Today’s NEWS FEED

News Feed

บล.บัวหลวง : รอบด้านตลาดหุ้น

562

 


ภาพตลาดและแนวโน้ม
Market wrap & Outlook

แนวโน้มสินทรัพย์ต่างประเทศ
อัพเดตมุมมองตลาดหุ้นจีน
นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนเกิดภาพ bear rally สอดคล้องกับที่เราคาด โดยดัชนี Shanghai Composite และ Hang Seng ได้ปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดในไตรมาส 1 ถึง 17% และ 31% ตามลำดับก่อนที่จะถูกขายทำกำไรบ้างในช่วงครึ่งหลังของเดือน พ.ค. ส่วนปัจจัยหนุนที่ทำให้ตลาดหุ้นจีนปรับตัวขึ้นในช่วง 5 เดือนที่ผ่านมาเกิดจาก ข่าวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น (1) มาตรการส่งเสริมให้ธุรกิจและครัวเรือนหันมาใช้เทคโนโลยีที่สะอาดขึ้น ด้วยการปรับปรุงเครื่องจักรเก่าและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ใช้พลังงานมากหรือปล่อยมลพิษสูง มาแลกเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพดีกว่า (2) การออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์เพื่อกระตุ้นความเชื่อมั่นและกำลังซื้อ โดยปรับลดเงินดาวน์ขั้นต่ำลงจาก 20% เป็น 15% และอัดฉีดเงิน 3 แสนล้านหยวน เพื่อให้รัฐวิสาหกิจทัองถิ่นเข้าซื้อบ้านค้างสต็อกที่ยังสร้างไม่เสร็จจากบริษัทพัฒนาอสังหารมทรัพย์ที่ประสบปัญหา และ (3) การลด Loan Prime Rate 5Y ในข่วงไตรมาส 1 จาก 4.2% เป็น 3.95% เป็นต้น
สำหรับแนวโน้มในระยะสั้น เราคาดว่าดัชนี Shanghai Composite ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อไปทดสอบ best-case target ของเราที่ 3300 จุด แต่อาจยืนเหนือตำแหน่งดังกล่าวไม่ได้และเข้าสู่วงจรปรับฐานหลังจากนั้น จากปัจจัยหนุนและปัจจัยเสี่ยงดังต่อไปนี้
u ปัจจัยหนุนในระยะสั้น
1 การที่รัฐบาลจีนทยอยออกนโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้จะไม่ใช่นโยบายที่ใช้เม็ดเงินมหาศาล (bazooka policy) ในครั้งครั้งเดียว แต่การอัดฉีดนโยบายออกมาเรื่อยๆ และการหาทางแก้ไขในจุดที่มีปัญหา ก็ทำให้ sentiment ของการลงทุนในตลาดหุ้นดีขึ้น เช่น การออกมาตรการอุดหนุนเพื่อลดสต็อคที่อยู่อาศัยที่ค้างอยู่ในระบบ หรือ โครงการเทิร์นรถเก่า แลกซื้อรถใหม่ เพื่อกระตุ้นการบริโภคในอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ซึ่งมีปัญหาของการชะลอตัว เป็นต้น
2 แนวโน้มการเติบโตทางเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนข้างหน้าดูมีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่า Real GDP ปี 2024 อาจจะเติบโตที่เพียง 4.8% YoY ต่ำกว่าเป้าหมาย 5% ของรัฐบาลอยู่บ้าง แต่ความเสี่ยงจากการถูกปรับประมาณการลงมีน้อยลงเนื่องจากรัฐบาลได้ทยอยปล่อยมาตรการอุดหนุนออกมา
3 ตัวเลขการส่งออกล่าสุดเดือน เม.ย. ก็มีสัญญาณที่ดีขึ้น เติบโต 1.5% YoY สู่ระดับ 292.45 พันล้านเหรียญสหรัฐ สูงสุดในรอบ 3 เดือน และฟื้นตัวจาก -7.5% YoY ในเดือนก่อนหน้า จึงเป็นสัญญาณว่าวงจร global manufacturing sub-cycle rebound ที่มีมาตั้งแต่ 4Q23 ยังคงดำเนินต่อไป ส่งผลให้วอลุ่มการเติบโตของการส่งออกในปี 2024 มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นเป็น 8% YoY จากปี 2023 ที่เติบโตเพียง 2% YoY (เทียบกับ 10% YoY ใน 1Q24)
4 นอกจากนี้การลงทุนของภาคเอกชนในภาคอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสะอาด (Manufacturing & Green Capex) ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการหนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในปีนี้เช่นเดียวกัน โดย Fixed Capital Formation มีแนวโน้มเติบโตราว 4% YoY ในปี 2024 เร่งตัวขึ้นจาก 3.8% YoY ในปี 2023
u ปัจจัยเสี่ยงในระยะกลาง
1 โมเมนตัมของการบริโภคภายในประเทศในช่วง 1-2 ปีข้างหน้ายังมีแนวโน้มเติบโตต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 5.1% CAGR ระหว่างปี 2022-2023 จากความอ่อนแอของภาคการจ้างงาน

