สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(16 พฤษภาคม 2567)-------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ บริษัท เอ็ชเอ็มซี โปลีเมอส์ จำกัด หรือ HMC เป็น ‘BBB+(tha)’ จาก ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตยังคงเป็นลบ
การปรับลดอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net leverage) ของ HMC จะยังคงอยู่ในระดับสูง ในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลีโพรพิลีน (PP) ที่อ่อนแอ และการฟื้นตัวของธุรกิจโพลีโพรพิลีนที่น่าจะช้ากว่าที่เคยคาดไว้ อัตราส่วนหนี้สินที่สูงนี้เกิดจากการฟื้นตัวของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ที่ช้ากว่าที่ฟิทช์คาด เนื่องจากความท้าทายอย่างต่อเนื่องในธุรกิจปิโตรเคมีโดยเฉพาะธุรกิจโพลีโพรพิลีน
แนวโน้มเครดิตเป็นลบ ยังคงสะท้อนถึงความเสี่ยงจากการคาดการณ์ว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ จะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า อาจไม่เป็นไปตามที่คาด
อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ HMC ได้มีการพิจารณารวมถึงการปรับเพิ่มอันดับเครดิตขึ้นหนึ่งอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile) ของ HMC ที่อยู่ที่ ‘bbb(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ HMC ในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) ที่อยู่ในระดับปานกลาง จากบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC (อันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตเป็นลบ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ ‘a+(tha)’) ซึ่งถือผู้หุ้นรายใหญ่ที่สุดของ HMC โดยถือหุ้นร้อยละ 41 ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology)
ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต
อัตราส่วนหนี้สินที่สูงจากการฟื้นตัวที่ช้าลง: ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ HMC ในปี 2567-2570 จะฟื้นตัวช้ากว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ เนื่องจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลีโพรพิลีน มีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์ ซึ่งทำให้อัตราส่วน EBITDA net leverage ของ HMC จะยังคงอยู่ในระดับสูงในปี 2567-2569 และอยู่สูงกว่าระดับที่สอดคล้องกับอันดับเครดิตปัจจุบันที่ 4.3 เท่า ฟิทช์คาดว่า EBITDA ของ HMC จะยังคงติดลบในปี 2567 ก่อนที่จะฟื้นตัวไปอยู่ที่ 900 ล้านบาทในปี 2568 และ 2.4 พันล้านบาทในปี 2569 ซึ่งจะทำให้อัตราส่วน EBITDA net leverage อยู่ที่ 14.7 เท่าและ 6.0 เท่าตามลำดับ อย่างไรก็ตาม หากการฟื้นตัวของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ต่ำกว่าที่ฟิทช์คาด ปัจจัยดังกล่าวอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตลงได้อีก
หนี้สินสุทธิ (Net debt) ของ HMC มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นประมาณ 1.4 พันล้านบาทในปี 2567-2568 เนื่องจากกระแสเงินสดสุทธิ (Free cash flow) ที่ติดลบจาก EBITDA ที่อ่อนแอ อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของบริษัทฯ จะยังคงได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่ไม่สามารถยกเลิกได้ (Committed credit facilities) จากสถาบันการเงินที่สามารถเบิกถอนได้จำนวน 7.0 พันล้านบาท อย่างน้อยจนถึงเดือน ธันวาคม 2568 ฟิทช์คาดว่าหนี้สินสุทธิจะปรับตัวลดลงตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และอัตราส่วน EBITDA net leverageจะลดลงไปที่ 3.6 เท่าในปี 2570
ความเชื่อมโยงกับ PTTGC: ฟิทช์ประเมินว่า PTTGC มีแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนในด้านความสำคัญทางกลยุทธ์ (Strategic incentive) แก่ HMC อยู่ในระดับปานกลาง ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่กับบริษัทลูก HMC เป็นผู้รับซื้อโพรพิลีนรายใหญ่ของ PTTGC และเป็นบริษัทหลักในธุรกิจโพลีโพรพิลีนของ PTTGC นอกจากนี้ PTTGC ยังมีข้อตกลงที่จะไม่แข่งขันกับ HMC ในธุรกิจนี้ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ในเชิงกลยุทธ์ของทั้งสองบริษัท ฟิทช์เชื่อว่า PTTGC มีแนวโน้มที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ HMC มากกว่าสัดส่วนการถือหุ้นหากจำเป็น
