Today’s NEWS FEED

News Feed

เส้นทางการเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

100



สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(9 พฤษภาคม 2567)----โดย ฝ่ายตราสารหนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังส่งสัญญาณเตือนว่า ทั่วโลกต้องเร่งร่วมมือกันดำเนินการเพื่อบรรเทาปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยตัวชี้วัดปัญหาที่สำคัญจะเห็นได้จากข้อมูลของ Copernicus Climate Change Service (C3S)* ที่เผยแพร่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ระบุว่าอุณหภูมิของโลกในปี 2566 มีช่วงที่ปรับสูงขึ้นเกินกว่าระดับ 1.5 องศาเซลเซียสแล้ว เมื่อเทียบกับระดับก่อนการปฏิวัติอุตสาหกรรม อีกทั้งในปัจจุบันการเกิดภัยธรรมชาติและเหตุการณ์สุดขั้วของสภาพภูมิอากาศก็มีความถี่เพิ่มมากขึ้นและทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง**

นอกจากนี้ จากรายงาน Emissions Gap Report 2023 ของ United Nations Environment Programme ยังระบุว่า แผนงานและมาตรการต่าง ๆ ที่ทั่วโลกดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน จะสามารถควบคุมอุณหภูมิของโลกให้เพิ่มขึ้นได้ไม่เกิน 2.5 – 2.9 องศาเซลเซียสเท่านั้น ซึ่งยังห่างไกลจากเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีสที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับระดับก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม และมุ่งมั่นที่จะรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ในศตวรรษนี้ จากสถานการณ์ที่อุณหภูมิโลกยังสูงขึ้นต่อเนื่องเช่นนี้ สิ่งมีชีวิตหลายชนิดจะต้องอพยพย้ายถิ่น หรืออาจจะสูญพันธุ์ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงอาจท่วมพื้นที่เศรษฐกิจและถิ่นที่อยู่อาศัย ประกอบกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงยิ่งขึ้นจะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจของโลกโดยรวม

สำหรับประเทศไทย จากรายงานของ Swiss Re Institute (2021) ระบุว่า ประเทศไทยมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจรุนแรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศเป็นอันดับ 4 จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 48 ประเทศทั่วโลก (ครอบคลุมร้อยละ 90 ของ GDP โลก) และในกรณีที่อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มขึ้นเกิน 2 – 2.6 องศาเซลเซียส คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ GDP ของประเทศไทยลดลงถึงร้อยละ 33 – 36 ในปี 2048 (พ.ศ. 2591)***

การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ที่ผ่านมาการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนเข้าสู่เป้าหมายความตกลงปารีส ทั้งภาครัฐและเอกชนเน้นให้ความสำคัญกับการส่งเสริมเศรษฐกิจ “สีเขียว” ซึ่งหมายถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas: GHG) เป็นศูนย์หรือใกล้เคียงศูนย์แล้ว อย่างไรก็ดี หากจะบรรลุเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส การมุ่งเน้นสนับสนุนเฉพาะกิจกรรมสีเขียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมที่ยังคงปล่อย GHG สูง และลดการปล่อย GHG ได้ยาก (hard-to-abate sector) เช่น การผลิตซีเมนต์ การผลิตเหล็กและอะลูมิเนียม การผลิตเคมีภัณฑ์ และการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 20 ของ GDP โลก และมีส่วนสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยรวมแล้วคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 85 ของ GDP โลก ดังนั้น หากทั้งกิจกรรมใน hard-to-abate sector และห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องสามารถเปลี่ยนผ่านได้สำเร็จ จะสามารถลดการปล่อย GHG ทั่วโลกลงได้อย่างมีนัยสำคัญ****

ด้วยเหตุนี้ การเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจที่มีการปล่อย GHG ต่ำ (Transition) ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังคงปล่อย GHG สูง และลดการปล่อย GHG ได้ยาก จึงมีความสำคัญและต้องเริ่มทำอย่างเร่งด่วน โดยในระยะเริ่มต้น กิจกรรมกลุ่มนี้อาจยังไม่มีเส้นทางการเปลี่ยนผ่าน (pathway) ไปสู่กิจกรรมสีเขียวที่สอดรับกับเป้าหมายภายใต้ความตกลงปารีส แต่หากได้รับการสนับสนุนและเงินทุนที่เพียงพอให้สามารถเริ่มการ Transition ได้อย่างรวดเร็ว กิจกรรมเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะสามารถปรับปรุงเส้นทางการเปลี่ยนผ่านของตนเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าวได้ในอนาคต ซึ่งการสนับสนุนตามแนวทางดังกล่าวข้างต้นสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การศึกษาวิจัยเพื่อเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีที่ปล่อย GHG ต่ำ (เช่น พลังงานไฮโดรเจน) การเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องจักรที่ประหยัดพลังงานหรือเครื่องจักรที่ใช้พลังงานไฟฟ้าแทนเชื้อเพลิงฟอสซิล และการเปลี่ยนไปใช้วัตถุดิบธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การ Transition นอกจากจะช่วยให้เกิดการลด GHG ลงได้อย่างมีนัยสำคัญแล้ว ยังช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดและยกระดับความสามารถในการแข่งขันในภาวะที่ตลาดโลกต่างให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนธุรกิจรวมถึงห่วงโซ่อุปทานให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (greening value chain) อีกด้วย

