบกับ 19.7 ล้านบาท ในปี 2021 เนื่องจากการปรับปรุงสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชีจากกำไรขั้นต้นจากสินค้าคงเหลือปลายงวดที่ซื้อมาจาก ITC และกำไรสุทธิก่อนภาษี US Pet Nutrition (USPN) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในสหรัฐอเมริกา โดยเพิ่มสูงขึ้นสอดคล้องกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทที่เพิ่มขึ้น

กำไรสุทธิปี 2023 ลดลง 49%YoY จากการระบายสินค้าคงเหลือของลูกค้าในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023

บริษัทมีกำไรปี 2023 อยู่ที่ 2,281 ล้านบาท ลดลง 49%YoY จากรายได้ที่ลดลงเป็นหลักจากการระบายสต็อกสินค้าคงเหลือเป็นหลัก โดยรายได้ปี 2023 อยู่ที่ 15,577 ล้านบาท ลดลง 31%YoY จากฐานสูงในปี 2022 และการระบายสินค้าคงเหลือของลูกค้าในสหรัฐฯและยุโรปในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2023 อัตราเงินเฟ้อส่งผลให้การใช้จ่ายของลูกค้าลดลง สัดส่วนการขายสินค้าพรีเมี่ยมลดลง และรายได้จากค่าระวางสินค้าลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยอดขายในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 เริ่มฟื้นตัวจากการกลับมาสั่งซื้อของลูกค้าและร้านค้าปลีกในสหรัฐและยุโรป ระดับสินค้าสินค้าคงเหลือของลูกค้าเริ่มกลับมาสู่ระดับปกติ และการที่บริษัทเปิดตัวผลิตภัณฑ์นวัตกรรมใหม่ๆอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 โดยหากเปรียบเทียบรายได้กับปีฐานปกติในปี 2021 รายได้เติบโต 7% อัตรากำไรขั้นต้นปี 2023 ลดลงมาอยู่ที่ 19.5% ตามกำลังการผลิตที่ลดลงตามปริมาณการขายลดลง 18% ส่งผลให้ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยสูงขึ้น และสัดส่วนการขายสินค้าพรีเมี่ยมที่มีมาร์จิ้นสูงกว่าลดลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 อ้ตรากำไรขั้นต้นเริ่มเพิ่มขึ้นจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลงโดยเฉพาะปลาทูน่า และราคาขายเฉลี่ยสูงขึ้นโดยใน 4Q23 อยู่ที่ 22%ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขายอยู่ที่ 7.6% เพิ่มขึ้น จากยอดขายที่ลดลงในสัดส่วนที่สูงกว่าการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ประกอบกับในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2023 ค่าใช้จ่ายปรับตัวสูงขึ้นเพื่อรองรับกิจกรรมการทำการตลาดสอดคล้องกับยอดขายที่เพิ่มขึ้น บริษัทมีขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 33 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าเงินขึ้น (US$ต่อไทยบาทลดลง 0.7%YoY) สำหรับค่าใช้จ่ายภาษีอยู่ที่ 132 ล้านบาท มาจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI ดอกเบี้ยจากการลงทุนในหุ้นกู้และเงินฝากประจำ และความสามารถในการทำกำไรที่สูงขึ้นของบริษัทย่อยในสหรัฐฯอเมริกา

 