PTTGC ไม่ได้มีอำนาจควบคุมการบริหารทั้งหมดของ HMC เนื่องจาก LyondellBasell Industries N.V. (อันดับเครดิตที่ BBB แนวโน้มเครดิตเป็นบวก) มีตัวแทนเป็นคณะกรรมการของ HMC และมีส่วนร่วมในการแต่งตั้งผู้บริหารระดับสูงของ HMC โดยมีการหมุนเวียนกันเป็นผู้บริหารระดับสูงของ HMC นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทฯ ขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของ LyondellBasell ดังนั้น ฟิทช์ประเมินแรงจูงใจในการให้การสนับสนุนแก่ HMC ในด้านความสำคัญทางด้านการดำเนินงาน (Operational incentive) อยู่ในระดับต่ำ เช่นเดียวกันกับแรงจูงใจทางกฎหมาย (Legal incentive)
ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลีโพรพิลีนยังคงอ่อนตัว: ฟิทช์คาดว่าส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลีโพรพิลีนจะยังคงอ่อนแอในปี 2567 จากความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของความต้องการของผู้บริโภคจากประเทศจีน การเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่ช้าลง และสภาวะกำลังการผลิตที่เกินความต้องการ ฟิทช์เชื่อว่าความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคยังคงอ่อนแอ โดยเฉพาะจากการที่ฟิทช์คาดการว่าการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศจีนจะยังคงต่ำกว่าในช่วงก่อนการเกิดสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด อย่างน้อยจนถึงปี 2569 ในขณะที่กำลังการผลิตใหม่ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกำลังการผลิตโพลิโพรพิลีน ฟิทช์คาดว่ากำลังการผลิตใหม่ในอุตสาหกรรม น่าจะเริ่มลดลงในปี 2568 ซึ่งน่าจะทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ค่อยๆ ฟื้นตัว แต่การฟื้นตัวของส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์โพลีโพรพิลีนน่าจะใช้เวลาที่นานกว่า เนื่องจากกำลังการผลิตใหม่ที่มีมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น
ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนที่ลดลง: ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนของ HMC น่าจะลดลงในปี 2567 (ในปี 2566 มีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนอยู่ที่ 1.1 พันล้านบาท) เนื่องจากบริษัทฯ ไม่มีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ หลังจากโครงการ PP line 4 แล้วเสร็จ ฟิทช์เชื่อว่า HMC จะยังคงมีความระมัดระวังในการลงทุนโดยเฉพาะในปี 2567-2568 ซึ่งเป็นช่วงที่ธุรกิจยังคงอ่อนแออยู่ ฟิทช์ประมาณการว่าบริษัทฯ จะมีค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุนรวมประมาณ 1.5 พันล้านบาทในปี 2567-2568 สำหรับการซ่อมบำรุงเป็นหลัก
การขยายเทอมการชำระเงิน: HMC ได้มีการขอขยายเทอมการชำระเงินในการซื้อวัตถุดิบจาก PTTGC เป็น 90 วันจาก 30 วัน ซึ่งขึ้นอยู่กับการอนุมัติจาก PTTGC โดยการขอขยายเทอมน่าจะมีผลไปจนถึงสิ้นปี 2568 และสามารถต่ออายุได้อีกจากการเห็นชอบจากทั้งสองฝ่าย ฟิทช์คาดว่า HMC จะได้รับการอนุมัติจาก PTTGC และขยายเทอมการชำระเงินเป็น 90 วันจาก 30 วันในปี 2567 อย่างไรก็ตาม การขยายเทอมดังกล่าว ไม่น่าจะทำให้อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ ลดลงอย่างมีนัยสำคัญในปี 2567-2569
การขายเงินลงทุนเพื่อลดหนี้: HMC อาจจะพิจารณาขายเงินลงทุนในหุ้น PTTGC ที่บริษัทฯ ถืออยู่ร้อยละ 1.85 ของหุ้น PTTGC ทั้งหมด เพื่อใช้ลดหนี้สินของบริษัทฯ อย่างไรก็ตาม ฟิทช์ไม่ได้พิจารณาการขายเงินลงทุนดังกล่าวในประมาณการของฟิทช์ เนื่องจากการขายเงินลงทุนดังกล่าวยังมีความไม่แน่นอน และขึ้นอยู่กับสภาวะตลาดหลักทรัพย์ โดยเงินลงทุนดังกล่าวมีมูลค่าตลาดประมาณ 3.1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม การขายเงินลงทุนดังกล่าว ณ ราคาตลาดปัจจุบัน จะช่วยลดอัตราส่วน EBITDA net leverage ของ HMC เป็น 11.9 เท่าในปี 2568 4.8 เท่าในปี 2569 และ 2.8 เท่าในปี 2570
