สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(6 พฤศจิกายน 2566)------บลจ.เอ็มเอฟซี ส่งกองทุน "MEUCRED1-UI" เปิดขาย IPO ระหว่างวันที่ 7-14 พ.ย.นี้ สร้างโอกาสรับผลตอบแทนจาก Private Credit คุณภาพดีนอกตลาด ช่วงเศรษฐกิจและแนวโน้มการลงทุนทั่วโลกยังผันผวน เน้นปล่อยกู้บริษัทที่ดำเนินธุรกิจหรือมีกระแสเงินสดส่วนใหญ่ในยุโรป สหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ ลงทุนผ่านกองทุนหลัก Barings Perpetual European Direct Lending Fund พร้อมเสิร์ฟผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI)
นายธนโชติ รุ่งสิทธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เอ็มเอฟซี จำกัด (มหาชน) หรือ MFC ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการกองทุนคุณภาพทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ทางเศรษฐกิจมีความผันผวนจากภาวะเงินเฟ้อในหลายประเทศ จึงมอง Private Credit ประเภทการให้กู้ยืมเงินโดยตรงแก่บริษัทเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ เนื่องจากให้ผลตอบแทนสูง มีความสัมพันธ์ตํ่ากับตลาดการลงทุนโดยรวม ซึ่งการลงทุนลักษณะนี้มีข้อดีที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงได้ผลตอบแทนส่วนเพิ่ม เพื่อชดเชยกับการมีสภาพคล่องในการซื้อขายที่จํากัด และเพิ่มผลตอบแทนให้กับพอร์ตการลงทุน แต่มีลักษณะเฉพาะที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการบริหารการลงทุน
MFC เตรียมเปิดเสนอขายกองทุน MFC European Private Credit Fund 1 Not for Retail Investors หรือ “MEUCRED1-UI” กองทุน MEUCRED1-UI มีนโยบายลงทุนใน Barings Perpetual European Direct Lending Fund (กองทุนหลัก) เพียงกองทุนเดียว (Feeder Fund) ในสกุลเงินยูโร โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่า 80% ของ NAV ซึ่งกองทุนหลักจดทะเบียนจัดตั้งที่ประเทศลักเซมเบิร์ก และเป็น Société d'Investissement à Capital Variable (SICAV) ประเภท Reserved Alternative Investment Fund (RAIF) ในรูปแบบของ Special Limited Partnership (SCSp) กองทุนหลักเน้นลงทุนในสินทรัพย์ประเภท Private Credit ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ได้จดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยเน้นลงทุนในการให้กู้ยืมแบบไม่ด้อยสิทธิที่มีหลักประกัน (Senior Secured Loans) ให้กับบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก
กองทุนหลักมีทีมบริหารกองทุนที่เชี่ยวชาญ โดย Baring International Fund Managers (Ireland) Limited ผู้จัดการการลงทุนระดับโลก ที่มองหาโอกาสที่แตกต่างและสร้างพอร์ตการลงทุนใน Private Fixed Income ด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ด้านการลงทุนใน Private Credit ที่ออกโดยบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กทั่วโลก และมีประวัติผลการดําเนินงานที่โดดเด่นสามารถสร้างผลตอบแทนตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ เป็นผู้นําในตลาด European Direct Lender จากการจัดอันดับโดย Debtwire, DC Advisory และ Deloitte
นายธนโชติ กล่าวว่า กองทุนหลักลงทุนในตราสารเงินกู้ยืมโดยตรงแก่บริษัทที่มีผลประกอบการดี และความสามารถชำระหนี้สูงเพียงพอ กองทุนหลักกระจายการลงทุนไปในบริษัทที่ขอกู้มากกว่า 80 รายและกระจายการลงทุนในหลากหลายธุรกิจที่อยู่ในช่วงวัฏจักรที่รายได้ยังเติบโตและอัตราผลกําไรค่อนข้างมีเสถียรภาพ ได้แก่ Software, Health Care Providers & Services, Diversified Consumer Services, Diversified Financial Services สามารถสร้างพอร์ตการลงทุนที่ดีและมีความยืดหยุ่นมากขึ้น รวมทั้งกระจายการลงทุนในประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป: สหภาพยุโรป 63%, อังกฤษ 34.9%, และอเมริกา 2.1% นอกจากนี้มีการลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (Derivatives) เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการลงทุน
"จุดเด่นของกองทุน MEUCRED1-UI มีโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนใน Private Credit คุณภาพดีนอกตลาด ซึ่งการลงทุนแบบนี้มีข้อดี คือ ช่วยกระจายความเสี่ยงให้พอร์ตของผู้ลงทุน มีความสัมพันธ์ต่่ำกับตลาดการลงทุนโดยรวม มีผู้จัดการกองทุนระดับโลกที่เชี่ยวชาญและสร้างพอร์ตการลงทุนที่ผ่านการตรวจสอบ ESG หลายชั้น โดยกองทุน MEUCRED1-UI มีอายุประมาณ 2 ปี 6 เดือนและจะรับซื้อคืนหน่วยลงทุนอัตโนมัติ (Auto Redemption) อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง" นายธนโชติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม กองทุน MEUCRED1-UI เปิดขายครั้งแรก (IPO) ระหว่างวันที่ 7-14 พฤศจิกายน 2566 กำหนดมูลค่าจองซื้อขั้นต่ำครั้งแรก 500,000 บาท และมีขนาดโครงการกองทุน 1,000 ล้านบาท กองทุนนี้มีความเสี่ยงสูงหรือมีความซับซ้อน มีความเสี่ยงระดับ 8+ จึงเสนอขายให้กับผู้ลงทุนสถาบันและผู้ลงทุนรายใหญ่พิเศษ (UI) เท่านั้น กองทุนนี้ไม่ถูกจํากัดความเสี่ยงด้านการลงทุนเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป และลงทุนกระจุกตัวในตราสารที่มีความเสี่ยงด้านเครดิตและสภาพคล่องอีกทั้งผู้ลงทุนไม่สามารถขายคืนหน่วยลงทุนนี้ในช่วงเวลาประมาณ 2 ปี 6 เดือนได้ ดังนั้น หากมีปัจจัยลงที่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนดังกล่าว ผู้ลงทุนอาจสูญเสียเงินลงทุนจํานวนมากจึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่รับผลขาดทุนระดับสูงได้เท่านั้น ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนการตัดสินใจลงทุน กองทุนไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน และ/หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก