Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: "เสี่ยหมู"คัมแบ็ค วางยุทธศาสตร์ปี65 มิลล์คอน รายได้โตทะยาน 2 หมื่นลบ. /TPCH ลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะอีก 4-6 แห่ง ดันกำลังผลิตรวมแตะ 250 MW ในปี 66

4,201

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 8 ธันวาคม 2564)-------กลุ่มมิลล์คอน สตีล แถลงแผนยุทธศาสตร์ปี 2565 ยึดแนวทางดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เดินหน้าสู่เป้าหมายการเป็น Green Steel “สิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล” ชี้เป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก มั่นใจธุรกิจเติบโตยั่งยืน ด้านบริษัทในกลุ่มขานรับนโยบาย ยก “ซันเทค” เป็นศูนย์กลาง carbon credit “เดอะเมกะวัตต์” รุกพลังงานสะอาดป้อนกลุ่มมิลล์คอน

 

นายสิทธิชัย ลีสวัสดิ์ตระกูล ประธานคณะกรรมการบริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MILL หนึ่งในผู้ผลิตและจำหน่ายเหล็กครบวงจร เปิดเผยถึงแผนยุทธศาสตร์ของกลุ่มมิลล์คอนในปี 2565 ว่า บริษัทยังให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเหล็ก และต่อยอดไปในธุรกิจที่จะสร้างมูลค่าเพิ่ม เน้นแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม-ลดโลกร้อน ซึ่งถือเป็นเทรนด์ใหญ่ของโลก และที่ผ่านมากลุ่มมิลล์คอนได้มีการปรับตัว และให้ความสำคัญมาโดยตลอด เพราะถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนให้บริษัทเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่คือการเป็น Green Steel ในที่สุด


นอกจากการผลิตเชิงเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อลดปริมาณของเสียแล้ว บริษัทยังมีการปรับปรุงกระบวนการผลิตทุกขั้นตอน เพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตั้งแต่การผลิต การขนส่ง การใช้ผลิตภัณฑ์ของผู้บริโภค กระทั่งถึงขั้นตอนการนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

 

“ปัจจุบันแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบ Circular Economy เป็นทิศทางที่ผลักดันให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทได้เริ่มดำเนินการไปบางส่วนแล้ว เช่น การคัดแยกเหล็กและยางรถยนต์ โดยนำเศษเหล็กไปผลิตเหล็กเพื่อนำกลับไปใช้ใหม่ ส่วนยางก็สามารถนำไปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตไฟฟ้าได้ ลดการสูญเสีย และสร้างรายได้เพิ่มให้กับธุรกิจ เป็นต้น”

 

"ปี 2565 บริษัทฯ วางเป้าหมายจะมีรายได้รวมแตะระดับ 20,000 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิโตต่อเนื่อง จากการประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หลังจากที่มีสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับบริษัทมีความพร้อมในการแข่งขัน  โดยตั้งเป้าว่าในปีหน้า บริษัทจะมียอดขายเหล็กรวมอยู่ที่ระดับ 1.2 ล้านตัน จากแนวโน้มความต้องการเหล็กยังอยู่ในระดับสูง และคาดว่าจะยังคงสูงกว่าปีนี้ โดยคาดจะมีความต้องการใช้รวมกว่า 18-19 ล้านตัน ตามโครงสร้างพื้นฐานของประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งตลาดยังมีการประเมินยอดผลิตรถในประเทศไทยก็จะสูงกว่าปีนี้ เป็น 1.8 ล้านคัน จากปีนี้ที่ 1.6 ล้านคัน" นายสิทธิชัย  กล่าว 

 

พร้อมกันนี้ บริษัทฯ อยู่ระหว่างศึกษาเพื่อขยายการลงทุนไปยังโรงไฟฟ้าขยะ โดยหากภาครัฐมีการประกาศรับซื้อไฟฟ้า บริษัทฯ ก็มีแผนเข้าร่วมด้วย เบื้องต้นคาดว่าจะเห็นประกาศรับซื้อดังกล่าวในปี 2565 ซึ่งบริษัทคาดหวังให้ได้รับมากที่สุด แต่เบื้องต้นอย่างน้อย 1 โรง ขนาด 9.9 เมกะวัตต์ อีกทั้งยังคงมองหาโอกาสในการร่วมทุนกันพันธมิตร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจในทุกด้าน โดยจะยังคงมุ่งเน้นในธุรกิจในวงโคจรของบริษัท หากมีความชัดเจนจะรายงานให้ทราบอีกครั้งภายหลัง

