Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: เซียนหุ้น-กูรูศก. เจาะเทรนด์ลงทุนปี67

1,400

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(26 ธันวาคม 2566)----- ส่งท้ายปีเก่า พ.ศ. 2566 ต้อนรับปีใหม่ พ.ศ. 2567 สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ ขอนำเสนอมุมมองและความเห็นเซียนหุ้น-กูรูศก. ที่มีต่อเทรนด์การลงทุนปี67 หุ้นไทยยังน่าสนใจหรือไม่? ด้วยปัจจัยเชิงลบที่รุมเร้าทั้งภาวะเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ดอกเบี้ยสิ้นสุดขาขึ้นจริงหรือไม่ สถานการณ์การเมืองโลกที่ส่งผลต่อภูมิรัฐศาสตร์กระทบต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าทุกประเภท ขณะที่ประเด็น Naked Short และ Robot Trade จะคลี่คลายได้หรือไม่ นักลงทุนทุกท่านต้องใช้ความรู้นำทางในการลงทุน ทีมข่าวหุ้นอินไซด์ขอให้ทุกท่านชนะตลาด และประสบความสำเร็จในการลงทุนค่ะ


กูรูทิสโก้ คาดปี 67 ตราสารหนี้ กำไรดีกว่า หุ้นโลก แถมช่วยกระจายเสี่ยง รับมือเศรษฐกิจชะลอ

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ ยังคงแนะนำนักลงทุนลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโลก และซื้อตราสารหนี้สหรัฐฯ ชี้ กรณีเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2567 พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ จะสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจกว่าหุ้นโลก และยังช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับพอร์ตลงทุน


นายคมศร ประกอบผล หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ (Mr. Komsorn Prakobphol, Head of Economic Strategy Unit, TISCO Economic Strategy Unit : TISCO ESU) เปิดเผยว่า ยังคงแนะนำลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโลก และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากในกรณีที่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปี 2567 และธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องกลับมาลดดอกเบี้ยลงเร็วและแรงกว่าที่คาดอาจทำให้ ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในพันธบัตรอาจเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10% ซึ่งทำให้มองว่าการลงทุนพันธบัตรสามารถคาดหวังผลตอบแทนได้สูงกว่าตลาดหุ้นโลก และช่วยกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนได้ดีในกรณีที่เศรษฐกิจชะลอตัวลงมากกว่าคาดในปี 2567


ปัจจุบันอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยิลด์) เคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 4.5% และคาดว่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับนี้ในระยะสั้น ก่อนจะลดลงสู่ระดับที่ 3.9-4.0% ในช่วงสิ้นปี 2566 ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงในช่วงท้ายปี หากเป็นไปตามคาด การลงทุนในพันบัตรอายุ 10 ปี จะได้รับผลตอนแทนจากส่วนต่างของราคาอีก 2-3% เพิ่มเติมจากผลตอบแทนจากดอกเบี้ยที่ราว 4.5% ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนรวมในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 6-7% ในกรอบระยะเวลาการลงทุน 1 ปี แต่หากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยในปีหน้า และ Fed ต้องกลับมาลดดอกเบี้ยลงเร็วและแรงกว่าที่คาด จะส่งผลให้บอนด์ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0% ซึ่งในกรณีนี้ผลตอบแทนรวมจากการลงทุนในพันธบัตรอาจเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 10% นายคมศรกล่าว


ทั้งนี้ แม้ในช่วงที่ผ่านมาตลาดหุ้นโลกจะปรับฐานลงมาตามคาด เพราะได้รับแรงกดดันจากบอนด์ยิลด์ที่พุ่งขึ้น ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ส่งสัญญาณชะลอตัวลง แต่ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ยังคงแนะนำให้นักลงทุนลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นโลก เนื่องจากเศรษฐกิจอาจชะลอตัวมากกว่าคาด และอาจนำไปสู่การปรับลดคาดการณ์ผลกำไรของตลาดหุ้น และเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ตราสารหนี้ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีอัตราผลตอบแทน (บอนด์ยิลด์) ในระดับสูง มีความเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้ต่ำ และมีโอกาสสร้างผลตอบแทนที่น่าสนใจ

 

KBank Private Banking และ Lombard Odierแนะเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบที่เกิดขึ้นทั่วโลก

KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier เผย 4 เมกะเทรนด์การลงทุนที่เกิดจากปัจจัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลก ท่ามกลางความผันผวนของสถานการณ์โลกในปัจจุบัน ซึ่งทุกความเปลี่ยนแปลงส่งผลต่อเศรษฐกิจและการลงทุนได้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นการส่งต่อความมั่งคั่งครั้งใหญ่ที่จะเปลี่ยนผ่านทรัพย์สินและรูปแบบการลงทุนไปสู่คนรุ่นใหม่ การลงทุนอย่างยั่งยืนเป็นที่ได้สนใจจากนักลงทุนมากขึ้น การเปลี่ยนพฤติกรรมการลงทุนจากออฟชอร์สู่ออนชอร์ และความผันผวนและความไม่แน่นอนของตลาดทุน ทำให้การจัดสรรสินทรัพย์แบบเดิมไม่เพียงพออีกต่อไป


นายจิรวัฒน์ สุภรณ์ไพบูลย์ Executive Chairman, Private Banking Group ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการลงทุนเกิดขึ้นจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็น ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นจนทำให้การส่งต่อความมั่งคั่งของแต่ละครอบครัวช้าลงกว่าในอดีต และกระจุกตัวกันจนเกิดเป็นการส่งต่อความมั่งคั่งครั้งใหญ่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในทศวรรษหน้า สภาวะวิกฤตของสภาพอากาศ ทำให้นักลงทุนตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนแบบยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงของกฏเกณฑ์ข้อบังคับและการพัฒนาของสถาบันการเงินที่ทำให้เกิดการนำเงินทุนกลับมาลงทุนในประเทศมากขึ้น และความผันผวนของตลาดในอัตราที่เพิ่มขึ้นทำให้รูปแบบการจัดสรรเงินลงทุนในแบบดั้งเดิมต้องมีการเปลี่ยนแปลง


KBank Private Banking ร่วมกับ Lombard Odier จึงได้สรุป 4 เมกะเทรนด์การลงทุนสำคัญ ดังนี้

1. The Great Weath Transfer คาดว่าภายในปี 2573 บุคคลผู้ที่มีสินทรัพย์สูงทั่วโลกจะมีการส่งต่อความมั่งคั่งที่มีมูลค่าถึง 18.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 640 ล้านล้านบาท) โดยบุคคลผู้มีสินทรัพย์สูงในเอเชียแปซิฟิกจำนวนกว่า 70,000 ราย ส่งต่อความมั่งคั่งซึ่งจะมีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (ประมาณ 88 ล้านล้านบาท) ซึ่งทรัพย์สินดังกล่าวจะได้รับการส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่มีทัศนคติ รูปแบบการใช้ชีวิตและได้รับการศึกษาจากต่างประเทศ ทำให้มีมุมมองที่กว้างขวางมากขึ้น และสนใจสิ่งใหม่ๆ ต่างจากรุ่นก่อนหน้า โดยเฉพาะในด้านการลงทุน กลุ่มคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจและแสวงหาโอกาสการลงทุนในสินทรัพย์รูปแบบใหม่ ไม่ว่าจะเป็น การลงทุนในด้านเทคโนโลยี ดิจิทัลไฟแนนซ์ หุ้นนอกตลาด (Private Equity) ธุรกิจเงินร่วมทุน (Venture Capital) เป็นต้น

2. Sustainability Revolution จากความเชื่อของ Lombard Odier ที่ว่ารูปแบบการดำเนินธุรกิจกำลังเปลี่ยนผ่าน จากการดำเนินธุรกิจในรูปแบบเดิมที่เรียกว่า W.I.L.D (Wasteful - สิ้นเปลือง, Idle - เกินความจำเป็น, Lopsided – ไม่ทั่วถึง และ Dirty - สกปรก) มาเป็นการดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่เรียกว่า C.L.I.C.? (Circular - หมุนเวียนได้ Lean - เต็มประสิทธิภาพ Inclusive - เข้าถึงคนทุกกลุ่ม และ Clean - สะอาด) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้จะสร้างโอกาสในการลงทุนกว่า 5.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ (กว่า 190 ล้านล้านบาท) ต่อปี ซึ่งโอกาสในการลงทุนใหม่ๆ ครั้งใหญ่นี้นอกจากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกและการสร้างความยั่งยืนให้กับโลก ยังนำไปสู่ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นและลดความเสี่ยงให้กับพอร์ตการลงทุนได้อีกด้วย

3. Onshorisation ก่อนหน้านี้ นักลงทุนคนส่วนใหญ่มักกระจายการลงทุนในต่างประเทศ เนื่องจากมีทางเลือกและโอกาสในการลงทุนที่มากกว่า แต่ในปัจจุบัน ผู้ให้บริการและที่ปรึกษาด้านการลงทุนภายในประเทศ สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์การลงทุนทำให้นักลงทุนสามารถลงทุนในประเทศได้โดยที่มีโอกาสและทางเลือกไม่ต่างกัน นอกจากนี้ในทศวรรษที่ผ่านมา ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ทั่วโลกได้มีการดำเนินการเพื่อประสานงานเพื่อแลกเปลี่ยนและรายงานการตรวจสอบทรัพย์สินที่เข้มงวดมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่เพื่อการดำเนินการด้านภาษีเพียงเท่านั้น แต่เป็นการระบุการไหลเวียนของเงินทุนข้ามพรมแดนและการถือครองความมั่งคั่งในต่างประเทศ จึงทำให้นักลงทุนจำนวนมากเลือกที่นำเงินลงทุนกลับมาลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น

4. Current Macro Environment ตลาดที่ผันผวน อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่มากขึ้น ความกังวลเกี่ยวกับพลังงาน วิกฤตสภาพอากาศและสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ ได้นำไปสู่ความไม่แน่นอนแก่เศรษฐกิจในระดับมหภาค ส่งผลต่อเศรษฐกิจในหลายด้าน อาทิ วัฏจักรเศรษฐกิจจากเดิมที่จะมีระยะเวลา 7-10 ปี จะสั้นลงและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีช่วงเวลาที่เศรษฐกิจแย่มากว่าช่วงเวลาที่เศรษฐกิจดี การจัดการการลงทุนด้วยการกระจายการลงทุนแบบดั้งเดิม (Traditional Asset Allocation) อาจจะไม่สามารถสร้างผลตอบแทนให้กับนักลงทุนได้อีกต่อไป แต่จะต้องเป็นการกระจายการลงทุนที่ยึดความเสี่ยงเป็นหลัก (Risk-based Asset Allocation) เพื่อตอบสนองต่อสภาพเศรษฐกิจ

