Today’s NEWS FEED

News Feed

HotNews : EPG งวดปี63/64 คงเป้าปั้มรายได้ 9 พันลบ. ชูผลงานไตรมาสต่อๆ ไปเร่งตัวดีขึ้น

1,865

HotNews : EPG งวดปี 63/64 คงเป้าปั้มรายได้ 9 พันลบ. ชูผลงานไตรมาสต่อๆ ไปเร่งตัวดีขึ้น

 

 

สำนักข่าวหุ้นอินไซด์( 8 กันยายน 2563) "รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์"  แม่ทัพ EPG มองแนวโน้มธุรกิจปรับตัวดีขึ้นในไตรมาสต่อไป  ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก    พร้อมมุ่งเน้นนโยบายลดค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นงวดปี 63/64  ที่ 28-30%   คงเป้ารายได้ 9,000 ล้านบาท

 

 

 

 

 

รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลกเปิดเผยว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก เมื่อเร็วๆ นี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ปรับประมาณการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกในปี 63 ที่ติดลบ 4.9% เนื่องจากการระบาดใหญ่ของโรค Covid-19 ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังจะค่อยเป็นค่อยไป

 

 

EPG ผ่านวิกฤตทางเศรษฐกิจต่างๆ มาหลายครั้ง สำหรับครั้งนี้ EPG สามารถรับมือได้ดีพอสมควร การนำนโยบายลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน หรือ นโยบาย “USE” (U: Utilization การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่อย่างคุ้มค่า S: Save การประหยัดค่าใช้จ่าย และ E: Efficiency การเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน) มาใช้บริหารงานภายในองค์กร เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 1 ปี 63/64 (เม.ย.63 - มิ.ย.63) โดยคาดว่าผลประกอบการจะดีขึ้นในไตรมาสต่อๆ ไปตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ซึ่งในปีบัญชี 63/64 (เม.ย.63 - มี.ค.64) บริษัทตั้งเป้ายอดขายประมาณ 9,000 ล้านบาท รักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นที่ 28-30% สำหรับการดำเนินงานใน 3 ธุรกิจ มีดังนี้

 

 


ธุรกิจฉนวนยางกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ AEROFLEX ตั้งเป้าทำการตลาดสำหรับสินค้าพรีเมี่ยมเป็นหลักทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา สำหรับตลาดในสหรัฐอเมริกายอดขายในช่วงนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ยังมีความไม่แน่นอนเนื่องจากยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อ Covid-19 เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สำหรับตลาดภูมิภาคการส่งออกยังประสบปัญหาเรื่องข้อจำกัดด้านโลจิสติกส์ในบางประเทศ และความต้องการผลิตภัณฑ์ก่อสร้างชะลอตัว ส่วนตลาดในประเทศชะลอตัวตามแนวโน้มการก่อสร้างในประเทศที่ลดลง อย่างไรก็ตามฉนวน AEROFLEX จัดเป็นสินค้าจำเป็นที่ใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และคลีนรูม เป็นต้น จึงทำให้ AEROFLEX สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดได้ดี

 

 


ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ ภายใต้แบรนด์ AEROKLAS มีสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนกลุ่มลูกค้า OEM (Original Equipment Manufacturer) เริ่มกลับมาสั่งซื้อสินค้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกับบริษัทร่วมทุนในกลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์ได้รับคำสั่งซื้อจากลูกค้ากลุ่ม OEM เช่นกัน สำหรับธุรกิจในออสเตรเลียมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากประชากรท่องเที่ยวภายในประเทศเพิ่มขึ้นและมีความต้องการใช้งานอุปกรณ์ตกแต่งยานยนต์เพื่อเพิ่มความปลอดภัยในการเดินทางท่องเที่ยวแบบออฟโรด

 

 


อย่างไรก็ตาม AEROKLAS มีจุดแข็งด้านช่องทางการจัดจำหน่ายทั้ง OEM/ ODM (Original Design Manufacturer) After Market และการส่งออก จึงสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้เกิด Synergy ของกลุ่มธุรกิจทั้งหมดของ AEROKLAS

 

 


ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติกภายใต้แบรนด์ EPP มุ่งเน้นขยายตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกล่องใส่อาหาร ถ้วยน้ำดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรม ด้วย EPP มีกำลังการผลิตขนาดใหญ่จึงต้องบริหารจัดการกระบวนการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งในช่วงนี้ EPP ยังคงได้รับผลบวกจากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ EPP ได้พัฒนาสินค้าใหม่หลายประเภท เช่น กล่องใส่อาหารและถ้วยน้ำดื่มรุ่นใหม่/ ถ้วยน้ำดื่มภายใต้แบรนด์ eici ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด รวมถึงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่ใช้วัตถุดิบประเภท Bio plastic และบรรจุภัณฑ์ประเภทกระดาษเพื่อสามารถให้บริการด้านบรรจุภัณฑ์อย่างครบวงจร และสินค้านวัตกรรม “หน้ากากอเนกประสงค์ EP-Kare” เป็นต้น สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 1 ปี 63/64 (เม.ย.63 – มิ.ย.63) บริษัทมีรายได้จากการขาย 1,952.2 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 27.0% มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 28.9% และมีกำไรสุทธิ 74.6 ล้านบาท ลดลง 65.3% เป็นผลมาจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของโลกต้องหยุดชะงักจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรค Covid-19 รศ.ดร.เฉลียว กล่าว

 

 

บริษัทมีต้นทุนขายสินค้าลดลง 27.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง และค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 18.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอีกหนึ่งประเด็นที่ส่งผลกระทบกับกำไรสุทธิของบริษัท คือบริษัทได้ปฏิบัติตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน TFRS 9 และTFRS 16 มีผลต่อการจัดประเภทรายการใหม่และการวัดสินทรัพย์ทางการเงินและหนี้สินทางการเงิน โดยบันทึกผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและ ขาดทุนอื่น เป็นจำนวน 17.9 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทได้รับส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมและการร่วมค้า ที่ 20.7 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทร่วมทุนที่ผลิตสินค้าเพื่อขายให้อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และการแพร่ระบาดของโรค Covid-19

 

 

 


กูรูหยวนต้า แนะนำซื้อ EPG ราคาเป้าหมาย 5.80 บาท/หุ้น


บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) ออกบทวิเคราะห์ เปิดเผยว่า EPG รายงานกำไรสุทธิ 1Q63 (ปิดงบ 1Q เดือน มิ.ย.) จำนวน 76 ลบ. ลดลง 64.6%YoY แต่หากไม่รวมรายการพิเศษที่บันทึกในไตรมาสนี้ ได้แก่ ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจำนวน 25.8 ลบ. และผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นตาม TFRS9 (ไตรมาสนี้บริษัทเริ่มใช้ TFRS9 เป็นครั้งแรก) จำนวน 18 ลบ. จะมีกำไรปกติ 119 ลบ. ลดลง 51.4%YoY ใกล้เคียงที่ตลาดคาด

ปัจจัยกดดันหลักมาจากรายได้รวมที่ลดลงไปกว่า 27%YoY แบ่งเป็น
1) ธุรกิจฉนวนยาง (AFC) รายได้ลดลง 16.5%YoY หลังยอดขายในสหรัฐฯ และภูมิภาคปรับตัวลงในช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้งานก่อสร้างต่างๆ ชะลอตัวลงชั่วคราว
2) ธุรกิจอะไหล่ยานยนต์ (ARK) ยอดขายลดลง 41.6%YoY สอดคล้องกับยอดขายรถกระบะ 1 ตันในประเทศเดือน เม.ย.-พ.ค. ที่ลดลงกว่า 44.7%YoY จากกำลังซื้อในประเทศที่อ่อนแอ อีกทั้งลูกค้าหลายรายได้หยุดโรงงานผลิตตั้งเดือน มี.ค.-พ.ค. ทำให้การสั่งชิ้นส่วนของบริษัทน้อยลงไปด้วย ขณะที่ TJM ในออสเตรเลียได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน ทำให้มีผลขาดทุนเพิ่มเข้ามาในไตรมาสนี้ 3) ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ยอดขายลดลง 9.4%YoY แม้มีปัจจัยบวกจากยอดขาย Food Packaging ที่โตดีในช่วงล็อคดาวน์ที่มียอด Food Delivery เพิ่มขึ้นมาก แต่ไม่เพียงพอที่จะทดแทนยอดขายแก้วพลาสติกที่หายไปมาก
ส่วนแบ่งกำไร/ขาดทุนจากบริษัทร่วมพลิกเป็นขาดทุน 21 ลบ. จากมีกำไร 34 ลบ. ใน 1Q62 เนื่องจากทั้ง TER และ ZAP ต่างเป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ทำให้ได้รับผลกระทบจากยอดขายยานยนต์ลดลงมากเช่นเดียวกัน

