
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์(15 พฤศจิกายน 2565)-----KJL ปิดจองซื้อหุ้น IPO ขายหมดเกลี้ยง 30 ล้านหุ้น นักลงทุนตอบรับอย่างล้นหลามสะท้อนความมั่นใจในศักยภาพธุรกิจ คาดลงสนามเทรด mai วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 เร่งเดินหน้าตามแผนระดมทุน รองรับการเติบโตแบบไร้ขีดจำกัด มุ่งสู่ "ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคต" ตอกย้ำความเชื่อมั่นจากนักลงทุน
นายพายุพัด มหาผล กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินและผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL ผู้นำด้านนวัตกรรมผลิตตู้ไฟ สวิตช์บอร์ด รางเดินสายไฟ และงานโลหะแผ่นแปรรูปสั่งผลิตพิเศษ Sheet Metal Works ด้วยเทคโนโลยีจากญี่ปุ่น แบบครบวงจร แบรนด์สินค้า KJL และสินค้าสั่งผลิต เปิดเผยว่า การเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ของ KJL ในช่วงเปิดจองซื้อระหว่างวันที่ 9 – 11 พฤศจิกายน 2565 นักลงทุนให้ความสนใจเข้าจองซื้อเต็มจำนวนตั้งแต่วันแรก สะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่มีต่อปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของบริษัท ศักยภาพการเติบโต และโอกาสในอนาคต โดยคาดว่าจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) วันที่ 22 พฤศจิกายน ในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม โดยใช้ชื่อหลักทรัพย์ว่า "KJL"
ทั้งนี้ KJL ได้เสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 30 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ราคาหุ้นละ 13.50 บาท คิดเป็นอัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ หรือ P/E 13.99 เท่า มีบริษัท หลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย พร้อมผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย อีก 3 แห่ง ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัทหลักทรัพย์ กรุงไทย เอ็กซ์สปริง จำกัด
สำหรับผลประกอบการบริษัท ในปี 2562-2564 มีรายได้รวม 753.67 ล้านบาท 708.18 ล้านบาท และ 845.78 ล้านบาทตามลำดับ เติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ร้อยละ 5.93 ต่อปี ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 19.49 ล้านบาท 90.97 ล้านบาท และ 94.04 ล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่ผลประกอบการ 6 เดือนแรกปี 2565 มีรายได้รวม 502.89 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 65.79 ล้าน สูงขึ้นจากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 424.92 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 47.87 ล้านบาท พร้อมคาดการณ์แนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2565 จะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี
" เงินที่ได้จากการระดมทุนครั้งนี้ จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางด้านการเงิน สนับสนุนให้ KJL สามารถขยายกำลังการผลิตรับออเดอร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งจากกลุ่มลูกค้าเดิมและใหม่ พร้อมมองว่า KJL มีแนวโน้มเติบโตแบบ Growth Stock สอดรับกับการฟื้นตัวในภาพรวมของเศรษฐกิจและการลงทุนภายในประเทศขณะนี้ " นายพายุพัดกล่าว
ด้านนายเกษมสันต์ สุจิวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กิจเจริญ เอ็นจิเนียริ่ง อีเลคทริค จำกัด (มหาชน) หรือ KJL กล่าวว่า ขอขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่นในศักยภาพและแผนการลงทุนที่มีความชัดเจนของบริษัทฯ ทำให้นักลงทุนจองซื้อหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 30 ล้านหุ้น อย่างล้นหลามเกินความคาดหมาย โดยเงินที่ได้จากการระดมทุนจำนวนประมาณ 384.97 ล้านบาท (หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้อง) จะนำไปใช้ในลงทุนเพิ่มกำลังการผลิต โดยลงทุนก่อสร้างโรงงานและเครื่องจักร จำนวน 80 ล้านบาท, ลงทุนระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Rooftop) จำนวน 25 ล้านบาท, ลงทุนศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) จำนวน 200 ล้านบาท ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในกิจการ จำนวน 29.97 ล้านบาท และชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น จำนวน 50 ล้านบาท
สำหรับ กลยุทธ์การเติบโตหลังการลงทุน IPO จากการเพิ่มเป้าหมายการผลิตเครื่องจักรต่าง ๆ จะทำให้ในอีก 3-5 ปี ข้างหน้า กำลังการผลิตของ KJL จะเติบโตขึ้นเฉลี่ยปีละ 15-20 % รวมถึงการเติบโตของธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าที่จะเข้ามาใช้ทดแทนพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลในกลุ่มอุตสาหกรรมต่าง ๆ ส่งผลให้สินค้าของ KJL เติบโตไปพร้อมกับความต้องในการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้ง ตลอดจนการส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง KJL กับผู้ประกอบการ พันธมิตร ตลอดจนองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ในการร่วมออกแบบ การดีไซน์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในมิติต่าง ๆ ไปด้วยกันและสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่รับเทรนด์โลกในอนาคต ภายในศูนย์นวัตกรรม KJL (KJL Innovation Campus) ที่จะสร้างเสร็จภายใน ปี 2568 นับเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้ KJL เติบโตแข็งแกร่งและยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ
"การเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ครั้งนี้ นับเป็นก้าวที่สำคัญในการขยายธุรกิจให้แข็งแกร่ง ตลอดจนสร้าง Brand Awareness ผลิตภัณฑ์และบริษัท ให้เป็นที่รู้จักในอุตสาหกรรมมากยิ่งขึ้น รวมถึงการสร้างพันธมิตรเพิ่มเติม และต่อยอดธุรกิจให้สามารถคว้าโอกาสใหม่ ๆ รองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าที่ใช้มากขึ้น เพื่อการเติบโตของ KJL อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในฐานะ "ผู้นำนวัตกรรม ตู้ไฟรางไฟ ขับเคลื่อนไฟฟ้า เพื่ออนาคตคุณ" โดยเชื่อมั่นว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเข้าซื้อขายในตลาด mai วันแรก" นายเกษมสันต์ กล่าว
ข้อมูลเพิ่มเติม: www.KJL.co.th
สำนักงาน ก.ล.ต. ไฟเขียวนับ 1 ไฟลิ่ง บมจ.เคที เมดิคอล เซอร์วิส (“KTMS”) เสนอขายหุ้นไอพีโอ จำนวนไม่เกิน 76.64 ล้านหุ้น ด้าน CEO “กาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา” ประกาศเดินหน้า ตอกย้ำวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนองค์กรสู่การเติบโตไปข้างหน้าด้วยแรงบันดาลใจที่เกิดจากความหวังของผู้มีส่วนได้เสีย “Inspiration From Hope” โชว์ศักยภาพหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแบบครบวงจร (One-stop Services) รายแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายเอกจักร บัวหภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปปิตอล วัน พาร์ทเนอร์ จำกัด เปิดเผยในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ในการนำหุ้น บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “KTMS” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ภายใต้ชื่อย่อ “KTMS” ว่า ล่าสุดสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้นับ 1 ไฟลิ่งของบริษัทเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยบริษัทฯมีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 76.64 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 25.55% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด และคาดว่าจะนำเสนอขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ช่วงปลายปีนี้ ในหมวดธุรกิจบริการ (SERVICE) ทั้งนี้ บมจ.เคที เมดิคอล เซอร์วิส ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรายแรก ที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ปัจจุบัน “KTMS” มีทุนจดทะเบียน 150 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 300 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาทต่อหุ้น เป็นทุนที่ชำระแล้ว 111.68 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 223.36 ล้านหุ้น และมีการดำเนินธุรกิจการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมและระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ สำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมทั้งการขายและการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการแพทย์อย่างครบวงจร ด้วยคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล ภายใต้การให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ในรูปแบบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม (คลินิก หรือ Stand-Alone) และหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาล (หน่วยไตเทียม หรือ Outsource) ทั้งในส่วนของโรงพยาบาลรัฐ และกลุ่มลูกค้าเอกชน โดยปัจจุบันบริษัทฯ มีเครื่องไตเทียมรวม จำนวน 254 เครื่อง มีหน่วยไตเทียม จำนวน 20 สาขา ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ ทั้งภาคกลางและกรุงเทพมหานคร 2 สาขา ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 สาขา ภาคเหนือ 4 สาขา ภาคตะวันออก 2 สาขา และภาคตะวันตก 2 สาขา
นางสาวกาญจนา พงศ์พัฒนะเดชา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคที เมดิคอล เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “KTMS” เปิดเผยถึงวัตถุประสงค์ในการระดมทุนในครั้งนี้ว่า เพื่อนำเม็ดเงินที่ได้ไปใช้ลงทุน ในสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม รวมถึงโครงการลงทุนในโรงงานผลิตน้ำยาไตเทียม และศูนย์บริการวิศวกรรม และเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจการลงทุนอื่น ๆ และยังสะท้อนถึงศักยภาพความแข็งแกร่งด้านการบริการของกลุ่มบริษัทฯได้อย่างครบวงจรมีคุณภาพมาตรฐานระดับสากล
“KTMS มี 3 บริษัทย่อย ที่ขับเคลื่อนองค์กรสู่ความสำเร็จ ประกอบด้วย 1.) บริษัท เออร์วิง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (“IRV”) ดำเนินธุรกิจประกอบธุรกิจการให้บริการออกแบบ ติดตั้งระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ ระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการบำรุงรักษาระบบ, การผลิตและจัดจำหน่ายน้ำยาไตเทียม, การให้บริการออกแบบ และตกแต่งสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม และการออกแบบ ประกอบ และจัดจำหน่ายอุปกรณ์การแพทย์สำหรับสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม 2.) บริษัท เมดิคอล วิชั่น จำกัด (“MV”) ให้บริการออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ท่อลมรับ-ส่ง สิ่งส่งตรวจทางการแพทย์ รวมทั้งบริการดูแลบำรุงรักษาระบบ และ 3.) บริษัท เนโฟร วิชั่น จำกัด (“NEP”) ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมทั้งในรูปแบบคลินิกเวชกรรมเฉพาะทางไตเทียม และหน่วยไตเทียมในโรงพยาบาล โดยจะเป็นการร่วมมือกับอายุรแพทย์โรคไตในพื้นที่เป็นหลัก เพื่อทำให้อายุรแพทย์โรคไตรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของร่วม อีกทั้งจะได้รับสิทธิประโยชน์จากนโยบายสนับสนุน SME ของภาครัฐ จากการเพิ่มโอกาสให้กับกลุ่มผู้ประกอบการ SME ในการประมูลงานโครงการกับภาครัฐ”
ด้วยจุดเด่นของ“ KTMS ภายใต้แรงบันดาลใจและวิสัยทัศน์ ที่เกิดจากความหวังของผู้มีส่วนได้เสีย “Inspiration From Hope” ส่งผลให้บริษัทฯมุ่งเน้นการให้บริการแบบครบวงจร (One-stop Services) และก้าวสู่ผู้นำที่ให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพียงไม่กี่รายที่สามารถให้บริการได้อย่างครบวงจร พร้อมกันนี้กลุ่มบริษัทฯได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ากลุ่มโรงพยาบาลรัฐ ซึ่งมีการต่อสัญญาการให้บริการมาเป็นระยะเวลายาวนานกว่า 5 ปี รวมถึงบริษัทย่อยที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบผลิตน้ำบริสุทธิ์ และระบบบำบัดน้ำเสียสำหรับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมมากกว่า 20 ปี จึงทำให้กลุ่มบริษัทฯสามารถให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าอย่างมีคุณภาพ เป็นไปตามมาตรฐานระดับประเทศและระดับสากล
“บริษัทฯได้รับการสนับสนุนจากโครงการสวัสดิการด้านสุขภาพภาครัฐ อาทิ โครงการสวัสดิการด้านสุขภาพภาครัฐต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนงบบริการผู้ป่วยเรื้อรังจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง ที่มีสิทธิทุกรายสามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไต เป็นแบบฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมร่วมกับแพทย์ ซึ่งเป็นการส่งเสริมให้มีจำนวนผู้ป่วยใช้บริการกับกลุ่มบริษัทฯมากยิ่งขึ้น”
ขณะที่นายศุภณัฐ พร้อมศิริพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน “KTMS” กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ “KTMS” ในช่วงปี 2562-2564 และงวด 9 เดือนปี 2565 ทางกลุ่มบริษัทฯ มีรายได้จากการขายและบริการเท่ากับ 182.64 ล้านบาท 212.54 ล้านบาท 310.30 ล้านบาท และ 277.32 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมีรายได้หลักมาจากการให้บริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จากการขยายจำนวนสาขาสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 กลุ่มบริษัทฯมีสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม เป็นจำนวน 14 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีสาขาอยู่ 7 สาขา และมีเครื่องไตเทียม จำนวน 156 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีอยู่จำนวน 74 เครื่อง ส่วนในปี 2564 กลุ่มบริษัทฯมีสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 18 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 4 สาขา และมีเครื่องไตเทียม จำนวน 228 เครื่อง เพิ่มขึ้นจากปี 2563 จำนวน 72 เครื่อง
ขณะที่งวดเก้าเดือนปี 2565 กลุ่มบริษัทฯมีสถานพยาบาลฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม จำนวน 20 สาขา เพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 2 สาขา และมีเครื่องไตเทียม 254 เครื่อง เพิ่มขึ้นจาก ปี 2564 จำนวน 26 เครื่อง ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2562-2564 และงวด 9 เดือนปี 2565 อยู่ที่ 0.56 ล้านบาท, ขาดทุนสุทธิ 26.62 ล้านบาท 16.80 ล้านบาท และ 15.66 ล้านบาท ตามลำดับ ส่วนอัตรากำไรสุทธิ 0.29%, ลดลง 12.52%, 5.41% และ 5.65% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ในครั้งนี้จะส่งผลให้บริษัทฯมีโอกาสนำเครื่องมือทางการเงินจากแหล่งทุนมาต่อยอดทางธุรกิจในอนาคตได้ พร้อมทั้ง เชื่อว่าหุ้น “KTMS”จะได้การตอบรับที่ดีจากนักลงทุน เนื่องจากเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตในอนาคตที่สดใสและยังเป็นหนึ่งในผู้นำในการให้บริการเลือดด้วยเครื่องไตเทียมรายแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งยังมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่าง ๆ ทุกประเภท ดังนั้นจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลเชิงบวกต่อบริษัทฯอย่างแน่นอน
----จบ----