จะเห็นได้ว่าโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาและการเปลี่ยนแปลงเกิดเร็วขึ้นในระยะเวลาที่สั้นลง มีความเป็นไปได้ที่หลายคนจะตามไม่ทันและไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีความกังวลเกิดขึ้น KBank Private Banking ในฐานะผู้ให้บริการบริหารความมั่งคั่งให้กับลูกค้าบุคคลสินทรัพย์สูงในประเทศไทย เล็งเห็นถึงความสำคัญในการสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้า โดยนำโซลูชันและเครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อนำพาลูกค้าไปถึงเป้าหมายในสถานการณ์โลกที่ผันผวนต่อเนื่องเช่นในปัจจุบัน


CIS มอง ปี 67 หุ้นเทคโนโลยี - บิทคอยน์ - ทองคำ โดดเด่น


นักลงทุนรุ่นใหม่มองหุ้นเทคโนโลยีขนาดกลางและสินทรัพย์ดิจิทัล “บิทคอยน์” เป็นสินทรัพย์ที่มีโอกาสเติบโตสูงในปี 2567 จากนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่เข้าสู่แนวโน้มผ่อนคลาย ด้านทองคำและหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ ยังสามารถเทรดทำกำไรได้ ส่วนสินทรัพย์อื่นที่ต้องจับตา คือตลาดหุ้นจีน เวียดนาม และตลาดหุ้นไทย


นายณพวีร์ พุกกะมาน นักลงทุนและผู้ก่อตั้ง Creative Investment Space (CIS) สถาบันให้ความรู้ด้านนวัตกรรมการลงทุนรูปแบบใหม่ เปิดเผยว่า มองภาพใหญ่ของการลงทุนในปี 2567 จะเป็นปีที่นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (FED) เข้าสู่ภาวะผ่อนคลาย หลังจากที่แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อเริ่มลดลงและตลาดกำลังมองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยเร็วขึ้นในเดือนมีนาคมปี 2567 จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มเห็นในช่วงกลางปีหน้าเป็นต้นไป


ประกอบกับบทวิเคราะห์จากสำนักวิจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ มองไปในทิศทางเดียวกันว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ มีโอกาสจะลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ตลาดการลงทุนมีสภาพคล่องกลับเข้ามาอีกครั้ง และเม็ดเงินฟันด์โฟลว์น่าจะไหลกลับมายังสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ในปี 2566 เม็ดเงินฟันด์โฟลว์ไหลไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ให้ผลตอบแทนสูงมากกว่า

 

สำหรับตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนในส่วนของเศรษฐกิจที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือไม่ และกลุ่มหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่ปรับตัวขึ้นสูงในปีนี้ แม้จะยังมีปัจจัยบวกหนุนจากกระแสของเอไอ แต่อัพไซด์อาจจะเริ่มจำกัดแล้ว จึงมองว่าหุ้นเทคโนโลยีขนาดกลางและขนาดเล็ก ที่อยู่ในขาลงมากว่าสองปี มีโอกาสจะกลับมา Outperform ได้


“หุ้นเทคโนโลยีที่เป็น Growth Stock เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ แต่ถ้าสภาพคล่องเริ่มกลับเข้ามาในสินทรัพย์เสี่ยง มีโอกาสสูงที่หุ้นในกลุ่มดังกล่าวจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาจากปัจจัยพื้นฐาน และงบการเงินที่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดจบลงและราคาหุ้นอยู่ในระดับที่น่าสนใจ เพราะปรับฐานมากว่าสองปีแล้ว และขณะนี้ราคาหุ้นเริ่มไม่ทำจุดต่ำสุดใหม่แล้ว”
นอกจากนี้ ราคากองทุนรวม ETF ในกลุ่มของ ARK Invest ซึ่งลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีขนาดเล็กปรับตัวขึ้นแรงตลอดเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา บ่งบอกว่าเริ่มมีแรงซื้อกลับเข้ามาในหุ้นกลุ่ม Growth Stock แล้ว การที่มีอัพไซด์ค่อนข้างมากและได้แรงหนุนจากฟันด์โฟลว์ที่กลับมา มองว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดกลางและขนาดเล็ก เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจกว่าหุ้นเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่สามารถเทรดระยะสั้นถึงกลางได้ รวมถึงหุ้นกลุ่มมูลค่าในสหรัฐฯ ที่อาจได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจถดถอย


ขณะที่ สินทรัพย์ดิจิทัล “บิทคอยน์” จะเป็นอีกสินทรัพย์ที่น่าสนใจ โดยมีปัจจัยหนุนจากการเกิด Bitcoin Halving ซึ่งทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์นี้ราคาบิทคอยน์จะสร้างจุดสูงสุดใหม่ รวมถึงการมาของ Bitcoin ETF ซึ่งจะทำให้นักลงทุนสถาบันเข้ามาลงทุนในบิทคอยน์มากขึ้น


