Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews: 4 IPO เทรดส่งท้ายปีระกา -VCOM ปิดจองไอพีโอเกลี้ยง - CPT มาเงียบๆ เทรด20 ธ.ค.นี้ -DDD โวสถาบันจองซื้อล้น 18 เท่า - SUNเคาะIPO 5.85 บ.

904

 
 
 
 
 
 
 



HotNews: 4 IPO  เทรดส่งท้ายปีระกา 
-VCOM ปิดจองไอพีโอเกลี้ยง 
- CPT  มาเงียบๆ เทรด20 ธ.ค.นี้
  -DDD โวสถาบันจองซื้อล้น 18 เท่า 
- SUNเคาะIPO 5.85 บ.
 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (18 ธันวาคม 2560)------- VCOM เผยผลจองซื้อหุ้น IPO นลท.ตอบรับเยี่ยม พร้อมเต็มพิกัด เข้าเทรด mai วันแรก 21ธ.ค.นี้ คาดได้เงินระดมทุน IPO ราว 230 ลบ. เดินหน้านำเงินลงทุนขยายตลาด CLMที่โตวันโตคืนวางเป้าเป็น Growth Stock และ  Dividend Stock ชูผลงานโตต่อเนื่องตอกย้ำผู้นำธุรกิจ IT 4.0 ครบวงจร
CPT  หุ้นน้องใหม่  มาเงียบๆ  แบบข่าวไม่เยอะ  แต่ขอคุณภาพเน้นๆ  พร้อมนำหุ้นเข้าเทรด  SET วันแรกในวันที่ 20 ธันวาคมนี้ มั่นใจนักลงทุนให้การตอบรับที่ดี จากความเชื่อมั่นในแผนดำเนินธุรกิจที่จะขยายไลน์สินค้าและขยายฐานลูกค้าภาคอุตสาหกรรมทั้งในและตลาดต่างประเทศเพิ่มเติม หนุนการเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%
DDD เผยกระแสตอบรับจากนักลงทุนดีเยี่ยมหลังจากประกาศราคาขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายต่อประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรกหรือไอพีโอ ด้วยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตอย่างรอบด้านทั้งความแข็งแกร่งของบริษัทฯ ความชัดเจนของแนวทางบริหารธุรกิจของบริษัทฯ  และเทรนด์การเติบโตของธุรกิจผลิตภัณฑ์บำรุงผิวทั้งในไทยและต่างประเทศ 
  SUN เสนอขายหุ้นไอพีโอ 130 ล้านหุ้น ราคา 5.85 บาท เปิดจองซื้อหุ้น 20-22 ธันวาคม 2560  พร้อมเข้าซื้อขายในตลาดเอ็มเอไอ 28 ธันวาคมนี้ ตั้ง บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) เป็นแกนนำในการจัดจำหน่ายหุ้นพร้อม 7 โบรกเกอร์ร่วมจัดจำหน่ายหุ้น ตั้งเป้าพัฒนากระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน ขยายกำลังการผลิต และเพิ่มคุณภาพสินค้า เพื่อรองรับการขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศ
 

นางทรงศรี ศรีรุ่งเรืองจิต กรรมการผู้จัดการ บมจ.วินท์คอม เทคโนโลยี หรือ VCOM กล่าวในงานสัมมนาหุ้นอินไซด์ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ในหัวข้อ "เจาะลึกVCOM"ว่า ผลการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก(IPO)จำนวน 80  ล้านหุ้น ซึ่งกำหนดราคาเสนอขาย IPO ที่ราคาหุ้นละ 2.88 บาท เมื่อวันที่ 13-15 ธันวาคม ที่ผ่านมา  ได้รับการตอบรับที่ดีมากจากนักลงทุน โดยบริษัทมั่นใจว่าวันที่ 21 ธันวาคม นี้ ซึ่งเป็นวันที่ VCOMจะเข้าซื้อขายวันแรกในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) จะได้รับผลตอบรับที่ดีจากนักลงทุนเช่นกัน จากปัจจัยพื้นฐานของบริษัทที่มีความแข็งแกร่ง และอยู่ในธุรกิจที่IT โดยเป็นตัวแทนจำหน่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งผลผลประกอบการของบริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และจากนโยบายของภาครัฐที่มีการส่งเสริมแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ไทยแลนด์4.0 มองว่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อการเติบโตของบริษัทอย่างต่อเนื่องในอนาคต 
"ผลการจองซื้อหุ้นได้รับการตอบรับค่อนข้างสูง เพราะว่า VCOM เป็นหุ้นที่ในท้องตลาดอาจจะไม่มีใครเหมือน100%  ด้วยลักษณะธุรกิจที่เรามีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากเราเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า IT ซึ่งมีService เป็นตัวทำรายได้หลัก เงินทุนที่ได้จาก IPO ครั้งนี้ประมาณ 230  ล้านบาท จะนำไปลงทุนในเรื่องของการหมุนเวียนการซื้อสินค้าในตลาด CLM เพราะเรามองว่ามีศักยภาพในการเติบโตค่อนข้างสูง ส่วนในไทยเราก็ทำธุรกิจได้อย่างมั่นคงอยู่แล้ว เพราะว่าเราเปิดมา 16  ปีฉะนั้นฐานลูกค้าเราค่อนข้างแข็งแรงพอสมควร ดังนั้นเงินที่ได้จาก IPOเราจึงจะนำไปขยายตลาดในCLM"
นางทรงศรี กล่าว 
สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน เพื่อขยายงานโครงการใหญ่ที่ในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งในต่างประเทศจะเน้นกลุ่มประเทศ  CLM เนื่องจากมีความต้องการสินค้าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ จึงเป็นโอกาสที่บริษัทจะขยายตลาดไปในกลุ่มประเทศดังกล่าว เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่อง 
  ทั้งนี้บริษัทประเมินว่าธุรกิจ IT มีทิศทางเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากกระแสการบริโภคITยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายของภาครัฐเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ก็จะมีส่วนสนับสนุนให้อุตสาหกรรม ITโตขึ้นด้วย  ส่วนตลาดประเทศ เช่นที่พม่ากลุ่มแบงก์กิ้ง มีแนวโน้มโตอย่างรวดเร็วมาก เพราะอยู่ในช่วงพัฒนาประเทศ 
"ผลประกอบการย้อนหลัง 16 ปีที่ผ่านมา เราทำกำไรต่อเนื่องมา 13 ปี เพราะว่าธุรกิจ IT เป็นธุรกิจที่มีการเติบโต เทรนด์การบริโภคIT ยังขยายตัวต่อเนื่อง ขณะที่นโยบายของภาครัฐเรื่องไทยแลนด์ 4.0 ก็จะมีส่วนสนับสนุนให้อุตสาหกรรม IT  โตขึ้นด้วย  ส่วนของตลาดประเทศ เช่นที่พม่า กลุ่มแบงก์กิ้งก็โตอย่าง Aggressive มาก เพราะอยู่ในช่วงที่เปิดประเทศโดยหลังจากเปิดตลาดไปได้ปีเศษๆ  ยอดขายพม่าประมาณ 190  ล้านบาท  คิดเป็นประมาณ สัก10%  หลังจากที่เราเพิ่งสตาร์ทเต็มตัวในปี 60  ปีหน้าน่าจะเป็นโอกาสที่ดีที่เราจะขยายตลาดต่อไปค่ะ ส่วนตลาดในประเทศประมาณ 1,000 ล้านบาท " นางทรงศรี กล่าว  
นางทรงศรี กล่าวเพิ่มเติมว่าโอกาสการเติบโตของตลาดในต่างประเทศมีค่อนข้างสูงมาก โดยบริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้ต่างประเทศในกลุ่มประเทศ  CLM ให้ขึ้นไปถึง 30%  จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ10% ของรายได้รวม 
"กระแสไทยแลนด์4.0  เป็นโอกาสที่ดีของธุรกิจITมากรวมทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรกรรม แล้วก็การเงินการธนาคาร ทุกอย่างต้องมี ITเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับตัวเอง " นางทรงศรี กล่าว  
พร้อมกันนี้ หลังจากเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์maiแล้วบริษัทคาดหวังให้หุ้น  VCOM เป็นหุ้นที่ให้ผลตอบแทนที่ดีต่อนักลงทุนในระยะยาว และตั้งเป้าหมายสร้างผลประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน และโตอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่บริษัทมีนโยบายการจ่ายปันผลมากกว่า50% ของกำไรสุทธิ เชื่อว่าหุ้น VCOM จะเป็นหุ้นที่สามารถลงทุนในระยะยาวได้ 
"เราอย่างเป็นหุ้นที่เป็นทั้ง  Growth Stock และ  Dividend Stock  รวมทั้งเราอยากสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ขึ้นลงแบบหวือหวา เราเองก็อยู่ในตลาดนี้มานาน อยากจะให้ Commitment ในเรื่องการให้บริการของเรา ตามสโลแกนของเราที่เราทำมาตลาด 16 ปี ส่วนทางด้านเงินปันผลแน่นอนการตอบแทนการที่บริษัทมีผลกำไรค่อนข้างดี ซึ่งเรามีโยบายจ่ายปันผลมากกว่า 50%  ตรงนี้ดูจากอดีตได้ว่าเรามีการจ่ายปันผลมาตลอด  ด้านผลประกอบการงบ 9  เดือนเราก็ค่อนข้างสวย" นางทรงศรี กล่าว 
อนึ่งผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทย่อยในปี 2557 - 2559 และงวด 9 เดือนแรกของปี 2560 มีรายได้รวมจำนวน 742.84 ล้านบาท 816.42 ล้านบาท 948.86 ล้านบาท และ 1,118.87 ล้านบาทตามลำดับ โดยรายได้เกือบทั้งหมดเป็นรายได้จากการขายและบริการซึ่งมีจำนวน 740.68 ล้านบาท 812.45 ล้านบาท 937.49 ล้านบาท และ 1,108.79 ล้านบาท ตามลำดับ ประกอบด้วยรายได้จากการขายร้อยละ 73 - 82 ของรายได้รวม  และรายได้จากการบริการร้อยละ 17 - 26 ของรายได้รวม ในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้ในปี 2559 บริษัทมีกำไรจากการซื้อธุรกิจโดยบริษัทย่อย (วีเซิร์ฟพลัส) ซึ่งกำไรดังกล่าวเกิดจากส่วนเกินของสินทรัพย์และหนี้สินที่ระบุได้ (สินทรัพย์ไม่มีตัวตน) ของธุรกิจที่ซื้อมาที่สูงกว่ามูลค่ายุติธรรมของสิ่งตอบแทนที่โอน ณ วันซื้อธุรกิจจำนวน 6.82 ล้านบาท

ด้านนายชัยภัทร ศรีวิสารวาจา  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด  ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุนของ บมจ.วินท์คอม เทคโนโลยี (VCOM) เปิดเผยว่า หลังจากที่เปิดเสนอขายหุ้นให้กับประชานทั่วไปจองซื้อหุ้น IPO ของ VCOM  จำนวน 80 ล้านหุ้น เป็นครั้งแรก โดยเสนอขายหุ้นละ 2.88 บาท มูลค่าที่ตราไว้(พาร์)หุ้นละ 0.50 บาท ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม ที่ผ่านมา ปรากฏว่า ประสบความสำเร็จอย่างมาก ซึ่งเห็นได้จากกระแสตอบรับที่ดีจากนักลงทุน จนจำนวนหุ้นที่เสนอขายมีไม่เพียงพอกับความต้องการของนักลงทุน
สาเหตุสำคัญมาจากการกำหนดราคาเสนอขาย IPO ในราคา 2.88 บาทต่อหุ้นนั้น เป็นราคาที่เหมาะสม คิดเป็นอัตราส่วนกำไรต่อหุ้น (P/E ratio) 14.71 เท่า  ในขณะที่ปัจจุบัน P/E ratio ของบริษัทที่อยู่ในหมวด ธุรกิจเทคโนโลยี /เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) อยู่ที่ 30.50 เท่า  ประกอบกับ บริษัทฯยังมีพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ธุรกิจมีศักยภาพในการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จึงสะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อ VCOM
สำหรับจุดแข็งของ VCOM คือการเป็นผู้ดำเนินธุรกิจตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ สำหรับการใช้งานในระดับองค์กรถึง 7 แบรนด์ชั้นนำของโลก อาทิ ออราเคิล (Oracle ), ฮิตาชิ ดาต้า ซิสเต็มส์ ( Hitachi Data Systems ), พาโล อัลโต เน็ตเวิร์กส์ (Palo Alto Networks), อริสต้า เน็ตเวิร์กส์ (Arista Networks),  อินโฟบล็อกซ์ (Infoblox), อินฟอร์เมติก้า (Informatica) และ สปลังค์ (Splunk) ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอไอ ที่ดำเนินธุรกิจด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ครบวงจรที่สุด เมื่อเทียบกับบริษัทผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจประเภทเดียวกัน   
“ ราคาหุ้นที่เสนอขายมีความเหมาะสมกับพื้นฐานที่แข็งแกร่ง และสอดคล้องกับแผนการขยายธุรกิจเพื่อการเติบโตในอนาคต ซึ่งนักลงทุนทั่วประเทศสนใจเข้าจองซื้อหุ้น IPO จนเต็มจำนวนที่เสนอขาย 80 ล้านหุ้น ในฐานะแกนนำในการจัดจำหน่าย  มั่นใจในศักยภาพความแข็งแกร่งของ VCOM  ที่มีแนวโน้มการโอกาสเติบในอนาคตได้อย่างต่อเนื่อง โดยเชื่อว่า หลังจาก VCOM เข้าทำการซื้อขายในตลาด mai วันแรกวันที่ 21 ธันวาคมนี้ คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง ” นายชัยภัทร กล่าว
นางทรงศรี กล่าวเพิ่มเติมว่า  รู้สึกยินดีและขอบคุณเป็นอย่างมาก ที่นักลงทุนให้ความสนใจจองซื้อหุ้นไอพีโอ VCOM ในช่วงที่ผ่านมา เชื่อว่านักลงทุนที่จองซื้อหุ้น มีความสนใจและเชื่อมั่นการดำเนินธุรกิจของ VCOM เพราะนอกจากศักยภาพความแข็งแกร่ง ในการเป็นตัวแทนจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่ได้รับการยอมรับจาก  7 แบรนด์ ชั้นนำของโลก ในการให้บริการในรูปแบบลักษณะการขายแบบโซลูชั่นแล้ว VCOM ยังสามารถตอบโจทย์ และได้รับอานิสงค์จากกรณีที่ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม (Digital Economy) ไทยแลนด์ 4.0 โดยการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศ มาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมในครั้งนี้ด้วย  
อย่างไรก็ตาม VCOM มีความพร้อมในการขยายงานขายโครงการใหญ่ทั้งในประเทศและประเทศในกลุ่ม CLM  อาทิ กัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ เพื่อนำพาบริษัทฯไปสู่ความสำเร็จได้อย่างสูงสุด ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือมุ่งสู่การเป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ทั้งด้านการนำเสนอโซลูชั่น แบบครบวงจร ในเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
“ VCOM พร้อมทำการซื้อขายในตลาด mai ในวันที่ 21 ธันวาคมนี้ ซึ่งโดยส่วนตัวเชื่อมั่นว่า จากความแข็งแกร่งทางธุรกิจ ทำให้บริษัทฯมีความมั่นใจว่า หุ้นVCOM  จะเป็นหุ้นที่สามารถตอบโจทย์การลงทุนของนักลงทุนได้เป็นอย่างดี และพร้อมจะจ่ายปันผล ตามนโยบายจ่ายเงินปันผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสุทธิ อย่างสม่ำเสมอ ” นางทรงศรี กล่าวทิ้งท้าย   

    นายสมศักดิ์ หลิมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีพีที ไดร์ แอนด์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPT ผู้ให้บริการระบบไฟฟ้ากำลังสำหรับควบคุมการทำงานของเครื่องจักร เพื่อเพิ่มขีดความสามารถเชิงการแข่งขันแก่ภาคอุตสาหกรรม ครอบคลุมถึงการจำหน่ายอุปกรณ์และระบบควบคุมไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงให้บริการติดตั้งและก่อสร้างสถานีไฟฟ้าย่อย เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะนำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นวันแรกในวันที่ 20 ธันวาคม 2560 นี้ โดยใช้ชื่อย่อ CPT ในการซื้อขาย หลังจากที่ได้นำเสนอขายหุ้น IPO จำนวน 270 ล้านหุ้น มูลค่าทรี่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท ในราคาจองซื้อหุ้นละ 2.30 บาท ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งมั่นใจว่า หุ้น CPT จะได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนในการเข้าซื้อขายวันแรก

ทั้งนี้ บริษัทฯ มีจุดแข็งด้านประสบการณ์ของทีมผู้บริหารที่อยู่ในแวดวงธุรกิจมากว่า 30 ปี ทำให้มีความเชี่ยวชาญในด้านความหลากหลายของระบบควบคุมเครื่องจักรและระบบไฟฟ้า เพื่อออกแบบ ผลิตตู้ไฟฟ้าของระบบควบคุมไฟฟ้ากำลังที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนภาคการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ จึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้ารายใหญ่มาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการบริหารจัดการด้านต้นทุนการผลิตที่มีประสิทธิภาพจากฐานการผลิตของโรงงานตนเอง ทำให้สามารถเพิ่มอัตราการทำกำไรขั้นต้นที่ดี ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตในแง่ของผลการดำเนินงาน หลังจากช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ (มกราคม-กันยายน) CPT มีกำไรสุทธิ 85.64 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 64.50% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปขยายกิจการ ด้วยการลงทุนซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างโรงงานแห่งใหม่และซื้อเครื่องจักรผลิตตู้ไฟชนิดไม่มีโครงสร้าง Metal Clad Switchgear (MSCG) และการประกอบ Ring Main Unit (RMU) หรืออุปกรณ์ตัดต่อกระแสไฟฟ้าจากการนำสายไฟฟ้าลงดิน ที่จะช่วยให้ CPT สามารถขยายฐานลูกค้าใหม่ไปยังกลุ่มหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) เป็นต้น และจะร่วมกับบริษัท Danfoss จากประเทศเดนมาร์กในการประกอบระบบกักเก็บพลังงาน Energy Storage System เพื่อใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะเดียวกันยังวางแผนขยายตลาดระบบควบคุมเครื่องจักรและระบบไฟฟ้าในต่างประเทศ โดยมีแผนร่วมทุนตั้งสำนักงานขายในต่างประเทศเพื่อรองรับแผนขยายตลาดและฐานลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เมียนมาและกัมพูชาเพิ่มเติม เพื่อรับโอกาสการเติบโตด้านการค้าการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

“เรามีวิสัยทัศน์เป็นผู้นำด้านการผลิตตู้ไฟฟ้า ระบบควบคุมเครื่องจักรและระบบไฟฟ้า ที่มุ่งเน้นการแข่งขันได้ทั้งราคา คุณภาพ การบริการ และเทคโนโลยี เพื่อสร้างความพึงพอใจให้แก่ลูกค้า พร้อมมีแผนขยายการลงทุนเพิ่มไลน์สินค้าใหม่ๆ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน รองรับการรุกขยายฐานลูกค้าในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและแถบภูมิภาคอาเซียน” นายสมศักดิ์ กล่าว 

นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน และผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย กล่าวว่า CPT ถือเป็นบริษัทของคนไทยที่มีศักยภาพการเติบโตได้ดีในภูมิภาคอาเซียน จากการดำเนินธุรกิจเป็นผู้ให้บริการระบบควบคุมเครื่องจักรและระบบไฟฟ้า เพื่อการออกแบบ ผลิตตู้ไฟฟ้าของระบบควบคุมและไฟฟ้ากำลังที่ใช้ในการควบคุมการทำงานของเครื่องจักรในโรงงานอุตสาหกรรมและโรงไฟฟ้า ด้วยแผนธุรกิจที่ต้องการขยายไลน์สินค้าและลูกค้าภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รายใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้ CPT มีขีดความสามารถการแข่งขันที่ดียิ่งขึ้น

ขณะเดียวกัน ด้วยความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจจึงได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าภาคอุตสาหกรรมรายใหญ่อย่างต่อเนื่อง ทำให้หุ้น CPT เป็นหุ้นพื้นฐานที่มีโอกาสการเติบโตที่ดีทั้งในแง่ของรายได้และกำไร จากการขยายตัวของเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนในภูมิภาคอาเซียน

  นายปิยวัชร ราชพลสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายสายงานบัญชีและการเงิน บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “บริษัทฯ ขอขอบคุณนักลงทุนที่เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของดู เดย์ ดรีมและตอบรับการจองซื้อหุ้นไอพีโอเป็นอย่างดี  เรามั่นใจว่าปัจจัยสนับสนุนทั้งในและนอกบริษัท ฯ หลักๆ 3 ด้านจะช่วยผลักดันการเติบโตได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ได้แก่ รายได้จากการขายสินค้าในต่างประเทศที่มีการเติบโตออย่างมีนัยสำคัญ การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าใหม่คือ คิง เพาเวอร์  และประการสุดท้ายคือ การออกบรรจุภัณฑ์ใหม่ในแบบซองที่สนองความต้องการลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ได้ดี ทำให้เราขยายตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
  นายปิยวัชรกล่าวเสริมว่า ในด้านตลาดต่างประเทศ หลังจากที่บริษัทฯเริ่มเปิดตลาดจีนเป็นครั้งแรกในปี 2559 สามารถทำรายได้ถึงประมาณ 140 ล้านบาท และเริ่มมีการเข้าไปทำการตลาดมากขึ้นในปีนี้จนทำให้รายได้จากการขายเติบโตสูงขึ้นถึง 3 เท่าเป็น 440 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560  
  “ประเทศจีนนับเป็นตลาดผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่มีมูลค่าสูงมากถึง 1 ล้านล้านบาทและยังมีแนวโน้มที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้บริษัทฯ ยังมีช่องทางในการเติบโตต่อไปได้ในอนาคต นอกจากนี้เรากำลังศึกษาความเป็นไปได้ที่จะส่งออกผลิตภัณฑ์ไปสู่ประเทศใหม่ๆ ในเอเชียอีกด้วย เช่น ตลาด CLMV” นายปิยวัชรกล่าวเสริม
  นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้เพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าที่สำคัญซึ่งจะผลักดันการเติบโตของรายได้เป็นอย่างมากคือ ร้านค้าปลอดภาษีคิง เพาเวอร์ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาที่สาขาศรีวารีเป็นแห่งแรกและได้เริ่มขยายไปยังสาขาอื่นได้แก่สาขาสุวรรณภูมิ โดยได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้ากลุ่มนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก   
  ปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของรายได้จากการขายในประเทศอีกประการหนึ่งคือการเปิดตัวผลิตภัณฑ์ขนาดใหม่แบบซอง (Sachet) โดยในช่วงครึ่งปีหลังบริษัทฯ ได้ดำเนินการขายผลิตภัณฑ์ครีมทาหน้าในรูปแบบซอง ทำให้เจาะกลุ่มลูกค้าในร้านสะดวกซื้อและร้านค้ารายย่อยได้กว้างขวางยิ่งขึ้น   รวมทั้งบริษัทฯ มีแผนที่จะนำเสนอสินค้าไปสู่ช่องทางจำหน่ายอื่นๆมากยิ่งขึ้น  
  “จากที่ได้เริ่มดำเนินการผลิตที่โรงงานใหม่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะตั้งแต่ช่วงปลายปี 2559 เราเชื่อมั่นว่า ณ ตอนนี้ ฝ่ายผลิตมีความพร้อม มีความรู้ความเข้าใจในระบบและเครื่องจักรที่ทันสมัยของโรงงานใหม่อย่างเต็มที่ ซึ่งจะช่วยให้เราบริหารจัดการต้นทุนได้ดียิ่งขึ้น ประกอบกับการนำระบบ SAP เข้ามาใช้ ทำให้เราบริหารงานและวางกลยุทธ์ธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม่นยำ นำไปสู่การจัดการต้นทุนที่ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ปีนี้เราใช้งบประมาณในการทำการตลาดและการสร้างแบรนด์ การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ถึง 8 ตัวซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถสร้างการตระหนักรู้และความเชื่อมั่นในตัวสินค้าในกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในระดับที่น่าพึงพอใจ ทำให้ในปีต่อไปเราน่าจะสามารถพิจารณาปรับลดงบประมาณการตลาดลงได้ ซึ่งคาดว่าจะช่วยส่งเสริมการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิในอนาคต” นายปิยวัชร กล่าวปิดท้าย
  บริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) จะเริ่มซื้อขายหุ้นภายใต้หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ส่วนตัว และเวชภัณฑ์ ภายใต้ชื่อย่อหลักทรัพย์ “DDD” เป็นครั้งแรกในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 นักลงทุนที่สนใจที่สนใจร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแบรนด์ไทยให้ผงาดบนเวทีอุตสาหกรรมความงามในระดับภูมิภาคเอเชีย กับเป้าหมายการเป็นท็อป 3 บริษัทด้านความงามของเอเชีย สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.dodaydream.com/th/investor-relations/ir-home และชมวีดีโอสั้นเกี่ยวกับข้อได้เปรียบทางการแข่งขันและศักยภาพการเติบโตของบริษัท ดู เดย์ ดรีม จำกัด (มหาชน) ได้ที่ http://www.dodaydream.com 
  
ดร.องอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ซันสวีท หรือ SUN ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานแปรรูป เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 130 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ 0.50 บาท ในราคาหุ้นละ 5.85 บาท โดยจะเปิดให้จองซื้อหุ้นระหว่างวันที่ 20-22 ธันวาคม 2560 และคาดว่าจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอเป็นครั้งแรกในวันที่ 28 ธันวาคม 2560
  สำหรับการระดมทุนครั้งนี้ SUN จะนำเงินที่ได้ไปลงทุนเครื่องจักรเพิ่มเติมเพื่อขยายกำลังการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการผลิต ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มกำลังการผลิตสินค้า อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการควบคุมคุณภาพของสินค้าให้ดียิ่งขึ้น ส่วนเงินจากการระดมทุนที่เหลือก็จะนำไปใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและชำระเงินกู้จากสถาบันการเงิน 
  นายเสกสรรค์ ธโนปจัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด “APM” ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า SUN มีความโดดเด่นในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปของไทยยังมีโอกาสขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะการส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งคุณภาพของสินค้าที่ดีและมีมาตรฐานถือว่าเป็นจุดเด่นสำคัญที่ทำให้ SUN เป็นผู้นำในตลาดส่งออกข้าวโพดหวาน อันดับต้นๆของประเทศไทย
  “ความต้องการข้าวโพดหวานในตลาดต่างประเทศยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง และคุณภาพสินค้าที่มีการควบคุมการผลิตตั้งแต่การเพาะปลูกจนถึงกระบวนการผลิตและการส่งออกไปยังต่างประเทศของ SUN ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่สามารถสร้างมาตรฐานให้สินค้าได้เป็นอย่างดี และการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอครั้งนี้ จะทำให้บริษัทได้รับการยอมรับและสร้างโอกาสในการขยายตลาดในต่างประเทศเพิ่มขึ้น” 
  นายสมภพ ศักดิ์พันธ์พนม ประธานกรรมการ บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด หรือ APM กล่าวเพิ่มเติมว่า SUN ถือว่าเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวานแปรรูป การเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ จะช่วยให้ SUN มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง อีกทั้งเพิ่มโอกาสทางธุรกิจทั้งในและต่างประเทศให้เป็นที่ยอมรับมากยิ่งขึ้น จนทำให้บริษัทมีการขยายตลาดและสร้างเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
  นายวิชา โตมานะ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บริษัทหลักทรัพย์ ฟิลลิป(ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้นสามัญเพิ่มทุน กล่าวว่า การกำหนดราคาหุ้น 5.85 บาท ถือว่าเป็นราคาที่เหมาะสมและน่าสนใจลงทุน เนื่องจาก SUN ถือเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมข้าวโพดหวาน และยังมีแผนการขยายตลาดและช่องทางการจำหน่ายอย่างชัดเจน อีกทั้งเชื่อว่าข้าวโพดหวานยังเป็นที่ต้องการในตลาด โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ต้องการผลิตภัณฑ์เกษตรแปรรูปที่มีมาตรฐานและคุณภาพ ซึ่งผลิตภัณฑ์ของ SUN ได้รับการยอมรับในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างดี 
  การเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้น่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุน เห็นได้จากการเดินทางไปนำเสนอข้อมูลให้กับนักลงทุนตามหัวเมืองต่างๆในประเทศ ได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก และมีความเข้าใจในธุรกิจของบริษัทเป็นอย่างดี สำหรับการเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ มีบริษัทหลักทรัพย์ที่ผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นอีก  7 บริษัท ได้แก่ บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน จำกัด (มหาชน) บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด  บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)  บริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด (มหาชน) และ บริษัทหลักทรัพย์ เคที ซีมิโก้ จำกัด
    

----จบ--- 





 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ไต่เส้น By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ มองดูหุ้นไทยไต่เส้น แถว 1370 +/- แบบพยาบามฝ่าด่าน 1380 จุด โดยเช้านี้ พี่ DELTA..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้