คาดการณ์ผลประกอบการในอนาคต

คาดกำไรสุทธิ 2Q24F เติบโตได้ทั้ง YoY และ QoQ จากยอดขายที่เพิ่มขึ้น

เราคาด ITC จะมีกำไรสุทธิ 2Q24F ที่ 902 ล้านบาท (+103%YoY, +10%QoQ) จากคาดรายได้ที่เพิ่มขึ้น 30%YoY และ 5%QoQ หลักๆ มาจากกลุ่มลูกค้าทวีปอเมริกา (คาดสัดส่วน 51%) และยุโรป (คาดสัดส่วน 17.3%) ที่เพิ่มขึ้น ยกเว้นกลุ่มทวีปเอเชียที่ลดลง ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นของลูกค้ารายเดิมและรายใหม่ และมีลูกค้า Global 1 รายที่มีคำสั่งซื้อลดลงใน 1Q24 มาสั่งเพิ่มใน 2Q24F, การออกสินค้าใหม่, กลุ่มลูกค้า Private Label ที่เพิ่มขึ้นตาม demand ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการสั่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากผลกระทบจากค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มอเมริกา เนื่องจากจะมีการทยอยขึ้นภาษีการนำเข้าสินค้าจากประเทศจีนในอเมริกาในปีนี้ ทำให้จีนเร่งส่งออกสินค้าไปยุโรปและอเมริกาจากผลกระทบที่จะเกิดขึ้นดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์ในการขนส่งทางเรือชั่วคราว อย่างไรก็ตาม บริษัทได้รับผลกระทบในการส่งสินค้าไม่ทันประมาณ 8% ที่เลื่อนไปใน 3Q24F ด้วยเช่นกัน สำหรับรายได้แบ่งเป็นกลุ่มสินค้า premium ราว 47% ลดลงเล็กน้อยใน 49% ใน 1Q24 แต่ยังเป็นไปตามที่บริษัทคาดหวังสัดส่วนที่ 45-47% อัตรากำไรขั้นต้นคาดเพิ่มขึ้น YoY และ QoQ จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นตามรายได้ และมูลค่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นจากการมีโปรเจคการใช้ consultant เข้ามาเพื่อพัฒนาการตลาด ในส่วนค่าขนส่งทางเรือที่เพิ่มขึ้นมีผลกระทบเล็กน้อย เนื่องจากบริษัทขายสินค้าแบบ FOB สัดส่วน 90% (ลูกค้ารับภาระค่าขนส่ง) คาดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 50 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 44 ล้านบาทใน 1Q24

คาดกำไรสุทธิปี 2024F เพิ่มขึ้น 65%YoY และจะเติบโตเฉลี่ยปีละ 30% (CAGR3Y)

แนวโน้มผลประกอบการ 3Q24F เราคาดจะเพิ่มขึ้นได้ YoY และ QoQ จากการเลื่อนส่งสินค้าใน 2Q24F มา 3Q24F ประมาณ 8% ที่ยังไม่ได้ส่งมอบและบริษัทมีออเดอร์ backlog 55% แล้วจากเป้าหมาย และคาดรายได้ 4Q24F จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจาก 3Q24F จากดีมานด์ที่คาดเพิ่มขึ้น คาดอัตราทำกำไรใน 2H24F จะต่ำกว่าครึ่งปีแรก เนื่องจากค่าเสื่อมราคาของโรงงานที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมิ.ย.24 ถึงสิ้นปีประมาณ 145 ล้านบาท (เฉลี่ยค่าเสื่อมเดือนละ 20 ล้านบาท) เราคาดกำไรสุทธิปี 2024F จะเพิ่มขึ้น +65%YoY และคาดกำไรสุทธิในปี 2024-26F จะเพิ่มขึ้นเฉลี่ยได้ 30% (CAGR3Y) จากการคาดรายได้ปี 2024F เพิ่มขึ้น 21%YoY อยู่ที่ และคาดปี 2024-26F รายได้เติบโตเฉลี่ยปีละ 16% (CAGR3Y) จากคาดปริมาณที่เพิ่มขึ้นจากลูกค้ารายเดิมและรายใหม่และจากการขยายตลาดและช่องทางจำหน่าย พัฒนาสินค้าใหม่ มุ่งเน้นกลุ่มร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (Private Label) และการปรับราคาขายให้เหมาะกับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ยังคงความเป็นสินค้าพรีเมี่ยม โดยคาดสัดส่วนรายได้จากกลุ่มทวีปอเมริกาปี 2024F อยู่ที่ 49%, ทวีปยุโรป 17% และทวีปเอเชียและโอเชียเนียอยู่ที่ 34% ตามลำดับ

 

 

 