ทั้งนี้ มองบิทคอยน์ที่ราคาเหนือระดับ 40,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ถือว่ารับกับข่าวการตั้ง Bitcoin ETF มาแล้วพอสมควร ทำให้มีโอกาสสูงที่ราคาจะย่อตัวลง หลังจากมีการประกาศรับรองอย่างเป็นทางการ โดยประเมินแนวรับต่ำสุดไม่น่าจะต่ำกว่า 28,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สามารถที่จะทยอยสะสมได้ และสามารถถือลงทุนได้ตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ส่วน Altcoin อื่น ๆ ยังไม่สามารถที่จะประเมินได้อาจจะต้องรอจนกว่าจะเห็นความชัดเจนว่าธีมการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลจะปรับตามเทคโนโลยีใด


ส่วน “ทองคำ” ถือว่าได้รับประโยชน์จากการที่นโยบายการเงินเริ่มผ่อนคลาย และธนาคารกลางของแต่ละประเทศ เริ่มทยอยสะสมทองคำเพื่อเตรียมรับความเสี่ยงทางด้านการเมืองระหว่างประเทศ ทำให้มีแนวโน้มสูงที่ทองคำจะเป็นขาขึ้นในปี 2567 อย่างไรก็ตามการที่ราคาขึ้นมาทำจุดสูงสุดใหม่ไปแล้วในปีนี้ประเมินว่าอัพไซด์ที่จะเกิดขึ้นอาจอยู่ในระดับประมาณ 10% โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 2,360 ดอลลาร์สหรัฐฯ


นายณพวีร์ กล่าวว่า ในปี 2567 ยังมีสินทรัพย์ที่ต้องจับตาตามสถานการณ์ ได้แก่ ตลาดหุ้นจีน หลังจากที่เป็นขาลงมาตลอดทั้งปี 2566 และมีปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยในปีหน้า ตลาดหุ้นจีน มีโอกาสจะเป็นทั้งขาขึ้นและเป็นขาลงต่อได้ ขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจีนจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีพอที่จะทำให้ตลาดหุ้นฟื้นหรือไม่ ซึ่งหากตลาดหุ้นจีนกลับตัวเป็นขาขึ้นมักจะให้ผลตอบแทนที่สูงเสมอ แต่ตอนนี้ยังคงมีความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจนเช่นกัน


ทางด้าน ตลาดหุ้นเวียดนามยังคงมีความน่าสนใจในการลงทุนเสมอ แต่ด้วยความผันผวนของตลาดทำให้การถือลงทุนระยะยาวอาจมีความเสี่ยง จึงแนะนำให้จับจังหวะซื้อขายเป็นระยะ ๆ โดยหากดัชนีตลาดหุ้นเวียดนามปรับตัวลงมาประมาณ 10-15% สามารถใช้เป็นโอกาสลงทุนได้

ขณะที่ ตลาดหุ้นไทย มองว่าการลงทุนระยะสั้นตอนนี้ยังไม่น่าสนใจ แต่หากตลาดมีการปรับตัวลงมาในระดับ 1,200 จุด ในช่วงกลางปี มองเป็นโอกาสที่จะเข้าลงทุนระยะยาว จากการที่มีหุ้นพื้นฐานดีหลายตัวลงมาในระดับที่แวลูเอชั่นน่าสนใจ แต่อัพไซด์ในปีหน้าอาจจะยังไม่สูงมาก โดยคาดหวังในระดับ 10%

“ภาพรวมของการลงทุนปี 2567 ถือว่ามีหลายสินทรัพย์ที่น่าสนใจ แต่ยังต้องจับตาปัจจัยเสี่ยงทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอยตลอดจนการเมืองระหว่างประเทศ”

 

บล.เมย์แบงก์ เล็งปี 67 ได้เวลาฟื้นตัว มองเป้า SET ที่ 1640 จุด



บมจ. หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) หรือ MST ออกบทวิเคราะห์ Thai Market Compass ในหัวข้อ "แนวโน้มปี 2567 ได้เวลาฟื้นตัว" โดยมองเป้าดัชนี SET Index ปีหน้าที่ 1640 จุด อิงจาก PER เฉลี่ย 10 ปีที่ 16.9 เท่าและ EPS67F ที่ 97 บาท/หุ้น กลับมาเติบโต 14%YoY ขณะที่ระดับ Valuation ซื้อขายบน PER67F ที่ 14 เท่าต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว -1 S.D. หรือมองในมุม Earning Yield Gap หรือส่วนต่างระหว่าง Earning Yield ของตลาดหุ้นเทียบกับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอยู่ที่ 4.3% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวที่ 3.6% เกือบ 1SD ซึ่งถือเป็นระดับที่ไม่แพง แนะนำเพิ่มแนะนำลงทุน (Overweight) กลุ่มค้าปลีก ICT พลังงาน และลดน้ำหนักการลงทุน (underweight) ในกลุ่มปิโตรเคมีและการท่องเที่ยว (โรงแรม สนามบิน สายการบิน) โดยหุ้น Top Pick ชอบ KBANK EPG PTT GPSC TRUE BCP COM7 SABINA

ปัจจัยขับเคลื่อนตลาดหุ้นในปี 2567 มาจากเศรษฐกิจในประเทศที่ MST Research คาด GDP Growth ปี 67 ขยายตัว 3.6%YoY เร่งตัวขึ้นจากปีก่อนที่ขยายตัว 2.3%YoY แรงหนุนจากการฟื้นตัวของการส่งออกและการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญ FED และ ECB เป็นปัจจัยที่ช่วยหนุนต่อตลาดหุ้นในมุม Valuation ที่ทำให้ซื้อขายบน PER ที่สูงขึ้น