ทั้งนี้ปัจจัยลบดังกล่าวบางส่วนถูกบรรเทาลงด้วยอัตรากำไรขั้นต้นที่ปรับตัวขึ้นเป็น 28.9% จาก 28.3% ใน 1Q62 หนุนด้วยต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวลงในช่วงที่ผ่านมา บวกกับบริษัทมีการปรับลด OT พนักงานเพื่อลดต้นทุนในการผลิตในช่วงที่การใช้กำลังการผลิตลดต่ำลงตามยอดขาย

 

 

Our Take


แม้กำไรปกติใน 1Q63 จะเป็นเพียง 13.6% ของประมาณการกำไรปกติทั้งปี แต่เรายังคงประมาณการเดิม โดยคาด 1Q63 จะเป็นจุดต่ำสุดของกำไรปกติในปี เนื่องจากได้รับผลกระทบจากดีมานด์ทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงไปมาก และการใช้กำลังการผลิตใหม่จากโรงงาน AFC5 ที่ไม่เต็มที่ แต่จากการพูดคุยเบื้องต้นกับทาง EPG พบว่า Operation หลายๆ ส่วนได้เริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นแล้วตั้งแต่เดือน มิ.ย.

 

นำโดย ARK ที่มีคำสั่งซื้อกลับเข้ามามากหลังโรงงานเริ่มกลับมาผลิตรถยนต์อีกครั้งบวกกับความต้องการซื้อที่เริ่มดีขึ้นสะท้อนจากยอดขายรถกระบะ 1 ตัน ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากจุดต่ำสุดในเดือน เม.ย. (เดือน พ.ค. โต 38.3%MoM และเดือนมิ.ย.โต 27.8%MoM) ส่วนธุรกิจของ TJM มีทิศทางเป็นบวกมากขึ้นจากความต้องการอะไหล่รถ 4x4 และ SUV ที่เพิ่มขึ้น ส่วนธุรกิจฉนวนยางพบว่ายอดขายในภูมิภาคทั้ง CLMV และญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวขึ้นเช่นกัน ขณะที่ธุรกิจบรรจุภัณฑ์มีการเติบโตขึ้นตามการบริโภคในประเทศที่เพิ่มขึ้นมาก เราจึงคาดกำไรปกติทั้งปีของ EPG ในปี 2563 จะอยู่ที่ 876 ลบ. ลดลง 12.4%YoY  มองว่าราคาหุ้นที่ปรับลงต่อเนื่อง จนราคาหุ้นปัจจุบันมีกลับมามี Upside ราว 20.3% จากมูลค่าพื้นฐานปี 2563 ที่ 5.80 บาท ได้สะท้อนปัจจัยลบไปมาก ขณะที่ผลดำเนินงานคาดเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่ 2Q63 เป็นต้นไป อีกทั้งคาดให้ Div. Yield อีก 3.2%จึงปรับเพิ่มคำแนะนำจาก "Trading" เป็น "ซื้อ"

 

 

 

อณุภา ศิริรวง

: รายงาน/เรียบเรียง โทร 02-276-5976 อีเมล์: reporter@hooninside.com ที่มา: สำนักข่าวหุ้นอินไซด์

บทความล่าสุด

ลุ้น กันต่อ By: แม่มดน้อย

แม่มดน้อย ขี่ไม้กวาดวิเศษ เห็น นักลงทุนยังคงชะลอลงทุน หลังมีข่าว อิสราเอล จะตอบโต้อิหร่าน ......

ขายทำรอบ By : เจ๊มดแดง

เจ๊มดแดง ไต่กิ่งมะม่วง เห็นวานนี้ ต่างชาติทิ้งหนักเกือบ 6.4 พันล้านบาท แต่รายย่อยซื้อสุทธิ 6.8 พันล้านบาท ท่ามกลางความ..

มัลติมีเดีย

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

APO มาเหนือเฆม - สายตรงอินไซด์ - 2 เม.ย.67

สามารถติดตามหน้าเพจของ หุ้นอินไซด์ เพื่อรับข่าวเด่นและประเด็นที่คุณไม่ควรพลาดได้ตามขั้นตอนนี้