
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (9 มิถุนายน 2564)——NWR คงเป้ารายได้ปี64 โต20-30% หลังตุนแบ็กล็อกในมือราว3.4หมื่นลบ. ทยอยรับรู้ปีนี้1หมื่นลบ. เผยครึ่งปีหลัง64 พร้อมเข้าประมูลงานเพิ่มอีก3หมื่นลบ. หวังได้งานอย่างน้อย10% คาดผลงานQ2/64 ใกล้เคียงQ1/64 มองโควิด-19 ยังกระทบศก.ในประเทศ แต่งานก่อสร้างของภาครัฐยังขยายตัวดี
นายสุวิทย์ สุวรรณวิทย์เวท รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) NWR เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดว่าภาพรวมรายได้ปีนี้จะเติบโต 20-30% จากปีก่อนที่มีรายได้ 9,928.95 ล้านบาท หลังมีงานที่รอรับรู้รายได้ (Backlog) จำนวนรวมทั้งสิ้น 34,052 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้รายได้ในปีนี้ ประมาณ40% หรือคิดเป็นมูลค่าราว1หมื่นล้านบา แบ่งเป็น งานขนาดโครงการ 2พันล้านบาทขึ้นไป จำนวน 84% งานขนาด 1-2พันล้านบาท จำนวน 4% ส่วนที่เหลือเป็นงานที่มูลค่าน้อยกว่า 1พันล้านบาท และแบ่งเป็นงานภาครัฐ 58% งานเอกชน 21% และงานสัมปทานของภาครัฐจำนวน 21% ขณะที่ในช่วงครึ่งปีหลัง64 บริษัทยังเตรียมเข้าประมูลงานเพิ่มเติมอีกมากกว่า3หมื่นล้านบาท โดยคาดหวังว่าจะได้งานอย่างน้อย10%
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาสที่1/64 บริษัทได้เข้าประมูลงานใหม่ๆ ไปแล้วจำนวน 4,513 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงานประเภทอุโมงค์ 95% ก่อสร้าง 5%ส่งผลให้ในปัจจุบันบริษัทมีงานที่ประมูลได้และงานที่เสนอราคาต่ำสุด มูลค่ารวม 8819 ล้านบาท ประกอบด้วย 7โครงการ คือ 1.งานทางเชื่อมต่อรพจุฬาภรณ์ - สถานีรถไฟฟ้าหลัก4 2.งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองเปรมประชากรณ์ 3.อุโมงค์ขนส่งน้ำการประปานครหลวง 4.งานก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบริเวณคลองทวีวัฒนากับกรุงเทพมหานคร 5.การก่อสร้างและต่อเติมความยาวทางวิ่งของระบบไฟฟ้าของท่าอากาศยานตรัง 6.งานก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมในพื้นที่ชุมชนกระทุ่มล้ม อ.สามพราน จ.นครพนม และ 7.การก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง ทางตอนใต้ของจ.ฉะเชิงเทรา
พร้อมกันนี้ บริษัทฯ ได้ประเมินแนวโน้มผลงานในไตรมาสที่2/64 คาดว่าจะทำผลงานได้ใกล้เคียงกับไตรมาสที่1ที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีเรื่องของราคาวัสดุก่อสร้างบางประเภทปรับตัวสูงขึ้นบ้างแต่ไม่ได้กระทบอย่างเป็นนัยยะสำคัญ อีกทั้งในปีนี้ มองว่ายังมีความสามารถในการรับงานใหม่ๆเพิ่มเติมได้อีกราใ 10,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทมีกำลังการผลิตในการก่อสร้างเพิ่มเติมจากความสามารถใช้ผู้รับเหมาช่วยได้ ดังนั้นการรับงานมากๆจึงไม่มีปัญหา เนื่อจากสามารถที่จะยืดหยุ่นหรือเสริมกำลังคนได้พอสมควร