กำไรบริษัทจดทะเบียนคาด EPS67F ที่ 97.00 บาท/หุ้น ขยายตัว 14%YoY หากพิจารณาเฉพาะหุ้นที่อยู่ภายใต้ Coverage ของเราพบว่าทำกำไรสุทธิขยายตัว 10%YoY โดยปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญมาจากอัตรากำไรสุทธิเพิ่มขึ้นเป็น 5.4%-5.9% ในปี 67-68F จาก 5% ในปี 66F ซึ่งเร่งตัวได้มากกว่ารายได้ที่เติบโตเพียง 2%YoY หลังจากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อลดลงและต้นทุนพลังงาน (ก๊าซ ไฟฟ้าและน้ำมัน) เข้าสู่ภาวะปกติ ด้านทิศทาง Fund Flow เชื่อว่าปี 2567 จะกลับมาเป็นบวกต่อตลาดหุ้นบ้านเรา เพราะนอกเหนือจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสำคัญที่มักทำให้เม็ดเงินไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่แล้ว พบว่าระดับการถือครองหุ้นของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยอยู่ในระดับต่ำเพียง 29% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาวเกือบ 1 SD (31%) ทำให้แรงขายจากนักลงทุนต่างชาติมีจำกัดในอนาคต

จักร เรืองสินภิญญา กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ นักวิเคราะห์กลุ่มพลังงานและกลยุทธ์การลงทุน มีความเห็นว่า สำหรับทางเลือกการลงทุนอยู่บน 3 Themes หลัก 1) หุ้นที่ได้ประโยชน์จากภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคชอบ KBANK (คุณภาพสินทรัพย์ดีขึ้น) และ EPG (การฟื้นตัวของการส่งออก) 2) หุ้นที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์สูงสุดจากการลดต้นทุน ได้แก่ PTT, GPSC (รับอานิสงส์จากต้นทุนก๊าซที่ลดลงทั้งคู่) และ TRUE (opex ด้านเครือข่ายและต้นทุนบุคลากรหลังการควบรวมกิจการลดลง) และ 3) ส่วนหุ้นกลุ่มที่ผ่านพ้นจุดต่ำสุด เรายังคงชอบ BCP (synergy กับ BSRC), SABINA (การเติบโตของยอดขายบวกกับประสิทธิภาพที่ดีขึ้น) และ COM7 (การเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด)

 

บล.บัวหลวง ทำนายSET ปี67แตะ 1,600 จุด แนะกระจายการลงทุนหลายสินทรัพย์เสี่ยง

หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินตลาดหุ้นไทยปี 67 มีโอกาสฟื้นตัวตามตลาดหุ้นทั่วโลก มองเป้าหมายดัชนีแตะ 1,600 จุด รับรัฐบาลเดินหน้ากระตุ้นเศรษฐกิจ, ภาคท่องเที่ยวกลับมา พร้อมลุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯและจีนฟื้นตัว แนะกระจายน้ำหนักการลงทุนในตราสารหนี้ 43%, ทองคำ 12% และหุ้น 45% (หุ้นไทย 7% และหุ้นต่างประเทศ 38%) ตามลำดับ

นายชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงภาพรวมการลงทุนตลอดปี 2566 ที่ผ่านมาว่า ตลาดหุ้นไทยปรับตัวแย่กว่าตลาดเอเชีย, ตลาดหุ้นสหรัฐและตลาดหุ้นยุโรป จากหลายปัจจัยกดดัน เช่น การปรับลดคาดการณ์ตัวเลขเศรษฐกิจไทยลงจาก 1. ตัวเลขส่งออกขยายตัวต่ำกว่าคาด 2. จำนวนนักท่องเที่ยวต่ำกว่าเป้าหมาย ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าคาด 3. การลงทุนภาครัฐหดตัวจากการเปลี่ยนถ่ายรัฐบาลบริหารประเทศ (ไม่รวมสงครามอิสราเอลและฮามาสที่ไม่คาดคิด) แต่ในช่วงเดือนธ.ค.คาดว่าตลาดทั่วโลกจะฟื้นตัวกลับมาบ้าง หลังเริ่มรับรู้ปัจจัยดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ได้ผ่านพ้นจุดสูงสุดไปแล้ว และคาดหวังจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยในปี 2567 เรามองตลาดหุ้นไทยเดือนสุดท้ายของปีนี้จะขึ้นไม่ได้มากมองระดับ 1,430 จุด โดยเม็ดเงินจากกองทุนรวม TESG ที่จะเข้าซื้อหุ้นในเดือนธ.ค. อาจช่วยเพิ่มสภาพคล่องในตลาดแต่ไม่ได้มากจนมีนัยยะผลักดันดัชนีหุ้นไทย

สำหรับมุมมองตลาดหุ้นไทยปี 2567 ทีมวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่าน่าจะเห็นการพื้นตัวตลอดทั้งปีโดยประเมินเป้าหมายดัชนีระดับ 1,600 จุด โดยคาดว่างบประมาณน่าจะผ่านในช่วงต้นปี ฉะนั้นการเบิกจ่ายงบจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังในปี 2566 เป็นปีที่การลงทุนของภาครัฐไม่ต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 รัฐจะเริ่มลงทุนในโครงการต่าง ๆทำให้การลงทุนของรัฐกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เช่น เส้นทางหลวง และ High Speed Train ฉะนั้นมองตลาดหุ้นในช่วงครึ่งปีแรกจะเริ่มเห็นการฟื้นตัวดีขึ้น จากความคาดหวังการดำเนินนโยบายของรัฐบาลที่มีความชัดเจนมากขึ้น, ความกังวลต่ออัตราดอกเบี้ยเริ่มน้อยลง, ความกังวลสถานะการตึงตัวของระบบการเงินที่น้อยลง และกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) อาจเติบโตประมาณ 15% ซึ่งจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราเติบโตกำไรของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย ส่วนในแง่ Valuation ของตลาดหุ้นไทย ค่า P/E คาดว่าจะซื้อขายระดับ 16.50 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาวของไทย(ปัจจุบันคาดการณ์ค่า P/E ปี 2567 เท่ากับ 14 เท่า) เทียบกับปี 2566 ที่อยู่ 16.40 เท่า

ในส่วนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติกลับเข้ามาในไทย เรามองว่ายังต้องพึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจีนเป็นหัวเรือใหญ่ของเศรษฐกิจเอเชียและอาเซียน หากตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีขึ้น จากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และการกีดกันการค้าของสหรัฐฯ ต่อจีนน้อยลง ก็จะทำให้เงินไหลเข้าอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังดูไม่ดีและแย่ลงไปอีก การคาดหวังเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้นก็จะลำบาก

แต่หากพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยที่กล่าวมาแล้วก็พอจะคาดการณ์ได้ว่า เม็ดเงินต่างชาติอาจกลับเข้ามาไทยได้ไม่ยาก ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาส 3 ปี 66 ออกดีกว่าคาด ทำให้เริ่มเห็นการอัพเกรดมุมมองของจีนไปในทางบวกมากขึ้น, แซงก์ชั่นของรัฐบาลจีนเริ่มขั้นตอนการเยียวยาผู้ประกอบการอสังหาฯ แล้ว โดยการจัดตั้งกองทุนและออกพันธบัตรเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ในปี 67, การผลักดันเศรษฐกิจจีนในปีหน้าจะมีความต่อเนื่องและมีมาตรการเพิ่มเติมรวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ น่าจะเริ่มเห็นการฟื้นตัว หลังใช้นโยบายการเงินเข้มงวดมาระดับหนึ่งแล้ว ฉะนั้นถ้าเครื่องจักรที่ผลักดันเศรษฐกิจโลกอย่างสหรัฐฯ ที่เป็นเบอร์ 1 และจีนเบอร์ 2 กลับมาขยายตัวอีกครั้งภาพที่ต่างชาติมองมาไทยซึ่งเป็นประเทศที่พึ่งพาส่งออกและสินค้าโภคภัณฑ์จะเป็นเรื่องดีในสายตานักลงทุน


นายชัยพร กล่าวต่อว่า ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 3.8% จากปีนี้ที่คาดไว้ 2.7%หากโครงการ Digital Wallet เกิดขึ้น แต่ถ้าโครงการนี้ไม่เกิดเศรษฐกิจไทยก็ยังคงเติบโต 3.2% ส่วนตัวเลขส่งออกคาดว่าจะขยายตัว 3.8% จากปีนี้ที่อาจติดลบ 1.3% ขณะที่การลงทุนภาครัฐและเอกชนทรงตัว หรือน่าจะติดลบเล็กน้อยที่ 0.6%ส่วนภาคท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวอาจกลับมาอยู่ระดับ 35 ล้านคนต่อปี แต่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ที่อยู่ 40-41ล้านคนต่อปี เมื่อเทียบกับปีนี้ที่มีตัวเลขต่ำกว่าเป้าหมายที่ 30 ล้านคนต่อปี ซึ่งต้องรอดูนโยบายการดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติจากภาครัฐบาลและการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.)


ในส่วนของอัตราเงินเฟ้อจะค่อย ๆ ปรับตัวลดลง จากระดับสูงสุดในช่วงกลางปี 2566 โดยคาดว่าปีหน้าอัตราเงินเฟ้อไทยจะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยจากผลกระทบภัยแล้ง แต่คงไม่แรงและกลับไปสร้างปัญหากับนโยบายการเงิน (เนื่องจากระดับน้ำในเขื่อนมีการจัดเตรียมรองรับได้ดี ผลผลิตจะไม่ตกต่ำ) ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองกรอบเงินเฟ้อไม่เกิน 2% ขณะที่ทีมวิจัยหลักทรัพย์บัวหลวง มองประมาณ 1% ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยอาจปรับลดลง 1 ครั้ง จากปัจจุบันที่อยู่ 2.5% มาอยู่ที่ 2.25% ในช่วงครึ่งปีหลัง สำหรับค่าเงินบาทในปีนี้มีความผันผวนอีกครั้ง จากต้นปี 34 บาทต่อดอลลาร์ คาดว่าในปี 2567 น่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น มองไว้ที่ 34.30 บาท จาก 2 ปีที่ผ่านมาที่ผันผวนผิดปกติตั้งแต่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ย


ปัจจัยที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ คือ ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีอยู่ทั้งกรณีรัสเซีย และยูเครนรวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ซึ่งตอนนี้สถานการณ์สงครามใน 2 พื้นที่อยู่ในขอบเขตจำกัด ส่วนราคาน้ำมันตอนนี้ดีมานด์ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกยังอ่อนแอเทียบกับกำลังการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม OPEC และนอก OPEC ที่ยังมีกำลังการผลิตส่วนเกินที่สามารถรองรับการเติบโตของด้านการบริโภคไปได้ถึงปี 2570 ดังนั้นคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบจะแกว่งในกรอบ 75-85 ดอลลาร์ ซึ่งเป็นการกรอบที่สมดุลระหว่างผู้บริโภคและผู้ผลิต


สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า แนะนำกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ อันดับ 1 คือ ตราสารหนี้สัดส่วน 43% มองเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในครึ่งปีแรก เพราะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่จะเห็นการปรับตัวลดลงทั่วโลกแต่ต้องเป็นตราสารหนี้คุณภาพ เพราะแม้จะเห็นแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยลดลง แต่ไม่ได้ลงเร็ว อันดับ 2 คือ ทองคำสัดส่วน 12% ในขณะที่คนมองเศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก ทองคำจะช่วยป้องกันความเสี่ยงอันดับ 3 คือ ตราสารทุน หรือหุ้น สัดส่วน 45% (หุ้นไทย 7% และหุ้นต่างประเทศ 38%) แต่ต้องรอดอกเบี้ยลดลงระดับหนึ่งก่อน นักลงทุนจึงจะมีความมั่นใจ ขณะที่หุ้นไทยยังดูดี เพราะปีนี้ลงไปมาก โครงสร้างหุ้นไทยเป็นกลุ่มธุรกิจวัฏจักร กำไรอาจดีดกลับได้หนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้หลังตลาดหุ้นอื่นขึ้นไปแล้ว


ปีหน้ากลุ่มโดดเด่น คือ กลุ่มธนาคาร, การบริโภคภายในประเทศ, ค้าปลีกส่งออกแปรรูป, การท่องเที่ยว,อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน คือ อสังหาริมทรัพย์, วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากกำลังซื้อชะลอจากการคุมสินเชื่อ ส่วนผู้ที่สนใจการลงทุนต่างประเทศ แต่ไม่สะดวกในการโอนเงินไปซื้อลงทุนตรงก็สามารถลงทุนผ่าน DR ในกระดานหุ้นไทยได้ แนะนำ DR ที่ครอบคลุมการลงทุนในเวียดนามอย่าง FUEVFVND01 อ้างอิงกับดัชนี Vietnam Diamond และ E1VFVN3001 อ้างอิงกับดัชนี VN30 (หุ้นชั้นนำ 30 ตัวแรกของเวียดนาม) หรือ DR HK01ETF ตัวแรกของฮ่องกงที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูง DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Tracker Fund of Hong Kong เป็น ETF อ้างอิงดัชนี Hang Seng เรือธงของฮ่องกง และ DR HKCE01 ETF ที่รวมบริษัทยักษ์ใหญ่ของจีนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง DR ที่มีหลักทรัพย์อ้างอิงเป็น Hang Seng China Enterprises Index ETF ที่มีขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูงเป็นอันดับ 2 ในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง และลงทุนอ้างอิงดัชนี Hang Seng China Enterprises ที่มีบริษัทจีนชั้นนำจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง จำนวน 50 หลักทรัพย์ นายชัยพร กล่าว


บลจ.เอ็กซ์สปริง มองปี 67 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสไปต่อแบบไซด์เวย์อัพ ความเสี่ยงขาลงเริ่มจำกัด-นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วยหนุน


บลจ.เอ็กซ์สปริง มองปี 2567 ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสไปต่อแบบไซด์เวย์อัพ เหตุปัจจัยลบรุมกดดันในปี 2566 เริ่มคลี่คลาย เชื่อนโยบายภาครัฐในปีหน้า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเติบโตดีขึ้น ประเด็น Naked Short และ Robot Trade เริ่มเห็นสัญญาณที่ดีหลัง ก.ล.ต. เตรียมหามาตรการคุมเข้ม ขณะที่ปัจจัยจากตราสารหนี้ที่มีปัญหาถูกซึมซับในราคาตลาดไปมากแล้ว หากไม่มีปัจจัยกดดันใหม่ๆ ตลาดหุ้นไทยก็มีโอกาสปรับตัวดีขึ้นตามสัญญาณเศรษฐกิจที่มีทิศทางเป็นบวก พร้อมมองกลุ่มธุรกิจภาคบริการ การท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจ Healthcare & Wellness รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดการส่งออกที่ดีมีโอกาสเติบโตโดดเด่น ด้านกองทุนปีหน้ามอง กองทุนหุ้นวัฏจักรทั่วโลก (Global Cyclical Equity Fund) พร้อมกระจายความเสี่ยงในกองทุนตราสารหนี้นอกตลาด (Private Credits) สำหรับนักลงทุนรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth)

