สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (4 ธันวาคม 2563) -------คณะอนุกรรมการ Reinventing University กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) นำโดย ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการฯ ร่วมด้วย รศ.ดร.รัฐชาติ มงคลนาวิน อนุกรรมการ ผศ.ไชยยันต์ ชนะพรมมา อนุกรรมการและนายพันธุ์เพิ่มศักดิ์ อารุณี ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพัฒนาทรัพยากรบุคคล ได้ร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาเชิงปฎิบัติการ "การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยราชภัฎ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" นำโดย รศ.ดร.นิรุต ถึงนาค อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม
ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล ประธานอนุกรรมการ Reinventing University กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ทาง อว.ได้เปิดตัวโครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย หรือ Reinventing University อย่างเป็นทางการไปเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ปรากฎว่าได้รับความสนใจจากสถาบันอุดมศึกษาทั่วประเทศเกี่ยวกับโครงการเป็นจำนวนมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งทางสถาบันอุดมศึกษาเองมีการดำเนินงานในลักษณะนี้อยู่บ้างแล้ว แต่ยังอาจขาดความเข้าใจ รวมไปถึงแนวทางและนโยบายในการขับเคลื่อนโครงการให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินโครงการมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจน คณะอนุกรรมการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย จึงได้เป็นวิทยากรให้กับมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จัดประชุมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ"การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยราชภัฎ กลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจในการขับเคลื่อนสถาบันอุดมศึกษาตามกลุ่มยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับความต้องการในการพัฒนาประเทศ ซึ่งมหาวิทยาลัยราชภัฏ ได้กำหนดให้สถาบันอยู่ในกลุ่มยุทธศาสตร์ที่ 3 หรือ Area-Based & Community จากการประเมินตนเองด้านความพร้อมและผลการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมไปถึงศักยภาพของมหาวิทยาลัย มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา โดยมีเป้าหมายต้องการเป็นมหาวิทยาลัยพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่อย่างเต็มตัว
สำหรับการสัมมนาจัดขึ้น ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม โดยเป็นการบรรยายหลักการ วัตถุประสงค์ แนวทางการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย และเสวนาเกี่ยวกับวิธีการ กฎกระทรวง หลักเกณฑ์ในการสนับสนุน ตลอดจนการดำเนินการของ สป.อว. รวมทั้งแบ่งกลุ่มเพื่อทำ Workshop โดยมีผู้บริหาร อาจารย์ เจ้าหน้าที่ ตลอดจนบุคลากรที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมงานทั้งสิ้น 1,260 คน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏกลุ่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั้ง 11 แห่ง ประกอบด้วย มรภ.อุบลราชธานี, มรภ.สุรินทร์, มรภ.นครราชสีมา มรภ.สกลนคร, มรภ.เลย, มรภ.อุดรธานี, มรภ.ร้อยเอ็ด, มรภ.ชัยภูมิ, มรภ.ศรีสะเกษ, มรภ.บุรีรัมย์ และ มรภ.มหาสารคาม