สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(18กันยายน 2566)-----ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมงานวิจัยด้านตลาดทุนไทย สร้างนักวิจัยคุณภาพ เชื่อมโยงเครือข่ายนักวิชาการและภาคธุรกิจตลาดทุน โดยมอบทุนสนับสนุนการทำวิจัยแก่อาจารย์ที่จะทำงานวิจัยเชื่อมโยงตลาดทุนไทยเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวม 10 ทุน และมอบ 8 รางวัลให้แก่นิสิตนักศึกษาที่ผลิตงานวิจัยผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน ประจำปี 2566 โดยรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น ได้แก่ นายธิติวรรธก์ เศรษฐแสงศรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จากผลงานวิจัยหัวข้อ "Sustainability index and cost of debt: evidence from ASEAN market" และรางวัลงานวิจัยดี ได้แก่ นายนรเศรษฐ ศรีธานี คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จากผลงานวิจัยหัวข้อ "How does ESG affect listed family firms' performance?" รวมทั้งผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลเกียรติคุณอีก 4 รางวัล และรางวัลพิเศษ ได้แก่ รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ และรางวัลงานวิจัยด้านความยั่งยืน
นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่งเสริมการผลิตงานวิจัยด้านตลาดทุนเพื่อต่อยอดให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาตลาดทุนไทย โดยสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุนมา 13 ปีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้ให้การสนับสนุนการทำงานวิจัยทางด้านต่างๆ เพื่อลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกให้การทำการวิจัย 1) ให้บริการ Capital Market Research Platform บนระบบ Cloud ที่มีทั้ง Virtual Machine และ โปรแกรมต่างๆ ที่เอื้อให้ผู้วิจัยสามารถเข้าถึงและทำงานวิจัยได้ทุกที่ ทุกเวลา ลดข้อจำกัดเกี่ยวกับความจำเป็นในการใช้คอมพิวเตอร์ประสิทธิภาพสูงในการประมวลผลฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และลดข้อจำกัดในการจัดหาโปรแกรมที่มีประสิทธิภาพสูงในการประมวลผล 2) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่องานวิจัยในด้านต่างๆ เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลในการจัดทำงานวิจัยด้านตลาดทุน รวมทั้งจัดสัมมนาต่างๆ เพื่อเป็นเวทีนำเสนองานวิจัยใหม่ๆ มีการแลกเปลี่ยนมุมมอง และ 3) ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากหลายๆ ด้านเข้ามาร่วมให้ความเห็นและแนะนำผู้วิจัยให้เข้าใจถึงกระบวนการทำงานและการใช้ข้อมูล
"ในปีนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สนับสนุนการทำงานวิจัยในระดับอาจารย์ ใน "โครงการสนับสนุนทุนวิจัย: เชื่อมโยงตลาดทุนไทยเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน" เพื่อสนับสนุนอาจารย์ไทยจากมหาวิทยาลัยในประเทศและต่างประเทศ ร่วมพัฒนางานวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งผลงานวิจัยที่ได้ผ่านการคัดเลือกและได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยในครั้งนี้ มีมุมมองครบทั้ง 3 ด้านในการพัฒนาเพื่อความอย่างยั่งยืน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม (E) สังคม (S) และบรรษัทภิบาล (G) จำนวนทั้งสิ้น 10 ผลงานวิจัย ซึ่งคาดว่าผลงานเหล่านี้จะสามารถนำมาถ่ายทอดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้ร่วมรับฟังในงานสัมมนาใหญ่ด้านงานวิจัยตลาดทุนที่จะจัดขึ้นในโอกาสก้าวสู่ปีที่ 50 ตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี 2567 ด้วย"
ในปีนี้ มีสถาบันการศึกษา 16 คณะ จาก 14 สถาบัน จัดส่งหัวข้องานวิจัยเข้าร่วมโครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน รวม 41 หัวข้อ ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดตั้งแต่ดำเนินโครงการฯ มา ในปีนี้มีผลงานที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจตลาดทุนและคณะกรรมจากสถาบันการศึกษา รวม 6 รางวัล คือ รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านตลาดทุน 1 รางวัล รางวัลผลงานวิจัยดีด้านตลาดทุน 1 รางวัล และรางวัลประกาศเกียรติคุณ 4 รางวัล และมีรางวัลพิเศษอีก 2 รางวัล คือ "รางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่" ที่มุ่งส่งเสริมให้นักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้มีแรงกระตุ้นและมีแรงบันดาลใจในการมีส่วนร่วมในการผลิตงานวิจัยด้านตลาดทุน 1 รางวัล และ "รางวัลงานวิจัยด้านความยั่งยืน" ที่มุ่งส่งเสริมให้นิสิต / นักศึกษา หันมาให้ความสนใจและผลิตงานวิจัยด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนเพิ่มขึ้นในรั้วมหาวิทยาลัย โดยผลงานวิจัยด้านตลาดทุนที่ได้รับรางวัล ได้แก่
· รางวัลผลงานวิจัยดีเด่นด้านตลาดทุน ได้แก่ งานวิจัยในหัวข้อ "Sustainability index and cost of debt: evidence from ASEAN market" โดยนายธิติวรรธก์ เศรษฐแสงศรี อาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ. ดร.ชัยยุทธ ผดุงศักดิ์สวัสดิ์ จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
· รางวัลผลงานวิจัยดีด้านตลาดทุน ได้แก่ งานวิจัยในหัวข้อ "How does ESG affect listed family firms' performance?" โดยนายนรเศรษฐ ศรีธานี อาจารย์ที่ปรึกษา คือ รศ. ดร.รวี ลงกานี จากคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้ ได้สนับสนุนทุนวิจัยที่ให้แก่อาจารย์ที่จะทำงานวิจัยที่เชื่อมโยงและตลาดทุนไทยเพื่อเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวม 10 ทุน และมอบ 8 รางวัลให้แก่นิสิตนักศึกษาที่ผลิตงานวิจัยที่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายในโครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน ประจำปี 2566 ด้วย
โครงการสนับสนุนทุนวิจัยด้านตลาดทุน โดยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2553 ด้วยความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา รวมทั้งผู้ทรงคุณวุฒิในธุรกิจตลาดทุนไทย ภาครัฐและเอกชน ร่วมเป็นกรรมการตัดสินรางวัล นับเป็นเครือข่ายที่มีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างภาคการศึกษากับผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์จริงในตลาดทุนไทย ซึ่งช่วยยกระดับงานวิจัยให้มีคุณภาพ และใช้ประโยชน์ได้จริงในธุรกิจตลาดทุนไทย
ผู้สนใจสามารถศึกษาข้อมูลงานวิจัย รวมถึงฐานข้อมูลตลาดทุนที่ www.set.or.th/setresearch