Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์ คงอันดับเครดิต บมจ. ปูนซีเมนต์นครหลวง ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

263

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซส์ (29 มีนาคม 2567)-------บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term Rating) และอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของหุ้นกู้ไม่มีประกันและไม่ด้อยสิทธิ ของบริษัท ปูนซีเมนต์นครหลวง จำกัด (มหาชน) หรือ SCCC ที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term Rating) ที่ ‘F1(tha)’

อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจของ SCCC ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ขนาดเล็กในระดับภูมิภาค ซึ่งมีสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในประเทศที่เป็นตลาดหลัก โดย SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทยและเวียดนามตอนใต้ และผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศศรีลังกา ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของ SCCC จะฟื้นตัวในปี 2567-2568 จากการอัตราการทำกำไรที่ดีขึ้น เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ลดลง และการเพิ่มมาตรการการลดต้นทุนต่างๆอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้ SCCC สามารถคงระดับ อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ที่ระดับต่ำกว่า 2.3 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่ฟิทช์อาจพิจารณาปรับลดอันดับเครดิต ถึงแม้ว่าบริษัทฯจะมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

กำไรที่ฟื้นตัว – ฟิทช์คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจาหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ SCCC จะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 15-16 ในปี 2567-2568 (ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 14) โดยได้รับการสนับสนุนจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวลดลง และมาตรการการลดต้นทุนต่างๆ เช่น การบริหารต้นทุนคงที่ การลดสัดส่วนการใช้ปูนเม็ด และการใช้พลังงานทดแทนที่สูงขึ้น ฟิทช์คาดว่ากำไรที่อ่อนแอในปี 2566 เนื่องจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น และอุปสงค์ของปูนซีเมนต์ที่อ่อนแอ ซึ่งกดดันราคาขายปูนซีเมนต์ น่าจะเป็นเหตุการณ์ชั่วคราว และกำไรน่าจะฟื้นตัวในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้กำไรในปี 2566 ยังได้รับผลกระทบจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นครั้งเดียวสำหรับการปรับโครงสร้างองค์กร ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนในการดำเนินงานลดลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า

ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่เพิ่มขึ้นและความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมอยู่ในระดับต่ำ – ฟิทช์คาดว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนรวมของบริษัทฯ จะอยู่ในระดับประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2567-2569 (ปี 2566 อยู่ที่ 1.3 พันล้านบาท) โดยส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการบำรุงรักษา โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและขยายกำลังการผลิต ถึงแม้ว่าค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่จำเป็นและไม่สามารถยกเลิกได้ (Committed capex) ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อการบำรุงรักษา ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯจะลงทุนในการขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการปูนซีเมนต์ที่ฟื้นตัว รวมถึงการลงทุนอื่นๆบางส่วนเพื่อลดต้นทุนการผลิต และบรรลุเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน


ฟิทช์คาดว่าความสามารถในการรองรับหนี้สินเพิ่มเติมโดยไม่กระทบต่ออันดับเครดิต (Rating Headroom) ของบริษัทฯ จะยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วง2-3ปีข้างหน้า ในขณะที่EBITDAฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ฟิทช์คาดว่า EBITDA Net Leverage จะคงอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 2.1-2.2 เท่า ในปี 2567-2569 (ปี 2566 อยู่ที่ 2.3 เท่า) ฟิทช์เชื่อว่าบริษัทฯ มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการอัตราส่วนหนี้สิน ซึ่งรวมถึงการชะลอการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิต หรือการลดการจ่ายเงินปันผล ถ้าอุปสงค์ของปูนซีเมนต์ไม่ฟื้นตัวตามที่บริษัทฯคาด