 

ด้านนายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กระบวนการผลิตของบริษัทได้มีการรองรับแนวทางการดำเนินธุรกิจแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะช่วยส่งผลดีต่อภาพรวมผลการดำเนินงานของบริษัทให้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน และพร้อมที่จะเดินไปสู่การเป็น Green Steel เต็มรูปแบบ

 

โดยแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2565 บริษัทคาดว่าจะมีกำไรสุทธิต่อเนื่อง จากไตรมาส 3/2564 ที่บริษัทมีรายได้รวม 2,580 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 54 ล้านบาทหรือ 2% ขณะที่มีกำไรสุทธิ 227 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 222 ล้านบาท หรือ เพิ่มขึ้น 4,374% เนื่องจากประเมินว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเริ่มฟื้นตัวจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ หลังจากที่มีสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับบริษัทมีความพร้อมในการแข่งขัน

 

นอกจากนี้แนวโน้มราคาเหล็กในตลาดโลกมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้น จากสถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในประเทศจีนที่มีนโยบายปิดโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน และยกเลิกนโยบายคืนภาษีส่งออก (Tax rebate) ส่งผลให้ราคาเหล็กในตลาดโลกยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงเพิ่มขึ้น


ขณะที่นายศุภมงคล มาโนช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมบริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด ซึ่งเป็นลูกของบริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมและลดโลกร้อน จากเดิมที่บริษัทดำเนินธุรกิจบริหารจัดการเศษเหล็กและซื้อขายเศษเหล็ก โดยเป้าหมายหลักคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งนี้บริษัทต้องการจะเป็นศูนย์กลาง carbon credit ของกลุ่มบริษัทในเครือมิลล์คอน สตีล นอกจากนี้ต้องมองหานวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะช่วยสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Decarbonization

 


อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจเดิมของบริษัทในการบริหารจัดการเศษเหล็ก บริษัทนำเทคโนโลยีของเครื่องจักรมาใช้บริหารจัดการเศษเหล็ก สามารถบดย่อยเศษเหล็กให้มีขนาดเล็กลง ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการหลอม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเป็นการประหยัดพลังงานในการหลอม (Recycle Process) เหล็กที่ได้จะถูกปรุงแต่งให้มีความบริสุทธิ์ก่อนนำกลับมาใช้ใหม่อีกครั้ง

 

สำหรับชิ้นส่วนอื่นที่ไม่ใช่เหล็ก เช่น พลาสติก วัสดุยาง ที่ถูกคัดแยกสามารถนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นกระบวนการที่สามารถลดขยะที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมตามหลัก Zero waste ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ด้านนายทวันทว์ บุณยะวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เดอะ เมกะวัตต์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนของ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวเสริมว่า การดำเนินธุรกิจของบริษัทจะช่วยสนับสนุนในการหาพลังงานสะอาดให้กับกลุ่มมิลล์คอน เพื่อช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน รวมทั้งรักษาสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปในโรงงานเหล็ก เริ่มต้นเฟสแรกไปแล้วประมาณ 4 เมกกะวัตต์ นอกจากนี้ก็มีแผนที่จะไปรับเชื้อเพลิงที่ผลิตจากบริษัท ซันเทค รีไซเคิล แอนด์ ดีคาร์บอน จำกัด มาเพื่อเป็นแหล่งพลังงานป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการศึกษาและเตรียมความพร้อม

 

 


บมจ.ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง (TPCH) เผยเริ่มทดสอบระบบจ่ายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าขยะ"สยาม พาวเวอร์" ขนาดกำลังผลิต 9.5 เมกะวัตต์แล้ว เตรียมความพร้อม COD ภายในไตรมาส 4/2564 ตามกำหนด ฟากบิ๊กบอส "กนกทิพย์ จันทร์พลังศรี"ระบุ จะช่วยสนับสนุนให้กำลังผลิตไฟฟ้าในสิ้นปีนี้เพิ่มเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์ เดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา คาดปีหน้ามีความชัดเจน พร้อมลุยศึกษาลงทุนโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มอีก 4-6 แห่ง เพื่อผลักดันให้กำลังผลิตในมือแตะระดับ 250 เมกะวัตต์ในปี 2566