คาดรายได้กลุ่มทวีปอเมริกาเพิ่มขึ้นเฉลี่ยละ 16% (CAGR3Y) ) ได้แก่ประเทศในอเมริกา แคนนาดา บราซิล และประเทศอื่นในทวีปอเมริกา (คาดสัดส่วนรายได้ปี 2024F อยู่ที่ 49% ของรายได้รวม) จากการผสมผสานผลิตภัณฑ์และการปรับราคาขายเพิ่มขึ้น โดยใน 1Q24 ปริมาณลดลงชั่วคราวจากลูกค้ารายสำคัญ 1 รายที่มีการลดคำสั่งซื้อลงแต่กลับมาเพิ่มคำสั่งซื้อในช่วงที่เหลือของปี 2024F และใน 1Q24 บริษัทได้มีการจัดส่งสินค้าครั้งแรกกับผู้ค้าปลีกสัตว์เลี้ยงชั้นนำในแคนาดา, เริ่มผลิตสินค้า rooster chips, และมีลูกค้าซูเปอร์มาร์เก็ตรายใหม่มีแผนการจัดส่งสินค้าครั้งแรกใน 4Q24F, บริษัทวางแผนเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่กับแบรนด์ระดับโลกอันดับที่ 4 คาดจัดส่งสินค้าครั้งแรกใน 2Q24F, มีโครงการใหม่กับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาและร้านขายสัตว์เลี้ยงชั้นนำโดยเฉพาะคาดว่าจะเปิดตัวใน 2H24 และยังคงมุ่งเน้นกลยุทธ์การขยายธุรกิจผ่านร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (Private Label), ร้านขายสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ (ออฟไลน์และออนไลน์) และตลาดใหม่ เช่น ละตินอเมริกา เป็นต้น

คาดรายได้กลุ่มประเทศทวีปยุโรปเติบโตมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 31% (CAGR3Y) จากการพัฒนาสินค้าใหม่เน้นกลุ่ม private label ปรับส่วนประกอบผลิตภัณฑ์ที่ทำราคาขายลดลงสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันแต่ยังคงความเป็นพรี่เมี่ยม เราคาดรายได้ปี 2024F เพิ่มขึ้น 60%YoY จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (Private Label) โดยใน 1Q24 รายได้เติบโตแรง 58%YoY บริษัทได้วางแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่กับลูกค้าหลัก รวมถึงผลิตภัณฑ์สำหรับลูกแมวกับลูกค้าผู้ค้าปลีกออนไลน์ คาดว่าจะมีการจัดส่งใน 2Q24 และขนมกรุบกรอบและขนมแท่งกึ่งชื้นกับบริษัทอาหารสัตว์เลี้ยงในสหราชอาณาจักร วางแผนจัดจัดส่งใน 2Q24-3Q24 และบริษัทมีลูกค้ารายย่อยออนไลน์รายใหม่ในเนเธอร์แลนด์ คาดว่าจะมีการจัดส่งอาหารแมวแบบเปียกเป็นครั้งแรกใน 3Q24 และบริษัทมุ่งเน้นการขยายไปยังร้านค้าปลีก ร้านขายสัตว์เลี้ยง และช่องทางออนไลน์ในตลาดอิตาลี ฝรั่งเศส เบลเยียม ตลาดยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง

คาดรายได้กลุ่มทวีปเอเชียและโอเชียเนียเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% (CAGR3Y) ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน ไทยมาเลเซีย ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และนิวซีแลนด์ เป็นต้น จากการปรับราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อสินค้าเน้นกลุ่ม พรีเมี่ยม เราคาดรายได้ปี 2024F เพิ่มขึ้น 10%YoY โดยยอดขาย 1Q24 เพิ่มขึ้น +12%YoY จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น การปรับราคา และการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ การขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่องกับซูเปอร์มาร์เก็ตอันดับ 1 ในสิงคโปร์, การเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ในญี่ปุ่น, การจัดส่งอาหารแมวฟังก์ชั่นที่ไต้หวันใน 1Q24, การจัดส่งสินค้าครั้งแรกไปยังร้านขายสัตว์เลี้ยงเฉพาะทางในออสเตรเลีย และบริษัทยังมีลูกค้าใหม่ในอินโดนีเซียใน 2Q24F รวมถึงมีแผนออกสินค้าใหม่ใน 2H24F บริษัทวางแผนขยายช่องทางการจัดจำหน่ายในโมเดิร์นเทรดและเปิดตัวสินค้ารูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ “Bellotta” ในเดือน มิ.ย.24 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการขยายธุรกิจกับลูกค้าปัจจุบันและการปรับรูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมถึงการส่งออก แบรนด์สินค้าของบริษัทในเอเชียและตะวันออกกลาง

