สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(29 พฤษภาคม 2567)-------กลุ่มงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB Financial Markets: SCB FM) เปิดเผยว่านับตั้งแต่วิกฤติ Covid-19 เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดพันธบัตรไทยมากต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทยเพียง 5.1% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่ โดยเหตุผลที่เงินไหลออกมาจากผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยที่ต่ำ ความไม่แน่นอนที่สูง และแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาวที่ต่ำ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรที่สูงขึ้น อาจพิจารณาลงทุนในหุ้นกู้ เนื่องจากมีผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ซึ่ง SCB FM พบว่าในปัจจุบันนักลงทุนให้ความสนใจหุ้นกู้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านค่าเงินบาท เดือนที่ผ่านมายังคงผันผวนสูง โดยก่อนหน้านี้แข็งค่าจากเลข GDP ไทยที่ออกมาสูงกว่าคาด อย่างไรก็ดี บาทกลับอ่อนค่าเร็วจากความไม่แน่นอนทางการเมืองไทยที่เพิ่มขึ้นและเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด ในระยะต่อไป มองเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ในกรอบ 35.80-36.80 ในช่วง 1 เดือนจากนี้
นายแพททริก ปูเลีย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานตลาดการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในช่วงเกือบ 2 ปีที่ผ่านมา เงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยไปมาก โดยในปี 2023 ไหลออกถึง 1.44 แสนล้านบาท และในปีนี้ไหลออกอีก 4.7 หมื่นล้านบาท ทำให้ในปัจจุบันมีสัดส่วนนักลงทุนต่างชาติในตลาดพันธบัตรไทยเพียง 5.1% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าในช่วงก่อนวิกฤติ Covid-19 และต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านเช่นกัน โดยเหตุผลที่เงินทุนไหลออกจากตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยมาจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ต่ำ ความไม่แน่นอนทางการเมืองและนโยบายภาครัฐที่สูง รวมถึงแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะกลางถึงยาวที่ต่ำ ทำให้คาดการณ์ผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาวต่ำตามไปด้วย
สำหรับนักลงทุนที่ต้องการอัตราผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรที่สูงขึ้น อาจพิจารณาลงทุนในหุ้นกู้ เนื่องจากมีผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย โดยที่ความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade ยังไม่สูงนัก โดยค่าเฉลี่ยผลตอบแทนของหุ้นกู้กลุ่ม BBB อายุ 1 ปี สูงถึง 4.81% สูงกว่าผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 1 ปีที่ราว 2.30% และอัตราดอกเบี้ยเงินฝากระยะ 1 ปี ที่ราว 1.65%
นายแพททริกกล่าวต่อว่า แม้การซื้อขายหุ้นกู้จะยังมีสัดส่วนที่น้อย แต่นักลงทุนให้ความสนใจเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากการออกหุ้นกู้และการซื้อขายที่เพิ่มขึ้น โดยมูลค่าคงค้างหุ้นกู้ระยะสั้นและระยะยาว ณ สิ้นเดือนเมษายน 2024 อยู่ที่ 4.7 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงปี 2023 และเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2022 ที่ 4.3 ล้านล้านบาท ซึ่งหุ้นกู้ส่วนใหญ่ถึง 95% เป็นหุ้นกู้ระยะยาว นอกจากนี้ มูลค่าการซื้อขายหุ้นกู้ก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน โดยมูลค่าการซื้อขายตลอดปี 2023 อยู่ที่ 1.39 ล้านล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2022 ที่ 1.16 ล้านล้านบาท ถึง 20% สำหรับนักลงทุนที่กังวลเรื่องความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้นั้น นายแพททริกกล่าวว่า อาจพิจารณาซื้อหุ้นกู้กลุ่ม Investment grade ซึ่งมีความเสี่ยงต่ำ โดยหุ้นกู้ไทยส่วนใหญ่กว่า 86% เป็นกลุ่มนี้ ขณะที่หุ้นกู้กลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับ (Unrated bond) มีสัดส่วนเพียง 12% เท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่ออกโดยธุรกิจกลุ่มการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์
สำหรับมุมมองค่าเงินบาท นายวชิรวัฒน์ บานชื่น นักกลยุทธ์ตลาดการเงินอาวุโส เปิดเผยว่า เดือนที่ผ่านมาเงินบาทยังผันผวนสูงต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากตัวเลขเงินเฟ้อ (CPI) และยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ที่ออกมาต่ำกว่าตลาดคาด ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลดลง และเงินดอลลาร์อ่อนค่า ขณะที่เลข GDP ไทยไตรมาสแรกออกมาสูงกว่าคาด และมีเงินทุนไหลกลับเข้าตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทยในเดือนพฤษภาคม จึงหนุนให้เงินบาทแข็งค่าต่อ อย่างไรก็ดี เงินบาทกลับมาอ่อนค่าเร็วตั้งแต่สัปดาห์ก่อน โดยเป็นผลจากความไม่แน่นอนทางการเมืองที่สูงขึ้น หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องถอดถอนนายกฯ ทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลง อีกทั้ง ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ (ดัชนี PMI ของ S&P) ที่กลับมาสูงกว่าตลาดคาด ทำให้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ สูงขึ้น และดัชนีเงินดอลลาร์แข็งค่า
สำหรับกลยุทธ์เงินบาทในระยะต่อไปนั้น นายวชิรวัฒน์ กล่าวว่าเงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วง 1 เดือนนี้ มองกรอบเฉลี่ยราว 35.80-36.80 ต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยให้จับตาเงินเฟ้อ (PCE) สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอลง ซึ่งอาจทำให้ตลาดกลับมามองว่า Fed อาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 1 ครั้ง ทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่า นอกจากนี้ หากสถานการณ์การเมืองและมาตรการรัฐชัดเจนขึ้นก็จะทำให้บาทกลับมาแข็งค่าได้ ผู้นำเข้าจึงอาจรอซื้อ USDTHB ที่ระดับราว 35.80-36.30 สำหรับผู้ส่งออก นายวชิรวัฒน์มองว่า อาจรอจังหวะที่เงินบาทกลับไปอ่อนค่า โดยให้จับตาการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งหากคณะกรรมการส่งสัญญาณ Hawkish ก็อาจทำให้ yields สูงขึ้น กดดันดอลลาร์แข็งค่า และเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อ โดยมองกรอบขายที่ราว 36.75-37.25ต่อดอลลาร์สหรัฐ