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (TPCH) เปิดเผยว่า ภาพรวมการดำเนินงานไตรมาส 4/2564 บริษัทฯ เตรียมความพร้อมที่จะจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในโครงการโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ (SP) ขนาดกำลังการผลิต 9.5 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะแห่งแรกของบริษัทฯ โดยล่าสุดอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าแล้ว ดังนั้น คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตามเป้าหมายที่วางไว้
"โรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้า และเมื่อโรงไฟฟ้าขยะฯ สามารถจ่ายไฟฟ้าได้ ก็จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 116.3 เมกะวัตต์ จากเดิม 106.8 เมกะวัตต์ ซึ่งปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าประเภทชีวมวลที่ COD ไปแล้ว จำนวน 10 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวล CRB, MWE, MGP, TSG, PGP, SGP , PTG ,TPCH 5 , TPCH 1 และ TPCH 2 และยังมีโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล แม่ลานและโรงไฟฟ้าประชารัฐชีวมวล บันนังสตา ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างและมีแผนกำหนด COD ในปีหน้า เชื่อว่าโครงการทั้งหมด จะเป็นปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผลงานของบริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง” นางกนกทิพย์กล่าว

ด้านนายเชิดศักดิ์ วัฒนวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวว่า การที่มติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เห็นชอบหลักการในการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับปี 2565 สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) กำลังผลิตติดตั้งไม่เกิน 10 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 5.08 บาทต่อหน่วย (FiT Premium 8 ปี 0.70 บาท/หน่วย) และสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) กำลังผลิตติดตั้งมากกว่า 10 – 50 เมกะวัตต์ ภายใต้กรอบอัตราค่าไฟฟ้าสูงสุดที่ 3.66 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลาการสนับสนุน 20 ปี จะส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับผลตอบแทนที่ดีจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของโรงไฟฟ้าขยะ สยาม พาวเวอร์

อย่างไรก็ตาม อัตรารับซื้อไฟฟ้าดังกล่าว ยังต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) จึงจะได้ข้อสรุปอีกครั้ง

"ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษา และพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะเพิ่มเติม อีกประมาณ 4-6 แห่ง ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) และอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณาอัตราผลตอบแทนในการลงทุนของแต่ละโครงการ เพื่อสร้างความคุ้มค่าในการลงทุนในระยะยาว คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในปี 2565 เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 250 เมกะวัตต์ภายในปี 2566 แบ่งออกเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ ขนาด 200 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ ขนาด 50 เมกะวัตต์" นายเชิดศักดิ์ กล่าวในที่สุด

อนึ่ง ภาพรวมผลการดำเนินงานในงวด 9 เดือนของปี 2564 มีรายได้รวมอยู่ที่ 1,870.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.3% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน มีรายได้รวมเท่ากับ 1,305.39 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 147.62 ล้านบาท
ขณะที่งวดไตรมาส 3/2564 บริษัทฯ มีรายได้รวมอยู่ที่ 660.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39.7% เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีรายได้รวมเท่ากับ 472.97 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 51.75 ล้านบาท

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ครั้งที่ 5/2564 ได้มีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นเงินสด ในอัตราหุ้นละ 0.343 บาท รวมเป็นเงินปันผลทั้งสิ้น 137.61 ล้านบาท โดยจ่ายจากกำไรสุทธิ ซึ่งกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 7 ธันวาคม 2564

 

 


---จบ---

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

บทความล่าสุด

NER พบนักลงทุนในงาน Opportunity Day ประจำไตรมาส 1/2567

NER พบนักลงทุนในงาน Opportunity Day ประจำไตรมาส 1/2567

ไต่ขึ้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เช้านี้ หุ้นอิงการบริโภคในประเทศ โดยเฉพาะ CPF รับบทเป็นพระเอกดันSET ไต่ขึ้น ส่วนหุ้นแบงก์....

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้