Today’s NEWS FEED

News Feed

Krungthai COMPASS ชี้ผลกระทบและแนวทางปรับตัวรับมือมาตรการ CBAM ของผู้ประกอบการไทย

303

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (4 ตุลาคม 2566)----Key Highlights

= Krungthai COMPASS ประเมินว่ามาตรการ CBAM จะส่งผลต่อการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมเป็นหลัก สะท้อนจากมูลค่าส่งออกทั้ง 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์จากไทยไปยัง EU ที่มีมูลค่าราว 480 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2565 คิดเป็นเกือบ 100% ของมูลค่าส่งออกสินค้าที่เข้าเกณฑ์CBAM ทั้งหมดจากไทยไปยัง EU

จากการคำนวณเบื้องต้นคาดว่าในปี 2569 ที่จะเริ่มการเก็บค่าปรับราคาคาร์บอน ผู้ส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าไทยจะมีต้นทุน CBAM Certification ราว 1.2-2.0% ซึ่งเมื่อเทียบกับอัตรากำไรขั้นต้นและอัตรากำไรสุทธิของผู้ผลิตและผู้ค้าเหล็กไทยที่ราว 10-12.5% และ 1.4-1.9%มองว่าต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจะกดดันกำไรของผู้ส่งออกเหล็กที่เน้นตลาด EU ได้

ผู้ประกอบการไทยควรเตรียมความพร้อมกับมาตรการ CBAM ทั้ง 1) การขึ้นทะเบียนในระบบ CBAM Registry ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2567 เพื่อรักษาสิทธิการส่งออกไปยัง EU 2) เริ่มจัดทำข้อมูลและหาแนวทางการลดการปล่อย Embedded Emission 3) หาผู้สอบทวนข้อมูล (Verifiers) เพื่อให้มั่นใจได้ว่า     การวัดค่า Embedded Emission นั้นมีความถูกต้อง และ 4) มองหาตลาดใหม่ๆ เป็นทางเลือกทดแทนเพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่อาจสูญเสียส่วนแบ่งในตลาด EU

 

ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 มาตรการ CBAM จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้กับผู้นำเข้าและผู้ส่งออกสินค้าที่เข้าเกณฑ์ CBAM ได้แก่ ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฮโดรเจน ไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมได้เริ่มมีการจัดเก็บข้อมูลและรายงานค่า Embedded Emission ก่อนที่จะเก็บค่าปรับราคาคาร์บอน (CBAM Certification) ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. 2569 เป็นต้นไป บทความนี้ อยากชวนมาดูความคืบหน้าล่าสุดของมาตรการ CBAM และวิเคราะห์ผลกระทบของ CBAM ต่อผู้ประกอบการไทย พร้อมประเมินแนวทางการเตรียมตัวในเบื้องต้นสำหรับผู้ประกอบการ

ทำความรู้จัก มาตรการและความคืบหน้าล่าสุดของ CBAM

มาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (CBAM: Carbon Border Adjustment Mechanism) มีที่มาจากความพยายามของสหภาพยุโรป (EU) ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาคในการแบกรับต้นทุนคาร์บอนระหว่างผู้ผลิตในสหภาพยุโรปกับผู้นำเข้าสินค้ามายังสหภาพยุโรป เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา แม้ทาง EU จะให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากแค่ไหน แต่การที่ประเทศนอก EU นั้นมีความเข้มงวดที่น้อยกว่า ทำให้ผู้ผลิตในสหภาพยุโรปมีความเสียเปรียบกับสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีต้นทุนคาร์บอนที่ต่ำกว่า ด้วยเหตุนี้ EU จึงได้กำหนดมาตรการ CBAM ขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสินค้าที่มีการนำเข้าสู่สหภาพยุโรปมีการคิดต้นทุนของการปล่อยคาร์บอนเรียบร้อยแล้ว เพื่อทำให้เกิดการแข่งขันที่ยุติธรรมระหว่างผู้ผลิตและผู้นำเข้า

ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2566 จนถึง 31 ธ.ค. 2568 มาตรการ CBAM จะเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้นำเข้าสินค้าที่เข้าข่ายเกณฑ์ CBAM มีการประสานงานกับผู้ส่งออกเพื่อรายงานข้อมูลการนำเข้า ทั้ง 1) ปริมาณ Embedded Emission ทั้งหมดที่คำนวณตามหลักการ CBAM และ 2) ปริมาณการนำเข้าสินค้าที่ถูกระบุในเกณฑ์ CBAM และ 3) ต้นทุนคาร์บอนของประเทศต้นทาง (ผู้ผลิตสินค้า) โดยในช่วงทดลองใช้มาตรการผู้นำเข้าจะยังไม่ต้องซื้อ CBAM Certification สำหรับการชำระการชำระค่าปรับราคาคาร์บอน

 

ผลของ CBAM ต่อไทย ผู้ประกอบการไทยจะกระทบแค่ไหน?

ในช่วงเริ่มต้นมาตรการ CBAM จะบังคับใช้กับสินค้าทั้งสิ้น 6 กลุ่ม ประกอบไปด้วย (1) ซีเมนต์ (2) ไฟฟ้า (3) ไฮโดรเจน (4) ปุ๋ย (5) เหล็กและเหล็กกล้า และ (6) อะลูมิเนียม อย่างไรก็ดี ในรายละเอียดแล้ว ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้ากลุ่มดังกล่าวไปยัง EU ควรเปรียบเทียบพิกัดศุลกากร (HS Code) กับ CN Code ที่ทาง EU ใช้ในระบุว่าสินค้าใดบ้างที่เข้าข่ายการบังคับใช้มาตรการ CBAM

Krungthai COMPASS พบว่าเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมเป็น 2 กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงจากมาตรการ CBAM มากที่สุด สะท้อนจากการส่งออกของไทยไป EU ในปี 2565 ที่มีมูลค่ารวมกันถึง 478 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเกือบจะทั้งหมดของสินค้าที่อยู่ในเกณฑ์ CBAM แบ่งเป็นการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้า[1] ไปยัง EU ที่ 370 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือเทียบเท่า 6.9% ของมูลค่าส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก และการส่งออกอะลูมิเนียม1 ที่ 108 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 3.9% ของการส่งออกอะลูมิเนียมทั้งหมดของไทยไปตลาดโลก สัดส่วนดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า และอะลูมิเนียมนั้นมีการพึ่งพิงการส่งออกไปยังตลาด EU อยู่ไม่น้อย ส่วนสินค้าประเภทอื่นที่เข้าข่าย CBAM อย่าง ซีเมนต์ ปุ๋ย ไฟฟ้า และไฮโดรเจน พบว่าไทยแทบไม่มีการส่งออกสินค้าเหล่านี้ไปยัง EU เลยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

 

[1] เฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายมาตรการ CBAM อ้างอิงจาก REGULATION (EU) 2023/956 OF THE EUROPEAN PARLIAMENT AND OF THE COUNCIL (10 May 2023) establishing a  carbon border adjustment mechanism

 

 

 
 
 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้