การฟื้นตัวที่แตกต่างกันในแต่ละตลาด – ฟิทช์คาดว่า กระแสเงินสดจากการดำเนินงานส่วนใหญ่ของ SCCC จะมาจากธุรกิจในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ในขณะที่ธุรกิจในประเทศเวียดนามและศรีลังกาจะค่อยๆฟื้นตัว ฟิทช์คาดว่าความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศไทยจะยังคงซบเซาในปี 2567 เนื่องจากการอนุมัติงบประมาณของรัฐบาลที่ล่าช้า และการก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยที่ชะลอตัว เนื่องจากเศรษฐกิจที่เติบโตต่ำและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ฟิทช์คาดว่าความต้องการปูนซีเมนต์ในประเทศจะฟื้นตัวในระดับต่ำในปี 2568-2569

ฟิทช์คาดว่ารายได้จากธุรกิจของ SCCC ในประเทศเวียดนามจะยังคงอ่อนแอ่ในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 และจะค่อยๆฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 ตามการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศเวียดนาม รายได้ของ SCCC ในประเทศเวียดนามมีแนวโน้มที่จะเติบโตในระดับกลางถึงสูง โดยได้รับการสนับสนุนจากการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและการเพิ่มขึ้นของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า กำลังการผลิตปูนซีเมนต์ที่สูงในประเทศศรีลังกาจะยังคงกดดันราคาปูนซีเมนต์ และกำไรของบริษัทฯ ในช่วง 2-3ปีข้างหน้า ถึงแม้ว่าอุปสงค์ของปูนซีเมนต์จะค่อยๆ ฟื้นตัวตามสภาวะเศรษฐกิจ

สถานะทางการตลาดและการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ – SCCC สามารถรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด ในฐานะผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของประเทศไทย แม้ว่าจะมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดและมีการแข่งขันภายที่รุนแรงขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ด้วยชื่อเสียงของตราสินค้าของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในการปรับราคาสินค้า นอกจากนี้ SCCC ยังเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่ที่สุดและผู้ผลิตปูนเม็ดเพียงรายเดียวในประเทศศรีลังกา และเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับสองของเวียดนามตอนใต้ ซึ่งทำให้บริษัทฯ มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่มากขึ้น รายได้จากต่างประเทศ คิดเป็นสัดส่วนเกือบร้อยละ 35 ของรายได้ทั้งหมดในปี 2566

ธุรกิจมีความอ่อนไหวต่อราคาพลังงาน – EBITDA margin ของ SCCC มีความอ่อนไหวต่อระดับราคาพลังงาน โดยเฉพาะราคาถ่านหินและค่าไฟฟ้า ต้นทุนเชื้อเพลิงและไฟฟ้าโดยทั่วไปมีสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของต้นทุนการผลิตทั้งหมด อย่างไรก็ตาม ราคาถ่านหินปรับตัวลดลงในปี 2566 จากระดับที่สูงในปี 2565 ฟิทช์คาดว่าราคาถ่านหินจะลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทฯ

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป
SCCC มีสถานะทางธุรกิจอ่อนแอกว่า บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCC (อันดับเครดิตปัจจุบัน ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศเช่นเดียวกัน เนื่องจาก SCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย และการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และทางธุรกิจที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม ความแข็งแกร่งทางสถานะทางธุรกิจที่สูงกว่า ได้ถูกลดทอนจากอัตราส่วนหนี้สินของ SCC ที่สูงกว่า SCCC ทำให้อันดับเครดิตของ SCC และ SCCC อยู่ในระดับเดียวกัน

SCCC มีอันดับเครดิตในระดับเดียวกับสถานะเครดิตของบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน แต่มีอันดับเครดิตสูงกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ A+(tha)/แนวโน้มเครดิตเป็นลบ/ สถานะเครดิตโดยลำพังที่ a-(tha)) ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของประเทศไทย

SCCC มีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรขาลงทางเศรษฐกิจมากกว่า SCGP และ GPSC เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมที่ความต้องการซื้อจากลูกค้ามีความสม่ำเสมอมากกว่า และมีกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้มากกว่า SCCC ดังนั้น SCGP จึงสามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ได้ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน GPSC มีอัตราส่วนหนี้สินสูงกว่า SCCC มาก หลังจากการลงทุนเข้าซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้สถานะเครดิตโดยลำพังของ GPSC อยู่ต่ำกว่าอันดับเครดิตของ SCCC ที่ 1 อันดับ นอกจากนี้ แนวโน้มเครดิตเป็นลบของ GPSC สะท้อนถึงความเสี่ยงที่อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทฯ มีแนวโน้มที่จะอยู่สูงเกินกว่าที่คาด

SCCC มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่าบริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG (‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ที่ผลิตจากยางสังเคราะห์ประเภท EPDM, ธุรกิจผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งรถยนต์ ในเชิงรายได้ และEBITDA EPG มีธุรกิจปลายทางที่กระจายตัวมากกว่า แต่ถูกลดทอนโดย สถานะผู้นำตลาดในธุรกิจปูนซีเมนต์ในประเทศไทย ศรีลังกา และเวียดนาม ของ SCCC SCCC มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า EPG แต่ด้วยสถานะทางธุรกิจที่ดีกว่า ทำให้ SCCC มีอันดับเครดิตที่สูงกว่า EPG อยู่หนึ่งอันดับ


สมมติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ
- รายได้ลดลงร้อยละ 5 ในปี 2567เนื่องจากความต้องการและราคาขายปูนซีเมนต์ที่อ่อนแอ; รายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 ต่อปี ในปี 2568-2569
- EBITDA margin เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 15-16 ต่อปี ในปี 2567-2568 (ปี 2566 ร้อยละ 14) โดยได้รับการสนับสนุนจากต้นทุนพลังงานที่ปรับตัวลดลง และมาตรการการลดต้นทุนต่างๆ
- ค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนรวม 1 หมื่นล้านบาท ในปี 2567-2569
- อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับร้อยละ 75-80

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต
ปัจจัยบวก:
- ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า เนื่องจาก SCCC มีขนาดธุรกิจที่ค่อนข้างเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับบริษัทที่มีอันดับเครดิตสูงกว่า

ปัจจัยลบ:
- การที่กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทฯ อ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือการมีค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนโดยใช้แหล่งเงินทุนจากเงินกู้ในระดับสูง รวมถึงการจ่ายเงินปันผลจำนวนมาก ส่งผลให้ EBITDA net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 2.3 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่อง
สภาพคล่องอยู่ในระดับที่ดี: SCCC มีหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในปี 2567 จำนวน 7.3 พันล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2.8 พันล้านบาท และหุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนประมาณ 4.5 พันล้านบาท เงินสดของ SCCC จำนวน 6.2 พันล้านบาทเพียงพอต่อการชำระคืนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนด ฟิทช์เชื่อว่าเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนจะสามารถเบิกเงินกู้ใหม่หมุนเวียนทดแทนเงินกู้เดิมได้ เนื่องจากบริษัทฯ มีระดับเงินทุนหมุนเวียนที่มั่นคง

นอกจากนี้สภาพคล่องของบริษัทฯยังจะได้รับการสนับสนุนจากวงเงินสินเชื่อหมุนเวียนจากสถาบันการเงินประเภทไม่สามารถยกเลิกได้ (Committed credit facilities) จำนวน 9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 และบริษัทฯ ยังมีความสามารถในการกู้ยืมเงินเพื่อชำระคืนหนี้สินเดิม (Refinancing ability) ที่แข็งแกร่ง เนื่องจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ใหม่ผ่านตลาดทุนและสถาบันการเงินของบริษัทฯ ที่แข็งแกร่ง

ข้อมูลบริษัท
SCCC มีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์รวม 24.6 ล้านตันต่อปี ในประเทศไทย ศรีลังกา และ เวียดนาม SCCC ยังถือหุ้นร้อยละ 40 ในกิจการร่วมค้า ซึ่งเป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งมีกำลังการผลิตปูนซีเมนต์จำนวน 2.2 ล้านตันต่อปี

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้