Today’s NEWS FEED

News Feed

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย แนวนโยบายภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีคนใหม่อินโดนีเซียเริ่ม ต.ค. 2567

182

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(22 มีนาคม 2567)----------------คณะกรรมการเลือกตั้งทั่วไปของอินโดนีเซียประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 มี.ค. ยืนยัน นายปราโบโว ซูเบียนโต เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย โดยในระหว่างนี้เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านก่อนจะเข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือนต.ค.2567

• ภายใต้การบริหารงานของประธานาธิบดีคนใหม่ นโยบายเศรษฐกิจตั้งเป้าหมายขยายตัว 8% สูงสุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ โดยมุ่งเสริมความแข็งแกร่งของการบริโภคผ่านมาตรการชุดใหม่ เพิ่มเติมจากแรงส่งด้านการลงทุนที่เป็นภาพต่อเนื่องของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ในขณะที่การขาดดุลการคลังก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

• ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2567 จะรักษาระดับการเติบโตได้ที่ราว 5% เป็นผลจากมาตรการของผู้นำคนปัจจุบันที่นำโดยการลงทุนและการบริโภค แม้จะมีความเสี่ยงจากการส่งออกตามความอ่อนแรงของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่แนวนโยบายของประธานาธิบดีคนใหม่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลในปี 2568 เป็นต้นไป

ทางการอินโดนีเซียประกาศผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซียอย่างเป็นทางการระบุว่านายปราโบโว ซูเบียนโต (Prabowo Subianto) เป็นประธานาธิบดี ด้วยคะแนนเสียง 58.6% โดยมีนายยิบราน รากาบูมมิง รากา (Gibran Rakabuming Raka) เป็นรองประธานาธิบดี มีกำหนดการเข้าดำรงตำแหน่งอย่างเป็นทางการในเดือน ต.ค.2567

นโยบายเศรษฐกิจของว่าที่ผู้นำคนใหม่ที่เปิดเผยออกมา มีเป้าหมายขับเคลื่อนเศรษฐกิจเติบโต 8% ในระยะ 5 ปี ซึ่งในรายละเอียดของนโยบายได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วยการจัดสรรงบประมาณขนาดใหญ่ นโยบายสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับกระแสโลก รวมถึงนโยบายด้านต่างประเทศที่ยังคงคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศ (ตารางที่ 1) มีสรุปดังนี้

ตารางที่ 1 สรุปนโยบายเบื้องต้นของนายปราโบโว ซูเบียนโต

การเดินหน้าแผนงานเดิมสร้างจุดแข็งให้ประเทศ
• แผนงานย้ายเมืองหลวงด้วยงบประมาณขนาดใหญ่จะทยอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปอีก 2 ทศวรรษ ในปี 2567 มีงบประมาณที่จะทยอยเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจเป็นวงเงิน 40.6 ล้านล้านรูเปียะห์ (2.7 พันล้านดอลลาร์ฯ) หรือประมาณ 0.19% ของ GDP ทั้งนี้ เมืองหลวงใหม่ตั้งอยู่ที่นุสันตารา เกาะกาลิมันตันตะวันออก คาดว่าจะสร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 2588 รวมวงเงินที่จะกระจายสู่เศรษฐกิจสูงถึง 32 พันล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็น 2.7% ของ GDP ในปีปัจจุบัน
• การลงทุนจากต่างประเทศยังเป็นแรงสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ตามเป้าหมายของนโยบาย Downstreaming policy ที่ห้ามส่งออกแร่ดิบเพื่อให้เกิดห่วงโซ่การผลิตขั้นกลางสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมเหมืองแร่ ในช่วง 3 ปีนับตั้งแต่เริ่มมาตรการ มีการลงทุนใหม่เพิ่มเข้ามาในกลุ่มการถลุงแร่ การผลิตแบตเตอรี่ EV โดยในปี 2566 มูลค่า FDI ที่เข้ามาลงทุนในอินโดนีเซียสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 744 ล้านล้านรูเปียะห์ (47.34 พันล้านดอลลาร์ฯ) หรือขยายตัว 13.7% นำโดยอุตสาหกรรมโลหะพื้นฐาน ตามมาด้วยคลังสินค้า การสื่อสาร เคมีภัณฑ์ ยา กระดาษและเยื่อกระดาษ

แนวนโยบายเพิ่มเติมภายใต้แผนงานของผู้นำคนใหม่
• มาตรการยกระดับคุณภาพชีวิตที่จะช่วยสนับสนุนการบริโภคให้เติบโตได้อย่างแข็งแกร่งมากขึ้นอีก ซึ่งต้องใช้เม็ดเงินขนาดใหญ่และจะมีผลกระทบต่อฐานะการคลังในระยะข้างหน้า นำโดยโครงการจัดหาอาหารกลางวันฟรีสำหรับเด็กถึง 82.9 ล้านคน ที่คาดว่าจะดำเนินการเป็นลำดับแรกในปีงบประมาณ 2568 โดยใช้วงเงินงบประมาณราว 400-450 ล้านล้านรูเปียะห์ (25.6-28.9 พันล้านดอลลาร์ฯ) รวมไปถึงโครงการอื่นๆ อาทิ โครงการตรวจสุขภาพฟรี การขึ้นเงินเดือนข้าราชการครู อาจารย์มหาวิทยาลัยและบุคลากรการแพทย์ โดยในปีงบประมาณ 2567 คาดว่าการขาดดุลการคลังของอินโดนีเซียอยู่ที่ 2.29% ต่อ GDP และในปีงบประมาณถัดไป หากมีการดำเนินการนโยบายดังกล่าวทั้งหมดคงทำให้ดุลการคลังขาดดุลไม่ต่ำกว่า 2.5% ของ GDP
• การใช้พลังงานทางเลือกจากผลผลิตเกษตร ภายในปี 2572 มีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้น้ำมันดีเซลที่มีส่วนผสมของไบโอดีเซลเป็น 50% (B50) จากปัจจุบันอยู่ที่ 35% (B35) และเพิ่มสัดส่วนผสมไบโอเอทานอลเป็น 10% โดยใช้วัตถุดิบจากน้ำมันปาล์ม อ้อย และมันสำปะหลัง ซึ่งการใช้ผลผลิตจำนวนมากต้องเร่งขยายพื้นที่เพาะปลูกทำให้พื้นที่ป่าไม้ลดลง รัฐบาลชุดนี้จึงยังมีหลายด้านที่ต้องบริหารจัดการไปพร้อมกันเพื่อไม่ให้กระทบเป้าหมายการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (net zero) ในปี 2603

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า นโยบายเศรษฐกิจของนายปราโบโว ซูเบียนโต ยังมีความท้าทายอย่างมากด้วยเป้าหมายเศรษฐกิจเติบโตที่ 8% นับว่าสูงที่สุดในรอบเกือบ 3 ทศวรรษ โดยยังต้องรอดูความชัดเจนของมาตรการหลังจากเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ซึ่งจะมีผลต่อเศรษฐกิจในปี 2568 เป็นต้นไป ในขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมิน เศรษฐกิจอินโดนีเซียในปี 2567 จะรักษาระดับการเติบโตได้ที่ใกล้เคียง 5% จากแรงหนุนผ่านการบริโภค การลงทุนทั้งในประเทศและจากต่างประเทศ ขณะที่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจะยังเป็นความเสี่ยงสำคัญของเศรษฐกิจอินโดนีเซีย

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้