
HotNews : EGCO เปิดฉาก COD โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงกังดง 19.8 MW จ่อเริ่มรับรู้รายได้ Q4/63
สำนักข่าวหุ้นอินไซด์ (5 ตุลาคม 2563) EGCO ประกาศโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงกังดง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์ ที่ดําเนินการโดยบริษัท พาจูเอ็นเนอร์ยี่ เซอร์วิส จํากัด (พาจู อีเอส)บริษัทที่ EGCO ถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 49% ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว เมื่อ 1 ต.ค. 63 ที่ผ่านมา ชี้เพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องจ่อเริ่มรับรู้รายได้ Q4/63 นี้
นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า “โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงกังดง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัท พาจู เอ็นเนอร์ยี่ เซอร์วิส จำกัด (พาจู อีเอส) ซึ่งเป็นบริษัทที่เอ็กโกถือหุ้น 49% และบริษัท เอสเค อีแอนด์เอส จำกัด ถือหุ้น 51% ได้เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ Korea Electric Power Corporation ซึ่งเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้ารายเดียวในเกาหลีใต้ ผ่านตลาดกลางซื้อขายไฟฟ้าของเกาหลีใต้ (Korea Power Exchange)”
“การเดินเครื่องฯ ของโรงไฟฟ้ากังดงจะช่วยเพิ่มรายได้อย่างต่อเนื่องให้แก่เอ็กโก โดยจะเริ่มรับรู้รายได้ ในไตรมาส 4 ของปี 2563 เป็นต้นไป นอกจากนี้ โรงไฟฟ้ายังจะมีรายได้จากการจำหน่ายพลังงานความร้อน และจะได้รับค่าเครดิตการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ผลิตได้ด้วย (Renewable Energy Certificate - REC)” นายเทพรัตน์ กล่าวเสริม
โรงไฟฟ้ากังดงตั้งอยู่ที่เขตกังดง กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เป็นโรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าผ่านกระบวนการทางเคมีไฟฟ้า โดยการทำปฏิกิริยาเคมีระหว่างไฮโดรเจนที่มาจากก๊าซธรรมชาติ และออกซิเจน แล้วเกิดเป็นพลังงานไฟฟ้าและความร้อน ซึ่งไม่มีการเผาไหม้ นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของ การผลิตไฟฟ้าที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้ ยังตอบสนองต่อความต้องการด้านการผลิตไฟฟ้าที่สะอาด ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในเกาหลีใต้ และยังเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติตามข้อกำหนดการมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Portfolio Standard - RPS) ของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม พาจู ซึ่งดำเนินการโดยพาจู อีเอส ด้วย
อนึ่งก่อนหน้านี้ นายสุวพันธ์ ฉ่ำเฉลิม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบัญชี และการเงิน บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดกำไรจาการดำเนินงานในปี 2563 จะใกล้เคียงกับปีก่อนที่ทำได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันบริษัทฯ ยังคงเป้าหมายการเติบโตของกำไรจากการดำเนินงานในปี 63-67 เฉลี่ยปีละ 5-6%
สำหรับช่วงครึ่งปีหลัง บริษัทฯ มองว่าผลการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าจะเริ่มกลับมาดีขึ้น จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ที่คาดจะเริ่มพลิกกลับมากำไร หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกที่มีผลขาดทุน 140 ล้านบาท โดยปัจจุบันโรงไฟฟ้าไซยะบุรีสามารถเดินเครื่องเต็มกำลังการผลิตเต็มกำลังแล้วตั้งแต่เดือนส.ค.นี้เป็นต้นไป
ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีหลัง2563 บริษัทฯ มีแผนใช้งบลงทุน9,000ล้านบาท ในโครงการที่อยู่ระหว่างรอการพัฒนาก่อสร้าง จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้า จำนวน 3 โครงการ และโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจพลังงาน จำนวน 1โครงการ สำหรับโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้แก่ โรงไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงกังดง ที่ประเทศเกาหลี กำลังการผลิตติดตั้ง 19.8 เมกะวัตต์
ด้านโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำน้ำเทิน ที่ สปป.ลาว แบ่งเป็นการซื้อขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าแห่งประเทศไทย จำนวน 514 เมกะวัตต์ และปริมาณขายไฟฟ้าให้กับ รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว จำนวน 130เมกะวัตต์ คาดจะดำเนินการในรูปแบบเชิงพาณิชย์ ในไตรมาส 2/2565 ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานลมหยุนหลิน ที่ประเทศไต้หวัน ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 640 เมกะวัตต์ จะทยอยจ่ายไฟเข้าระบบเฟสที่ 1 ในไตรมาส 4/2563 จำนวนกำลังผลิต 320 เมกะวัตต์ และเฟส 2 จ่ายไฟเข้าระบบในไตรมาส 3/2564
สำหรับโครงการขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สระบุรี-ขอนแก่น เส้นทางความยาวท่อ 342 กิโลเมตร บริษัทคาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จ ภายในไตรมาส 4/2564
ด้านโครงการในอนาคต บริษัทฯ มีแผนที่จะจำหน่ายธุรกิจถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับผู้ที่มีความสนใจจะเข้าซื้อ โดยยังต้องรอการพิจารณาในราคาที่เหมาะสม เนื่องจากธุรกิจดังกล่าวยังสามารถเดินหน้าเติบโตต่อเนื่อง และมีแผนทำการตลาดจำหน่ายถ่านหินไปยังโรงไฟฟ้าในประเทศอินโดนีเซีย
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ เคจีไอ (ประเทศไทย) ปรับลดประมาณการกำไรจากธุรกิจหลักในปี 2563-64 ลง 16.5% และ 21.5% จาก i) การปรับลดรายได้ equity income จาก Paju เพราะค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงมากกว่าที่คาด และ margin ของก๊าซลดลง ii) การปรับลดการดำเนินงานของ QPL ลงเพื่อสะท้อนถึงการปิดซ่อมบำรุงตามแผนที่นานกว่าคาด iii) การปรับลดรายได้ equity income จากโครงการพลังงานลม Yunlin เนื่องจากเลื่อนกำหนด COD เต็มที่ไปเป็น 3Q64 และ iv) การปรับค่าความพร้อมจ่ายของ BLCP
อย่างไรก็ตาม EGCO เป็นหุ้น laggard ในกลุ่มโรงไฟฟ้า และราคาหุ้นในปัจจุบันก็มี upside ในระดับที่น่าสนใจ เรายังคงคำแนะนำซื้อ และขยับไปใช้ราคาเป้าหมาย DCF ปี 2564 ที่ 354 บาท ทั้งนี้ EGCO ประกาศจ่ายเงินปันผลงวด 1H63 ที่ 3.0 บาท/หุ้น คิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลที่ 1.3% (กำหนดขึ้น XDวันที่ 2 กันยายน 2563) เราได้รวม upside จากโครงการในอนาคต(NT1 18บาท/หุ้น,SCOD 2022 และ QT1 18บาท/หุ้น SCOD 2025-2026) เข้ามาในราคาเป้าหมายแล้ว
Risks ความล่าช้าในการจัดสรรกำลังการผลิตใหม่ การเปลี่ยนแปลงกฎเกณฑ์ของทางการ โรงไฟฟ้าหยุดผลิตไฟฟ้า และความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการใหม่