Today’s NEWS FEED

News Feed

ฟิทช์คงอันดับเครดิต KCE ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

581

 


สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(3กรกฎาคม 2566)--- บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-Term Rating) ของบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน)  หรือ KCE ที่ ‘A-(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ

 

การคงอันดับเครดิต สะท้อนถึงการคาดการณ์ของฟิทช์ว่าสถานะทางการเงินของ KCE จะยังคงแข็งแกร่ง และสอดคล้องกับอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า แม้ว่ากำไรในปี 2566 จะอ่อนแอลง   อัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำของ KCE ส่งผลให้บริษัทฯ มีความสามารถในการรองรับหนี้สินที่สูงขึ้นได้     ฟิทช์คาดว่า อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Net Leverage) ของ KCE จะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ระดับประมาณ 1.9 เท่าในปี 2568 จากการลงทุนในการก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่ในเขตอุตสาหกรรมโรจนะ (โครงการโรจนะ)  ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1 เท่าในปี 2569

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

รายได้ที่ลดลงในปี 2566: ฟิทช์คาดว่ารายได้ของ KCE ในปี 2566 จะลดลงประมาณร้อยละ 5-6 จากปี 2565 ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 โดยผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลักของ KCE มีแนวโน้มที่จะลดคำสั่งซื้อแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ (PCB) ในปี 2566 เพื่อลดความเสี่ยงจากการมีสินค้าคงคลังในระดับสูง ในภาวะเศรฐกิจชลอตัว   เศรฐกิจโลกที่เติบโตในระดับต่ำและการเร่งเพิ่มสินค้าคงคลังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทำให้สินค้ามีมากกว่าความต้องการ และส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มีสินค้าคงคลังในระดับสูงในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 และครึ่งปีแรกของปี 2566

 

รักษาอัตราส่วนกำไรในปี 2566: ถึงแม้ว่ารายได้ของ KCE จะลดลง ฟิทช์คาดว่าบริษัทฯ น่าจะยังคงสามารถรักษาอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 17-18 ในปี 2566   ผลกระทบจากรายได้ที่ต่ำลง ต่ออัตราส่วนกำไรต่อรายได้ น่าจะถูกลดทอนจากราคาวัตถุดิบ และราคาพลังงานที่ปรับตัวลดลงในปี 2566    การเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์แบบหลายชั้น (Multi-layer PCB) น่าจะทำให้อัตราส่วนกำไรต่อรายได้ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้น ในปี 2567 และ 2568    EBITDA Margin ของ KCE ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 17.8 ในปี 2565 จากร้อยละ 22.4 ในปี 2564 เนื่องจากราคาทองแดงและราคาพลังงานปรับตัวเพิ่มอย่างมาก ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565

 

แผนการลงทุนที่ปรับเปลี่ยนได้: KCE ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายด้านการลงทุนในปี 2566 เป็นประมาณ 600 ล้านบาท จาก 1 พันล้านบาทในปี 2565 ตามความต้องการผลิตภัณฑ์ที่อ่อนแอลง    นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เลื่อนแผนการลงทุนในโครงการโรจนะ ซึ่งเป็นโครงการก่อสร้างโรงงานใหม่ มีกำลังการผลิต 1 ล้านตารางฟุตต่อเดือน ไปเริ่มในปี 2567 ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของฟิทช์ ที่ว่าคำสั่งซื้อแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์จะเริ่มฟื้นตัวในปี 2567  ฟิทช์ได้มีการพิจารณารวมเงินลงทุนในโครงการโรจนะ จำนวนประมาณ 7.3 พันล้านบาท ที่คาดว่าจะใช้ในปี  2567-2568

 

อัตราส่วนหนี้สินสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับแข็งแกร่ง: ฟิทช์คาดว่า EBITDA Net Leverage ของ KCE จะเพิ่มขึ้นในปี 2567-2568 จากการลงทุนในโครงการโรจนะ  แต่ฟิทช์เชื่อว่า EBITDA Net Leverage ของ KCE ซึ่งอยู่ในระดับต่ำที่ 0.8 เท่า ณ สิ้นปี 2565 จะทำให้บริษัทฯ สามารถรองรับการลงทุน และยังรักษาอัตราส่วนหนี้สินให้สอดคล้องกับอันดับเครดิตได้   ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินในช่วงการก่อสร้างจะปรับตัวขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดที่ 1.9 เท่าในปี 2568 ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 1 เท่า ในปี 2569 หลังจากที่โรงงานใหม่เริ่มดำเนินการผลิต

 

ผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรฯ รถยนต์รายใหญ่: อันดับเครดิตของ KCE สะท้อนถึงการเป็นผู้นำในธุรกิจผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีวงจรสินค้าที่ค่อนข้างยาว และต้องอาศัยความผูกพันกับลูกค้าในการได้มาซึ่งยอดขาย ทำให้เป็นธุรกิจที่มีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม (High Barrier to Entry) เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์สำหรับสินค้าบริโภคทั่วไป (Consumer Electronics)           KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยมีส่วนแบ่งด้านรายได้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3-5 

 

โอกาสการเติบโตระยะยาว: ฟิทช์คาดว่าอุตสาหกรรมแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับยานยนต์ ยังคงมีแนวโน้มการเติบโตในระยะยาว โดยได้รับแรงสนับสนุนจาก การขยายกำลังการผลิตรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า และการที่รถยนต์มีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น แม้ว่าจะมีความผันผวนของเศรษฐกิจในช่วงระยะเวลาอันใกล้   อุปกรณ์ใหม่ในรถยนต์ เช่นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย และการช่วยเหลือในการขับขี่ และอุปกรณ์ด้านความบันเทิง ซึ่งมีอยู่ในรถยนต์ราคาแพง ได้กลายเป็นอุปกรณ์มาตรฐานในรถยนต์ระดับกลาง

 

การกระจุกตัวของรายได้ที่ลดลง: ความพยายามของ KCE ที่จะเพิ่มสัดส่วนสินค้า HDI ซึ่งรวมถึงสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่รถยนต์ จะช่วยลดการกระจุกตัวของรายได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในอนาคต โดยปัจจุบัน บริษัทฯ มีสัดส่วนรายได้จากการขายแผ่นพิมพ์วงจรจากลูกค้ารายใหญ่ 5 รายแรกที่ประมาณร้อยละ 58 ในปี 2565 ซึ่งค่อยๆ ลดลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จากประมาณร้อยละ 65 ในปี 2553

 

อัตรากำไรที่มีความอ่อนไหวต่อค่าเงินบาท: ธุรกิจของ KCE มีความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนซึ่งส่งผลให้อัตรากำไรมีความผันผวน   โดยในฐานะที่เป็นบริษัทผู้ส่งออก รายได้และกำไรจะลดลงเมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น เนื่องจากประมาณร้อยละ 80-90 ของรายได้ อยู่ในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และยูโร  ในขณะที่ร้อยละ 50-60 ของต้นทุนอยู่ในรูปเงินบาท ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

KCE มีสถานะทางธุรกิจอยู่ในระดับปานกลางเมื่อเทียบกับบริษัทในประเทศไทยอื่นๆ ที่ฟิทช์จัดอันดับเครดิต แต่บริษัทฯ มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า   สถานะทางธุรกิจและสถานะทางการเงินของ KCE มีความใกล้เคียงกันกับของ บริษัท โพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (PTL, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) PTL เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นฟิล์ม PET รายใหญ่ที่สุดในโลกตามรายได้      PTL ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของบริษัทฯ เป็นแผ่นฟิล์มมาตรฐาน ซึ่งมีความผันผวนด้านราคา และมีการแข่งขันที่สูง    ในขณะที่ KCE เน้นผลิตแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งมีความยากลำบากสำหรับคู่แข่งรายใหม่ในการเข้าสู่อุตสาหกรรม    อย่างไรก็ตาม PTL มีการกระจายตัวของฐานการผลิตและลูกค้าที่มากกว่า  บริษัททั้งสองมีอัตราส่วนหนี้สินอยู่ในระดับต่ำ  โดยมีอัตราส่วน EBITDA Net Leverage อยู่ในระดับต่ำกว่า 1.5 เท่า ดังนั้นอันดับเครดิตจึงอยู่ในระดับเดียวกัน

 

บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) (EPG, อันดับเครดิต A-(tha) แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) และ KCE ต่างมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ แต่ขายสินค้าคนละชนิด   EPG เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนและอุปกรณ์ตกแต่งสำหรับรถกระบะและรถเอนกประสงค์ที่ทำจากโพลีเมอร์และพลาสติก ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีส่วนแบ่งรายได้ร้อยละ 50 ของรายได้ทั้งหมด   EPG มีการกระจายตัวของธุรกิจและลูกค้าที่มากกว่า โดย EPG มีการกระจายรายได้จากการผลิตฉนวนยางกันความร้อน/เย็นและผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม   KCE และ EPG  มีขนาดธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน แต่ KCE มี EBITDA Margin และ Free cash flow margin ที่สูงกว่า ด้วยสถานะทางธุรกิจที่เทียบเคียงกันและอัตราส่วนหนี้สินที่อยู่ในระดับต่ำเช่นเดียว อันดับเครดิตของทั้งสองบริษัทจึงเท่ากัน

 

สมมุติฐานที่สำคัญ

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้ลดลงร้อยละ 5-6 ในปี 2566 (ปี 2565 เติบโตร้อยละ 24) เนื่องจากผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ลดคำสั่งซื้อแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดสินค้าคงคลัง; และฟื้นตัวในปี 2567 โดยมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 5

 

  • รายได้เติบโตร้อยละ 19-25 ต่อปี ในปี 2568-2569 จากคำสั่งซื้อสินค้าแผ่นพิมพ์วงจร HDI ซึ่งผลิตที่โรงงานโรจนะ

 

  • อัตราส่วน EBITDA ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ยังคงอยู่ในระดับเดิมที่ร้อยละ 17-18 ในปี 2566 และปรับตัวดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปจาก อัตราการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้น และการเพิ่มสัดส่วนการผลิตแผ่นพิมพ์วงจรเกรดพิเศษที่มีอัตรากำไรสูง

 

  • แผนการใช้จ่ายลงทุนทั้งหมด สำหรับโครงการโรจนะ และการปรับปรุงด้านเทคโนโลยี จำนวน 8 พันล้านบาท ในปี 2566-2568 (ปี 2565 จำนวน 1 พันล้านบาท)

 

  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) อยู่ในระดับสูงที่ประมาณร้อยละ 80 (ปี 2565 ร้อยละ 82)

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก

  • ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิตในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า นอกจากว่า KCE จะสามารถขยายขนาดธุรกิจและเพิ่มการกระจายตัวของลูกค้า โดยยังคงรักษาอัตราส่วน EBITDA Net Leverage ต่ำกว่า 2.0 เท่า อย่างต่อเนื่อง

 

 

ปัจจัยลบ

  • กระแสเงินสดที่ต่ำกว่าที่คาด หรือเงินลงทุนที่สูงกว่าที่คาด หรือมีการซื้อกิจการ ซึ่งส่งผลให้อัตราส่วน EBITDA Net Leverage ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 เท่าอย่างต่อเนื่อง
  • EBITDA Margin ต่ำกว่าร้อยละ 13 อย่างต่อเนื่อง
  • สถานะทางการตลาดที่อ่อนแอลง หรือการสูญเสียลูกค้ารายสำคัญ

 

สภาพคล่อง

สภาพคล่องอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ – ณ สิ้นปี 2565 KCE มีหนี้ทั้งหมดที่ 3.8 พันล้านบาท โดยเป็นหนี้ที่ถึงกำหนดชำระภายในหนึ่งปีจำนวน 2.9 พันล้านบาท ซึ่งจำนวน 2.2 พันล้านบาท เป็นหนี้เพื่อสนับสนุนการส่งออก ซึ่งน่าจะได้รับการต่ออายุ    สภาพคล่องของบริษัทฯ ได้รับการสนับสนุนจากเงินสดจำนวน 1.1 พันล้านบาท และมีสภาพคล่องเสริมจากวงเงินกู้หมุนเวียนที่ยกเลิกได้ (uncommitted facilities) จำนวน 15.7 หมื่นล้านบาท และ 67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ณ สิ้นปี 2565   เงินลงทุนสำหรับการขยายกำลังการผลิต น่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงานและวงเงินกู้จากสถาบันการเงินบางส่วน

 

ข้อมูลบริษัท

KCE เป็นหนึ่งในสิบผู้ผลิตแผ่นพิมพ์วงจรสำหรับยานยนต์รายใหญ่ของโลก โดยรายได้จากแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์คิดเป็นร้อยละ 80 ของรายได้แผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดของบริษัทฯ    KCE ส่งออกแผ่นพิมพ์วงจรอิเล็กทรอนิกส์ไปทั่วโลก โดยสัดส่วนรายได้ในปี 2565 ร้อยละ 41 มาจากทวีปยุโรป ร้อยละ 19 จากทวีปอเมริกา และร้อยละ 40 จากทวีปเอเชีย

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้