นายยศกร ฟอลเล็ต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน เอ็กซ์สปริง จำกัด หรือ XSpring AM เปิดเผยว่า ในปี 2566 ที่ผ่านมาภาพรวมตลาดหุ้นไทยถือว่าปรับตัวลดลงมากที่สุดในภูมิภาค เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลงตามที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ปรับลดประมาณการ GDP ปี 2566 ลงเหลือ 2.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 2.5 – 3% ประกอบกับการมีกระแสเรื่องโปรแกรมเทรด (Robot Trade) และการขายชอร์ตที่ไม่มีการยืมหลักทรัพย์ (Naked Short) รวมถึงยังได้รับแรงกดดันจากความกังวลที่หุ้นกู้ของบริษัทเอกชนหลายตัวมีความเสี่ยงต่อการไม่สามารถต่อสัญญา หรือ roll-over เงินลงทุน ปัจจัยเหล่านี้จึงเข้ามากดบรรยากาศการลงทุนในตลาดทุนไทยอย่างหนัก อย่างไรก็ดีจากการปรับตัวลดลงที่ค่อนข้างมากนี้ ทำให้มองว่าตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับลดลงได้อย่างจำกัด จึงมองว่าบรรยากาศการลงทุนในปี 2567 จะค่อย ๆ ปรับตัวดีขึ้น โดย XSpring AM ประเมินว่าภาพรวมของตลาดหุ้นไทยจะเป็นลักษณะแกว่งตัวขึ้น (Sideway up) คาดว่าดัชนีมีโอกาสเคลื่อนไหวในกรอบ 1,400 – 1,520 จุด โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะยังเติบโตได้ คือ กลุ่มธุรกิจภาคบริการ ภาคการท่องเที่ยว กลุ่มธุรกิจ Healthcare & Wellness รวมถึงกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่มียอดการส่งออกที่ดีมีโอกาสเติบโตโดดเด่น

อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดหุ้นไทยในปี 2567 จะเริ่มผ่อนคลายจากแรงกดดันต่าง ๆ ข้างต้น โดยในส่วนของการเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นมองว่า จะได้รับแรงสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ เช่น นโยบายดิจิตอล วอลเล็ตที่จะมีการอัดฉีดกระแสเงินสดเข้าระบบเศรษฐกิจรวมมูลค่ากว่า 5 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการดังกล่าว น่าจะเป็นหนึ่งปัจจัยหลักที่ผลักดัน GDP เติบโตได้ในปีหน้า และหากภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้นบรรยากาศของตลาดตราสารหนี้ที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่กดดันตลาดหุ้นไทยก็จะคลี่คลายเช่นกัน

ส่วนประเด็นของ Naked Short ที่เป็นกระแสอยู่ในขณะนี้ ล่าสุดทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้สร้างความมั่นใจให้นักลงทุนผ่านแถลงการณ์พร้อมทั้งเตรียมหารือถึงมาตรการคุมเข้มต่อไป ซึ่งก็คาดว่าช่วยให้บรรยากาศการลงทุนคลี่คลายขึ้น ส่วนกรณี Robot Trade ที่ส่งผลให้นักลงทุนระยะสั้นเกิดความกังวลเนื่องจากมูลค่าการซื้อขายของโปรแกรมเทรดสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มองว่าประเด็นนี้จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้น เนื่องจากในปี 2566 ภาวะตลาดหุ้นไทยที่ซบเซา ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยซื้อขายน้อยลงจึงส่งผลให้สัดส่วนของ Robot Trade หรือโปรแกรมเทรดจริงสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

"ปี 2567 ตลาดหุ้นไทยยังลงทุนได้ เนื่องจากดอกเบี้ยในประเทศไทยยังไม่สูงมาก ทำให้ส่วนต่างผลตอบแทน (Earning Gap Yield) เมื่อเปรียบเทียบจากการลงทุนในหุ้นและพันธบัตรรัฐบาลนั้นยังคงสูงอยู่เมื่อเทียบกับหลายประเทศ ด้าน Downside Risk หรือความเสี่ยงขาลง เริ่มมีจำกัด โดยเฉพาะเมื่อช่วงดัชนี SET Index ขึ้นอยู่ที่ระดับ 1,400 จุด ขณะที่ดัชนี SETHD (Set High Dividend 30 Index) ก็มีอัตราเงินปันผลเฉลี่ยอยู่ค่อนข้างสูงประมาณ 6-7% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเงินฝากในบ้านเราค่อนข้างมาก" นายยศกร กล่าว

จากปัจจัยทั้งหมดมองว่าในปีหน้า กองทุนหุ้นวัฏจักรทั่วโลก (Global Cyclical Equity Fund) จะตอบโจทย์นักลงทุนได้ค่อนข้างดี เนื่องจากเป็นกองทุนที่เน้นการลงทุนในหุ้นที่ผลตอบแทนขึ้นกับสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเศรษฐกิจโลกอยู่ในทิศทางการชะลอตัวลงแต่ยังแข็งแกร่ง พร้อมกับการที่ธนาคารกลางประเทศใหญ่ทั้งสหรัฐและยุโรปปรับท่าทีดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งกลุ่มหุ้นวัฏจักรมีระดับราคาต่อมูลค่าที่น่าสนใจ (คาดว่าจะทำผลตอบแทนช่วง Q1 2024 ได้ดี) ส่วนกองทุนตราสารหนี้นอกตลาดมีดอกเบี้ยรับที่ค่อนข้างสูง (Gross Yield 10%) โดยที่หลายกองทุนมีการเลือกกระจายความเสี่ยงในผู้ออกตราสาร พร้อมมีหลักทรัพย์ค้ำประกันในกองทุนหลัก มองว่าจะเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีเมื่อเทียบกับความผันผวนด้านราคา และหากเศรษฐกิจโลกเผชิญความเสี่ยงก็จะมีโอกาสที่กองทุนตราสารหนี้นอกตลาดจะติดลบได้น้อยกว่ากองทุนตราสารหนี้อื่น ๆ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่ม High Yield Bond


///จบ///

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้