2 การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 2H24 จะไม่ได้อยู่ในระนาบเดียวกัน กล่าวคือ บางประเทศจะดีขึ้น แต่บางประเทศอาจแผ่วลง ซึ่งเป็นภาพที่มักเกิดขึ้นในวัฏจักรเศรษฐกิจช่วงปลาย (late cycle) อีกทั้งการรีบาวด์ของวงจร global manufacturing sub-cycle ก็มีโอกาสสูญเสียโมเมนตัมและแผ่วลงใน 2H24 เนื่องจาก restocking cycle ที่ดำเนินมาตั้งแต่เดือน พ.ย. 2023 ได้เข้าใกล้สถิติการรีบาวด์ในอดีตที่มีค่าเฉลี่ยราว 6-9 เดือน แล้ว รวมถึงความขัดแย้งทางการค้ากับสหรัฐ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงที่จะฉุดการส่งออกของจีนให้เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ของ consensus ได้
3 เม็ดเงินที่ทางการจีนใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเงินฝืดและภาคอสังหาริมทรัพย์ในระยะกลาง
เนื่องจากการจะลดสต็อคบ้านในปัจจุบันลงจาก 20 เดือน สู่ 12 เดือนซึ่งเป็นระดับปกติที่เหมาะสมนั้น อาจต้องใช้เม็ดเงินสนับสนุนราว 3-4 ล้านล้านหยวน เทียบกับตัวเลขที่ทางการจีนประกาศอัดฉีดเพียง 3 แสนล้านหยวน จึงทำให้มาตรการอัดฉีดล่าสุดจึงเป็นแค่การบรรเทาปัญหา แต่ยังไม่สามารถทำให้ปัญหานี้จบได้ในระยะอันใกล้
สรุป เรายังคงมุมมองว่า การฟื้นตัวของตลาดหุ้นจีนในปีนี้อยู่ในลักษณะ bear rally หนุนโดยปัจจัยกระตุ้นระยะสั้นและการมี relative valuation ที่ถูกกว่าตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว อย่างไรก็ตาม โมเมนตัมของการฟื้นตัวคงไม่ต่อเนื่องไปตลอดทั้งปี เนื่องจากปัญหาเชิงโครงสร้างด้านหนี้ภาคเอกชน ปัญหาภาคอสังหาริมทรัพย์ และการบริโภคที่อ่อนแอจากการชะลอตัวของภาคการจ้างงาน จะยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทางการจีนจะต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาตลอดหลายปีข้างหน้า เราจึงกำลังรอจังหวะในการขายทำกำไรในช่วงที่ดัชนี Shanghai Composite ปรับตัวเข้าใกล้ best-case target ของปีนี้ที่ 3300 จุด

สรุปภาพตลาดวานนี้
ดัชนียืนๆ (ยังไม่มีแรงขึ้น) โดยเห็นกลุ่มถูกเทขายก่อนหน้ามีแรง Cover Short กลับ BTS JMART JMT SINGER SGC และมีแรงซื้อเข้ามาในหุ้นรายตัวอย่าง MAGURO (IPO น้องใหม่ แต่เปิดเด้งแล้วย่อ) SAV PTG TQM BROOK ITTHI เป็นต้น ส่วนแรงขายยังอยู่บนกลุ่มหุ้นแนวฝรั่ง เช่น ธนาคาร พลังงาน-ปิโตรฯ