 

Gross margin ปี 2024-25F จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 25.5%-25.9% จากปี 2023 อยู่ที่ 19.5% เนื่องจาก อัตรากำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการประหยัดขนาด การปรับราคาขายที่เหมาะสมในแต่กลุ่มลูกค้า การออกสินค้าใหม่และสินค้าพรีเมี่ยมที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น บริษัทมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก BOI และจากการที่บริษัทตั้งอยู่ในประเทศไทยที่เป็นผู้ส่งออกปลาทูน่ารายใหญ่อันดับ 1 ของโลก และอันดับ 7 ของการส่งออกเนื้อไก่ และ ITC ยังเป็นบริษัทในเครือ TU Group ที่มีการซื้อวัตถุดิบจากปลาทูน่าจำนวนมากทำให้ได้เปรียบด้านต้นทุนจากความสามารถของห่วงโซ่อุปทาน และบริษัทมีต้นทุนค่าแรงที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับผู้ผลิต OEM อาหารสัตว์เลี้ยงแบบเปียกในประเทศที่พัฒนาแล้ว บริษัทมีการพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตจากการเพิ่ม สายการผลิต &คลังสินค้าเป็นระบบอัตโนมัติมากขึ้นและการใช้พลังงานหมุนเวียน ส่งผลให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายการผลิตและการใช้แรงงานคนลดลง คาดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้นในปี 2024F จากการทำโปรเจคการใช้ consultant เข้ามาช่วยพัฒนาการตลาดที่เพื่มขึ้น

บริษัทได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) โดยเฉพาะภาษีเงินได้จากกำไรสุทธิจะหมดอายุระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2025 และ 25 ก.ค. 2027 โดยได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 200% หลังจากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และบริษัทได้รับการอนุมัติใบรับรอง BOI ใหม่และจากการลงทุนสร้างโรงงานแห่งใหม่ในสมุทรสาครมีแผนเปิดใช้งานในปี 2024 (ยกเว้นภาษีเงินได้ 5 ปี)

 

โครงสร้างต้นทุนส่วนใหญ่ในปี 2023 จะเป็นต้นทุนแพคเกจจิ้งและส่วนผสมอาหารสัตว์เลี้ยง 33% ของต้นทุนรวม โดยบริษัทมีความเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบที่มีความผันผวนได้แก่ ปลาทูน่า ที่มีสัดส่วนประมาณ 18% ของต้นทุนรวม, เนื้อไก่ ประมาณ 11% ของต้นทุนรวม และเนื้อสัตว์อื่นๆ ประมาณ 7% ของต้นทุนรวม บริษัทมีต้นทุนแรงงานคิดเป็น 13% ของต้นทุนรวม เราคาดราคาปลาทูน่าที่ 1,600 USD/ton คาดอัตราแลกเปลี่ยน 36 บาท/US$

จากการวิเคราะห์ความอ่อนไหว (Sensitivity Analysis) จากสมมติฐานในกรณีต้นทุนอื่นๆ คงที่ และราคาต้นทุนวัตถุดิบปลาทูน่าที่ปรับเพิ่มขึ้นที่ +/- 10% จะกระทบต่อ eps +/-10% , ค่าแรงงานขั้นต่ำที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 10% จะกระทบต่อ eps – 4.7% สัดส่วนค่าแรงงานทางตรงคิดเป็น 13% ของต้นทุนรวม และอัตราแลกเปลี่ยนบาท/US$ ที่เปลี่ยนไปทุกๆ 1 บาท จะกระทบต่อ eps +/-8% (สัดส่วนรายได้เป็น US$ 100% ของรายได้รวม บริษัทมีต้นทุนที่เป็นสกุลเงิน US$ 30-40% และบริษัทมีการป้องกันความเสี่ยง 100% จาก natural hedge ประมาณ 40% ที่เหลือเป็นการทำผ่านสัญญาคงที่ล่วงหน้า (fixed forward contracts)