เส้นทางการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม

นอกจากคำนึงถึงการลดการปล่อย GHG สู่ชั้นบรรยากาศ และการบรรเทาปัญหาโลกร้อนแล้ว การ Transition ยังต้องพิจารณามิติด้านสังคมและแรงงานควบคู่ไปด้วย ประเด็นนี้จึงถูกกล่าวถึงอย่างมากภายใต้หลักการเรื่องการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม (Just transition) เนื่องจากการ Transition ครอบคลุมตั้งแต่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน การเปลี่ยนเทคโนโลยี ไปจนถึงการหยุดกิจกรรมบางอย่างเพื่อเปลี่ยนไปทำกิจกรรมที่ปล่อย GHG ต่ำกว่า (เช่น การปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน เปลี่ยนจากโรงงานผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เป็นต้น) มีความเป็นไปได้ที่จะส่งผลต่อแรงงานในด้านลบ เนื่องจากปัจจุบันยังมีอุตสาหกรรมจำนวนมากที่ใช้เทคโนโลยีที่ปล่อย GHG เข้มข้น และเป็นแหล่งจ้างงานของแรงงานจำนวนมาก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งหากแรงงานไม่ได้รับการฝึกทักษะใหม่ ๆ ให้พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ก็มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบ เช่น ว่างงานหรือมีรายได้น้อยลง เกิดความยากจน เป็นต้น และจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังสภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม การ Transition จึงจะต้องคำนึงถึงผลกระทบในประเด็นเหล่านี้ด้วย

สนับสนุนการ Transition ในภูมิภาค

การ Transition ต้องคำนึงถึงบริบทของอุตสาหกรรมหรือภูมิภาคที่แตกต่างกันออกไป เช่น ระดับการพัฒนาของโครงสร้างพื้นฐาน ระดับการพัฒนาของเทคโนโลยีและนวัตกรรม นโยบายทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างและระดับการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคม เป็นต้น จึงมีความเป็นไปได้ที่แต่ละธุรกิจจะมีแผนงานและ pathway สำหรับการ Transition ที่แตกต่างกันออกไป โดยธุรกิจบางส่วนในประเทศพัฒนาแล้ว มีโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีพร้อมที่จะสนับสนุนให้สามารถกำหนด Transition pathway ได้สอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส ในขณะที่ธุรกิจในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในอุตสาหกรรมที่ยังคงปล่อย GHG สูง และลดการปล่อย GHG ได้ยาก และเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) โดยเฉพาะในอาเซียนที่มี SME คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 97-99 ของธุรกิจทั้งหมด***** ยังขาดความพร้อมทั้งในแง่ความรู้ความเข้าใจ เครื่องมือ เทคโนโลยี และโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะเอื้อต่อการเริ่ม Transition ของธุรกิจ

นอกจากนี้ การ Transition ไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำยังต้องการเงินทุนจำนวนมหาศาลเพื่อลงทุนในกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การศึกษาพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อให้เกิดการ Transition และการเสริมสร้างศักยภาพของผู้ประกอบการและแรงงานให้มีความพร้อมและมีทักษะที่เหมาะสม เป็นต้น สำหรับภูมิภาคเอเชียมีการประมาณการว่า มีความต้องการเงินทุนถึง 9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ไปจนถึงปี 2593 เพื่อลงทุนในกิจกรรมด้านการเปลี่ยนผ่าน****** ซึ่งเงินทุนจากภาครัฐอาจไม่เพียงพอ ทำให้ภาคเอกชนต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนด้วย ส่วนภาคการเงินซึ่งรวมถึงตลาดทุนก็จะมีบทบาทสำคัญที่จะเป็นตัวกลางในการจัดสรรเงินทุนในระบบเศรษฐกิจไปสู่กิจกรรมเพื่อการเปลี่ยนผ่าน

อย่างไรก็ดี การจัดสรรเงินให้ตรงจุดและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อการ Transition ต้องมีการกำหนดนิยามให้ชัดเจนว่ากิจกรรม Transition และการระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านหรือ Transition finance ต้องมีลักษณะหรือองค์ประกอบอย่างไร จึงจะมีความน่าเชื่อถือ ลดข้อกังวลในการถูกมองว่าเป็น greenwashing และสอดรับกับบริบทที่แตกต่างกันของธุรกิจที่มาระดมทุน ตลอดจนตระหนักถึงหลักการการเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรมด้วย

ก.ล.ต. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านเข้าใจถึงความจำเป็นและความเร่งด่วนของการ Transition เพิ่มมากขึ้น โดยรายละเอียดเกี่ยวกับการกำหนดนิยามของกิจกรรม Transition สำหรับการระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่าน และเครื่องมือที่รองรับการระดมทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านจะนำมาเล่าในโอกาสต่อไป

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ลุ้นกันต่อ By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง วันนี้ วันจันทร์ คงต้องมาลุ้นหุ้นกันต่อไป หลังจาก บริษัทจดทะเบียน ประกาศงบไตรมาสแรกปีนี้ออกมา ..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้