แนวโน้มตลาดวันนี้
ขายแล้วก็ซื้อคืนวนไป
เมื่อวานตลาดหุ้นไทยเปิดบวกแล้วก็ลบเล็กน้อยเหมือนเช่นเคย ไม่ตอบรับกับข่าวดีใดๆทั้งสิ้นขณะที่หุ้นโลก ยังมีรีบาวด์สลับบ้าง ขานรับข่าว ดอกเบี้ย เงินเฟ้อ เฟด...
แต่อย่างน้อยหุ้นไทยก็พอจะเห็นแรงซื้อ(คืน)อยู่บ้าง ทำให้ราคาหุ้นรายตัวยังมีรีบาวด์ เช่นกลุ่มเจมาร์ท กลุ่มบีทีเอส ขณะที่หุ้นบางตัวจ่อทำจุดสูงสุดใหม่ เช่น SAV COCOCO ฯลฯ ด้วยโมเมนตั้มที่ตลาดเลือกเล่นหุ้นลักษณะนี้
กลยุทธ์หลักในการเลือกเล่นรายตัวจึงยัง Valid และ วันนี้เราเลือกเล่นหุ้น ที่กำลังสร้าง New high อย่าง COCOCO ฯลฯ ซึ่งหุ้นที่เราจะเลือกแนะนำ เราเลือกเฉพาะที่เรา Cover…
สรุปกลยุทธ์หลักตอนนี้ เราจะเน้นไปที่หุ้นรายตัวแบบ Single Stock Selective จากการคัดเลือกตาม 1) โมเมนตั้มกำไรไตรมาสถัดไป 2) ธีมลงทุนย่อยๆที่จะหนุนราคาหุ้น/ทิศทางกำไร เช่น การเร่งเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ, Cover shorted รับมาตรการ ตลท.ต่างๆ ที่จะมีผลบังคบใช้ปลายไตรมาส 2 เป็นต้น


กลยุทธ์การลงทุน
กลยุทธ์แนะนำ เลือกหุ้นเล่นเป็นรายตัว เริ่มโฟกัสไปข้างหน้าหลังเห็นงบทั้งหมดในสัปดาห์นี้ เน้นไปที่แนวโน้มผลการดำเนินงานที่จะมีโอกาสถูกปรับเพิ่มประมาณการณ์ หรือ มองเห็นปัจจัยหนุนชัดเจนที่จะเข้ามาเกื้อหนุนต่อผลการดำเนินงานหลังจากนี้ เช่น ฤดูกาลท่องเที่ยวของฝั่งตะวันตก (โอลิมปิกฝรั่งเศส, บอลยูโร เยอรมัน)

วิเคราะห์ทางเทคนิค
ดัชนีเข้าใกล้ previous low บริเวณ 1,330 จุดมากขึ้นเรื่อยๆ จับตา RSI กำลังเคลื่อนที่เข้าสู่ oversold สถิติเคยเกิดขึ้นเมื่อปีปลายปี 2023 (เกิดขึ้นไม่บ่อย) ส่วนคำถาม SET อยู่ในโซนถูกหรือไม่! มุมกราฟเทคนิคชี้ว่าเข้าใกล้ภาวะขายมากเกินไปและกำลังเกิดขึ้นทั้งภาพรายวัน & รายเดือน ส่วนค่า PE ของตลาดก็อยู่ในโซนต่ำเช่นเดียวกัน (รายละเอียดกราฟ PE ของตลาดติดตามในบทวิเคราะห์ World asset class) แผนเทรดวันนี้เลือกหุ้นกลุ่มเครื่องดื่ม PLUS ขณะที่ OSP หุ้นแนะนำประจำเดือนขึ้นได้ต่อเนื่อง...ตามแผน ส่วนหุ้นที่เคยแนะนำ DOHOME เรามาวางแผนแก้เกมส์กันครับ

What to watch
การลดดอกเบี้ยครั้งแรก ของ ธนาคารกลางยุโรป 6 มิ.ย.
เงินเฟ้อ ไทย เดือน พ.ค. เร่งตัวขึ้น 1.2% y-y
ราคาน้ำมันดิบ ไม่ตอบรับข่าว OPEC+ ขยายเวลาลดการผลิตน้ำมันจนถึงปี 68 OPEC+ ปรับลดกำลังการผลิตรวมกันอยู่ที่ 5.86 ล้านบาร์เรลต่อวัน /ขยายเวลาการลดกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันออกไปอีก 3 เดือนจนถึงสิ้นไตรมาสที่ 3/2567
คาดหุ้นเข้า SET50 BJC TIDLOR BCP ITC หุ้นออก SAWAD COM7 KCE BANPU

หุ้นแนะนำวันนี้
COCOCO ราคาหุ้นกำลังจ่อทำ New high ตาม กำไรที่สร้างจุดสูงสุดใหม่ไปเรียบร้อย (S 13.1, R 13.8, SL 12.8)

 

รายงานพื้นฐานวันนี้

Retails Finance Sector
สรุปสารสำคัญจากงาน BLS Retail Finance Day
สรุปภาพรวมงาน BLS Retail Finance Day ผู้บริหารของ MTC, SAWAD และ TIDLOR เปิดเผยว่าภาพรวมความต้องการใช้สินเชื่อยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ผู้ประกอบการสินเชื่อก็เข้มงวดในการคัดกรองลูกค้ามากขึ้นเช่นกัน เพื่อควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ให้ดีขึ้น
ทั้งนี้ แม้อัตราหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะสูงขึ้น 91.3% ณ สิ้นปี 2023 แต่ผู้บริหารของบจ. ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ คาดว่าจะทยอยลดลงมาที่ 90-91% ณ สิ้นปี 2024 จากแนวโน้มอัตราการเติบโตของ GDP ที่สูงขึ้น จากการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและกระตุ้นเศรษฐกิจจากรัฐบาล