คาดการณ์ ROE, ROA, Cashflow, D/E, Dividend

เราคาดบริษัทมี ROE และ ROA ปี 2024F อยู่ที่ 15.7% และ 14.2% ตามลำดับ เทียบกับปี 2023 เพิ่มขึ้น จากกำไรที่เติบโต บริษัทมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เราคาดบริษัทมีฐานะการเงินแข็งแกร่งมี Net D/E เป็นเงินสดสุทธิ และมี D/E 24F อยู่ที่ 0.1X เราคาดบริษัทจะจ่ายเงินปันผลในปี 2024F-26F ที่ 0.63- 0.83 บาท จากการคาดนโยบายการจ่ายเงินปันผลไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล เงินสำรองตามกฎหมาย และเงินสำรองต่างๆ

 

ปัจจัยเสี่ยงหลัก

ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

บริษัทใช้สกุลเงินบาทในการรายงานทางการเงินและในการดำเนินงานของบริษัท บริษัทมีรายได้ส่วนใหญ่เป็นสกุลเงินดอลลาร์หรัฐ ซึ่งต้นทุนวัตถุดิบ ส่วนผสม และบรรจุภัณฑ์ของบริษัทบางส่วนเป็นสกุลเงินบาท และบางส่วนนำเข้าเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ โดยที่ธุรกรรมการซื้อขายสกุลเงินตราต่างประเทศจะถูกคำนวณเป็นสกุลเงินบาท โดยอ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่เกิดรายการดังกล่าว ดังนั้นความผันผวนของสกุลเงินตราต่างประเทศที่เกี่ยวข้องเมื่อเทียบกับสกุลเงินบาท อาจส่งผลกระทบต่อราคาของผลิตภัณฑ์ ต้นทุนการนำเข้าวัตถุดิบ ผลการดำเนินงานและกระแสเงินสด ซึ่งมีความเป็นไปได้ทั้งทางด้านบวก และด้านลบ บริษัทมีการบริหารจัดการความเสี่ยงและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยการจัดสรรให้รายได้และค่าใช้จ่ายเป็นสกุลเงินเดียวกัน และใช้เครื่องมือทางการเงินประเภทตราอุพันธ์ตามความเหมาะสม เช่น การทำสัญญาแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศล่วงงหน้า โดยรักษาอัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทให้เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด

ความเสี่ยงด้านคุณภาพและความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์

บริษัทมีการขายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนและอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ การขายอาหารสัตว์ที่ไม่ตรงตามมาตรฐานความปลอดภัย กฏหมาย หรือกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง อาจส่งผลให้บริษัทถูกดำเนินคดีทางกฎหมายและกระทบต่อความเชื่อมั่นในความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ของบริษัท และส่งผลต่อการตัดสินใจของลูกค้าในการเลือกซื้อ บริษัทนำระบบการควบคุมคุณภาพที่มีประสิทธิภาพมาใช้ในการปฎิบัติงานทุกขั้นตอน ตั้งแต่การจัดหาและตรวจสอบคุณภาพของวัตถุดิบ การจัดเก็บวัตถุดิบ การผลิตและการจัดส่งสินค้า ตลอดจนการสุ่มตัวอย่างและการตรวจสอบงานระหว่างผลิตและผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป บริษัทได้รับการรับรองว่าการดำเนินงานเป็นไปตามฆาตรฐานด้านคุณภาพ เช่น มาตรฐานระบบการจัดการด้านสุขลักษณะที่ดีในสถานประกอบการ (GMP) มาตรฐานระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม (HACCP) ที่กำหนดโดยกรมปศุสัตว์ และมาตฐานความปลอดภัยอาหารสากลที่กำหนด โดยสมาคมผู้ประกอบบูรกิจค้าปลีกแห่งสหราชอาณาจักร (British Retail Consortium) และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ในระดับสากล (AAFCO)