มุ่งเน้นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม: HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งจะมีการแข่งขันที่น้อยกว่าและมีอัตราส่วนกำไรที่สูงกว่า โดยบริษัทฯ มีสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์เหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 50-55 ของยอดขายในปี 2563-2566 จากประมาณร้อยละ 35 ในปี 2558 บริษัทฯ มีแผนที่จะเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์ดังกล่าวให้สูงขึ้นเป็นประมาณร้อยละ 70 ภายในปี 2573 ผลิตภัณฑ์เหล่านี้จะมีราคาสูงกว่าผลิตภัณฑ์ที่เป็น Commodity grade โดยเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10 ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีอัตราส่วนกำไรสูงกว่าคู่แข่ง
ผู้นำในด้านเทคโนโลยีและการพัฒนาผลิตภัณฑ์: HMC ใช้เทคโนโลยีการผลิตโพลีโพรพิลีนชั้นนำของโลกจาก LyondellBasell ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ นอกจากนี้ PP line 4 ใช้เทคโนโลยีการผลิตโพลีโพรพิลีนที่ทันสมัยที่สุด ซึ่งเป็นเพียงหนึ่งในสองโรงงานในโลกที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ที่จะสามารถใช้ C6 (Hexene co-monomer) เพื่อเพิ่มคุณสมบัติของโพลีโพรพิลีน และเพิ่มชนิดของผลิตภัณฑ์สำหรับการใช้งานใหม่ๆ HMC เป็นผู้นำในการผลิตโพลีโพรพิลีนที่ใช้ในการผลิตท่อและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ในประเทศไทย และเป็นผู้ผลิตโพลีโพรพิลีนรายแรกของโลกที่ทำแผ่นฟิล์มไดอีเลคตริค ผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของบริษัทฯ จะขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของ LyondellBasell ซึ่งเป็นยอมรับทั่วโลก
การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
HMC มีขนาดธุรกิจที่เล็กกว่า และมีธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ ที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับบริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC (อันดับเครดิตที่ ‘BBB+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ; สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ ‘bbb-(tha)’) อย่างไรก็ตาม HMC มีเทคโนโลยีด้านการผลิตสูงกว่า และผลิตภัณฑ์ที่ก้าวหน้ากว่า IRPC และมีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่สูงกว่า IRPC แม้ว่าจะไม่พิจารณารวมธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เนื่องจาก HMC มุ่งเน้นในผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างและมีลักษณะเฉพาะตัว ประกอบกับ HMC มีสถานะทางการเงินที่คาดการว่าจะแข็งแกร่งกว่า ซึ่งสอดคล้องกับสถานะในอดีตที่ผ่านมา ดังนั้น HMC จึงมีอันดับเครดิตโดยลำพังสูงกว่าอันดับเครดิตโดยลำพังของ IRPC อยู่หนึ่งอันดับ อย่างไรก็ตาม HMC เผชิญกับความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทจะยังคงอยู่ที่ระดับสูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ ซึ่งสะท้อนอยู่ในแนวโน้มเครดิตเป็นลบของบริษัทฯ
สถานะทางธุรกิจของ HMC แข็งแกร่งกว่าของบริษัท โกลบอล กรีน เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GGC (อันดับเครดิตภายในประเทศที่ A-(tha) แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ, สถานะทางเครดิตโดยลำพังที่ bbb(tha)) ซึ่งเป็นผู้ผลิตไบโอดีเซลและโอลีโอเคมีในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนหนี้สินของ GGC ที่ต่ำกว่าช่วยชดเชยสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ทำให้สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ GGC อยู่ในระดับเดียวกันกับของ HMC แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ GGC สะท้อนถึงความเสี่ยงในการปรับลดอัตราส่วนหนี้สิน เช่นเดียวกันกับของ HMC
