สรุป ราคาทองคำช่วงเช้าแกว่งตัวในกรอบ 1,831.60-1,838.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากวันศุกร์ที่ผ่านมาราคาปรับตัวลงประมาณ 5.89 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่าธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)จะใช้การประชุมนโยบายการเงินในวันที่ 25-26 ม.ค.นี้ เพื่อส่งสัญญาณถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25%ในการประชุมเดือนมี.ค. ขณะที่วันนี้ทองคำมีการเคลื่อนไหวในลักษณะไซด์เวย์ขาขึ้นอยู่ในกรอบ โดยมีปัจจัยบวกจากกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ ได้ประกาศคำสั่งให้สมาชิกครอบครัวของผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานทูตสหรัฐประจำกรุงเคียฟ ประเทศยูเครน รีบหนีออกจากยูเครน เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของกองทัพรัสเซีย อีกทั้งนางคริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาให้ความเห็นว่า นโยบาย Zero-Covid ของจีนเริ่มเป็นภาระต่อระบบเศรษฐกิจมากขึ้นทุกที เนื่องจากส่งผลกระทบแง่ลบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั้งในประเทศจีนและทั่วโลก ด้านนายแพทย์แอนโทนี เฟาชี แพทย์ใหญ่ประจำทำเนียบขาวแสดงความเชื่อมั่นว่า จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธ์โอมิครอนในรัฐส่วนใหญ่ของสหรัฐจะถึงจุดสูงสุดภายในกลางเดือนก.พ.นี้ รวมถึงกระทรวงสาธารณสุขอิสราเอลเปิดเผยรายงานล่าสุดว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 เข็มที่ 4 ช่วยให้ประชาชนที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปในอิสราเอลมีภูมิคุ้มกันการเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เมื่อเทียบกับคนวัยเดียวกันที่ฉีดวัคซีนเพียง 3 เข็ม ประเด็นเหล่านี้อาจเป็นปัจจัยที่มากดดันราคาทองคำได้เช่นกัน สำหรับคืนนี้แนะนำให้นักลงทุนติดตามตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐ มีการเปิดเผยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตและภาคการบริการเดือนม.ค.
แนวโน้ม Gold Spot:
หากราคาทองคำทดสอบแนวต้านที่ 1,847-1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ยังไม่สามารถผ่านได้ ซึ่งนักลงทุนยังคงต้องระมัดระวังแรงขายทำกำไรเนื่องจากครั้งที่ผ่านมาเมื่อราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นยังคงมีแรงขายออกมาเช่นกัน อย่างไรก็ตามหากการอ่อนลงของราคาไม่หลุดโซนแนวรับระยะสั้นอยู่ที่ 1,827-1,809 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ประเมินว่าเป็นการอ่อนตัวลงเพื่อสะสมแรงซื้ออีกครั้ง
กลยุทธ์การลงทุน:
เปิดสถานะซื้อหากราคาอ่อนตัวลงมาในโซน 1,827-1,809 ดอลลาร์ต่อออนซ์ พร้อมลดการลงทุนหากราคาหลุด 1,809 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ อาจพิจารณาแบ่งทองคำออกขายทำกำไรบางส่วนหากราคาทองคำไม่ผ่านแนวต้านที่ 1,847-1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์