ความเสี่ยงด้านการขาดแคลนแรงงาน

บริษัทดำเนินธุรกิจที่ต้องการแรงงานที่มีความสามารถและความชำนาญทั้งแรงงานไทยและแรงงานต่างด้าว และจำเป็นต้องใช้บุคลากรจำนวนมากในสายงานการผลิต ซึ่งในตลาดแรงงานโดยรวมมีการแข่งขันที่สูงขึ้น จึงอาจทำให้บริษัทไม่สามารถรักษากลุ่มแรงงานที่มีคุณภาพในปัจจุบันไว้ได้ หรือไม่สามารถจัดหาแรงงานได้เพียงพอต่อแผนการผลิต ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทให้หยุดชะงัก และเกิดความล่าช้าในการผลิตและส่งมอบผลิตภัณฑ์ การบริหารความเสี่ยงในกรณีที่ขาดแคลนการผลิตจากปริมาณการผลิตที่มากกว่าปกติ บริษัทจะบริหารจัดการโดยการเพิ่มขั่วโมงล่วงเวลาของแรงงานในปัจจุบันเพื่อชดเชยแรงงานที่ขาดแคลนไป นอกจากนี้ บริษัทมีการติดตั้งเครื่องจักรอัตโนมัติในโรงงานที่ก่อสร้างแห่งใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตและกำลังการผลิต

ความเสี่ยงจากการแข่งขันที่สูงในอุตสาหกรรม

ความเสี่ยงจากแข่งขันสูงในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วตามความต้องการของลูกค้า เนื่องจากธุรกิจรับจ้างผลิตของบริษัทฯ ต้องแข่งขันกับผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงรายอื่นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ การแข่งขันที่สูงนั้นเกิดจากการเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์ ผู้ประกอบธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยงในตลาด และการเข้ามาของผู้ผลิตจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงรายใหม่ การบริหารความเสี่ยง บริษัทดำเนินธุรกิจผู้ผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงมานานกว่า 40 ปีเป็นที่ยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในกลุ่มลูกค้า บริษัทมีข้อได้เปรียบในการจัดหาวัตถุดิบกว่าคู่แข่งในตลาด เนื่องจากบริษัทสามารถใช้ประโยชน์จากความสามารถในการจัดหาและจัดการห่วงโซ่อุปทานของบริษัทแม่อย่างไทยยูเนี่ยน จึงมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่งและสามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในราคาที่แข่งขันได้ อีกทั้งประสบการณ์ที่ยาวนานทำให้มีความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับลูกค้าหลายราย

ความเสี่ยงจากการพึ่งพิงลูกค้ารายใหญ่

บริษัทฯ มีรายได้จากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้แก่ลูกค้ารายใหญ่สามอันดับแรกของบริษัท โดยคิดเป็นสัดส่วนสูงสุดกว่า43% ของรายได้รวมของธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง โดยในการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ให้กับลูกค้า บริษัทจะมีการเข้าทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือสัญญาร่วมรับจ้างผลิตกับลูกค้าในราคาที่ตกลงกัน หากบริษัทไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์ที่มีอยู่กับลูกค้าปัจจุบันและลูกค้ารายใหม่ได้ ความเสี่ยงเล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและผลการดำเนินงานของบริษัท

การบริหารความเสี่ยง บริษัทปรับฐานลูกค้าให้ทีความหลากหลายมากขึ้น โดยขยายส่วนแบ่งทางการตลาดในลูกค้ากลุ่มร้านค้าปลีกที่มีแบรนด์เป็นของตนเอง (Private Label) อีกทั้งยังมุ่งเน้นการทำงานอย่างใกล้ชิดกับลูกค้าเพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตรงตามความต้องการและมีคุณสมบัติตามที่ลูกค้ากำหนด รวมถึงการปฏิบัติงานร่วมกันของทีมงานฝ่ายต่างๆช่วยสนับสนุนการมีส่วนร่วมของลูกค้า และการบริการลูกค้าเชิงกลยุทธ์เพื่อให้สามารถบริการได้อย่างครบวงจรและเพิ่มความสะดวกรวดเร็วให้แก่ลูกค้าได้

ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาวัตถุดิบ

วัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงอย่างเนื้อปลาและเนื้อไก่ อาจเกิดความผันผวนของราคาต้นทุนวัตถุดิบซึ่งจะส่งผลกระทบกับบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโดยทั่วไป บริษัทฯ จะซื้อวัตถุดิบประเภทอาหารทะเลในประเทศโดยตรงจากผู้จำหน่ายสินค้าประมงตามคำสั่งซื้อในแต่ละครั้ง และสำหรับเนื้อไก่ บริษัทจะจัดซื้อโดยตรงจากผู้จำหน่ายเนื้อไก่ในประเทศผ่านคำสั่งซื้อตามราคาที่ได้มีการเจรจากัน การซื้อขายแบบเป็นครั้งคราวและสัญญาระยะสั้นส่งผลให้ราคาวัตถุดิบของบริษัทฯ มีความผันผวนตามราคาตลาดสำหรับวัตถุดิบดังกล่าว ความผันผวนของราคาวัตถุดิบเหล่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของบริษัทฯ ซึ่งรวมถึงสภาวะตลาด อุปสงค์และอุปทานทั่วโลกของวัตถุดิบ รวมถึงอุปทานของวัตถุดิบประเภทอาหารทะเลประเภทต่าง ๆ นอกจากนี้ อุปทานของวัตถุดิบประเภทอาหารทะเลอาจได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัย ซึ่งรวมถึง ฤดูกาล การประมงผิดกฎหมาย และการจับปลาเกินขนาด

ในฐานะที่บริษัทเป็นส่วนหนึ่งของไทยยูเนี่ยน ทีมจัดซื้อของไทยยูเนี่ยนจึงช่วยในการจัดหาวัตถุดิบประเทศอาหารทะเลนำเข้าและเจรจาต่อรองราคาโดยรวมปริมาณการสั่งซื้อภายในกลุ่มไทยยูเนี่ยน จึงได้ประโยชน์จากการสั่งซื้อจำนวนมากของไทยยูเนี่ยม และการจัดหาวัตถุดิบที่เพียงพอในราคาเหมาะสมและได้เปรียบในการแข่งขันได้ สำหรับเนื้อไก่ซึ่งประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเนื้อไก่แปรรูปรายใหญ่ของโลก ทำให้บริษัทสามารถจัดหาเนื้อไก่ได้สม่ำเสมอในราคาที่แข่งขันได้ นอกจากนี้บริษัทยังซื้อเนื้อไก่จากผู้ผลิตวัตถุดิบในประเทศตามคำสั่งซื้อที่จะมีการกำหนดปริมาณซื้อขายและราคาตามที่ตกลง โดยมีระยะเวลาการจัดส่งวัตถุดิบระหว่าง 6-12 เดือน หรือสัญญาซื้อขายระยะสั้น

 


เหตุการณ์สำคัญของบริษัท

1977 - ไทยยูเนี่ยนเริ่มธุรกิจการผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่โรงงานในจังหวัดสมุทรสาครภายใต้ชื่อ บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุสาหกรรม จำกัด (TUM)

1981 - จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด ก่อตั้งขึ้นเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลแปรูปบรรรจุกระป๋อง

1988 - บริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ SCC

1989 - บริษัทเริ่มผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงที่โรงงานจังหวัดสงขลา

1993 - บริษัทแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด ภายใต้ชื่อ บริษัท สงขลาแคนนิ่ง จำกัด (มหาชน)

1994 - บริษัทเข้าซื้อหุ้นจำนวนร้อยละ 90.5 ของบริษัท เอเชียนแปซิฟิคแคน จำกัด (APC)

1999 - ไทยยูเนี่ยนเข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และบริษัทได้เพิกถอนหุ้นออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

2004 – บริษัทเริ่มผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงบรรจุในถ้วยพลาสติก และจำหน่ายให้กับลูกค้าแบรนด์ระดับโลกในประเทศสหรัฐอเมริกา

2008 – บริษัทเข้าซื้อหุ้นร้อยละ 51 ในบริษัท ยู่เฉียงแคนฟู้ด จำกัด (YCC) ผู้ผลิตและส่งออกอาหารทะเลบรรจุกระป๋องในเวียดนาม

2021 - ไทยยูเนี่ยนจัดตั้งบริษัท U.S. Pet Nutrition, LLC. (USPN) เพื่อนำเข้า และจัดจำหน่ายอาหารสัตว์เลี้ยงระดับพรีเมียม และอาหารสัตว์เลี้ยงที่รับจ้างผลิต (OEM) ภายใต้แบรนด์ในสหรัฐอเมริกา

2012-2013 – บริษัทเริ่มจำหน่ายผลิตภัณฑ์ (Rockstar) ซึ่งเป็นสิทธิบัตรของบริษัท บรรจุในถาดพลาสติกรูปทรงโค้งมน ที่เรียกว่า “B-tub” บริษัทเริ่มรับจ้างผลิต (OEM) อาหารสัตว์เลี้ยงและขนมสำหรับแมวและสุนัขให้แก่แบรนด์ค้าปลีกชั้นนำระดับโลก

2015 – ไทยยูเนี่ยนจัดตั้งหน่วยธุรกิจอาหารสัตว์เลี้ยง หรือ Global PetCare Business Unit (GPC) ภายใต้ บริษัท ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม จำกัด (TUM)

2016 – บริษัทเริ่มนำเครื่องบรรจุอาหารในซองอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตสินค้า

2017-2020 – บริษัทจัดตั้งศูนย์นวัตกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง หรือ Global PetCare Innovation (GPCI) เพื่อคิดค้นพัฒนาและผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงในรูปแบบนวัตกรรม และเริ่มจำหน่ายอาหารแมวในรูปแบบต่างๆ เช่น Tuna Flake, Mousse, Triple Layer, Freeze Dry และ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำหรับแมว

2021- บริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ใหม่ และได้จัดตั้งบริษัท Japan Pet Nutrition Co.Ltd. (JPN) บริษัทย่อยที่ประกอบธุรกิจนำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าในญี่ปุ่น นอกจากนี้ ในเดือนกันยายน บริษัทเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และจัดตั้ง บริษัท i-Tail Americas, Inc. (ITA) ซึ่งป็นบริษัท Holding Company ในสหรัฐอเมริกา

2022 - วันที่ 9 ธัวาคม บริษัทได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในนามบริษัท ไอ-เทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “ITC” ในกลุ่มเกษตรและอุตสหกรรมอาหาร

2023 – บริษัทได้ตั้งบริษัทย่อยใหม่ ได้แก่ i-Tail Pet Food (Shaghai) Limited Co. (ITS) ที่ประเทศจีน และ i-Tail Europe B.V. (ITE) ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ ในเดือนมีนาคม 2023 บริษัทประกาศผนึกกําลังกับพันธมิตรชั้นนํา “หนานจิง เจียเป่ย เพ็ทแคร์โปรดักส์” บริษัทในประเทศจีน เตรียมส่งสินค้าแบรนด์ Bellotta, Marvo และ ChangeTer บุกตลาดจีน อีกทั้ง เข้าร่วมกับเมเจอร์ซีนีเพล็กซ์กรุ๊ปเปิดตัว i-Tail Pet Cinema โรงภาพยนตร์สําหรับคนรักสุนัขและแมวแห่งแรกของประเทศไทย และบริษัทจัดโครงการ “i-Tail Hackathon Innovation Challenge 2023” เวทีเพาะพันธุ์ความคิดสร้างสรรค์สะท้อนแนวคิดในด้านการสนับสนุนนวัตกรรม ในเดือนมิถุนายน บริษัทได้เปิดตัวศูนย์วิจัยอาหารแมว “i-Cattery” ตั้งอยู่ในบริเวณคณะสัตวแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยมหิดลวิทยาเขตศาลายา

ปี 2023 บริษัทมีโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงและขนมสำหรับสัตว์เลี้ยงรวม 3 โรงงาน มีกำลังการผลิตรวม 195,440 ตันต่อปี ที่จังหวัดสงขลา 1 โรงงาน และจังหวัดสมุทรสาคร 2 โรงงาน (เป็นการเช่าพื้นที่ 1 โรงงานจากบริษัทไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรมใน จังหวัดสมุทรสาคร) นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยงแห่งใหม่ที่อยู่ในบริเวณเดียวกับโรงงานของบริษัทที่จังหวัดสมุทรสาคร คาดจะเสร็จ 2Q24 และยังมีแผนโอนย้ายเครื่องจักรและอุปกรณ์จากโรงงานที่บริษัทเช่าพื้นที่ไทยรวมสินพัฒนาอุตสาหกรรม ไปยังโรงงานใหม่ของบริษัท)

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

ปลุกหุ้นใหญ่ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ตลาดหุ้นไทย สูตรเดิม มักใช้ได้เสมอ ใช้หุ้นDELTA นำ ตามด้วย .....

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้