Today’s NEWS FEED

News Feed

ttb analytics ชี้ธุรกิจโรงแรมปี66 ฟื้นตัวสู่ระดับสูงสุดก่อนโควิด-19 รายได้กว่า 3.1 แสนลบ. ด้วยแรงขับเคลื่อนของรายได้ในบริการเสริมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่

293

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(13 กรกฎาคม 2566)-------ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี หรือ ttb analytics คาดปี 2566 กลุ่มธุรกิจโรงแรมฟื้นตัวสมบูรณ์ผ่านจุดสูงสุดเดิม ด้วยมูลค่ามากกว่า 3.1 แสนล้านบาท ด้วยแรงหนุนของการขยายตัวในส่วนของรายได้ด้านบริการเสริมและการเพิ่มช่องทางรายได้ในธุรกิจใหม่ของกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ ส่งผลให้มีความได้เปรียบเชิงต้นทุนในหลากหลายมิติ พร้อมแนะโรงแรมขนาดเล็กและกลางเตรียมปรับกลยุทธ์เน้นตลาด Niche Market ที่มีการแข่งขันด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า

ธุรกิจโรงแรมเป็นธุรกิจที่มีความเชื่อมโยงกับภาคท่องเที่ยวอันเป็นอุตสาหกรรมหลักที่เคยสร้างเม็ดเงินสูงถึง 2.99 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 17.73% ของ GDP ในปี 2562 แต่เมื่อเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด -19 ที่ส่งผลให้การท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงักลงอย่างกระทันหัน ส่งผลให้ธุรกิจโรงแรมชะลอตัวหนักจากรายได้ในปี 2562 ที่ 2.8 แสนล้านบาท ลดลงต่ำสุดในปี 2564 ที่ 0.96 แสนล้านบาท อย่างไรก็ดี ภายหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลายธุรกิจโรงแรมเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวในปี 2565 และในสถานการณ์การท่องเที่ยวปี 2566 ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นเป็น 29.5 ล้านคนจากปีก่อนที่ 11.2 ล้านคน และนักท่องเที่ยวชาวไทยที่ประมาณการว่าจะสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 254.4 ล้านคน

ทั้งนี้ ttb analytics จึงประเมินธุรกิจโรงแรมในปี 2566 ว่ามีการฟื้นตัวสู่ระดับสูงสุดก่อนสถานการณ์โควิด-19 ด้วยมูลค่า 3.1 แสนล้านบาทหรือสูงกว่ารายได้ในปี 2562 ถึง 11% หลังการเปิดประเทศในปีก่อนเป็นปัจจัยหนุนให้รายได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 45% โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้จากบริการที่เกี่ยวเนื่องเพิ่มขึ้นทั้งจากธุรกิจในกลุ่มโรงแรม เช่น กลุ่มรายได้จากการขายอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงรายได้ธุรกิจอื่นจากลักษณะธุรกิจแบบผสมผสาน (Mixed-Use Hotels) ส่งผลให้การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่เป็นไปในอัตราที่เร็วกว่าขนาดกลางและเล็ก โดยในปี 2566 รายได้ของโรงแรมขนาดใหญ่เพิ่มเป็นสัดส่วน 59% ของรายได้ทั้งหมดสูงขึ้นจากสัดส่วนที่ 55% ในปี 2562 ซึ่งทาง ttb analytics วิเคราะห์พบปัจจัยที่ช่วยให้ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มีการฟื้นตัวที่ดีเกิดจากปัจจัยหลักดังนี้

1) โครงสร้างอุปสงค์ที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ปกตินักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มวัยทำงาน โดยพบว่าเป็นกลุ่ม Gen Y ที่สูงถึง 17.5 ล้านคน และกลุ่ม Gen X จำนวน 12.2 ล้านคน โดย Gen X และ Gen Y ที่อยู่ในช่วงอายุ 29-58 ปี เป็นกลุ่มที่มีความพร้อมด้านการเงินเพียงพอในการตอบโจทย์ด้านการหาความสะดวกสบายในการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวในรูปแบบการพักผ่อน ส่งผลให้การเลือกที่พักของนักท่องเที่ยวกลุ่ม Gen X และ Gen Y ตัดสินใจเลือกพักในกลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่ที่ตอบโจทย์เรื่องความสะดวกสบายได้มากกว่าเพิ่มสูงขึ้น

2) ความได้เปรียบด้านต้นทุนในการบริการ (Economy of Scale) โดยเฉพาะในช่วงที่สถานการณ์ท่องเที่ยวเริ่มกลับเป็นปกติ โรงแรมขนาดใหญ่สามารถรองรับผู้พักแรมได้จำนวนมาก ส่งผลให้อัตราส่วนต้นทุนราคาห้องพักต่อลูกค้าหนึ่งคนต่ำกว่าโรงแรมขนาดกลางและเล็ก และมีผลให้ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดใหญ่สามารถใช้พื้นที่ในการทำกำไรที่สูงกว่า เพื่อใช้เป็นกลยุทธ์ในการส่งเสริมการตลาดให้มีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นได้ รวมถึงในประเด็นของงบการตลาดและประชาสัมพันธ์ที่ใช้จ่ายเพียงครั้งเดียวแต่ส่งผลดีต่อโรงแรมในเครือที่ตั้งอยู่ในแต่ละพื้นที่ทั้งหมด เป็นต้น

3) ความได้เปรียบจากบริการที่หลากหลาย (Economy of Scope) เนื่องจากในโรงแรมขนาดใหญ่มีการบริการที่ครบวงจร (Full Services) และบริการเสริมพิเศษ(Complementary Services) เช่น ภัตตาคารและร้านอาหาร บริการรถรับส่งจากสนามบิน บริการสปา ซึ่งการให้บริการในกลุ่มนี้สามารถใช้สินทรัพย์ของโรงแรมร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการอื่น ๆ นอกจากการพักอาศัยของผู้พักแรมให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่งผลต่อต้นทุนในการบริการแต่ละประเภทที่ลดลง ทำให้การเสนอบริการเสริมพิเศษ(Complementary Services) ให้กับผู้พักแรมสามารถทำได้ในราคาที่ได้รับส่วนลด เป็นการช่วยให้กลุ่มโรงแรมขนาดใหญ่สามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ในรูปแบบ On Demand ที่มีความยืดหยุ่นและผู้เข้าพักแรมสามารถปรับเพิ่มลดบริการเสริมให้ตอบโจทย์กับความต้องการได้เพิ่มมากขึ้น

4) ความได้เปรียบจากธุรกิจอื่นที่มีความสัมพันธ์กัน (Conglomeration Economy) โดยปกติกลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มักมีธุรกิจในอุตสาหกรรมอื่นด้วย เช่น สปา ร้านอาหาร ธุรกิจแฟชั่น อสังหาริมทรัพย์ หรือ ห้างสรรพสินค้า ที่อาจใช้ประโยชน์จากธุรกิจอื่นผ่านรูปแบบสิทธิประโยชน์ เช่น บัตรกำนัลในการใช้บริการธุรกิจในเครือเดียวกัน นอกจากนี้ ความได้เปรียบจากธุรกิจอื่นยังอาจรวมถึงกลุ่มพันธมิตรทางการค้า (Partners) ที่ธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่มีพันธมิตรทางการค้าที่เยอะกว่า โดยเฉพาะกับกลุ่มสถาบันการเงิน ที่ส่งผลให้ผู้พักแรมได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมเมื่อใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต

เห็นได้ว่านับจากปี 2566 กลุ่มธุรกิจรายใหญ่ได้เปรียบเรื่องอุปสงค์บนโครงสร้างอายุประชากรที่เอื้ออำนวย กอปรกับความได้เปรียบด้านต้นทุนจาก Economy of Scale, Economy of Scope และ Conglomeration Economy ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจโรงแรมขนาดใหญ่ได้เปรียบชัดเจนในการทำตลาด Mass Market โดย ttb analytics จึงแนะให้ธุรกิจขนาดกลางและเล็กเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อจับตลาดกลุ่ม Niche Market ที่ความแข่งขันด้านต้นทุนต่ำกว่า โดยเน้นรูปแบบการให้บริการและลักษณะห้องพักให้มีเอกลักษณ์ตามกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ และพยายามสร้างจุดเด่น โฟกัสกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมถึงการประยุกต์นำเทคโนโลยีด้านข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูลกลุ่มผู้เข้าพัก เพื่อวิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ของกลยุทธ์ที่ได้วางไว้เป็นระยะ รวมถึงใช้สื่อโซเชียลที่หลากหลายในทำกลยุทธ์การตลาดเพื่อตอบสนองกระแสของสังคมทั้งในรูปแบบ Fad และ Trend ที่ช่วยสร้างฐานลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้นตามกระแสในแต่ละช่วงเวลา รวมถึงควรใช้โอกาสจากการขยายระยะเวลากำหนดลักษณะอาคารประเภทอื่นที่ใช้ประกอบธุรกิจโรงแรมออกไปถึงปี 2568 เร่งปรับมาตรฐานให้เหมาะสมเพียงพอสำหรับการยื่นขอใบอนุญาตประกอบการโรงแรมให้ทันตามระยะเวลาที่ได้ขยายไว้ เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีและความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจให้ถูกต้องตามกฎหมาย

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ชมงบ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ ช่วงนี้ คงต้องรอชมนก ชมไม้ เอ้ย รอชม ผลประกอบการไตรมาสแรกปีนี้ของบริษัทจดทะเบียน เริ่มทยอย...

CFARM จับมือ APM UOBKH และ BYD ประเดิมโรดโชว์ให้ข้อมูลนักลงทุน จ.ชลบุรี

CFARM จับมือ APM UOBKH และ BYD ประเดิมโรดโชว์ให้ข้อมูลนักลงทุน จ.ชลบุรี

ผถห. SSP ผ่านฉลุยจ่ายปันผล 0.10 บาท/หุ้น

ผถห. SSP ผ่านฉลุยจ่ายปันผล 0.10 บาท/หุ้น

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้