Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.ทิสโก้ คงมอง กนง. ไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2024 จากเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว

434

 

บริษัทหลักทรัพย์ทิสโก้ วิเคราะห์ ECONOMICS : เศรษฐกิจไทยในเดือน พ.ค. ยังขยายตัวต่อเนื่อง นำโดยภาคบริการสอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวเริ่มชะลอลง โดยมีแรงฉุดหลักมาจาก การส่งออกสินค้า การผลิตในภาคอุตสาหกรรม และการลงทุนภาคเอกชนที่ลดลงจากเดือนก่อน


การเบิกจ่ายงบประมาณเร่งตัวขึ้นทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ขณะที่ จำนวนและรายจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน พ.ค. เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน (หลังหักฤดูกาล) แม้จะเข้าสู่ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยวก็ตาม ส่วนดุลการชำระเงินเกินดุลน้อยลง ผลจากดุลบริการและเงินโอนที่หักลบผลบวกจากด้านการค้าที่แม้จะเกินดุลสูง

ในเดือน พ.ค. ภาคการบริการยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ภาคการผลิตพลิกหดตัว สอดคล้องกับการส่งออกหมวดอุตสาหกรรมที่ยังไม่ฟื้น การลงทุนภาคเอกชนยังลดลง ส่วนการเบิกจ่ายงบประมาณกลับมาเร่งตัวสูง

• การส่งออกเดือน พ.ค. ยังคงขยายตัวต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ +7.8% YoY (vs. 5.8% เดือนก่อน) ขณะที่ การนำเข้าพลิกหดตัว -2.3% (vs. +6.4% เดือนก่อน) ทั้งนี้ ภายใต้ระบบดุลการชำระเงิน (BoP) ไทยเกินดุลที่ 2.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (vs. 0.27 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เดือนก่อน) ด้านดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) พลิกหดตัวในเดือน พ.ค. ทั้งในรูปของ YoY (-1.5% vs. 2.7% เดือนก่อน.) และ MoM (-0.6%) โดยได้รับแรงฉุดจาก IC และเซมิคอนดักเตอร์ (-17.2% YoY), ยานยนต์ (-14.2%), ซีเมนต์และการก่อสร้าง (-8.7%), สิ่งทอและเครื่องแต่งกาย (-4.2%) และปิโตรเลียม (-2.8%)
• การลงทุนภาคเอกชน (PII) เดือน พ.ค. ปรับตัวลดลง (-3.0% YoY vs. 6.5% เดือนก่อน) ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับเดือนก่อน การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวลดลง -3.0% MoM, sa เช่นกัน สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจในด้านการลงทุน (Business Sentiment Index) ที่ปรับลดลง
• งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ FY 2024 เร่งตัวขึ้นหลักจากที่สามารถเริ่มเบิกจ่ายได้ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน เม.ย. โดยรายจ่ายภาครัฐฯ และรายจ่ายเพื่อการลงทุนเร่งตัวขึ้นจากปีก่อนอย่างมีนัยสำคัญ (+36.9% YoY และ 35.8% YoY ตามลำดับ) ซึ่งเป็นตัวช่วยชดเชยปัจจัยด้านลบด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน และการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่ปรับลดลงจากเดือนก่อน
• การบริโภคภาคเอกชน (PCI) ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องในอัตราที่ชะลอลง (1.2% YoY, 0.3% MoM vs. 2.2% YoY, 1.4% MoM เดือนก่อน) สอดคล้องกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดในทุกองค์ประกอบย่อย (มุมมองปัจจุบัน และในอีก 6 เดือนข้างหน้า) โดยการใช้จ่ายในภาคบริการยังคงเป็นแรงหนุนหลักให้กับเศรษฐกิจ และขยายตัวได้ 0.9% MoM (vs. 2.5% เดือนก่อน) ขณะที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกับปีก่อน การขยายตัวจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย (+6.9% YoY vs. +6.1% เดือนก่อน) ด้านการใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนชะลอตัวลงเป็น 1.6% YoY (vs. 3.3% เดือนก่อน) จากการปรับตัวลดลงของการใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภค (-0.2% MoM, sa) หลังจากที่เร่งขึ้นไปมากในเดือน เม.ย. ซึ่งมีเทศกาลวันหยุดยาว ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายในสินค้าหมวดคงทนและกึ่งคงทน (+0.0% MoM และ +0.3% MoM, ตามลำดับ) ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งนี้ การบริโภคที่ชะลอลงส่วนหนึ่งจากค่าครองชีพที่ปรับเพิ่มขึ้นหลังภาครัฐลดมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพลง พร้อมกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่สาม
• ด้านรายได้เกษตรกรขยายตัวสูงถึง +13.2% YoY (vs. +2.4% เดือนก่อน) ส่วนหนึ่งจากผลิตผลทางการเกษตรที่ออกสู่ตลาดมากขึ้นกว่า +7.4% YoY (vs. -10.2% เดือนก่อน) ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้เป็นอัตราที่ชะลอ (+5.4% YoY vs. +14.1% เดือนก่อน)
• จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในเดือน พ.ค. อยู่ที่ 2.6 ล้านคน (vs. 2.8 เดือนก่อน) และหากขจัดผลของฤดูกาลออกไปยังขยายตัวได้ดีที่ระดับ 9.2% MoM แม้จะเข้าสู่ช่วง Low Season แล้ว ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวยังมีพัฒนาการเชิงบวกต่อเนื่อง และขยายตัว 4.1% MoM, sa (vs. 7.1% เดือนก่อน)

Our view
• เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ค. โดยภาคการท่องเที่ยวยังเป็นแรงส่งหลัก ขณะเดียวกันการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐฯ ทำได้สูงกว่าที่เราคาดไว้ราว 5% ด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณของการชะลอตัวลงบ้าง แต่โดยหลักยังเป็นผลจากปัจจัยลบเชิงวัฎจักรอย่างการเร่งใช้จ่ายไปมากในเดือน เม.ย. ซึ่งมีเทศกาลวันหยุดยาว ทำให้โดยภาพรวมเรายังคงมีมุมมองเชิงบวกกับภาวะเศรษฐกิจและการฟื้นตัวในช่วงที่เหลือของปี โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 2.8% ในปี 2024F
• เรายังคงมองว่า กนง. ไม่มีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปี 2024F จากเครื่องยนต์ของเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัวได้ตามที่คาด ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อพลิกกลับมาอยู่ในเกณฑ์ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง และคาดว่าจะเป็นบวกต่อเนื่อง ก่อนจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายไตรมาสที่ 3 นี้

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้