สรุป หลังจากเมื่อวานนี้ราคาทองคำได้ปิดปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย 5.20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแรงหนุนจากแรงซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างจีนและไต้หวัน ประกอบกับ นักลงทุนคาดการณ์ว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ประจำเดือนก.ค. ที่กำลังจะเปิดเผยในเวลา 19.30 น.ของวันนี้จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลง การคาดการณ์ดังกล่าวกดดันให้เกิดแรงขายทำกำไรในดัชนีดอลลาร์จนเป็นปัจจัยหนุนราคาทองคำเพิ่มเติม จนส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นทดสอบระดับสูงสุดในรอบ 5 สัปดาห์บริเวณ 1,800.25 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนในวันนี้ราคาทองคำช่วงเช้าเคลื่อนไหวชะลอตัวในทิศทางไซด์เวย์แกว่งตัวในกรอบระหว่าง 1,789.20-1,794.96 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีปัจจัยบวกต่อราคาทองคำจากนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐได้ลงนามในเอกสารการให้สัตยาบันรับรองในวันอังคาร ซึ่งทำให้ฟินแลนด์และสวีเดนคืบหน้าไปอีกขั้นในการเข้าเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) อีกทั้ง สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) รายงานในวันนี้ว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 2.7% ในเดือนก.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 2 ปี ด้าน สัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) ตลาดนิวยอร์กปิดลบในวันอังคาร หลังจากสื่อรายงานว่าอิหร่านและชาติมหาอำนาจใกล้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ ซึ่งจะเปิดทางให้อิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันได้อีกครั้ง สำหรับคืนนี้แนะนำให้นักลงทุนติดตามตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐ จะเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนก.ค. และตัวเลขสต็อกสินค้าและยอดค้าส่งเดือนมิ.ย.
แนวโน้ม Gold Spot:
หลังจากราคาปรับตัวขึ้นก็มีแรงขายทำกำไรสลับเข้ามาเพิ่มขึ้น หากราคาดีดตัวขึ้นต่อในระยะสั้นอาจต้องระวังแรงขายทำกำไรสลับเข้ามาอีกครั้ง เบื้องต้นมีแนวต้านระยะสั้นที่ 1,803-1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากไม่สามารถผ่านไปได้ ประเมินว่าจะเกิดแรงขายกดให้ราคาอ่อนตัวลงใกล้แนวรับสำคัญโซน 1,782-1,778 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่หากราคาหลุดแนวรับดังกล่าวมุมมองเชิงลบจะเพิ่มขึ้น
กลยุทธ์การลงทุน:
ราคาทองคำมีจุดเสี่ยงเปิดสถานะขายในบริเวณแนวต้าน 1,803-1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ตัดขาดทุนหากยืน 1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้) แต่หากราคาอ่อนตัวลงให้พิจารณาบริเวณ 1,782-1,778 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นจุดทยอยปิดสถานะขายทำกำไร แต่หากหลุด แนะนำให้ชะลอการปิดสถานะขายไปโซนแนวรับถัดไปบริเวณ 1,764 ดอลลาร์ต่อออนซ์