ผู้เขียน: ดร. กำพล อดิเรกสมบัติ, พนันดร อรุณีนิรมาน และ พิมพ์ชนก โฮว
• United States Trade Representative (USTR) ได้ประกาศตัดสิทธิ GSP กับสินค้าไทยเพิ่มเติม 231 รายการ โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 30 ธันวาคม 2020 เป็นต้นไป หลังจากที่ได้มีการยกเลิกสิทธิ GSP ในรอบแรกซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วกับสินค้าไทย 573 รายการ (คิดเป็น 0.5% ของมูลค่าการส่งออกรวม) เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2020
• EIC คาดผลกระทบที่เกิดจากการตัดสิทธิ GSP ในรอบล่าสุดต่อการส่งออกไทยในภาพรวมจะมีค่อนข้างจำกัด เนื่องจาก 1) สินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ ที่จะถูกตัดสิทธิ GSP คิดเป็นสัดส่วนเพียงแค่ 0.2% ต่อมูลค่าการส่งออกรวม และ 2) สินค้าที่จะโดนตัดสิทธิ GSP จะมีต้นทุนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นประมาณ 3.1% ซึ่งจะกระทบต่อยอดขายไม่มากนัก
• หากวิเคราะห์โดยละเอียดจาก GSP utilization rate, อัตราภาษีที่จะมีการเก็บเพิ่ม และมูลค่าการใช้สิทธิ GSP ของแต่ละสินค้า พบว่าสินค้าที่มีความเสี่ยงได้รับผลกระทบสูง ได้แก่ ผักดองเปรี้ยว, ผักแห้ง, ไฟประดับต้นคริสมาสต์, ปิโตรเรซิน, ซิลิคอน, ภาชนะอะลูมิเนียมทรงกระบอก, โลหะสำหรับยึดและติดตั้ง, ประแจ และตะปูควง
• แม้ว่าผลกระทบจากการโดนตัดสิทธิ GSP เพิ่มเติมโดยรวมจะมีไม่มากนัก แต่จากผลกระทบสะสมของการโดนตัดสิทธิ GSP ในรอบก่อนหน้า ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาและมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า กระแสการปกป้องทางการค้า (Trade Protectionism) ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่าสะสมในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความเสี่ยงต่อการฟื้นตัวของการส่งออกไทยในระยะข้างหน้ามีสูงขึ้น และยังส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยจำเป็นที่จะต้องปรับตัวเพื่อที่จะสามารถรักษาความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกต่อไปได้