ขณะเดียวกันได้มีมุมมองต่ออุตสาหกรรมงานรับเหมาก่อสร้าง จากภาพรวมงานก่อสร้างในประเทศยังมีการขยายตัว 12.7% สวนทางกับ GDP ประเทศไทย และภาคอุตสาหกรรมอื่นๆที่ลดน้อยลง ขณะที่เศรษฐกิจทั่วโลกค่อยๆทยอยฟื้นตัวแล้ว หลังจากมีการฉีดวัคซีนที่ช่วยลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เช่น ในจีน อเมริกา และหลายๆประเทศในแถบยุโรป ซึ่งคาดว่าในประเทศไทยตัวเลขจะดีขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม ทางสภาพัฒน์ได้ปรับลดประมาณการ GDP ณ วันที่ 17 พ.ค.64 เหลือ โต 1.5-2.5 จากเดิมในช่วง ก.พ. คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 2.5-3.5 แต่การลงทุนภาครัฐยังมีการขยายตัวอยู่ +9.3%
ด้านปัจจัยเสี่ยงของราคาเหล็กและแรงงานในปี 2564 มองว่าราคาเฉลี่ยเหล็กทรงยาว มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น 44% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าเป็น 25.50 บาท/กก. จากการบริโภคเหล็กของจีนที่เพิ่มขึ้นในการก่อสร้างส่งผลให้ราคาวัตถุดิบสูงขึ้น มีการควบคุมการผลิตจากมลภาวะทางอากาศ และการงดใช้ Tax rebate 1.3% กับสินค้าเหล็กส่งออก 146 ชนิด ซึ่งไทยมีการนำเข้า Finished Steel จากจีนสัดส่วนราว 30% จึงทำให้ราคาปรับขึ้นตามไปด้วย แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากบริษัทฯได้รับงานจากภาครัฐเป็นส่วนใหญ่จึงมีการทำสัญญาเกี่ยวกับค่าเหล็กที่อาจปรับเปลี่ยนไปอยู่แล้ว ประกอบกับสมาคมรับเหมาก่อสร้างก็ได้มีการทำหนังสือถึงทางรัฐบาลเพื่อขอให้ช่วยออกนโยบายในการกำหนดมาตรฐานราคาเหล็กให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำจนเกินไป ซึ่งทางภาครัฐก็ได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้ว ขณะที่ค่าใช้จ่ายทางการบริหารงานของบริษัทสำหรับราคาเหล็กคิดเป็นสัดส่วน 10 - 15% ของรายจ่าย คาดว่าหากราคาเหล็กปรับเพิ่มขึ้นก็คงกระทบไม่มากนัก
“การแข่งขันในอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้างในตอนนี้ยังถือว่าดุเดือด เนื่องมาจากภาคเอกชนมีการชะลอการลงทุนโครงการใหม่ๆ โดยเฉพาะฝั่งของอสังหาฯก็เริ่มชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้ให้ผู้รับเหมาขนาดกลางก็เริ่มมองหางานและเข้ามาแข่งขันเพื่อให้ได้งานจากภาครัฐ แต่ในงานส่วนใหญ่ของรัฐบาลนั้นเป็นงานที่เฉพาะเจาะจง และมีคุณสมบัติพิเศษต่างๆรวมถึงเป็นงานที่ค่อนข้างใหญ่ ต้องใช้บริษัทที่มีประสบการณ์มากเช่นNWR ประกอบกับในการแข่งขันต่างๆ เราจะเลือกงานที่มีการแข่งขันไม่มากเพื่อให้มีโอกาสได้รับงานสูงที่สุด” นายสุวิทย์ กล่าว
ขณะที่จำนวนแรงงานต่างด้าวในปีนี้มีการปรับตัวลดลงกว่า 30% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่ถูกทดแทนด้วยแรงงานไทยทำให้ในภาพรวมแรงงานทั้งหมดลดลงเพียงราว 2% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว ส่วนการใช้แรงงานไทยที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้ผู้รับเหมาต้องรับภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตรากำไรมีโอกาสลดลงทั้งนี้ รวมถึงการแพร่ระบาดของ โควิด-19 ในแคมป์คนงาน อาจเป็นปัจจัยทำให้จำนวนแรงงานลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญด้วย