HANA
ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส
เจาะมุมมองลูกค้ากลุ่ม OSAT
ในช่วงที่ผ่านมาธุรกิจ OSAT (30% ของยอดขาย) เป็นตัวกดดันผลการดำเนินงานของ HANA ซึ่งตัวเลขใน 1Q24 ที่ผ่านมาสอดคล้องกับลูกค้าในกลุ่มนี้อย่าง TXN, ON, AMS-OSRAM และ Infineon สำหรับภาพ 2Q24 ส่วนใหญ่มองทิศทางการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป แม้การปรับสินค้าคงคัลงคาดผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แต่อุปสงค์ในหลายสินค้ายังคงอ่อนแอ ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของ HANA และคาดจะเห็นการฟื้นตัวใน 2H24
Fundamental View: เรายังคงคำแนะนำ ถือ

PRM
(Visit Note)
พริมา มารีน
2Q24 เติบโตต่อเนื่อง
เรามองว่าแนวโน้มของกำไรในช่วงไตรมาสถัดไปจะเห็นการเติบโตไดดีอย่างต่อเนื่องหลังจากเรือใหญ่หลายลำเข้าซ่อมบำรุงไปตั้งแต่ใน 1Q24 (เริ่มให้บริการเดือน มี.ค. 2024) และจะมีการรับเรือเข้ามาใหม่อีก 2 ลำ และ U-RATE ที่คาดปรับตัวดีขึ้นตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นจากสงครามในตะวันออกกลาง และ วิกฤตในทะเลแดง ทำให้ใน 2Q24 บริษัทจะมีการรับรู้รายได้เต็มไตรมาส แนวโน้ม 2Q24 ดีขึ้น YoY และ QoQ
แนวโน้มกําไรในช่วงที่เหลือของปีคาดจะดีขึ้นจากการซื้อเรือเพิ่ม (FSU 1 ลำใน 3Q24 และ Aframax 1 ลำใน 4Q24 ) และเรือขนาดใหญ่ซ่อมบํารุงไปแล้ว 10 ลําใน 1Q24 เหลืออีก 15 ลําที่ครบกําหนดซ่อมบํารุงแต่เป็นเรือขนาดเล็กซึ่งคาดว่าจะเข้าซ่อมบำรุงช่วง Low-season ใน 3Q24 เป็นส่วนใหญ่
Our view: ระดับ Valuation ปัจจุบันยังไม่แพง ที่ PER 9.7 เท่า หรือต่ำกว่าเฉลี่ยระยะยาว 11.5 เท่า มีโอกาสที่จะปรับตัวขึ้นไปเทรดที่ค่าเฉลี่ย หรือเทียบเป็นแถวระดับราคา 9.80 บาท


สรุปประเด็นจาก Quick take

Global Marco Update
ตลาดแรงงานสหรัฐอ่อนแอเกินคาด หนุนความหวัง Fed ลดดอกเบี้ย
ตำแหน่งงานว่างเปิดใหม่จาก JOLTs สหรัฐฯ ต่ำสุดในรอบ 3 ปี ลดลง 296,000 ตำแหน่ง เหลือ 8.06 ล้านตำแหน่งในเดือนเม.ย. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ (8.34 ล้านตำแหน่ง) โดยสาขาที่จำนวนตำแหน่งงานใหม่ลดลงมากที่สุดคือ สาธารณสุขและสังคมสงเคราะห์ (-204,000 ตำแหน่ง) และการศึกษาของรัฐบาลท้องถิ่น (-59,000 ตำแหน่ง) ในทางตรงกันข้ามสาขาบริการการศึกษาภาคเอกชนเพิ่มขึ้น +50,000 ตำแหน่ง

วิกิจ ถิรวรรณรัตน์ Tel. (662) 618-1336
นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน/ปัจจัยทางเทคนิค
นภนต์ ใจแสน นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน
ภูวดล ภูสอดเงิน, AISA นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ประคับประคอง By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ บ่ายวันนี้ ดัชนีตลาดหุ้นไทย คงประคับ ประคอง แกว่งตัวไปมา ท่ามกลาง บริษัทจดทะเบียนไทย...

มัลติมีเดีย

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

NER บนสงครามการค้าโลก - สายตรงอินไซด์ - 24 เม.ย.68

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้