สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (9 ธันวาคม 2566)--บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ได้คะแนนสูงสุดจากดัชนีความยั่งยืน Dow Jones Sustainability Indices(DJSI) ปี 2023 ในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร (Food Products) จากการประเมินของ S&P Global และได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อเนื่องเป็นปีที่ 9 ประเภทตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) สะท้อนการรักษามาตรฐานความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร และให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน บนพื้นฐานของการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล
นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ เปิดเผยว่า ผลการประเมินดังกล่าว สะท้อนการรักษามาตรฐานของความเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน โดยให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนตลอดห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่เกษตรกร คู่ค้าธุรกิจ ผู้ถือหุ้นและนักลงทุน พนักงาน ชุมชน เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม (Innovation Management) ที่มุ่งมั่นพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพและโภชนาการที่ดี (Health & Nutrition)สำหรับผู้บริโภค โดยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ ตลอดจนใช้ทรัพยากรธรรมชาติเกิดประโยชน์คุ้มค่าสูงสุด ตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Resource Efficiency and Circularity) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ CPF คือ Climate People และ Food Security ที่มีพันธกิจสร้างความมั่นคงทางอาหาร ทั้งในภาวะปกติและวิกฤติ
"ซีพีเอฟ ดำเนินธุรกิจด้วยวิสัยทัศน์เป็นครัวของโลกที่ยั่งยืน ได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและยึดมั่นในปรัชญาสามประโยชน์สู่ความยั่งยืน ตามดำริของประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ คือ มองประโยชน์ของประเทศ ประชาชน และบริษัท เป็นแนวทางขับเคลื่อนองค์กร มุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางอาหาร ส่งมอบอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีโภชนาการ และรสชาติอร่อย ให้แก่ผู้บริโภคทั่วโลก "นายประสิทธิ์ กล่าว
บริษัท ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยด้านอาหาร ด้วยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตั้งแต่กระบวนการ ผลิตอาหารสัตว์ (Feed) การเลี้ยงสัตว์ (Farm) และการแปรรูปอาหาร (Food)อาทิ นำนวัตกรรมโปรไบโอติกมาใช้ในอาหารสัตว์ ทั้งสุกร ไก่ กุ้ง ช่วยสร้างสมดุลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกันให้สัตว์มีสุขภาพแข็งแรง ไม่ป่วย จึงไม่ต้องใช้ยาปฏิชีวนะ และมุ่งมั่นยกระดับเนื้อไก่ไทยสู่มาตรฐานความปลอดภัยระดับอวกาศ (Space Food Safety Standard)ในโครงการ"ไก่ไทยจะไปอวกาศ" เป็นครั้งแรกที่ผลิตภัณฑ์อาหารของไทยก้าวสู่มาตรฐานความปลอดภัยขั้นสูงที่ไม่ใช่แค่ระดับโลก แต่เป็นมาตรฐานความปลอดภัยระดับเดียวกับที่นักบินอวกาศสามารถรับประทานได้ ตามหลักเกณฑ์ของ Space Food Lab อีกถึงมากกว่า 40 การตรวจสอบ
นอกจากนี้ ในสถานการณ์การเปลี่ยนแปลง ปัจจัยเสี่ยงและความท้าทาย บริษัทฯ เตรียมความพร้อมรับมือสู่การเปลี่ยนผ่านในทุกมิติ อาทิ การบริหารความเสี่ยงองค์กรรอบด้าน กำกับดูแลด้านการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ สร้างความมั่นคงและความปลอดภัยด้านข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล จัดหาอย่างมีความรับผิดชอบ ตลอดจนการส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อรักษาสมดุลของระบบนิเวศที่ดีให้แก่โลก การบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความผูกพันที่ดีกับองค์กร ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญในงานที่รับผิดชอบ เสริมสร้างทักษะที่พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ส่งเสริมวัฒนธรรมการเป็นคนดีของสังคม ปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ยอมรับความหลากหลายและแตกต่างโดยไม่เลือกปฏิบัติ
ซีพีเอฟกิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ ได้ประกาศเจตนารมณ์เป็นองค์กรที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์(Net-Zero) ภายในปี 2050 และเป็นผู้ผลิตอาหารรายแรกของโลกที่ได้รับการอนุมัติเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ สอดคล้องตามมาตรฐาน Forest, Land and Agriculture Guidance (FLAG) ซึ่งเป็นมาตรฐานเฉพาะสำหรับภาคเกษตรและอาหารจากองค์กร The Science Based Targets initiative (SBTi) องค์กรไม่แสวงหากำไรระดับโลกที่สนับสนุนและให้การรับรองอย่างอิสระในการตั้งเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแก่ภาคธุรกิจเพื่อส่งเสริมให้ภาคธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพทางภูมิอากาศ
ปัจจุบัน ซีพีเอฟมีการลงทุนและร่วมลงทุนใน 17 ประเทศ ส่งออกไปมากกว่า 40 ประเทศ ครอบคลุมประชากรมากกว่า 4,000 ล้านคน บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกของดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ เป็นปีที่ 9 ติดต่อกัน จากการประเมินประสิทธิผลการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนของบริษัทชั้นนำระดับโลก ทั้งในด้านบรรษัทภิบาลและเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม ตอกย้ำการสร้างคุณค่าที่ยั่งยืนในระยะยาว และเติบโตอย่างมั่นคงพร้อมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ภายใต้วิสัยทัศน์ "ครัวของโลกที่ยั่งยืน"