“จากสถานการณ์ของการระบาด โควิด-19 ระลอก 3 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคลัสเตอร์แคมป์คนงานก่อสร้างนั้น ทางบริษัทฯ ได้ป้องกันในเรื่องของมาตรการต่างๆอย่างรัดกุม ไม่ว่าจะเป็นทั้งสถานที่ทำงาน หรือสถานที่ก่อสร้าง รวมถึงที่พักของคนงาน โดยมองสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตามก็ยังมีความน่านเป็นห่วงว่าอาจจะมีการระบาดเข้าไปยังกลุ่มคนงานในแคมป์ ซึ่งบริษัทก็พยายามระมัดระวังเป็นอย่างมาก แต่หากเกิดขึ้นก็ประเมินว่าเป็นผลกระทบต่อบริษัทน้อยมาก ซึ่งในตอนนี้คนทุกคนก็ยังมีความเสี่ยงต่ำ” นายสุวิทย์ กล่าวเสริม
ด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นธุรกิจใหม่ของบริษัท บริษัท ซึ่งได้จัดตั้ง บริษัท มานะพัฒนาการ จำกัด ขึ้นมาเพื่อบริหารธุรกิจด้งกล่าว โดยบริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 99% นั้น สำหรับโครงการแรกคือโครงการ Baranee Park มูลค่าโครงการ1พันล้านบาท ปัจจุบันขายไปได้แล้ว 33% โอนไปแล้ว 20%, โครงการ Baranee residence รังสิต-คลอง3 มูลค่าโครงการทั้งหมด 850ลบ. ขายไปแล้ว 84% โอนไปแล้ว 79%, โครงการคอนโดมิเนียม Aspen Lasalle เฟสA มูลค่าโครงการ 780 ล้านบาท จำนวน 425 ยูนิต ปัจจุบันขายและโอนไปแล้ว 99%, โครงการ Aspen Lasalle เฟสB มูลค่าโครงการ 750 ล้านบาท ปัจจุบันขายไปแล้ว 89% โอนแล้ว 86% และล่าสุดคือ Aspen Lasalle เฟสC เพิ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและกำลังทยอยโอน ปัจจุบันขายไปแล้ว 35% โอนแล้ว 16%
ส่วนโครงการที่ร่วมลงทุน (JV) กับ บริษัท ชาญอิสสระ ดีเวลล็อปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ภายใต้ บริษัท ซี.ไอ.เอ็น เอสเตท จำกัด ซึ่งNWR ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 40% โครงการแรกที่ทำคือBAAN ISSARA Bangna ขายไปแล้ว 14% โอนแล้ว 10%
ส่วนธุรกิจร้านอาหารซึ่งเป็นอีกหนึ่งในธุรกิจใหม่ ภายใต้ Taste Maker Co., Ltd. ซึ่งจะประกอบธุรกิจอาหาร2 ส่วน คือ1)อาหารสำเร็จรูป (Ready To Serve) เช่น ซุป ซอส และของว่าง ที่หาซื้อได้ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตและช่องทางออนไลน์ โดยบริษัทมองว่าโปรดักส์เหล่านี้จะสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศได้ในอนาคต ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูลเพื่อนำไปเจาะตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศจีน และ 2)ร้านอาหาร ซึ่งจะแบ่งเป็น2ประเภท คือ ร้านอาหารไทย ภายชื่อร้าน”ใบบัว” ตั้งอยู่บริเวณลาซาล อเวนิว และอาหารอิตาเลียน ภายใต้ชื่อ L’ Oliva Italian Restaurant ตั้งอยู่บริเวณถนนสุขุมวิท 36
ทั้งนี้ บริษัทได้วางแผนใช้งบลงทุนในปี 2564 เพื่อลงทุนในอุปกรณ์เครื่องจักร ซึ่งค่าใช้จ่ายจะขึ้นอยู่กับงานที่เราประมูลได้ และยังไม่มีแผนที่จะขยายธุรกิจในปีนี้แต่จะมุ่งในเรื่องของการก่อสร้างเป็นหลัก อย่างไรก็ตามอาจมีการซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจใช้เงินมูลค่าประมาณ 150 - 250 ล้านบาท ส่วนโครงสร้างต้นทุนการดำเนินงานปัจจุบัน แบ่งออกเป็น ค่าใช้จ่ายในการจ้างผู้รับเหมา 35% ค่าวัสดุสิ้นเปลือง32% และเงินเดือนค่าจ้างแรงงาน 11% ตามลำดับ
---จบ---