ฟิทช์มองว่า HMC มีสถานะทางธุรกิจดีกว่าบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (อันดับเครดิตที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มผู้ผลิตโพลิเมอร์และพลาสติก อยู่เล็กน้อย ฟิทช์เชื่อว่าการเป็นผู้นำในธุรกิจโพลีโพรพิลีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ช่วยชดเชยการที่บริษัทฯ มีความหลากหลายของธุรกิจของลูกค้าที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับ EPG อย่างไรก็ตาม HMC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่ามาก ซึ่งทำให้อันดับเครดิตโดยลำพังของ HMC อยู่ต่ำกว่าของ EPG
สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ:
- ปริมาณการขายเพิ่มขึ้นเล็กน้อยประมาณร้อยละ 2 ในปี 2567 (ปี 2566 ลดลงร้อยละ 5) และเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12-13 ต่อปี ในปี 2568-2569 เนื่องจากฟิทช์คาดว่าความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์จะฟื้นตัวในระดับที่สูงกว่า
- ส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบค่อนข้างคงที่ในปี 2567 แล้วค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในปี 2568-2569
- เงินลงทุนรวม 1.5 พันล้านบาท ในปี 2567-2568
- ขยายเทอมการชำระเงินสำหรับการซื้อวัตถุดิบจาก PTTGC เป็น 90 วันในปี 2567-2570 จาก 30 วัน
- ไม่มีการจ่ายเงินปันผลจนกระทั่งปี 2570
ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- แนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับกลับมาเป็นมีเสถียรภาพได้ หากฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯ สามารถลด EBITDA net leverage ลงมาให้อยู่ในระดับต่ำกว่า 4.3 เท่าอย่างต่อเนื่องได้ ในขณะที่แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก PTTGC ยังเหมือนเดิม
ปัจจัยลบ:
- กระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ต่ำกว่าที่คาด จากการฟื้นตัวของความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช้ากว่าที่คาด และ/หรือ การเพิ่มขึ้นของเงินลงทุนที่ใช้หนี้เป็นแหล่งเงินทุน หรือการจ่ายเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้น อันเป็นผลให้อัตราส่วน EBITDA net leverage สูงกว่า 4.3 เท่าอย่างต่อเนื่อง
- แรงจูงใจในการให้การสนับสนุนจาก PTTGC ที่ลดน้อยลง
สภาพคล่อง
สภาพคล่องที่บริหารจัดการได้: HMC มีหนี้สินอยู่ประมาณ 1.58 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 ซึ่งประกอบด้วยเงินกู้ระยะสั้นจำนวน 500 ล้านบาท หุ้นกู้จำนวน 8.3 พันล้านบาท และเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงินจำนวน 7.0 พันล้านบาท โดยหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2567 มีจำนวนทั้งสิ้นประมาณ 1.7 พันล้านบาท (รวมเงินกู้ระยะสั้น) และกระแสเงินสดสุทธิที่คาดว่าจะติดลบในปี 2567 จะได้รับการสนับสนุนจากเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 1.1 พันล้านบาท และวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่ไม่สามารถยกเลิกได้จากสถาบันการเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้จำนวน 7.0 พันล้านบาท HMC เพิ่งได้รับวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนที่ไม่สามารถยกเลิกได้ อายุสัญญา 3 ปี กับ 5 ปี จากธนาคารในประเทศ 2 แห่งในเดือนมกราคม และพฤษภาคม 2566
HMC คาดว่าจะชำระคืนหุ้นกู้มูลค่า 1.3 พันล้านบาทที่จะครบกำหนดชำระในปี 2568 ด้วยการออกหุ้นกู้ชุดใหม่
ข้อมูลของบริษัท
HMC เป็นผู้ผลิตโพลีโพรพิลีนรายแรกและรายใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยบริษัทฯ มีสายการผลิตโพลีโพรพิลีนอยู่ 4 สายการผลิต มีกำลังการผลิตรวมที่ 1.06 ล้านตันต่อปี โดย PP line 4 แล้วเสร็จและเริ่มการผลิตในเดือนธันวาคม 2565 ผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ขายภายใต้เครื่องหมายการค้าของ LyondellBasell
สรุปรายการปรับปรุงงบการเงินที่สาคัญ
หุ้นบุริมสิทธิที่ถือโดยผู้ถือหุ้นตามสัดส่วน ไม่ได้นับรวมเป็นหนี้สิน